xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ใบขับขี่ Big Bike ต่ำกว่า 20 ปี ห้ามขับ! ลดอุบัติเหตุได้จริงหรือ?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เพิ่มความถี่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ สำหรับอุบัติเหตุรถมอเตอร์ไซค์ บิ๊กไบค์ (Big Bike) ที่เกิดขึ้นบนท้องถนนเมืองไทย เรียกว่าฟาดส่วนแบ่งไปกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ทิ้งช่วงอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากรถมอเตอร์ไซค์ประเภทอื่นๆ แบบไล่ตามไม่ทันกันเลยทีเดียว

ไม่นานมานี้ สังคมออนไลน์มีการแชร์คลิปผู้กองเคราะห์ร้าย ขี่บิ๊กไบค์ด้วยความเร็ว แต่กลับโดนชายชราวิ่งข้ามถนนตัดหน้าเข้าพอดิบพอดีจนต้องปิดฉากชีวิตด้วยอุบัติเหตุ แต่ดูเหมือนว่าความรุนแรงของอุบัติเหตุยิ่งเร่งอัตราความนิยมแก่ผู้ขับขี่หน้าใหม่ ยิ่งในวัยคะนองยิ่งไม่นึกขยาดหวาดกลัวในมัจจุราชจำแลง โดยเฉพาะนักเรียนกระโปรงบานขาสั้น วัยรุ่นอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่นิยมขี่บิ๊กไบค์ให้ได้เห็นกันเกลื่อนถนน

แน่นอนว่า เป็นปัญหาที่ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้นิ่งนอนใจ พยายามคิดมาตรการมากำกับดูแลเพื่อลดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินที่เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุมอเตอร์ไบค์ ทั้งผลักดันเรื่องใบอบรมการขับขี่บิ๊กไบค์, ใบขับขี่บิ๊กไบค์เฉพาะที่จำกัดอายุและขนาดเครื่องยนต์ ฯลฯ

ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อต้นเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา พ.ต.อ.เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ รองผู้บังคับการตำรวจราจร (รองผบก.จร. ) เปิดเผยเรื่อง 'ใบขับขี่บิ๊กไบค์' หลังจากมีแนวคิดเรื่องการจำกัดอายุผู้ขับขี่เสนอต่อทางกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ตั้งแต่ปี 2558 ได้ศึกษารายละเอียดและมีข้อสรุปเบื้องต้นว่า

ผู้ขับรถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์จะต้องมีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป จึงจะสามารถขับรถขนาดเครื่องยนต์ตั้งแต่ 400 ซีซี และต้องทำใบขับขี่ใหม่แยกจากใบขับขี่รถจักรยานยนต์ธรรมดาที่มีขนาดเครื่องยนต์ 110 ซีซี รวมทั้งเข้าทำการทดสอบทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติใหม่ทั้งหมด

โดยเฉพาะการสอบภาคปฏิบัติจะต้องทดสอบขับขี่รถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่เท่านั้น เพื่อสร้างมาตรฐานความปลอดภัยและเสริมทักษะการขับขี่อย่างถูกต้อง คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในปี 2559

อ้างอิงข้อมูลจากกรมการขนส่งทางบก 3 ปีที่ผ่าน มียอดการจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ที่มีขนาดกระบอกสูบมากกว่า 150 ซีซี จะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปี 2557 มียอดจดทะเบียน 48,716 คัน ปี 2558 จดทะเบียนมากถึง 54,475 คัน ขณะที่ปี 2559 พิจารณาจากตัวเลข 2 เดือนก็มีแนวโน้มที่จะสูงขึ้น

พ.ต.อ.เอกรักษ์ ขยายภาพความนิยมของรถจักรยานยนต์ บิ๊กไบค์ ว่าได้รับความนิยมจากสิงห์นักบิดในประเทศไทยอย่างมาก โดยเฉลี่ยมีรถประเภทนี้จดทะเบียนกว่า 100,000 คัน ซึ่งหากไม่มีมาตรการควบคุมอายุผู้ขับขี่จะส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุเป็นจำนวนมาก เพราะมีข้อมูลบ่งชี้อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบนท้องถนนผู้ขับขี่ส่วนมากอายุไม่ถึง 20 ปี และมักขับขี่กันด้วยความเร็วเกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในขณะที่บิ๊กไบค์ เป็นรถขนาดใหญ่และสมรรถนะสูง ผู้ขับขี่ต้องมีความชำนิชำนาญเพื่อความปลอดภัย ดังนั้น การเพิ่มหลักเกณฑ์ในเรื่องของการขอใบอนุญาตขับขี่รถจักรยานยนต์ จะเป็นกลไกสำคัญในการช่วยลดอุบัติเหตุได้เป็นอย่างดี

