xs
xsm
sm
md
lg

ลองขี่ “หิมาลายัน” เล่นของสูงพิสูจน์ความแกร่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“การทดสอบรถครั้งนี้เป็นการพิสูจน์ความทนทานอย่างหนักหนาสาหัสมากที่สุดเท่าที่เคยสัมผัสมา”

ผมจดบันทึกประโยคข้างบนลงในสมุดโน๊ตเล่มเล็ก หลังเสร็จสิ้นภารกิจเข้าร่วมการเดินทางกึ่งผจญภัยที่ประเทศอินเดีย ภายใต้ชื่อกิจกรรม หิมาลายัน โอดิสซีย์ 2016 (Himalayan Odyssey 2016) หรือก็คือทริปที่ผมได้รับเชิญมาเพื่อทดลองขี่ผลิตภัณฑ์ใหม่ล่าสุดของรอยัล เอนฟิลด์ รุ่นหิมาลายัน (Himalayan) (คลิ๊กอ่าน “หิมาลายัน โอดิสซีย์” ทริปนักบิดพิชิตเทือกเขาน้ำแข็ง)

แอดเวนเจอร์ไบค์ที่มีชื่อเดียวกับเทือกเขาอันยิ่งใหญ่ พร้อมใช้ลุยได้ในทุกสถานการณ์ ตามสโลแกนติดตัว Built for all roads. Built for no roads.

สำหรับโมเดลใหม่ของแบรนด์เก่าแก่สัญชาติอังกฤษที่มีฐานการผลิตอยู่ในแดนภารตะรุ่นนี้ เพิ่งเปิดตัวเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา และเริ่มทำตลาดอย่างเป็นทางการในไตรมาสที่สอง ด้วยราคาจำหน่ายรวมค่าประกันและจดทะเบียนอยู่ที่ 175,759 รูปี (รายงานข่าวแจ้งว่ากำลังจะมีคิวทำตลาดบ้านเราเร็วๆ นี้ พร้อมปรับเพิ่มสเปกหัวฉีดและเบรก ABS) โดยก่อนที่จะไปว่ากันถึงบททดสอบ ลองมาฟังความเป็นมาของแนวคิดการพัฒนาตัวรถสักเล็กน้อย จากหนึ่งในผู้บริหารของรอยัล เอนฟิลด์ที่เปิดเผยว่า

“มอเตอร์ไซค์รุ่นหิมาลายันเกิดจากการสั่งสมประสบการณ์ที่ยาวนานถึง 60 ปีของรอยัล เอนฟิลด์ในแดนหิมาลัย ซึ่งเปรียบได้ดั่งศูนย์กลางแห่งจิตวิญญานของรถรุ่นนี้ องค์ความรู้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเพียงหนึ่งเดียวที่เรารวบยอดมาได้จากตลอดหลายปีที่มีกิจกรรมขี่มอเตอร์ไซค์ในดินแดนแห่งนี้ก็คือ รถมอเตอร์ไซค์ที่ดีที่สุดสำหรับเทือกเขาหิมาลัย ไม่ใช่รถที่พยายามจะเอาชนะลักษณะภูมิประเทศ แต่ต้องเป็นรถที่สามารถปรับตัวให้เข้ากันเป็นหนึ่งเดียวกับที่แห่งนี้ได้ต่างหาก” ชาจิ โคชี รองประธานอาวุโส ฝ่ายขาย บริการ และอะไหล่ กล่าวและว่า

“ด้วยการออกแบบที่เน้นความสำคัญของการใช้งานเฉพาะทางตั้งแต่ขั้นตอนแรกสุด จึงทำให้มอเตอร์ไซค์รุ่นหิมาลายันเป็นรถที่ใช้งานง่าย และสามารถพาคุณไปได้ทุกๆ ที่ มันเป็นมอเตอร์ไซค์ที่จะกำหนดนิยามใหม่ให้กับคำว่า การขี่จักรยานยนต์ผจญภัยไปทั่วอินเดีย”

จากจุดกำเนิดดังกล่าวที่เน้นการใช้งานเป็นหลัก ซึ่งต้องพร้อมลุยงานหนักในทุกสภาพเส้นทางบนเทือกเขาสูงชัน สอดคล้องกับปรัชญาการผลิตสองล้อประจำค่าย ที่ต้องการให้ผู้บริโภคเข้าถึงความสุขในการขับขี่มอเตอร์ไซค์ที่แท้จริงแบบ “Pure Motorcycling”

