xs
xsm
sm
md
lg

ลองขับ“ซูบารุ เลอวอร์ค”แวกอนสุดหล่อแต่ขอจี๊ดอีกนิด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online



ดูชัดเจนดีและมีอนาคตนะครับ สำหรับไลน์โปรดักต์ของรถยนต์ซูบารุยุคใหม่ ไม่ว่าจะเป็นรถเก๋ง รถสปอร์ต และรถอเนกประสงค์หลายระดับ อันสอดคล้องกับหน้าตาการออกแบบที่ดูสวยเข้าตา โดนใจผู้คนทั่วโลกมากขึ้น

…จากเดิมเหมือนศิลปินผลิตรถยนต์ขาย แต่ปัจจุบัน “ฟูจิเฮฟวี อินดัสตรี้” เรียนรู้ที่จะเพิ่มน้ำหนักของนักการตลาดเพิ่มขึ้น

เมืองไทยภายใต้การดูแลตลาดของ“ทีซี ซูบารุ” ในเครือตันจง กรุ๊ป ก็พยายามปรับตัว และเลือกโมเดลที่จะนำเข้ามาทำตลาดให้สามารถแข่งขันได้มากที่สุด อะไรที่ขายยากหรือจะมาทับไลน์กันเองก็ไม่เอาเข้ามา (อย่างอิมเพรซา เป็นต้น)


ล่าสุดกับ “เลอวอร์ค” (Levorg) ที่เข้ามาทำตลาดแทน อิมเพรซา และ เลกาซี ตัวถังสเตชันแวกอน เปิดตัวเมืองไทยในงานมอเตอร์เอ็กซ์โป 2015 กับรุ่นเครื่องยนต์ 1.6 ลิตร เทอร์โบ พร้อมราคา 2.39 ล้านบาท (นำเข้ามาจากญี่ปุ่น)

สำหรับชื่ออันแสนบรรเจิดของ Levorg มาจากคำว่า Legacy Revolution Touring ซึ่งแสดงถึงฐานะและภารกิจที่ได้รับมอบหมายของรถยนต์รุ่นนี้ได้อย่างชัดเจน ในประเทศญี่ปุ่น “เลอวอร์ค” เริ่มทำตลาดตั้งแต่ช่วงกลางปี 2014 มีให้เลือกทั้งรุ่นเครื่องยนต์ 1.6 ลิตร เทอร์โบ และ 2.0 ลิตร เทอร์โบ 300 แรงม้า

ด้วยมิติตัวถังยาว 4,690 มิลลิเมตร กว้าง 1,780 มิลลิเมตร สูง 1,490 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาว 2,650 มิลลิเมตร เรียกว่าขนาดอยู่ตรงกลางระหว่างครอสโอเวอร์อย่าง “เอ็กซ์วี” และพี่ใหญ่ “เอาท์แบ็ก” ละครับ

รูปลักษณ์โดยรวมต้องบอกว่าลงตัวตั้งแต่หัวจดท้าย เป็นรถแบบสเตชันแวกอนที่ดูสมส่วน พร้อมเส้นสายที่แฝงความสปอร์ต อย่างไรก็ตาม ถ้าพิจารณาด้านหน้าตรงๆจะพบว่าโคมไฟ กระจัง จมูกบนฝากระโปรง แถบจะเหมือนกับสปอร์ตซีดานอย่าง “ดับเบิลยูอาร์เอ็กซ์” ไม่ผิดเพี้ยน




ขณะที่เกรดในการทำตลาดของเลอวอร์ค เมืองไทยมีให้เลือกรุ่นย่อยเดียวราคาเดียว คือ 1.6GT-S มาพร้อมการตกแต่งภายในที่มีระดับมากขึ้น ด้วยเบาะสีดำ พวงมาลัย หัวเกียร์ หุ้มหนังตัดด้วยด้ายตะเข็บสีฟ้า แป้นคันเร่ง แป้นเบรกแต่งด้วยอะลูมิเนียม ส่วนแดชบอร์ดสีดำแต้มตัดด้วยวัสดุเหมือนคาร์บอนเคฟลาร์ พร้อมซันรูฟควบคุมการเปิด-ปิดด้วยระบบไฟฟ้า

อุปกรณ์อำนวยความสะดวกอย่าง หน้าจอแบบสัมผัสเอาไว้ใช้ควบคุมเครื่องเสียง โทรศัพท์ ดูข้อมูล และตั้งค่าต่างๆ เช่นเดียวกับบนพวงมาลัยมีปุ่มควบคุมมัลติฟังก์ชันจัดให้จนตาลาย

