xs
xsm
sm
md
lg

‘ชิโร นากามูระ’ตอบคำถาม“นิสสัน พีพีวี ใหม่”-บทบาทศูนย์ออกแบบรถในไทยและเทรนด์อนาคต?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

17 ปีที่ “ชิโร นากามูระ” เข้ามารับผิดชอบงานออกแบบรถยนต์ของนิสสัน แบรนด์ไอคอน“จีที-อาร์” รถตระกลูแฟร์เลดี้ Z รถบ้านอย่าง “คิวบ์” และครอสโอเวอร์หน้าประหลาด “จู๊ค” ไปจนถึงรถหรูในเครืออย่างอินฟินิตี้ เป็นผลงาน(ส่วนหนึ่ง)ที่ฝากมือผ่านตาชายคนนี้ทั้งหมด

ภายใต้ยุคสมัยเปลี่ยนแปลง นายใหญ่ที่ดูแลสตูดิโอการออกแบบรถยนต์ของนิสสันทั่วโลก (ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ จีน เป็นต้น) ไม่ได้เป็นเพียงผู้กำหนดทิศทางการออกแบบของนิสสันเท่านั้น แต่ยังเพิ่มบทบาทหน้าที่ไปถึงการเลือกเทคโนโลยียานยนต์ ระบบขับเคลื่อน ฟังก์ชัน-ออปชันใหม่ๆ ที่จะต้องมีในรถยนต์นิสสันอีกด้วย และในโอกาสมาเยือนเมืองไทยเพื่อสำรวจตลาดและงานของศูนย์วิจัยพัฒนายานยนต์ (Nissan Motor Asia Pacific R&D Test Center) “ผู้จัดการมอเตอริ่ง” ร่วมสัมภาษณ์ ชิโร นากามูระ รองประธานอาวุโสและหัวหน้าฝ่ายออกแบบนิสสัน มอเตอร์ ประเทศญี่ปุ่น

แนวทางพัฒนาการออกรถยนต์ของนิสสัน?

งานของผมแบ่งเป็นสองเฟสคือ เฟสแรกจัดตั้งเครือข่ายเพื่อวางพื้นฐานการออกแบบในตลาดหลักๆทั่วโลก เฟสที่สองให้ความสนใจกับตลาดที่มีแนวโน้มเติบโต(อเมริกาใต้ อินเดีย อาเซียน) พร้อมเก็บข้อมูลนำมาวางแผนเชิงกลยุทธ์ เพื่อพัฒนาแบรนด์นิสสันให้แข็งแกร่งต่อไป

“ปัจจัยความสำเร็จอยู่ที่เราจะสามารถใกล้ชิดตลาดได้แค่ไหน ซึ่งการออกแบบเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จ ดังนั้นการได้ข้อมูลความต้องการของผู้บริโภค พฤติกรรมผู้บริโภค การใช้ชีวิตเปลี่ยนไปในทิศทางไหน ล้วนเป็นข้อมูลดิบที่ต้องเก็บเข้าไปพิจารณาในการออกแบบรถยนต์รุ่นใหม่”

บทบาทของงานออกแบบในเมืองไทย

เราตั้ง “ดีไซน์ เซ็นเตอร์” หรือสตูดิโอการออกแบบของนิสสันไปทั่วโลกโดยมีที่ญี่ปุ่นเป็นศูนย์หลัก สำหรับเมืองไทยนิสสันลงทุนเพิ่มศักยภาพและเปิดศูนย์วิจัยพัฒนายานยนต์ ซึ่งมีด้านการออกแบบรวมอยู่ด้วยในนั้น(เรียกว่านิสสัน ดีไซน์ อาเซียน ออฟฟิส) แม้ไม่ถึงกับเรียกว่าเป็น“ดีไซน์ เซ็นเตอร์” แต่ก็เป็นก้าวแรก ก้าวสำคัญของการพัฒนาและจะมีบทบาทครอบคลุมทั้งอาเซียนต่อไป

ตอนนี้ออฟฟิสด้านการออกแบบในไทยอยู่ในขึ้นแรกคือ มีหน้าที่เก็บรวบรวมข้อมูลต่างๆเพื่อส่งไปที่สตูดิโอการออกแบบที่ญี่ปุ่น แต่ต่อไปเราหวังให้ไทยก้าวไปขั้นที่สองคือ สามารถทำเป็นโปรเจกต์เสนอไปที่ญี่ปุ่นได้เลยว่าอยากได้รถที่ออกแบบมาเป็นลักษณะไหน และขั้นตอนสุดท้ายคือออกแบบเป็นโปรดักต์ใหม่ที่นี่เลย

“การออกแบบรถยนต์หนึ่งคันอาจจะมีขั้นตอนมากมาย เมืองไทยมีโอกาสพัฒนาบทบาทในส่วนนี้เพิ่ม แต่ต้องเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป”
ศูนย์วิจัยพัฒนายานยนต์ของนิสสันในประเทศไทย ที่ต่อไปฝ่ายงานออกแบบจะต้องมีบทบาทมากขึ้น

จากการศึกษาของนิสสัน การใช้รถหรือความชอบของคนไทยเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง?