ดังนั้น แม้หน้าตาการออกแบบและเทคโนโลยีที่ติดตั้งในแอดเวนเจอร์ไบค์รุ่นนี้ ภาพรวมอาจดูไม่หวือหวามากนัก เข้าขั้นเรียบง่ายแบบบ้านๆ ทว่าใช้งานได้จริงในทุกๆ รายละเอียด โดยที่เห็นได้ชัดเจนคือ อุปกรณ์ติดรถอย่างเข็มทิศที่หน้าปัดเรือนวัดความเร็ว ปัจจุบันจะมีรถสักกี่รุ่นที่มีฟังก์ชั่นนี้ ซึ่งทางเจ้าของผลิตภัณฑ์ย้ำว่า ติดตั้งไว้ใช้ประโยชน์ขณะต้องขับขี่ไปในบริเวณที่ไม่มีจุดสังเกตของสถานที่ เช่น ทะเลทราย รวมถึงบนภูเขาที่อยู่สูงหลายพันถึงหลักหมื่นฟิตจากระดับน้ำทะเล อาจทำให้ไม่สามารถใช้บริการสัญญาณอินเทอร์เน็ตเพื่อระบุตำแหน่งหรือบอกทิศทางได้


ขณะที่ฟังก์ชั่นอื่นๆ บนหน้าจอประกอบด้วย เข็มบอกความเร็ว รอบเครื่องยนต์ และปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงแบบอนาล็อก โดยมีส่วนที่แสดงเป็นตัวเลขแบบดิจิตอลด้วย ได้แก่ ระยะทางรวม, เวลา, ทริป A และ B พร้อมค่าเฉลี่ยความเร็วในแต่ละทริป และอุณหภูมิสภาพแวดล้อมภายนอก นอกจากนี้ยังมีปุ่มไฟสัญญาณฉุกเฉินติดตั้งอยู่บนบริเวณหน้าปัดด้วย

ขยับมาในส่วนของการขับขี่ เบาะสูงกำลังดี 800 มม. ท่านั่งสบาย เดินทางไกลไม่เมื่อย พักเท้าอยู่ในแนวเดียวกับลำตัวผู้ขับขี่ ช่วงหัวเข่าหนีบรถได้กระชับพอสมควร ตำแหน่งแฮนด์บังคับวางอยู่เหนือเอวเล็กน้อย การควบคุมให้ความมั่นใจทั้งในท่านั่งหรือยืนขี่ก็ตาม ตลอดจนมีความคล่องตัวในระดับใช้งานในเมืองได้ไม่น่าเกลียด

ด้านขุมพลังเครื่องยนต์ 4 จังหวะ ขนาด 411 ซีซี. สูบเดียว SOHC ระบายความร้อนด้วยอากาศ ใช้ระบบจ่ายน้ำมันด้วยคาร์บูเรเตอร์ ส่งกำลังด้วยชุดเกียร์ 5 สปีด (ดูภาพข้อมูลเทคนิคประกอบ) อัตราเร่งช่วงออกตัวไม่พุ่งอย่างที่คิด และแรงสะท้านจากเครื่องยนต์สูบเดียวก็ไม่มากอย่างที่กังวล การส่งกำลังนุ่มนวลไหลลื่นต่อเนื่อง หากวิ่งในทางราบจังหวะลากรอบไม่มีอาการใดๆ ความเร็วปลายที่เกียร์ 5 รอบเครื่องยนต์อยู่ที่ 6,000 รอบ/นาที ทำได้ 120 กม./ชม.

ส่วนในกรณีวิ่งขึ้นเขา ด้วยสภาพภูมิอากาศแบบเฉพาะในเขตสูง ช่วงรอบเครื่องยนต์ตั้งแต่ 3,000-4,500 รอบ/นาที จะเริ่มมีอาการสะดุดจากอากาศที่ไหลเข้าห้องเผาไหม้น้อยลง ซึ่งอาการนี้ถามจากช่างเทคนิคของรอยัล เอนฟิลด์แล้ว ได้รับคำตอบว่าเป็นทุกคันที่ใช้ระบบจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงด้วยคาร์บูเรเตอร์

ขณะเดียวกันอัตราบริโภคน้ำมันเฉลี่ยไม่มีโหมดแสดงบนหน้าจอ แต่จากการสังเกตในวันที่ต้องวิ่งเกินระยะทาง 200 กม. น้ำมันหนึ่งถังยังเหลือๆ หรือถ้าเข็มชี้ไปถึงขีดสีแดงจะมีตัวเลขแสดงพร้อมอักษร F ให้เราหมุนก๊อกน้ำมันสำรองชี้ลูกศรขึ้น ตัวรถจะยังสามารถวิ่งไปได้ไกลอีกถึง 100 กม.