ตลอดจนระบบ Keyless (เปิดประตูเข้าห้องโดยสารโดยไม่ต้องเอารีโมทออกมากด) ปุ่มสตาร์ท-ดับเครื่องยนต์ และระบบดับเครื่องยนต์อัตโนมัติเมื่อรถจอดหยุดนิ่ง(ติดไฟแดง) รวมถึงกล้องมองหลังช่วยแสดงภาพในขณะถอยรถจอดเข้าซอง

ส่วนที่ผู้เขียนชอบมากๆคือ การมีช่องต่อ USB เพื่อเอาไว้ชาร์จมือถือหรือแกดเจตที่แยกช่องเอาไว้ให้รวม 3 จุด ทั้ง สำหรับคนขับ-ผู้โดยสารด้านหน้า และผู้โดยสารด้านหลัง เรียกว่าวันไหนมีเพื่อนนั่งมาด้วยเต็มลำก็ไม่ต้องแย่งกันเสียบชาร์จไฟ



อย่างไรก็ตาม ถ้าสังเกตกระจกมองหลังจะเห็นกล้องและเรเดาร์เซ็นเซอร์ (ส่องผ่านกระจกบังลมหน้า) ติดตั้งมาเป็นชุด ซึ่งตรงนี้จะรองรับกับระบบปรับระดับไฟหน้าอัตโนมัติ หรือ High Beam Assist ที่ช่วยตอนกลางคืนขับทางไกลทัศนวิสัยด้านหน้ามืด ระบบจะส่องลำแสงเป็นไฟสูงเห็นได้ไกล แต่ถ้ามีรถยนต์เลนตรงข้ามวิ่งสวนเข้ามา ระบบจะปรับเป็นไฟต่ำให้ทันที เพื่อไม่ให้แยงสายตาเพื่อร่วมถนน ป้องกันการถูกด่าบุพการีได้ครับ

ทั้งนี้กล้องและเรดาร์เซ็นเซอร์ดังกล่าวยังรองรับระบบการเตือนและการช่วยเบรกอัตโนมัติในการขับขี่ความเร็วต่ำ ที่ซูบารุเรียก EyeSight Assist ก็น่าจะติดตั้งเพิ่มมาให้ในอนาคต แต่ระหว่างนี้ต้องขอเวลาทดสอบเงื่อนไขต่างๆให้เหมาะสมกับสภาพถนนและการจราจรในเมืองไทยก่อน (เหมือนกับระบบ City Break ที่รถยนต์หลายรุ่นเริ่มนำมาใช้แล้ว)

ด้านสมรรถนะของเลอวอร์คกับการเป็นรถแบบสเตชันแวกอน น่าสนใจว่า ทีมวิศวกรซูบารุจะพัฒนาออกมาได้แจ่มแจ๋ว หรือรักษาคุณค่าของเลกาซี แวกอน(เดิม) ได้ขนาดไหน?

ด้วยโครงสร้างช่วงล่างหน้าแบบแม็คเฟอร์สันสตรัท ด้านหลังแบบปีกนก 2 ชั้น ประกบกับล้ออัลลอยขนาด 18 นิ้ว พร้อมยางบริดจสโตน โพเทนซา ขนาด 225/45 R18 (ดิสก์เบรก 4 ล้อ)

ระบบกันสะเทือนเหมือนจะออกแนวแข็งนิดๆ พร้อมให้การรองรับหนึบแน่น บวกกับเซ็ตพวงมาลัยมาลงตัวทั้งน้ำหนักและการควบคุม จนไม่น่าเชื่อว่าเป็นพวงมาลัยผ่อนแรงด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า เพราะให้การตอบสนองที่เป็นธรรมชาติมากๆ

ซูบารุพยายามออกแบบให้รถมีจุดศูนย์ถ่วงต่ำที่สุด การถ่ายเทน้ำหนักหน้าหลังสมดุล ดังนั้นการเข้า-ออกโค้งแรงๆจึงไม่ออกอาการปัดเป๋ บวกกับความอัจฉริยะของระบบขับเคลื่อนสี่ล้อตลอดเวลา ยิ่งส่งผลให้ขับขี่ได้อย่างมั่นใจ


