เจ็บตายพิการช่วงสงกรานต์ ทำไทยเสียค่าใช้จ่ายกว่า 5 พันล้านบาท พบ 13 - 15 เม.ย. ยอดเจ็บ - ตายเกิน 50% ของยอด 7 วันอันตราย ดื่มสุรา - ไม่สวมหมวกกันน็อก สาเหตุหลัก สธ. เร่งวิเคราะห์ผลดำเนินงานป้องกันอุบัติเหตุ หลังพบบางพื้นที่เจ็บตายลด บางพื้นที่เพิ่มขึ้น คาด พ.ค. รู้ผล
วันนี้ (20 เม.ย.) นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวการดำเนินงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขช่วง 7 วัน ระวังอันตรายเทศกาลสงกรานต์ปี 2559 ว่า ข้อมูลจากศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาสาธารณภัยด้านการแพทย์และสาธารณสุข พบว่าช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2559 มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรทั้งหมด 504 ราย บาดเจ็บรวม 28,341 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2558 จำนวน 479 ราย เป็นผู้ป่วยนอก 24,093 ราย และพักรักษาตัวในโรงพยาบาล 4,248 ราย โดยคาดว่าจะเกิดความพิการถึง 195 ราย คิดเป็นร้อยละ 4.6 ของผู้ที่นอนโรงพยาบาล ค่าใช้จ่ายจากการเจ็บตายและพิการคาดว่ามากกว่าถึง 5,000 ล้านบาท ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์พบว่า จำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดในช่วงเทศกาลสงกรานต์คือ ระหว่างวันที่ 13 - 15 เม.ย. 2559 คือ 15,184 ราย เกินครึ่งของผู้บาดเจ็บตลอด 7 วันอันตราย คิดเป็นร้อยละ 54 และเสียชีวิต 244 ราย คิดเป็น 50% ของผู้เสียชีวิตตลอดเทศกาล พฤติกรรมเสี่ยงคือดื่มสุราร้อยละ 62 ไม่สวมหมวกกันน็อกเกือบ 50%
นพ.โสภณ กล่าวว่า สำหรับมาตรการป้องกันอุบัติเหตุจราจร ไม่ได้ทำเฉพาะเพียงช่วงเทศกาลเท่านั้น แต่ทำมาตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ 2559 ทั้งการบูรณาการข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุเจ็บตายจาก 3 ฐานข้อมูล การแก้ไขจุดเสี่ยง 512 จุด จากที่มีการชี้จุดเสี่ยง 767 จุด การตั้งด่านชุมชน 578 ด่าน การเพิ่มปริมาณและคุณภาพการบริการทางการแพทย์ฉุกเฉินจากที่เกิดเหตุจนถึงโรงพยาบาล และการจัดระบบโครงสร้างและการจัดการบริการฉุกเฉิน
ผู้สื่อข่าวถามว่า แม้จะมีมาตรการป้องกันอุบัติเหตุจำนวนมาก แต่จำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตไม่ลดลงจากปีก่อน นพ.โสภณ กล่าวว่า เนื่องจากการบูรณาการข้อมูล ทำให้ได้ข้อมูลที่เพิ่มมากขึ้น จึงทำให้มีจำนวนยอดผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม บางพื้นที่จำนวนผู้เสียชีวิตลดลง เช่น เพชรบูรณ์ พิษณุโลก แต่บางพื้นที่ผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น เช่น พิจิตร ก็คงต้องมาวิเคราะห์ว่าสาเหตุเกิดจากอะไร
นพ.อนุรักษ์ อมรเพชรสถาพร ผู้อำนวยการสาธารณสุขฉุกเฉิน (สธฉ.) กล่าวว่า อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น เพราะมีปริมาณรถมากขึ้น คนเดินทางเพิ่มขึ้น โอกาสในการเกิดเหตุจึงมากขึ้น ซึ่งอยากให้มองว่าหากไม่มีมาตรการป้องกันอะไรเลย จำนวนคนบาดเจ็บและเสียชีวิตอาจมากกว่านี้ก็เป็นได้ ซึ่งการวิเคราะห์การเกิดอุบัติเหตุจราจรนั้นจะต้องลงรายละเอียดถึงระดับพื้นที่ โดยดูว่าพื้นที่ไหนมีการดำเนินการอย่างไรบ้าง และให้ผลเป็นอย่างไร มีการดำเนินการแตกต่างกันตรงไหน ผลลัพธ์จึงไม่เหมือนกัน รวมไปถึงดูว่าการแก้ไขจุดเสี่ยง การตั้งด่านชุมชน ช่วยลดอุบัติเหตุได้หรือไม่ หรือยังมีปัญหาที่ตรงไหน ซึ่งคาดว่าจะวิเคราะห์ได้ในช่วง พ.ค. นี้ อย่างไรก็ตาม อุบัติเหตุเป็นเรื่องของพฤติกรรม ซึ่งบางคนไม่เคยนึกถึงความปลอดภัยเลย อย่างอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นก็พบเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีมีอาการเมา ทั้งที่กฎหมายห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี หรือเด็กอายุ 11 และ 12 ปี เป็นพี่น้องขี่มอเตอร์ไซค์เกิดอุบัติเหตุเสียชีวิตทั้งคู่ ทั้งที่อายุยังไม่ถึงในการทำใบขับขี่ ก็สะท้อนว่าพ่อแม่ก็ไม่ได้คำนึงถึงความปลอดภัย ตรงนี้ก็ต้องเร่งแก้ไขด้วย
ด้าน นพ.สุเทพ เพชรมาก รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากการออกตรวจการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตั้งแต่ 10 - 19 เม.ย. 2559 ทั้งหมด 1,245 ราย พบผู้กระทำผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และดำเนินคดีแล้ว 463 ราย ความผิดอันดับหนึ่งคือ ดื่มในที่ห้ามดื่ม เช่น บนถนน สวนสาธารณะ จำนวน 199 ราย มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ที่เหลือคือขายผิดเวลา 92 ราย โฆษณาสื่อสารการตลาด 86 ราย ขายในสถานที่ต้องห้าม เช่น สวนสาธารณะ 39 ราย ขายลดแลกแจกแถม 37 ราย และขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี จำนวน 7 ราย
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่