ผลสำรวจความไว้วางใจได้ล่าสุดพบแม้รถแบรนด์อเมริกันกระจายกำลังยึดอันดับต่างๆ ตั้งแต่ด้านบน เช่น บูอิค ยันท้ายสุดของตารางคือคาดิลแลค แต่ถ้าวัดกันเป็นภูมิภาคแล้ว อเมริกายังไก่กามากเมื่อเทียบกับเอเชียและยุโรป
คอนซูเมอร์ รีพอร์ตส์ (ซีอาร์) ซึ่งเป็นนิตยสารเพื่อผู้บริโภคที่ไม่แสวงผลกำไร สำรวจความคิดเห็นสมาชิกราว 400,000 คนที่เป็นเจ้าของรถรุ่นปี 2000-2017 รวม 640,000 คัน เพื่อประเมินความไว้วางใจได้ของรถ โดยให้น้ำหนักที่ปัญหาด้านกลไกและความปลอดภัยมากกว่าปัญหาหยุมหยิม เช่น เสียงลมดังในห้องโดยสาร
จากคะแนนเต็ม 100 รถที่ได้คะแนนระหว่าง 41-60 ถือว่าวางใจได้ ที่สูงกว่านั้นถือว่า ไว้วางใจได้มาก แต่ถ้าต่ำกว่าคือไว้วางใจได้น้อย ซึ่งผลปรากฏว่า ปีนี้โตโยต้ารั้งตำแหน่งจ่าฝูง เขี่ยเลกซัสแชมป์เก่าปีที่แล้วไปอยู่ที่ 2 รองลงมาคือเกีย, ออดี้ และบีเอ็มดับเบิลยู ส่วนอันดับท้ายสุดในตารางเป็นของคาดิลแลค ตามด้วยจีเอ็มซี, แรม, ดอดจ์ และวอลโว่
ข้อร้องเรียนเกี่ยวกับระบบอินโฟเทนเมนต์และระบบเกียร์ใหม่คือตัวฉุดคะแนนหนักที่สุด ในทางกลับกันการพัฒนาและปรับใช้เทคโนโลยีใหม่แม้ล่าช้าแต่ต่อเนื่องสม่ำเสมอทำให้โตโยต้าคว้าอันดับ 1 ไปครอง
แต่หากมองภาพรวมเป็นภูมิภาคแล้วพอจะสรุปได้ดังนี้
เอเชียยังไม่นิ่ง
โตโยต้า
โตโยต้าครองอันดับ 1 ในด้านความไว้วางใจได้ในหมู่รถยนต์ใหม่ ขณะที่แบรนด์เอเชียอื่นๆ เช่น อาคิวราและมาสด้า กลับมีคะแนนเฉลี่ยลดลง
ในบรรดารถทั้งหมดของโตโยต้าและเลกซัส ซึ่งเป็นแบรนด์รถหรูในสังกัดโตโยต้านั้น มีเพียงรุ่นเดียวที่มีคะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยคือปิ๊กอัพ “ทาโคมา” แม้รีดีไซน์ไปเมื่อปีที่แล้วก็ตาม
เกีย
เกียยังคงสร้างผลงานน่าประทับใจอย่างต่อเนื่องโดยขยับขึ้นจากปีก่อน 2 ขั้นอยู่อันดับ 3 แถมรถไฮบริดใหม่ “นีโร” ยังครองตำแหน่งรถใหม่ที่ไว้วางใจได้มากที่สุดในตารางรวม ส่วนรุ่นที่ได้คะแนนต่ำสุดคือเอสยูวีไซส์เล็ก “สปอร์เทจ” แต่ยังอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ย
ยุโรปคงเส้นคงวา
ออดี้
ออดี้ยึดอันดับ 4 เหนียวแน่นมาตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยมีเอสยูวี “คิว7” และซีดาน “เอ4” รุ่นปรับโฉมใหม่ได้คะแนนสูงกว่าเกณฑ์
