xs
xsm
sm
md
lg

“ในหลวง รัชกาลที่ ๙” จากโตโยต้า โซลูน่า เลขไทย สู่โรงสีข้าวรัชมงคล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพที่อยู่ในความทรงจำของประชาชนชาวไทย เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินทรงงานตามชนบทห่างไกล พร้อมราชพาหนะที่ลุยอย่างสมบุกสมบัน หรือที่เห็นกันบ่อยคือพระบรมฉายาลักษณ์ที่ทรงนั่งประทับบนสะพานไม้ที่บ้านเจาะบากง ตำบลปูโยะ อำเภอสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2524 กับรถยนต์แลนด์โรเวอร์ ซึ่งเป็นออฟโรดคันโตที่ทุกวันนี้ยังถูกเก็บไว้อย่างดี





อีกเหตุการณ์สำคัญหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย คือพระองค์ท่านทรงขับพระราชพาหนะ “โตโยต้า โซลูน่า” พร้อมสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เมื่อราว 20 ปีที่แล้ว ซึ่งเรื่องนี้มีที่มาที่ไป

โดยเฟสบุคแฟนเพจ “วรพล สิงห์เขียวพงษ์” กูรูด้านรถยนต์ชื่อดังและอดีตคอลัมนิสต์ของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ กล่าวถึงเรื่องราวดังกล่าวว่า โตโยต้า โซลูน่า รุ่นแรกที่แปะตัวอักษรไทยและเลขไทยมีจริงและผลิตจำนวนจำกัด แต่ยังมีบางข้อมูลผิดๆบอกว่ารถยนต์คันนี้ผลิตเพื่อ ‘ถวาย’ในปีฉลองครองราชย์ครบ 50 ปี (ในปี พ.ศ. 2539)

เรื่องนี้เกิดในยุคเศรษฐกิจฟองสบู่แตก ปลายปี 2540 มีข่าวลือว่าโรงงานโตโยต้าจะปิดและให้พนักงานออก ในหลวงทรงห่วงใยจึงให้คน ‘สั่งซื้อ’ รถรุ่นนี้ 1 คัน โตโยต้าทราบจึงตั้งใจทำให้รถมีอะไรพิเศษ โดยติดชื่อรุ่นเป็นตัวอักษรไทยและเลขไทย(Emblem) ที่ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นไม่เคยทำมาก่อน

การทำตัวอักษร-เลขแปะใดๆในรถทุกรุ่น มักใช้เวลาออกแบบ-แก้ไขกันนานมาก แต่ครั้งนั้นทำเสร็จในเวลาไม่กี่วัน โดยรถที่จัดส่งมอบถวายเป็นสีฟ้าพิเศษ พร้อมผลิตจำหน่ายจริงในจำนวนจำกัดเป็นรุ่นลิมิเต็ด 600 คัน 2 สี คือ เป็นสีทูโทนคือน้ำตาลอ่อน-เข้ม (ส่วนล่างสีเข้มกว่าตัวรถส่วนบน) และสีเงินอมฟ้า

ในภาพในหลวงทรงขับรถเอง และมีสมเด็จพระบรมฯประทับด้านหน้า สมเด็จพระเทพฯประทับด้านหลัง เรื่องราวโดยย่อนี้นำมาจากสารสภาวิศวกรรม ฉบับเดือน พ.ย.-ธ.ค. 2550 เล่าโดยคุณ “นินนาท ไชยธีรภิญโญ” รองประธานกรรมการ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด คือ ช่วงปี 2540 หลังไทยประสบภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ วันที่ 5 พฤศจิกายน 2540 มีข่าวลือในหน้า นสพ.ว่าโตโยต้าจะปิดโรงงาน-ลอยแพพนักงาน 5,500 คน บริษัทฯ จึงจัดแถลงข่าวว่าไม่เคยคิดปิดโรงงาน ต่อมามีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่ทรงห่วงใยพนักงานโตโยต้า วันที่ 6 พฤศจิกายน 2540 เลขานุการส่วนพระองค์ได้โทรศัพท์แจ้งว่า พระองค์ทรงมีพระราชประสงค์สั่ง 'ซื้อ' รถโตโยต้า โซลูน่า 1 คัน โดยให้พนักงานใช้มือทำก็ได้ ไม่ต้องใช้เครื่องจักร ไม่ต้องรีบ พนักงานคนไทยจะได้มีงานทำนานๆ