“กฎหมายกำหนดอายุ 18 ปี สามารถขอใบขับขี่ ขอใบอนุญาตขับขี่รถจักรยานยนต์ได้ทุกประเภท พอกฎหมายเป็นลักษณะนี้ นั่นหมายความว่า รถจักรยานยนต์ขนาด 150 ซีซี 1,000 ซีซี อยู่ในข้อบังคับเดียวกัน ทั้งที่ความจริงแล้วการขี่รถบิ๊กไบค์ต้องมีทักษะที่สูงกว่า จึงมีการเสนอให้กรมการขนส่งทางบกแยกใบขับขี่รถจักรยานยนต์เป็น 2 รูปแบบ โดยเสนอให้แบ่ง รถจักรยานยนต์ที่มีขนาดกระบอกสูบ 400 ซีซีขึ้นไป ถือว่าเป็นรถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่ ต้องมีใบอนุญาตขับขี่เฉพาะ ผู้ที่ขอใบอนุญาตได้ต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป ต้องมีใบรับรองจากสถานประกอบการฝึกอบรมขับขี่บิ๊กไบค์ ผ่านการทดสอบที่เข้มงวด ในการสอบปฏิบัติต้องนำรถขนาดใหญ่มาทดสอบ ซึ่งมาตรการนี้คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในปี 2559 นี้" พ.ต.อ.เอกรัตน์อธิบายรายละเอียด

เรียนก่อน...ตายที่หลัง

อย่างที่กล่าวในข้างต้นว่า รายงานอุบัติเหตุมอเตอร์ไซค์บิ๊กไบค์ที่เกิดขึ้นบนท้องถนนเมืองไทย ระบุว่าผู้ขับขี่ส่วนมากนั้นมีอายุไม่ถึง 20 ปี ซึ่งเป็นเงาสะท้อนไปยังครอบครัวของผู้ขับขี่วัยคะนอง ย้อนกลับไปประเด็นหลัก การควบคุมอายุผู้ขับขี่บิ๊กไบค์ สามารถลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุได้จริงหรือไม่?

อ.โฮ้ - ชาติชาย แซ่ลิ้ม อดีตนักแข่งมอเตอร์ไบค์ชื่อดังและผู้ก่อตั้ง Ho Racing School วิพากษ์สถานการณ์ในกลุ่มผู้ขับขี่บิ๊กไบค์ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะว่า ปัจจุบันมอเตอร์ไซค์บิ๊กไบค์ราคาต่ำและมีระบบ การผ่อนชำระอำนวยความสะดวกรวดเร็วสามารถจับต้องได้ง่ายขึ้น ขณะที่ตัวการสำคัญที่สุดคือ ครอบครัว ซึ่งมีส่วนในการเร่งอัตราการเกิดอุบัติเหตุคร่าชีวิตนักซิ่งผู้เยาว์

“พ่อแม่ก็มีส่วนผลักดันครับ ซื้อรถให้ไปตาย ลูกก็ขับไม่ค่อยเป็น” อ.โฮ้ กล่าวสั้นๆ ก่อนที่วิพากษ์ถึงสถานการณ์ต่อไป

ทั้งนี้ แม้ใบขับขี่บิ๊กไบค์จะมีข้อกำหนดว่าผู้ขับขี่ต้องมีอายุ 20 ปีขึ้นไป แต่ปัญหาคือคนไทยยังไม่สนใจในเรื่องของกฎกติกากฎจราจร อุบัติเหตุส่วนใหญ่นั้นเกิดจากความคึกคะนองโดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นซึ่งเป็นไปตามช่วงวัยของเขา

