xs
xsm
sm
md
lg

ทิศทาง- จุดเปลี่ยน-ความท้าทาย… ของอุตสาหกรรมรถยนต์ไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตลาดและอุตสาหกรรมรถยนต์ไทยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีความผันผวนอย่างมากตั้งแต่ทะยานสูงสุด และกลับมาหัวทิ่มดิ่งเหวทันที แต่ที่สำคัญจากนี้ไปอุตสาหกรรมรถยนต์ไทย ยังต้องเผชิญกับความท้าทาย ทั้งจากนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล และเรื่องระหว่างประเทศ อย่างการเปิดประชาคมอาเซียน (AEC) ทำให้เมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา สมาคมผู้สื่อข่าวรถยนต์และรถจักรยานยนต์ไทย (TAJA) ได้จัดสัมมนา “CEO TALK 2015 : จุดเปลี่ยนอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย” เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนมาเปิดมุมมองอย่างน่าสนใจ...

จักรมนฑ์ ผาสุกวนิช
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

อุตสาหกรรมรถยนต์ในไทยเติบโตมาโดยตลอด จนปัจจุบันไทยมีความสามารถในการผลิตรถทุกโรงงานร่วมกันประมาณ 2.8 ล้านคันต่อปี แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถใช้กำลังการผลิตได้เต็มที่ เพราะตลาดมีการชะลอตัวลง ทำให้คาดว่าปีนี้จะมียอดการผลิตประมาณ 1.95 ล้านคัน ลดลงจากปีที่แล้วประมาณ 25% แต่เชื่อว่าไทยจะกลับมามีการผลิตเพิ่มเป็น 2.2 ล้านคันในปีหน้า จากการมีเสถียรภาพของรัฐบาล เศรษฐกิจเริ่มฟื้น และการส่งออกปรับตัวดีขึ้น

“อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยมาก การชะลอตัวในปีนี้เป็นอีกส่วนหลักทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของภาคอุตสาหกรรมลดลงไปด้วย แต่เชื่อมั่นไทยยังคงแข็งแกร่งและกลับมาขยายตัวได้ต่อไป โดยเฉพาะการมีโปรดักต์แชมเปี้ยนอย่างปิกอัพ และอีโคคาร์ ซึ่งเร็วๆ นี้จะมีอีโคคาร์ระยะที่ 2 ออกมา รวมถึงการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่ที่จะเริ่มในปี 2559 และการเปิดเผยข้อมูลรถให้กับประชาชน โดยกระทรวงอุตฯ จะเริ่มดำเนินการในไตรมาสแรกปีหน้า สิ่งเหล่นี้นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย”

ทั้งนี้ปิกอัพและอีโคคาร์เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล ที่ทำให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถทั้งสองประเภทในระดับโลก และโครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่ นับเป็นจุดทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ อย่างรถที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ประหยัดเชื้อเพลิง และมีความปลอดภัยสูง หรือการสนับสนุนการลงทุนของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ซึ่งทั้งหมดทำให้ไทยมีการพัฒนารถแบบใหม่ๆ ออกมาต่อเนื่อง ดังจะเห็นได้จากอเนกประสงค์แบบพีพีวี และอีโคคาร์ เป็นต้น
“เชื่อว่าอีกไม่กี่ปีข้างหน้าไทยจะไปถึงการผลิตรถ 3 ล้านคันต่อปีได้แน่นอน แม้จะไม่มีประชากรมากเหมือนกับประเทศอินโดนีเซีย แต่การมีรถยนต์ที่โดดเด่นรองรับตลาดทั่วโลก ทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยยังเป็นผู้นำการผลิตและส่งออกในภูมิภาค ซึ่งถือเป็นนโยบายที่ไทยเดินมาถูกทาง เพราะจะเห็นว่าประเทศที่ไม่ได้ส่งเสริมรถใหม่ๆ อย่างมาเลเซีย ไม่สามารถขยายตลาดและการผลิตได้มากนัก แต่ประเทศที่เปิดเสรีมากเกินไปเช่นออสเตรเลียก็ไม่ประสบความสำเร็จ จนปัจจุบันอุตสาหกรรมรถยนต์ต้องย้ายออกไปหมด เช่นเดียวกับประเทศที่พัฒนารถที่มีรูปแบบเฉพาะเกินไป อย่างอังกฤษและสวีเดน ไม่สามารถสร้างรถเป็นที่ยอมรับในตลาดทั่วโลกได้”

