ปีเก่ากำลังจะผ่านไป และต้องยอมรับว่า 2019 เป็นอีกปีที่ตลาดรถยนต์ทั่วโลกมีความเคลื่อนไหวกันอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเปิดตัวรถยนต์ในสายการผลิต หรือ production Car รุ่นใหม่ๆ ออกสู่ตลาด ซึ่งในปีนี้ถือว่ามีค่อนข้างเยอะ เพราะรถยนต์สำคัญๆ หลายรุ่นอยู่ในจังหวะของการเปลี่ยนโฉม หรือโมเดลเชนจ์ ขณะที่บางรุ่นก็ถือเป็นของใหม่ถอดด้ามที่ยังไม่เคยมีอยู่ในตลาดมาก่อน
แน่นอนว่าด้วยปริมาณที่ค่อนข้างเยอะ การจะรีวิวหรือแนะนำสรุปทั้งหมดน่าจะเรื่องใหญ่ ดังนั้น เราจึงขอเลือก 10 รุ่นที่ทีมงานมองแล้วว่ามีความน่าสนใจในด้านต่างๆ ทั้งความสำคัญของตัวรถ การมีแนวโน้มว่าจะเข้ามาขายในตลาดเมืองไทย รวมถึงความน่าสนใจในการเปิดตลาดใหม่ โดยเฉพาะในกลุ่ม EV และนี่คือรายชื่อที่เราคิดว่า น่าจะเหมาะสมและตรงใจใครหลายคน
Ford Mustang Mach-E : การปรับแนวคิดครั้งใหญ่เมื่อจับเอาชื่อ Mustang เข้ามาลุยตลาดรถยนต์พลังไฟฟ้า โดยมาพร้อมกับมีการปรับรูปลักษณ์บางส่วน เช่น กระจังหน้าแบบปิด ที่มีความโฉบเฉี่ยวและสปอร์ตจากส่วนของไฟหน้า LED ทรงเพรียวและกันชนหน้า พร้อมกับตัวถังทรง SUV เพื่อรองรับกับการใช้งานอย่างอเนกประสงค์ ทางเลือกมีถึง 5 รุ่น แบ่งเป็นระดับกำลังในการขับเคลื่อนที่มีทั้งแบบล้อหลังและ 4 ล้อ โดยตัวเลขแรงม้าที่ผลิตออกมาได้นั้นอยู่ระหว่าง 259-465 แรงม้า และระยะทางในการแล่นต่อการชาร์จ 1 ครั้งอยู่ที่ 370-435 กิโลเมตรขึ้นอยู่กับรุ่นย่อยที่ทำตลาด
Nissan Juke : รุ่นที่ 2 ของเอสยูวี ( SUV) กลุ่มซับคอมแพ็กต์ยอดนิยม โดยรุ่นใหม่มีการคงเอกลักษณ์บางอย่างจากรุ่นเดิมเอาไว้ โดยเฉพาะไฟหน้าดวงกลมที่ถูกแยกออกมาอยู่บนกันชนจนส่วนใหญ่นึกว่าเป็นสปอตไลท์มากกว่าไฟหน้า โดยตัวรถยังมาในแบบสปอร์ตเอสยูวีแบบ 5 ประตูที่มีความยาว 4,210 มิลลิเมตร (+85 มิลลิเมตร) กว้าง 1,800 มิลลิเมตร สูง 1,595 มิลลิเมตร เท่าที่มีการเปิดเผยออกมาในตอนนี้ Juke ที่ขายในยุโรปจะมีเครื่องยนต์แบบเดียว คือ เบนซิน DIG-T ที่มีจำนวนกระบอกสูบ 3 สูบ 1,000 ซีซี เทอร์โบ ที่รีดกำลังออกมาได้ 117 แรงม้า ส่งกำลังด้วยเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ หรือ DCT-Dual Clutch 7 จังหวะ ที่สามารถเลือกโหมดได้ว่าจะเป็นแบบ Eco, Standard หรือ Sport