เมื่อนำรถไปถวายพระองค์ในเดือนธันวาคม 2540 พระองค์ทรงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ 600,000 บาท แต่ทางโตโยต้าไม่รับเงิน จึงทรงมีพระราชดำริใหม่ว่าให้นำเงินไปตั้งโรงสีข้าว เพื่อช่วยเหลือชาวนาละแวกใกล้เคียงโรงงานผลิตรถ เพราะโตโยต้ามีการบริหารจัดการที่ดีจึงควรตั้งโรงสีข้าวตัวอย่างขึ้นเอง แล้วขายในราคาสวัสดิการให้แก่พนักงานหรือชาวบ้าน และขายผลพลอยได้ เช่น แกลบและรำ ให้แก่เกษตรกรชุมชนที่เลี้ยงหมู จึงเป็นที่มาของโรงสีข้าวรัชมงคลที่ดำเนินการต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

....เครคิต “วรพล สิงห์เขียวพงษ์” ติดตามแฟนเพจ https://www.facebook.com/worapol.fanpage

สำหรับโตโยต้า โซลูน่า (Toyota Soluna) เป็นรถยนต์นั่งขนาดเล็กที่สุดของโตโยต้าที่ทำตลาดไทยในช่วงนั้น (ก่อนจะพัฒนามาเป็นโซลูน่า วีออส และ วีออสในปัจจุบันเป็นเจเนอรเชันที่4 ) ด้วยการสื่อสารว่าพัฒนาเพื่อคนไทยจากวิศวกรคนไทย (ร่วมกับทีมวิศวกรญี่ปุ่น) เปิดตัวอย่างเป็นทางการครั้งแรกวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2540 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ วางเครื่องยนต์ 5A-FE แบบ 4 สูบ 16 วาล์ว DOHC ขนาด 1.5 ลิตร 94 แรงม้า มีให้เลือกทั้งรุ่นเกียร์ธรรมดา 5 สปีด และเกียร์อัตโนมัติ 3 สปีด (รุ่นเกียร์อัตโนมัติ 4 สปีดตามาทีหลัง) ราคาขาย 334,000 บาท

ความเป็นมาของโรงสีข้าวรัชมงคล ข้อมูลจาก โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด

บริษัท ข้าวรัชมงคล จำกัด ดำเนินงานภายใต้บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อสนองพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่9 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวนาผ่านการจัดตั้งโรงสีข้าวรัชมงคลขึ้น ปัจจุบันได้ขยายผลการพัฒนาศักยภาพของชาวนาไทย ผ่านการจัดตั้งแปลงนาสาธิตรัชมงคลเพื่อเป็นต้นแบบในการปลูกข้าวให้กับชาวนาไทยทั่วประเทศ

เมื่อพ.ศ. 2540 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่9 ทรงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 6 แสนบาท เพื่อนำมาเป็นทุนจดทะเบียนบริษัท ข้าวรัชมงคล จำกัด โดยทรงถือหุ้น 12 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งพระองค์ทรงมีพระราชประสงค์เพื่อช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต ให้แก่เกษตรกรในท้องถิ่นให้ดีขึ้นด้วยการรับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนา และสหกรณ์การเกษตรชุมชนในราคายุติธรรม พร้อมจำหน่ายข้าวสารในราคาเหมาะสม โดยมิได้หวังผลกำไรจากการดำเนินงานซึ่งนับเป็นกุศโลบายอันแยบยลของพระองค์ท่าน

-จดทะเบียน บริษัท ข้าวรัชมงคล จำกัด วันที่ 28 ตุลาคม 2541 ด้วยทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาทถ้วน
-เริ่มก่อสร้างโรงงาน วันที่ 20 ธันวาคม 2541 บนพื้นที่ 5 ไร่ ในนิคมอุตสาหกรรมเกตุเวย์ อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา
-เปิดดำเนินการเดือนมิถุนายน 2542
-พิธีเปิดอย่างเป็นทางการ วันพฤหัสบดีที่ 9 กันยายน 2542 โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรง พระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์เป็นประธานประกอบพิธีเปิดดำเนินการโรงสีข้าว
กำลังโหลดความคิดเห็น