อย่างที่เกริ่นไว้แต่แรกว่า การทดสอบรถครั้งนี้ที่ว่าหนักหนาสาหัสที่สุด เพราะตลอดเส้นทางที่ขับขี่(ครึ่งหลัง 8 วัน) มันไม่ใช่ถนน มีแต่ฝุ่น หิน ดิน ทราย กรวด โคลน และกระแสน้ำ โดยกว่าจะผ่านแต่ละอุปสรรคไปได้ต้องใช้แรงกายและแรงใจเป็นอย่างมาก แต่ยังดีที่มีพระเอกคอยช่วยเหลือ สำหรับระบบช่วงล่างและเบรกที่ทำหน้าที่ดีเยี่ยมเอาอยู่ทุกสถานการณ์ ยกตำแหน่งอุปกรณ์ติดรถที่โดดเด่นที่สุดให้ไปเลย

ท้ายที่สุดถ้าคำที่เราคุ้นเคยกันดีอย่าง “เข็นครกขึ้นภูเขา” ทุกคนรับรู้ความหมายว่ายากขนาดไหน คิดเล่นๆ เมื่อเทียบกับทริปนี้ อยากให้รู้ไว้ เปลี่ยนจาก “ครก” เป็น “รถ” จะยากยิ่งกว่าหลายเท่า

หลังบรรลุภารกิจเล่นของสูงพิสูจน์ความแกร่งบนเส้นทางสุดแสนหฤโหดแล้ว ผมขอยืนยันตามคำบอกของผู้บริหารรอยัล เอนฟิลด์ อีกครั้งว่า “หิมาลายัน” สามารถพาผู้ขับขี่ผจญภัยไปได้ทั่วอินเดียจริงๆ

แน่นอนนอกเหนือจากนั้น น่าจะรวมไปถึงทั่วโลกด้วย


ติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวในวงการยานยนต์ได้ที่หน้าแฟนเพจ MGR Motoring

“หิมาลายัน โอดิสซีย์” ทริปนักบิดพิชิตเทือกเขาน้ำแข็ง
“หิมาลายัน โอดิสซีย์” ทริปนักบิดพิชิตเทือกเขาน้ำแข็ง
ทริปจักรยานยนต์ผจญภัยแดนหิมาลัยหรือหิมาลายัน โอดิสซีย์ (Himalayan Odyssey) ครั้งที่ 13 ของรอยัล เอนฟิลด์ในปี 2016 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-23 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ซึ่งครั้งนี้มีความพิเศษกว่าที่เคย เพราะมีการเปิดตัว Himalayan Odyssey - Women (HO-W) ที่เพิ่มสีสันกลุ่มนักบิดสาวมาเข้าร่วมการผจญภัยด้วย โดยในฝั่งกลุ่มนักขับผู้หญิงล้วนที่มีประมาณ 20 คน เพื่ออำนวยความสะดวกและแบ่งส่วนอย่างแท้จริง รอยัล เอนฟิลด์ ได้จัดบุคลากรที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเป็นผู้หญิง ไม่ว่าจะในส่วนซ่อมบำรุง ช่างเทคนิค รวมไปถึงหมอและทีมแพทย์ที่จะคอยให้ความช่วยเหลือผู้ร่วมทริปตลอดการเดินทาง ทั้งนี้หากนับรวมเบ็ดเสร็จแล้วมีนักบิดทั้งชายและหญิงทั่วโลกกว่า 100 คนที่ไปเข้าร่วมพิชิตจุดหมายบนเทือกเขาน้ำแข็ง ภายใต้สภาพเส้นทางที่ได้รับการกล่าวขานว่าสุดแสนหฤโหดและอันตรายที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
กำลังโหลดความคิดเห็น