องอาจ พงศ์กิจวรสิน
ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

การเปิดประชาคมอาเซียน หรือเออีซี ทำให้อาเซียนเป็นตลาดเดียว โดยปัจจุบันอยู่อันดับ 5 ของโลก และจะขยับเป็นอันดับ 4 ได้แน่นอน แต่การแข่งขันในภูมิภาคก็มีเช่นกัน อย่างอินโดนีเซียที่มีนโยบายเหมือนและพยายามตามไล่ไทย โดยเฉพาะในส่วนของโครงการรถขนาดเล็ก ที่จะคล้ายๆ กับอีโคคาร์ของไทย จนทำให้อินโดนีเซีย มั่นใจตั้งเป้าผลิตให้ได้ 1.6 ล้านคันในปีหน้า และ 4.2 ล้านคันในปี 2568 แต่ถึงอย่างนั้นอินโดนีเซียยังไม่สามารถทำได้ในส่วนของปิกอัพเหมือนกับไทย ที่ทุกบริษัทรถย้ายฐานการผลิตมา และทำให้ไทยเป็นฐานการผลิตปิกอัพ 1 ตันในระดับโลกไปแล้ว

“หากมองในภาพรวมอาเซียนนับเป็นตลาดที่มีศักยภาพ ซึ่งจะมีทั้งการสนับสนุนและแข่งขันกัน แต่เชื่อว่าจะไม่มีการย้ายฐานผลิตแน่นอน เพียงแต่อาจจะปรับในส่วนของการผลิตให้เหมาะสม ไทยอาจเป็นฐานผลิตเทคโนโลยีสูงขึ้น ส่วนเรื่องของแรงงานราคาถูกจะเปลี่ยนไปประเทศอื่นๆ ทั้งหมดรัฐบาลไทยต้องมีนโยบายชัดเจนว่าจะไปทางไหน เรามีปิกอัพและอีโคคาร์เป็นโปรดักต์แชมเปี้ยน แล้วต่อไปจะเป็นรถอะไร เพื่อให้ผู้ประกอบวางแผนดำเนินงานได้ แต่ทั้งหมดอยู่ที่เรื่องของคุณภาพ ต้นทุน และส่งมอบ อย่างโครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่ ที่จะเป็นอีกสิ่งทำให้อุตสาหกรรมรถยนต์ไทยเปลี่ยนไป”

นอกจากนี้ไทยควรใช้ความแข็งแกร่ง ในภาคของอุตสาหกรรมชิ้นส่วน ผลักดันให้เป็นศูนย์การผลิตชิ้นส่วนของโลก แต่ไทยควรพัฒนาในส่วนประกอบอื่นๆ อย่างการทดสอบสินค้า และโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานให้มากขึ้น ไม่ว่าท่าเรือ การขนส่ง รวมถึงการวิจัยและพัฒนาที่ยังมีอยู่น้อยมาก โดยสิ่งเหล่านี้จะส่งเสริมให้อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย มีความแข็งแกร่งในระดับโลกได้

ประพัฒน์ เชยชม
รองผู้จัดการใหญ่อาวุโสการตลาด และการขาย บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด

การเปิดเออีซีจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยนิสสันได้จับตาดูมาหลายปี และเห็นถึงพัฒนาการของตลาดรถยนต์บางประเทศ อย่าพม่าที่มีความกระตือรือร้นมากที่สุด รวมถึงประเทศอื่นๆ ในลุ่มแม่น้ำโขง แต่ก็ยังมีข้อจำกัดหลายประการ เช่น การใช้พวงมาลัยซ้าย และตลาดยังเล็กอยู่

"การเข้าไปลงทุนในประเทศอื่นๆ ต้องใช้เวลา นี่จึงเป็นเหตุผลที่นิสสันตัดสินใจลงทุนกว่า 1 หมื่นล้านบาท สร้างโรงงานผลิตแห่งที่ 2 ในไทย เพื่อใช้เป็นศูนย์กลางในการผลิตและส่งออกแทน และเออีซียังทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานได้เสรีขึ้น ไทยจึงสามารถใช้แรงงานจากเพื่อนบ้าน มาแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานได้ แต่ไทยก็ต้องเร่งพัฒนาแรงงานฝีมือที่กำลังเป็นปัญหาด้วย"

“ต่อไปทิศทางตลาดรถยนต์นั่งขนาดเล็ก จะมีบทบาทสำคัญ ใกล้เคียงกับตลาดปิกอัพ การเปิดโครงการอีโคคาร์จึงเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมรถยนต์ของไทย โดยเฉพาะเมื่อมีรถยนต์ภายใต้โครงการอีโคคาร์ทั้งระยะ 1 และ 2 ออกมาครบทั้ง 10 ยี่ห้อ ซึ่งต่อไปไทยน่าจะมีทิศทางเดียวกับประเทศระดับนำอย่างญี่ปุ่น ไม่แน่อนาคตต่อไปอาจจะมีการพัฒนาเป็นรถขนาดเล็กกว่าอีโคคาร์ หรือเค-คาร์ และอาจจะเป็นโปรดักซ์แชมเปี้ยนต่อไปของไทยก็ได้”