แน่นอนว่าไทยยังเป็นตลาดของปิกอัพที่มีความเฉพาะตัว เมื่อหลาย 10 ปีก่อนผมเคยมาอยู่เมืองไทยทำงานกับบริษัทรถยนต์แห่งหนึ่ง(อีซูซุ) ซึ่งตอนนั้นปิกอัพยังเน้นตัวถังแบบตอนเดียวหรือตอนครึ่งเพื่อการใช้งานในเชิงพาณิชย์ แต่ปัจจุบันการใช้งานปิกอัพเปลี่ยนไปในรูปแบบรถยนต์นั่งมากขึ้น

ปิกอัพเป็นรากฐานของรถยนต์ในเมืองไทย ถ้าหากเราไม่มาอยู่ที่นี่ก็จะไม่มีวันเข้าใจลักษณะการใช้งานปิกอัพของคนไทยได้เลย เพราะในญี่ปุ่นปิกอัพคือปิกอัพ ใช้เพื่อการบรรทุก-ขนส่งเท่านั้น

“ผมกลับมาเมืองไทยอีกที(น่าจะหลายปีก่อน) รูปแบบปิกอัพก็มีหลายประเภทแล้ว พร้อมให้ทั้ง ความหรูหรา ความอเนกประสงค์ มีการใช้งานยืดหยุ่นได้มาก นี่คือสเน่ห์หรือความแตกต่างที่น่าสนใจ”

เกี่ยวกับเอสยูวีรุ่นใหม่ที่พัฒนาบนพื้นฐานปิกอัพ(PPV)

เรากำลังวางแผนกันอยู่ ส่วนช่วงเวลาในการเปิดตัวจะเป็นเมื่อไหร่ยังไม่สามารถบอกได้ แต่ผมยืนยันได้ว่าเมื่อรถคันนี้ออกมาสู่ตลาดแล้วจะต้องไม่ตามหลังคู่แข่ง

โปรดักต์ใหม่จะต้องมีความแข็งแกร่งเพื่อดึงดูดใจลูกค้า ขณะที่เราอยากเข้าไปให้ถึงกลุ่มลูกค้าเจเนอเรชันใหม่ๆ ดังนั้นการออกแบบถือเป็นเรื่องสำคัญ จึงเป็นเหตุผลว่า ออฟฟิสการออกแบบของไทยต้องเก็บข้อมูลความต้องการของลูกค้า และจับตาคู่แข่งอย่างละเอียด ขณะเดียวกันรถยนต์คันนี้ยังต้องตอบสนองกับความต้องการในตลาดโลกด้วย

เราไม่สามารถออกแบบรถให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคได้ หากเราไม่ได้เข้าไปอยู่ในประเทศนั้นๆ เราต้องเก็บข้อมูล วิถีการใช้ชีวิต รสนิยม ความชอบ ว่าดำเนินไปอย่างไร เพื่อนำข้อมูลไปออกแบบรถยนต์ให้เข้าถึงโดนใจมากที่สุด

โปรเจกต์ใหม่ที่เป็นความร่วมมือกับมิตซูบิชิ?

ความร่วมมือนี้เป็นเรื่องดีแน่นอน แต่ต้องเข้าใจว่าพันธมิตรคือพันธมิตร ไม่ใช่บริษัทเดียวกัน จริงที่ว่าเรามีความร่วมมือกันในบางอย่างซึ่งลูกค้าอาจจะไม่เห็นภาพชัดเจน เพราะส่วนมากเป็นงานเบื้องหลัง เช่นการแบ่งปันโครงสร้างพื้นฐาน ข้อมูล-เทคโนโลยีสารสนเทศ(IT) ขณะที่งานออกแบบต้องเป็นอิสระต่อกัน ย้ำว่าความร่วมมือจะต้องไม่ทำให้ตัวตนของทั้งสองฝ่ายเปลี่ยนแปลง

“เราไม่มีความตั้งใจรวมสองบริษัทนี้เป็นหนึ่งเดียว แต่นี่จะเป็นการจับมือร่วมกันเพื่อเติมเต็มสิ่งตัวเองขาดหายไป”
เทรนด์การออกแบบรถยนต์รุ่นใหม่

การเข้ามาของอินเตอร์เน็ตมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคน ทำให้โลกเข้าใกล้กันมากขึ้น ผู้คนเห็นเรื่องราวของแต่ละประเทศในอีกซีกโลกได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะคนในเจเนอเรชันใหม่ๆ ที่เปิดรับอะไรได้กว้างมาก

ยกตัวอย่างสมัยก่อนรถยนต์ซีดานหนึ่งรุ่น ความชอบของคนในแต่ละภูมิภาคต่างกันมาก รถอาจจะทำออกมาหลายเวอร์ชันเพื่อตอบสนองรสนิยมที่แตกต่างกัน ผิดกับสมัยนี้ที่เทรนด์เปลี่ยนไปเป็นเอสยูวี/ครอสโอเวอร์ หรือเซกเมนต์ใหม่สำหรับผู้คนเจเนอเรชันใหม่ๆซึ่งมีรูปลักษณ์เดียวกันทั่วโลก หรือเป็นไปตามแนวทาง One Product for All Country การออกแบบที่ต้องคำนึงถึงการใช้งานของคนทั่วโลกมากขึ้น

กำลังโหลดความคิดเห็น