“เรื่องใบขับขี่ควบคุมอายุผู้ขับบิ๊กไบค์มันเหมือนไฟลามทุ่งมากกว่า เหมือนที่จอดรถมอเตอร์ไซค์ตอนติดไฟแดง พอ 3 เดือนก็ไม่มีที่ให้มอเตอร์ไซค์จอดแล้ว เป็นลักษณะเดียวกัน พอขี่ช่วงแรกก็เข้มงวด สักพักก็ปล่อยผ่านไป การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่เข้าอีหรอบนี้เป็นประจำ 3 - 4 เดือนแรก ฟิตแน่นอน ตรวจหมด หลังจากนั้นก็เป็นไฟลามทุ่งทุกโครงการครับ”

อีกประเด็นหนึ่งที่ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง คือเรื่องของทักษะการขับขี่ที่ถูกต้องและปลอดภัย แม้ทางค่ายรถมอเตอร์ไซค์แต่จะค่าย จะเปิดอบรมการขับขี่แก่ผู้ซื้อบิ๊กไบค์โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย แต่กลับกลายเป็นว่าคนไทยส่วนใหญ่ไม่สนใจเข้าอบรม

อ.โฮ้บอกว่า ผู้ที่มีความประสงค์ซื้อมอเตอร์ไซค์ขนาดเครื่องยนต์ 300 - 600 ซีซี ขึ้นไป ต้องเข้ารับการอบรมก่อน ต้องมีข้อบังคับด้วยว่าหากไม่เข้ารับการอบรมจะไม่จำหน่ายให้ ซึ่งยอมรับว่ารถมอเตอร์ไซค์บิ๊กไบค์หากขาดทักษะการขับขี่จะอันตรายอย่างมาก ตรงนี้เป็นเหตุผลอีกข้อหนึ่งที่มักเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยเฉพาะกลุ่มมีฐานะแต่ขาดสตินิยมซื้อบิ๊กไบค์มาก่อนแล้วค่อยหัดขับทีหลัง ซึ่งรถประเภทนี้จำเป็นต้องมีทักษะในการขับขี่เมื่อละเลยในส่วนนี้ไป อุบัติเหตุจึงเกิดขึ้นได้โดยง่าย

และปัญหาที่สำคัญคือ วันนี้ผู้ขับขี่วัยคะนองจำนวนมากนิยมซื้อรถมาก่อน โดยได้รับการสนับสนุนจากพ่อแม่ ซึ่งคล้องจองกับสุภาษิต ‘พ่อแม่รังแกฉัน’ จะขับเป็นหรือไม่ก็ช่างปะไรฉันมีสตางค์ฉันจะซื้อ โดยมองข้ามในเรื่องความปลอดภัยเท่ากับส่งเสริมให้บุตรหลานไปตายก่อนวัยอันควร

อ.โฮ้ กล่าวต่อไปว่า การนำเรื่องใบขับขี่มาควบคุมอายุผู้ขับขี่นั้น เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายทาง ประเด็นสำคัญที่ควรกลับมาพิจารณาคือปัญหาเรื่องระเบียบวินัยของผู้ขับขี่ ซึ่งจะเห็นได้ว่าพฤติกรรมของผู้ขับขี่เมืองไทยไม่ว่าจะพาหนะบนท้องถนนยังขาดเรื่องวินัยการเคารพกฎจราจร เหล่านี้เองเป็นผลให้เกิดอุบัติเหตุ

ทั้งนี้ อุบัติเหตุจากบิ๊กไบค์ส่วนใหญ่จะจำกัดอยู่ในกลุ่มอายุ 18 - 25 ปี ซึ่งเป็นวัยคะนอง และขาดทักษะประสบการณ์ จากที่เคยขับรถเล็กพอได้มาขับมอเตอร์ไบค์ที่เครื่องยนต์สูงขึ้นก็คุมไม่อยู่ ก็เกิดอุบัติเหตุ โดยจุดเกิดเหตุมักเป็นสี่แยก จุดเลี้ยวกลับ และที่สำคัญที่สุดก็คือ ล้วนแล้วแต่เกิดจากความประมาทและขับขี่ด้วยความเร็วสูงทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม ยากที่จะปฏิเสธว่าการขับขี่บิ๊กไบค์กำลังเป็นเทรนด์ของวัยรุ่นกลุ่มหนึ่ง ซึ่งถูกตราหน้าว่าเป็นพวก 'เด็กแว๊นไฮโซ' และมักพบเห็นกลุ่มกระโปรงบานขาสั้นได้เกลื่อนตาบนท้องถนน ซึ่งผู้ขับขี่กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องกำกับดูแลอย่างเร่งด่วน