วิเชียร เอมประเสริฐสุข
รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด

ตลาดรถยนต์ไทยปีนี้น่าจะทำได้เต็มที่ไม่เกิน 9 แสนคัน ต่ำกว่าปีที่ผ่านมาที่ทำได้กว่า 1.3ล้านคัน แต่อยู่ในสภาวะที่รับได้หากดูจากการเติบโตแบบปกติในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา โดยไม่มีการกระตุ้นหรือบิดเบือนตลาดจากโครงการรถคันแรก ส่วนปี 2558 เชื่อว่าจะกลับมาเติบโตได้อีกครั้ง หลังจากทุกอย่างเข้าสู่ภาวะปกติ และอนาคตน่าจะขึ้นไปได้ถึง 1.5 ล้านคัน

อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย จะต้องมองโอกาสการขยายตัวในอนาคต ยิ่งเมื่อเปิดเออีซีที่จะทำให้การค้าขายชายแดนขยายตัว กำลังซื้อต่างจังหวัดเพิ่มขึ้นแล้ว ตลาดเพื่อนบ้านก็จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ไทยจึงควรที่จะเข้าไปสร้างโอกาสในกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง ที่นอกจากไทยยังมีประเทศเวียดนาม, ลาว, กัมพูชา และพม่า ให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มความสามารถแข่งขันโดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน หลังจากที่เพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซีย หรือมาเลเซีย พยายามยกระดับอุตสาหกรรมขึ้นมา

“จุดสำคัญของธุรกิจอุตสาหกรรมไทยและอาเซียน อยู่ที่การเปิดเออีซีในปี 2558 นี้ ซึ่งจะทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายและแลกเปลี่ยนเศรษฐกิจในภูมิภาค การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการเคลื่อนไหลของประชากรอาเซียน โดยเฉพาะกลุ่มประเทศในลุ่มน้ำโขง ที่รวมกันประชากรไม่ด้อยกว่าประเทศอินโดนีเซียที่มีกว่า 200 ล้านคน จึงเป็นโอกาสของไทยที่เป็นศูนย์กลางขนส่งภูมิภาคและเป็นประตูสู่จีน และอินเดีย”

สุรีทิพย์ ละองทอง โฉมทองดี
รองประธานบริหาร บริษัท มาสด้า เซลส์(ประเทศไทย) จำกัด

จากนี้ไปจุดเปลี่ยนสำคัญของอุตสาหกรรมรถยนต์ไทยอยู่ที่การเปิดเออีซี ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายประชากร ซึ่งแรงงานไทยจำเป็นต้องมีทักษะเรื่องของภาษา โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมข้ามชาติอย่างรถยนต์ ขณะเดียวกันภาษีสรรพสามิตใหม่จะทำให้โครงสร้างอุตสาหกรรมรถเปลี่ยนไป โดยเฉพาะรถยนต์ที่มีเทคโนโลยีสูงและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ดังนั้นการเตรียมรองรับทิศทางอุตสาหกรรมรถในอนาคต บางบริษัทจะนำการวิจัยและพัฒนามาไทย แต่มาสด้าได้นำองค์ความรู้ หรือโนวฮาวมาแทน

“ไทยจำเป็นต้องรู้ทิศทางความต้องการของตลาดโลก โดยเฉพาะในเรื่องของเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งปัจจุบันให้ความสำคัญกับเรื่องเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม มาสด้าจึงได้มีการตั้งโรงงานผลิตเกียร์อัตโนมัติและเครื่องยนต์สกายแอคทีฟในไทย และนำเทคโนโลยีคลีนดีเซลที่ถือเป็นระดับสุดยอดของเครื่องยนต์ในยุโรปมาใช้ และทิศทางต่อไปคงเป็นเรื่องของรถไฮบริด หรือรถไฟฟ้า แต่ยังมีปัญหาโครงสร้างพื้นฐานรองรับ ทำให้รถไฟฟ้ายังพัฒนาช้าอยู่”

ทั้งนี้เดิมเรื่องของราคาน้ำมันจะเป็นดัชนีบ่งบอกปริมาณการขายรถ แต่ต่อไปจะเป็นตัวตัดสินว่าผู้บริโภคจะเลือกรถ
หรือรุ่นไหน ที่สามารถตอบโจทย์เรื่องการประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแทน ซึ่งการเปิดเออีซีจะทำให้เห็นรถหลากหลายรุ่นในตลาด ทำให้ผู้บริโภคในไทยเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้รถให้เหมาะสม ประกอบกับเศรษฐกิจขยายตัว ส่งผลให้ผู้บริโภคในต่างจังหวัดมีกำลังซื้อมากขึ้น และทำให้รถประเภทต่างๆ ขยายตัวมากขึ้นด้วย

กำลังโหลดความคิดเห็น