บีเอ็มดับเบิลยู
บีเอ็มดับเบิลยูไต่ขึ้น 5 ขั้นมาอยู่ในท็อป 5 สำเร็จ แถมรถทุกรุ่นได้คะแนนเท่ากับหรือสูงกว่าเกณฑ์
เมอร์เซเดส-เบนซ์
เมอร์เซเดส-เบนซ์ อี-คลาสปี 2017 มีคะแนนความวางใจได้สูงกว่าค่าเฉลี่ยเป็นปีแรก ขณะที่เอส-คลาสตีตื้นขึ้นมามีคะแนนตามค่าเฉลี่ย แต่จีแอลซีที่เพิ่งเปิดตัวในปี 2016 ยังมีคะแนนต่ำกว่าเกณฑ์ ปัญหาที่ชัดเจนคือเบรกและมีเสียงดังเวลาถอยหลัง รวมทั้งปัญหาเล็กๆ น้อยๆ จากระบบเกียร์อัตโนมัติ 9 สปีดใหม่
โฟล์คสวาเกน
รถตระกูลกอล์ฟยังมีคะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย แต่พาสสาทได้คะแนนขยับขึ้นเหนือค่าเฉลี่ย ส่วนติกวน ลิมิเต็ดได้คะแนนตามเกณฑ์
วอลโว่
วอลโว่วนเวียนอยู่ด้านท้ายของตารางเหมือนเดิม จากรุ่นเอ็กซี90 ที่อยู่อันดับ 3 ในบรรดารถที่วางใจได้น้อยที่สุด ระบบอินโฟเทนเมนต์ของรถรุ่นนี้ได้คะแนนต่ำสุดในการสำรวจของซีอาร์ หรือเกือบพอๆ กับระบบมายทัชของฟอร์ด/ลินคอล์นตอนที่ออกมาใหม่ๆ
อเมริกาถึงเวลาต้องเปลี่ยนแปลง
เฟียต ไครสเลอร์ ออโตโมบิลส์
ไครสเลอร์เป็นรถที่ไต่อันดับมากที่สุดประจำปีนี้โดยขึ้นมาถึง 10 ขั้น จากคะแนนของมินิแวน “แปซิฟิกา” ที่อยู่ที่ค่าเฉลี่ยแม้มีปัญหาเล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับระบบเกียร์ก็ตาม
จี๊ปเช็คอินในอันดับ 20 (ขึ้น 3 อันดับ), ดอดจ์ 24 (ขึ้น 2 อันดับ) และแรม 25 (ขึ้น 4 อันดับ)
ฟอร์ด
ฟอร์ดก้าวหน้าหลายขั้น ปีนี้อยู่อันดับ 15 ปิ๊กอัพ “เอฟ-150” มีพัฒนาการจนได้คะแนนตามค่าเฉลี่ยเช่นเดียวกับลินคอล์นและเอ็มเคแซด แต่โฟกัสและเฟียสตาที่ได้ชื่อว่าเป็นรถที่วางใจได้น้อยที่สุดของฟอร์ดตลอดกาลมีคะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ด้วยปัญหาต่อเนื่องสะสมจากระบบเกียร์และคลัตช์ ผู้ตอบแบบสำรวจบางคนบอกว่า พบปัญหาจากระบบอินโฟเทนเมนต์ “ซิงค์3” ใหม่ในฟิวชัน
เจเนอรัล มอเตอร์
โดยรวมแล้ว ปีนี้จีเอ็มทำผลงานได้ไม่ดีเลย รถส่วนใหญ่ นอกจากบูอิค อยู่ในกลุ่มที่ได้คะแนนต่ำสุด
บูอิคเองแม้ได้ที่ 8 แต่ก็ตกลงจากปีที่แล้ว 5 ขั้น ขณะที่ลาครอสส์รุ่นปรับโฉมมีคะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย รุ่นที่คะแนนสูงกว่าค่าเฉลี่ยคืออังกอร์ และดีกว่าค่าเฉลี่ยคือคาสคาดาและเอ็นวิชันที่ผลิตในจีน ที่ช่วยกันทำให้บูอิคยังติดอยู่ในท็อป 10