“ถ้าเกิดอุบัติเหตุต้องจับพ่อแม่ เพราะว่าคุณซื้อให้ลูกไปตาย วัยวุฒิคุณวุฒิก็ไม่ถึง เด็กนักเรียน ม.ต้น วัยวุฒิไม่มีแน่นอน คุณซื้อรถใหญ่มาขับอันตรายแน่นอนถ้าพ่อแม่ตามใจ ที่ จ.นครนายกมีเคสหนึ่งครับ อายุประมาณ 16 ปี ประมาณ ม.3 - ม.4 แล้วแม่ก็ไปซื้อรถ 1,300 ซีซี ให้ขับ ทางร้านก็บอกวิธีการควบคุมรถคันนี้ว่าเป็นอย่างไร เด็กก็บอกไม่เป็นไรเขาขับได้ ก็ลองขับออกไป 500 เมตร ติดไฟแดงก็เบรกไม่อยู่ก็ชน เสียชีวิต แม่ยังไม่ได้จ่ายตังค์เลยลูกตายเสียแล้ว ที่บอกว่าพ่อแม่รังแกฉัน ก็คือจริงครับ ตามใจทุกอย่างแต่รถมันตามใจไม่ได้ต้องให้เขารู้จักก่อน” อ.โฮ้ให้ความเห็น

นอกจากนี้ กลุ่มผู้ขับขี่บางส่วนยังขับบิ๊กไบค์ไปโรงเรียน กลายเป็นค่านิยมว่า ขาสั้นขับบิ๊กไบค์เท่ ไม่ใส่หมวกเท่ ขับยกล้อเท่ ท่อดังเท่ และเกิดอุบิเหตุขึ้นบ่อยๆ เพราะพวกเขาไม่มีวัยวุฒิและคุณวุฒิ พอเจอพรรคพวกรุ่นเดียวกันก็โชว์กัน ก็เลยอุบัติเหตุมากขึ้น ซึ่ง อ.โฮ้ แนะว่าเป็นเรื่องที่ทางโรงเรียนต้องหามาตรการควบคุมดูแล ไม่ใช่ปล่อยปละละเลยให้นักเรียนขับรถประเภทมาโรงเรียน เพราะบิ๊กไบค์มีอันตรายกว่ารถมอเตอร์ไซค์ทั่วไปหากเกิดอุบัติเหตุขึ้นมา

โจ๋ - เกรียน - ซิ่ง มัธยมขี่บิ๊กไบค์

ในขณะที่ภาครัฐเตรียมที่จะออกมาตรการควบคุมอายุผู้ขับขี่ดังกล่าว โดยหวังใจว่าจะเป็นกลไกในลดภาพรวมอุบัติเหตุมอเตอร์ไซค์บิ๊กไบค์บนท้องถนนนั้น ลองมาฟังความคิดของบรรดากลุ่มวัยรุ่นที่ชื่นชนชอบบิ๊กไบค์กันบ้างว่า พวกเขามีความคิดเห็นอย่างไรกันบ้าง

ศศิ มงคลพรทรัพย์ อายุ 18 ปี นักเรียนหญิง ชั้น ม.6 โรงเรียนยุวทูตศึกษา หนึ่งในวัยรุ่นที่ชื่นชอบบิ๊กไบค์ บอกว่า ปัจจุบันเธอขับขี่ Ducati Monster 796 เครื่องยนต์ 800 ซีซี (ราคาประมาณ 450,000 บาท) ทั้งขับจากบ้านไปโรงเรียนและออกทริปท่องเที่ยวในต่างจังหวัด