BMW 3-Series Touring : แน่นอนว่าตัวถังแวกอนรุ่นนี้แชร์พื้นฐานเดียวกับซีรีส์ 3 รุ่นปัจจุบันซึ่งมีรหัสตัวถัง G20 ดังนั้นในแง่ของรายละเอียดหน้าตาไปจนถึงแผงหน้าปัดจึงเหมือนกันเพราะยกชุดใช้ร่วมกันตามสไตล์รถยนต์สายพันธุ์เดียวกันแต่ต่างตัวถัง จะมีก็ตรงตัวถังส่วนท้ายนับจากเสา B-Pillar เป็นต้นไปที่ต่างกันพร้อมความจุในการบรรทุกสัมภาระระดับ 1,470 ลิตร และมี 6 ทางเลือกของเครื่องยนต์โดยรุ่นกำลังสูงสุดคือ M340i xDrive ที่มากับเครื่องเบนซิน 6 สูบ 374 แรงม้า ในขณะที่อีก 2 ทางเลือกของเครื่องยนต์เบนซินเป็นแบบ 4 สูบคือ 320i กับกำลัง 184 แรงม้า และ 330i กำลัง 258 แรงม้า ส่วน 3 ทางเลือกของเครื่องยนต์ดีเซลมี 2 รุ่นที่ใช้เครื่องยนต์ 4 สูบคือ 318d 150 แรงม้าและ 320d 190 แรงม้า โดยมี 330d เป็นรุ่นกำลังสูงสุดของเครื่องยนต์ดีเซลจากการใช้เครื่อง 6 สูบ 256 แรงม้า
Porsche Taycan : ถือเป็นจุดเชื่อมต่อที่แสดงให้เห็นประวัติศาสตร์ตลอด 70 ปีของ Porsche ที่ได้ตกผลึกและพร้อมเดินหน้าไปสู่อนาคตของการขับเคลื่อน ในเรื่องของรูปลักษณ์ภายนอก Taycan จะมากับความปราดเปรียวด้วยค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทาน หรือ Cd เพียง 0.22 เท่านั้น โดยตัวถังมีความยาว 4,963 มิลลิเมตร สำหรับรุ่นที่ทำตลาดในช่วงแรกมีด้วยกัน 2 รุ่นคือ Turbo และ Turbo S ซึ่งเมื่อเห็นคำว่า Turbo อย่าคิดว่านี่คือรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน แต่เป็นรถยนต์พลังไฟฟ้าแบบ BEV-Battery Electric Vehicle โดยรุ่นแรกมาสามารถขับเคลื่อนด้วยกำลังสูงสุด 671 แรงม้า พร้อมแรงบิดสูงสุด 86.6 กก.-ม. มีอัตราเร่งจาก 0-96 กิโลเมตร/ชั่วโมงใน 3 วินาที และรุ่น Turbo S ที่มีกำลังสูงสุด 761 แรงม้า พร้อมแรงบิดสูงสุด 107.0 กก.-ม. มีอัตราเร่งจาก 0-96 กิโลเมตร/ชั่วโมงใน 2.6 วินาที และความเร็วสูงสุด 260 กิโลเมตร/ชั่วโมง เมื่อชาร์จเต็มแล้ว ในรุ่น Turbo จะแล่นได้ระยะทาง 416 กิโลเมตร และรุ่น Turbo S จะแล่นได้ 450 กิโลเมตรตามมาตรฐานการทดสอบของ WLTP บ้านเราแว่วข่าวว่าเปิดราคาขายมาเกิน 10 ล้านบาทอย่างแน่นอน
Volkswagen Golf : เจนเนอเรชั่นใหม่ Mk8 และเป็นการตอกย้ำว่าชื่อของ Golf ยังมีความสำคัญกับ Volkswagen เพราะนับจนถึงตอนนี้แล้ว nameolate นี้ถูกทำตลาดต่อเนื่องมานานถึง 45 ปี ตอนนี้รุ่นใหม่มีการเปิดตัวออกมาเพียงแค่ตัวถังเดียวแบบแฮทช์แบ็ก 5 ประตูที่มีความยาว 4,284 มิลลิเมตร และมีระยะฐานล้อ 2,636 มิลลิเมตร พร้อมความเพรียวลมที่ดีขึ้นจากรุ่นเดิม โดยมีค่า Cd อยู่ที่ 0.275 หลากหลายทางเลือกแต่น่าแปลกใจที่เครื่องยนต์เทอร์โบดีเซลมีน้อยลง