เพียงแต่จุดที่ยังไม่ได้ไปด้วยกันกับความสปอร์ตของหน้าตา การควบคุมและช่วงล่าง นั่นคือเครื่องยนต์และระบบส่งกำลัง ซึ่งจะว่าไปแล้วเครื่องยนต์ใหม่ 1.6 ลิตร ไดเรกอินเจกชัน เทอร์โบ สามารถรีดแรงได้ถึง 170 แรงม้าไม่น่าจะมีปัญหา แต่พอขับจริงใช้งานในชีวิตประจำวันโดยเฉพาะการขับในเมือง จังหวะเร่งจากจุดหยุดนิ่งพร้อมการเปลี่ยนเลนกะทันหันยังทำได้ไม่ทันใจนัก

...รถนะควบคุมดี ช่วงล่างเยี่ยมจริง เพียงแต่ขาดความคล่องตัวที่จะส่งให้รถพุ่งออกไปอย่างรวดเร็ว ยามขับขี่ในเมือง

ทั้งนี้ผู้เขียนจึงมองไปถึงเรื่องอัตราทดเกียร์ และคิดว่าวิศวกรน่าจะตั้งใจให้เลอวอร์ค เป็นรถแบบทัวริ่งมากกว่า นั่นก็คือสามารถขับทางไกลได้สบายๆ ในขณะที่รอบเครื่องยนต์ไม่สูงมาก เพื่อหวังอัตราบริโภคน้ำมันที่เป็นมิตร ซึ่งการลองขับของผู้เขียน บนความเร็ว 100 กม./ชม. รอบไม่ถึง 2,000 ครับ

...ดูอัตราทดเฟืองท้าย 3.9 ก็พอเข้าใจได้ครับ ว่าไม่เน้นจี๊ดจ๊าดช่วงออกตัว

เหนืออื่นใด สมรรถนะในช่วงความเร็วกลางและความเร็วปลาย ของเลอวอร์คคันนี้ยังตอบสนองดีครับ ใช้งานได้สบายๆเวลาออกต่างจังหวัด เพียงแต่ว่าความนุ่มนวลต่อเนื่องของการปลดปล่อยพละกำลังไม่ค่อยเนียนเท่าไหร่ และรู้สึกถึงแรงดึงแรงหน่วงอยู่ตลอดเวลา

ส่วนคนไหนที่ต้องการความสปอร์ตแบบทันใจสั่งได้เอง ให้เลือกเล่นเปลี่ยนเกียร์ที่แพดเดิ้ลชิฟท์หลังพวงมาลัย หรือกดปุ่ม S บนพวงมาลัย เครื่องยนต์และเกียร์จะถูกปรับการตอบสนองให้ดุดันมากขึ้น

ด้านอัตราบริโภคน้ำมันเฉลี่ยๆ (รถติดในเมืองและวิ่งทางไกลความเร็ว 100-120 กม./ชม.) ผู้เขียนทำได้ 8-9 ลิตร ต่อ 100 กม. หรือ 11-12.5 กม./ลิตร ใกล้เคียงกับที่ซูบารุเคลมไว้ 13.5 กม./ลิตร

รวบรัดตัดความ...อดเสียดายไม่ได้ว่าหากได้“ขับ” ซูบารุ เลอวอร์ค 2.0 ลิตร เทอร์โบ 300 แรงม้าจะเป็นความสมบูรณ์แบบขนาดไหน? ทว่าโอกาสการขายรุ่นเครื่องยนต์นี้ในไทยคงไม่ต้องพูดถึง เพราะขนาดรุ่น 1.6 ลิตรนำเข้ามาแล้วยังราคาขนาดนี้ (2.39 ล้านบาท)

สมรรถนะโดดเด่นมากับช่วงล่าง การควบคุม อุปกรณ์อำนวยความสะดวก-ปลอดภัยครบครันตามมาตรฐาน ขาดเพียงพลังความจี๊ดจ๊าดสำหรับขับขี่ในเมืองที่ไม่ค่อยคล่องตัวนัก ด้วยการเซ็ทให้เป็นรถทัวริ่งวิ่งทางไกลสบายๆ ซึ่งพิจารณาในแง่มุมต่างๆหลังได้ทดลองขับ ผู้เขียนยังชอบ “เอ็กซ์วี” มากกว่าแถมราคาสัมผัสได้ แต่ถ้าใครอยากได้ความอเนกประสงค์ที่ใหญ่ขึ้น แรงดี ก็ไปเล่นฟอเรสเตอร์หรือเอ้าท์แบ็กไปเลย ปล่อยให้คันนี้เป็นเรื่องของสาวกซูบารุหรือคนที่ชอบรถแบบสเตชันแวกอนแท้ๆแล้วกัน

ข้อมูลทางเทคนิค ซูบารุ เลอวอร์ค 1.6GT-S

กำลังโหลดความคิดเห็น