“จำกัดอายุมันก็ไม่สามารถลดอุบัติเหตุได้ค่ะ คือบิ๊กไบค์มันก็มีอยู่หลายขนาด สมมุติ ตำรวจจำกัดมาว่า 500 ซีซี ขึ้นไปถึงจะเรียกว่าบิ๊กไบค์ แล้วพวกที่ขับ 300 ซีซี 400 ซีซี เขาก็คงไม่ลดจำนวนลงหรอกค่ะ จริงๆ ใบขับขี่มันควรจะสอบตามความสามารถรายบุคคลไปมันน่าจะดีกว่าค่ะ”

ศศิ แสดงความคิดเห็นในเรื่องการจัดระเบียบผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์บิ๊กไบค์ต่อไปว่า ถึงแม้จะไม่เห็นด้วยกับการควบคุมอายุห้ามต่ำกว่า 20 ปี เพราะมองว่าตามเกณฑ์ปัจุบันอายุ 18 ปีขึ้นไปนั้นเหมาะสมแล้ว เมื่อมีสิทธิเลือกตั้งได้แล้วเรื่องของการขับบิ๊กไบค์ก็น่าจะได้เช่นเดียวกัน

ส่วนกระแสที่สังคมตีตรากลุ่มเด็กวัยรุ่นขับบิ๊กไบค์ราคาแพงว่า เป็นพวกพ่อแม่รังแกฉัน ส่งลูกไปเสี่ยงบนท้องถนน ด้านนักเรียนหญิงวัย 18 ปี เข้าใจดีและรับฟังกระแสวิจารณ์ต่างๆ ซึ่งเป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล เช่นเดียวกับครอบครัวของเธอเองที่ปฏิเสธที่จะให้ขับขี่บิ๊กไบค์เช่นกัน

“ตอนแรกเขาก็ไม่ให้เลยค่ะ เพราะว่าหนูเป็นผู้หญิงด้วยเขาห่วงเรื่องความปลอดภัยอะไรต่างๆ แต่ว่าหนูก็ขอเขาเรียนก่อน ถ้าเรียนแล้วหนูขับได้ก็โอเค ถ้าขับไม่ได้ก็ไม่เป็นไร แต่พอได้เรียนแล้วก็รู้อะไรเยอะขึ้นทำให้เรามีความมั่นใจในการขับขี่มากกว่า ไปเรียนจะได้วิธีการเลี้ยวได้รับอะไรเยอะแยะมากมายเลยค่ะ แนะนำให้ไปเรียนก่อนที่จะขับจริงดีกว่า เพราะว่าเดี๋ยวศูนย์ต่างๆ เขาก็เปิดให้เรียนเยอะแยะ ไม่มีรถก็สามารถเช่าได้ที่ศูนย์เลยค่ะ มีซีซีให้เลือกเลย

“อุบัติเหตุเกิดได้หมด ไม่ว่าจะขับอะไรก็ตาม ปั่นจักรยานก็เกิดได้ อยู่ที่ตัวเรามากกว่าว่าตัวเรามีวุฒิภาวะและความสามารถในการเซฟตี้ตัวเองมากแค่ไหน โอเค! ไปช้าๆ ก่อนแล้วกัน ไม่อยากให้เสี่ยงไม่อยากให้เกิดอุบัติเหตุ เพราะว่าพ่อแม่เราเขาก็คงหนักใจที่ซื้อรถอย่างนี้ให้เราอยู่แล้ว เราก็อย่าทำให้เขาหนักใจไปยิ่งกว่านี้ ข่าวอุบัติเหตมีทั้งรถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์ มันก็มีตลอดค่ะ คิดว่าต้องดูแลตัวเองให้ดีก็โอเคแล้ว”

นั่นคือหนึ่งเสียงของนักเรียนมัธยมขี่บิ๊กไบค์ซึ่งฝากถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกรณีที่จะออกระเบียบควบคุมเรื่องอายุผู้ขับขี่บิ๊กไบค์ห้ามต่ำกว่า 20 ปี และเสนอความคิดเห็นด้วยว่า ถ้ายึดหลักเกณฑ์อายุเดิม 18 ปีขึ้นไป แต่เพิ่มเติมให้ผู้ใหญ่เข้ามาสอนทักษะแบ่งปันประสบการณ์การขับขี่ เพื่อสร้างวินัยและส่งเสริมเรื่องความปลอดภัย น่าจะเป็นการแก้ปัญหาเรื่องอุบัติเหตุที่ตรงจุดมากกว่า