และ Volkswagen หันไปเน้นเครื่องยนต์เบนซิน และไฮบริดแทนที่ โดยมีทั้งแบบ 3 สูบ และ 4 สูบ เริ่มจากเบนซิน TSI 1,000 ซีซี เทอร์โบ 89 แรงม้า และ 110 แรงม้า ตามด้วย 1,500 ซีซีเทอร์โบ 130 และ 150 แรงม้า แต่ถ้าต้องการความประหยัดก็ต้องรุ่นไฮบริดแบบ Mild-Hybrid ที่ใช่เครื่องยนต์ 1,500 ซีซี เทอร์โบเป็นพื้นฐานจับคู่กับมอเตอร์ไฟฟ้า และมีให้เลือกหลายระดับกำลังขับเคลื่อน คือ 110, 130 และ 150 แรงม้า ส่วนรุ่น Plug-in Hybrid แบบเสียบปลั๊กชาร์จไฟได้จะใช้พื้นฐานของรุ่นเบนซิน 1,400 ซีซี เทอร์โบ มีกำลังขับเคลื่อน 204 และ 245 แรงม้า แถมยังแล่นในโหมด EV ได้ประมาณ 60 กิโลเมตรโดยอาศัยกระแสไฟฟ้าที่ถูกชาร์จในแบตเตอรี่ ส่วนเทอร์โบดีเซลที่เมื่อก่อนเป็นเครื่องยนต์ยอดนิยมของคนยุโรป ในตอนนี้ดูเหมือนจะโดนลดบทบาทลง และมีขายเพียง 2 รุ่นเท่านั้น คือ 2,000 ซีซี 116 และ 150 แรงม้า
Honda Jazz/Fit : เจนเนอเรชั่นที่ 4 ถูกเปิดตัวออกมาในงานโตเกียว มอเตอร์โชว์ 2019 พร้อมตัวถังแบบ 5 ประตูที่มีรูปลักษณ์ดูแปลกตาจากที่เคยเป็นมา โดยในรุ่นนี้และจะมีขายทั้งรุ่นเครื่องยนต์เบนซินเทอร์โบ 1,000 ซีซี และรุ่นไฮบริดที่ใช้เครื่องยนต์ 1,500 ซีซี รวมกับมอเตอร์ไฟฟ้าที่ขับเคลื่อนด้วยกำลังสูงสุด 96 กิโลวัตต์บนตัวถังทรง 5 ประตูที่มีความยาว 4,050 มิลลิเมตร โดยกำหนดการวางตลาดอย่างเป็นทางการในญี่ปุ่นอยู่ที่เดือนกุมภาพันธ์ 2020 และตลาดโลกแห่งอื่นๆ จะอยู่ที่กลางปีเดียวกัน
Land Rover Defender : โมเดลเชนจ์ที่ทุกคนรอคอยนับจาก Land Rover เปิดตัว Defender ออกสู่ตลาดครั้งแรกมาตั้งแต่ปี 1983 ซึ่งในรุ่นใหม่มีการปรับปรุงหน้าตาให้ตัวรถดูมีความทันสมัยขึ้น แต่ก็ยังเพียบพร้อมด้วยคุณสมบัติในการลุยและมีขาย 2 แบบคือ 90 และ 110 ซึ่งหมายถึงความยาวของระยะฐานล้อที่มีหน่วยเป็นนิ้ว ส่วนเครื่องยนต์ที่ทำตลาดมีทั้ง 4 สูบ 2,000 ซีซีเบนซิน 296 แรงม้า และ 6 สูบ 3,000 ซีซีแบบ Hybrid 395 แรงม้าตามด้วยเทอร์โบดีเซล 2,000 ซีซี 196 และ 237 แรงม้า
Ferrari Roma : การผสมผสานความคลาสสิกเข้ากับเลย์เอาท์ของสปอร์ตเครื่องยนต์วางด้านหน้าอย่างลงตัว และถือเป็นครั้งแรกสำหรับเครื่องยนต์วี 8 ที่ถูกเค้นพลังออกมาได้อย่างมากมายขนาดนี้ โดย Ferrari เผยว่า Roma เป็นสปอร์ต GT พร้อมเครื่องยนต์วี 8 3,900 ซีซี เทอร์โบ ที่มีกำลังถึง 620 แรงม้า โดยสามารถตอบสนองต่อการขับเคลื่อนผ่านการส่งกำลังของเกียร์แบบ Dual Clutch 8 จังหวะ ใช้เวลาเพียง 3.4 วินาทีสำหรับอัตราเร่งจาก 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง และ 9.3 วินาทีสำหรับอัตราเร่ง 0-200 กิโลเมตร/ชั่วโมง และมีความเร็วปลายในระดับ 320 กิโลเมตร/ชั่วโมง