รถไฟฟ้า “โบลต์” เป็นรุ่นที่ไว้วางใจได้มากที่สุดสำหรับแบรนด์เชฟโรเล็ต ด้วยคะแนนสูงกว่าค่าเฉลี่ย ตรงข้ามกับไฮบริด “โวลต์” ที่คะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย และ “ครูซ” ที่เปิดตัวสวยงามด้วยคะแนนสูงกว่าค่าเฉลี่ยเมื่อปีที่แล้วแต่ปีนี้กลับดิ่งลงหลุดเกณฑ์ ขณะที่ปิ๊กอัพ “โคโลราโด” และ”ซิลเวอร์ราโด 1500” ยังคงมีคะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย
จีเอ็มซีและคาดิลแลคเกาะติดด้านท้ายของตาราง และอะคาเดียเปิดตัวด้วยคะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย รวมทั้งติด 1 ใน 10 รถใหม่ที่วางใจได้น้อยที่สุด จากปัญหาระบบอินโฟเทนเมนต์ ระบบขับเคลื่อน อุปกรณ์ไฟฟ้า และระบบควบคุมอุณหภูมิ
เทสลา
เทสลาเดินหน้า 4 ขั้น อยู่อันดับ 21 โมเดล เอสมีคะแนนสูงกว่าค่าเฉลี่ยเป็นครั้งแรก แต่โมเดล เอ็กซ์ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยและเป็นรถใหม่ที่วางใจได้น้อยที่สุด ซีอาร์ยังคาดว่า โมเดล 3 จะมีคะแนนสูงกว่าค่าเฉลี่ยโดยอิงจากพัฒนาการของโมเดล เอส และความที่รถไฟฟ้ามีระบบซับซ้อนน้อยกว่ารถไฮบริดหรือรถที่ใช้น้ำมัน
อนึ่ง การจัดอันดับครั้งนี้ไม่รวมอัลฟา โรมิโอ, จากัวร์, เจเนซิส, แลนด์ โรเวอร์, มาเซราติ, มินิ, มิตซูบิชิ และสมาร์ท เนื่องจากไม่มีข้อมูลเพียงพอ
และต่อไปนี้คืออันดับคร่าวๆ ตามภูมิภาคและแบรนด์
ภูมิภาค
จำนวนรุ่นคะแนนความวางใจได้ที่คาดการณ์เฉลี่ย
เอเชีย6964
ยุโรป3650
อเมริกา6238
อันดับ การเปลี่ยนแปลงอันดับ แบรนด์คะแนนความวางใจได้เฉลี่ย
เทียบกับปีที่แล้ว
วางใจได้มาก
1+1โตโยต้า80
2-1เลกซัส77
3+2เกีย 71
4-ออดี้ 68
5+4บีเอ็มดับเบิลยู62
วางใจได้
6+5ซูบารุ60
7+1อินฟินิตี้60
8-5บูอิค 59
9+1ฮอนด้า57
10-3ฮุนได59
11+2นิสสัน53
12-6มาสด้า52
13+3ปอร์เช่50
14+3เมอร์เซเดส-เบนซ์47
15+3ฟอร์ด45
16+6โฟล์คสวาเกน44
17+10ไครสเลอร์41
วางใจได้น้อย
18-3เชฟโรเล็ต39
19-7อาคิวรา38
20+3จี๊ป38
21+4เทสลา37
22-2ลินคอล์น33
23-4วอลโว่33
24+2ดอดจ์32
25+4แรม30
26-2จีเอ็มซี28
27-6คาดิลแลค26