ขณะที่ เดียร์ - ปิยะวัฒน์ จากเฟซบุ๊คเพจ Motorbike Journey ไบค์เกอร์รุ่นพี่ผู้ชื่นชอบการขับขี่บิ๊กไบค์ออกทริปท่องเที่ยว กลับ 'เห็นด้วย' กับมาตรการควบคุมอายุผู้ขับขี่ เพราะว่าเคยผ่านช่วงเวลานั้นมาและเข้าใจเรื่องความปลอดภัยและอันตรายที่จะเกิดขึ้นเป็นอย่างดี พร้อมทั้งแนะนำไบเกอร์รุ่นน้องๆ ด้วยว่า ขณะนี้มีข่าวอุบัติเหตุบิ๊กไบค์ให้เห็นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งส่วนใหญ่ที่เสียชีวิตจะเป็นกลุ่มผู้ขับขี่ช่วงอายุ 18 - 20 ปีโดยประมาณ เป็นข้อมูลที่สะท้อนว่าแม้พวกเขาจะผ่านการอบรมการขับขี่แต่ก็ไม่ได้เป็นหลักรับประกันในเรื่องของความปลอดภัย ยิ่งเป็นวัยรุ่นช่วงวัยที่มีความคึกคะนองตามบริบทยิ่งเป็นตัวแปรของการเกิดอุบัติเหตุได้สูง

“มันไม่ได้อยู่เรื่องทักษะอย่างเดียว เด็กหลายคนก็ขี่เก่งนะครับ การตัดสินใจทักษะดี แต่น้องหลายคนไม่รู้ตัวจริงๆ หรอกครับว่า ในวัยของเราความคะนองหรือความคึกในบางช่วง เรียกง่ายๆ 'ความใจถึง' มันเยอะตามวัย เด็กทุกคนคิดว่ารู้หลักให้ถูกขับให้ถูก ผมว่าเด็กหลายคนรู้หลักกว่าผู้ใหญ่เยอะเลยนะ ไม่ได้ว่ารู้สึกว่าเรื่องทักษะเป็นปัญหาอย่างเดียว แต่ผมรู้สึกว่าการตัดสินใจหรือการนึกถึงสิ่งอื่นๆ เขาไม่มีอะไรต้องรับผิดชอบ วัยฮอร์โมนยิ่งเวลาอยู่บนสองล้อยิ่งกำลังสูงๆ ยิ่งผมเป็นคนขี่อยู่ผมรู้ว่ามันอันตรายจริงๆ ครับ มันมุมที่ดีและมุมที่อันตรายจริงๆ ทุกคนจะพูดหมดรู้ว่ามันอันตรายรู้ว่ามีทักษะควบคุมมีความรับผิดชอบ เงินของเขาเงินของพ่อแม่เขาไม่ได้เดือดร้อนใคร ก็ถูกครับ แต่ว่าถ้าเกิดอุบัติเหตุมันไม่ได้เกิดแค่ตัวเราคนที่มารับผิดชอบด้วยอย่างครอบครัวต้องมาเสียใจมันหลายอย่าง ไม่ใช่เรื่องการเงินอย่างเดียวครับ”

ไบเกอร์หนุ่มแห่ง Motorbike Journey กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า แม้ใบขับขี่บิ๊กไบค์ที่ว่าด้วยเรื่องการควบคุมอายุและกำหนดขนาดเครื่องยนต์ผู้ขับขี่ที่เตรียมออกมาเป็นกฎหมายนั้น อาจไม่ใช่แนวทางลดอุบัติเหตุที่จะเห็นอัตราบาดเจ็บและล้มตายลดลงอย่างฮวบฮาบ แต่เป็นแนวทางที่ดีของการจัดระเบียบบิ๊กไบค์ในเมืองไทย อย่างมาตรฐานของประเทศญี่ปุ่น ต้องสอบใบขับขี่บิ๊กไบค์ ต้องมีใบผ่านการอบรม รวมทั้งกำหนดอายุกับขนาดเครื่องยนต์ของผู้ขับขี่




กำลังโหลดความคิดเห็น