Mazda MX-30 : อีกผลผลิตจากงานโตเกียว มอเตอร์โชว์ 2019 และถือเป็นครั้งแรกที่ Mazda ประกาศเจตนารมย์อย่างชัดเจนในการบุกตลาดรถยนต์พลังไฟฟ้าด้วยรุ่นใหม่อย่าง MX-30 ที่พัฒนาอยู่บนพื้นฐานของรถยนต์ครอสส์โอเวอร์รุ่น CX-3 หรือ CX-30 แต่โดดเด่นด้วยประตูที่เปิดออกในแบบ Suicide Door หรือกางออกเหมือนตู้กับข้าว ซึ่งตามสเป็กที่มีการเปิดเผยออกมา MX-30 จะใช้มอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 140 แรงม้าพร้อมแบตเตอรี่ Lithium-Ion ขนาด 35.5 kWh ซึ่งเมื่อชาร์จไฟจนเต็มแล้วจะแล่นทำระยะทางได้ 209 กิโลเมตร ส่วนการทำตลาดจะเริ่มขึ้นในกลางปีหน้า
Mercedes-Benz GLS600 Maybach : พื้นฐานของตัวรถเป็นการต่อยอดมาจาก GLS-Class เจนเนอเรชันที่ 3 รหัส X167 ซึ่งเพิ่งเปิดตัวออกสู่ตลาดในงานนิวยอร์ก มอเตอร์โชว์ เดือนเมษายนที่ผ่านมา มากับตัวถังแบบ 5 ประตูที่มีความยาวถึง 5,207 มิลลิเมตร และระยะฐานล้อ 3,135 มิลลิเมตร พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน เช่น Running Board ที่เป็นแผ่นกระดานความยาวขนาด 2.06 เมตร และกว้าง 21 เซนติเมตร เคลื่อนตัวออกมาเพื่อเป็นบันไดให้คนนั่งหลังก้าวออกจากรถอย่างสะดวก ตู้แช่เครื่องดื่มที่เป็นแผงคอนโซลกลางกั้นระหว่างเบาะหลัง โดยการขับเคลื่อนเป็นหน้าที่ของเครื่องยนต์เบนซินตัวแรงในรหัส M177 เป็นบล็อกวี 8 4,000 ซีซี ที่มีการติดตั้งระบบ EQ Boost ที่คล้ายกับมอเตอร์ฟ้าของระบบไฮบริดเข้าไป โดยเครื่องยนต์สามารถผลิตกำลังออกมาได้ 558 แรงม้า และแรงบิดสูงสุด 73.4 กก.-ม. และมีมอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 22 แรงม้า และ 26.1 กก.-ม.เป็นตัวช่วยขับเคลื่อน และส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ 9 จังหวะรุ่น 9G-Tronic สู่การขับเคลื่อนแบบ 4 ล้อ ใช้เวลาเพียง 4.9 วินาทีสำหรับอัตราเร่งจาก 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง และมีความเร็วสูงสุด 250 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ทั้งหมดเป็นรถเด่นประจำปี 2019 ที่ทีมงานคัดสรรจากหลายค่าย หลายรุ่น มานำเสนอ และทุกรุ่นก็สามารถจับจองเป็นเจ้าของได้เช่นกัน สำหรับเมืองไทยคงได้ครอบครองบางรุ่น เท่านั้น