xs
xsm
sm
md
lg

รัฐ-ค่ายรถผสานเสียงพลิกโฉมอุตฯรถไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ข่าวในประเทศ - ภาครัฐ-เอกชนผสานเสียง “เออีชี-อีโคคาร์-ภาษีใหม่” เป็น 3 จุดเปลี่ยนอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยและอาเซียน ทั้งแข่งขันและสนับสนุนส่งเสริมกัน เผยยังเชื่อมั่นไทยจะเป็นผู้นำเทคโนโลยีการผลิตและส่งออก หากนโยบายชัดเจน และนำนวัตกรรมใหม่ๆ มาเป็นจุดขาย แม้อินโดนีเซียจะผงาดขึ้นมาเทียบเคียง

นายจักรมนฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยในการสัมนาเรื่อง “จุดเปลี่ยนอุตสากรรมยานยนต์ไทย” จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวรถยนตืและรถจักรยานยนต์ไทย (TAJA) เมื่อวานนี้ (1 ธ.ค.) โดยระบุว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในปีนี้ชะลอตัวลงจากปีที่ผ่านมา คาดว่าจะมียอดการผลิตประมาณ 1.95 ล้านคัน ลดลงจากปีที่แล้วประมาณ 25% แต่เชื่อว่าไทยจะกลับมามีการผลิตเพิ่มเป็น 2.2 ล้านคันในปีหน้า จากการมีเสถียรภาพของรัฐบาล เศรษฐกิจเริ่มฟื้น และการส่งออกปรับตัวดีขึ้น

“อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยมาก การชะลอตัวในปีนี้เป็นอีกส่วนหลักทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของภาคอุตสาหกรรมลดลงไปด้วย แต่เชื่อมั่นไทยยังคงแข็งแกร่งและกลับมาขยายตัวได้ต่อไป โดยเฉพาะการมีโปรดักต์แชมเปี้ยนอย่างปิกอัพ และอีโคคาร์ ซึ่งเร็วๆ นี้จะมีอีโคคาร์ระยะที่ 2 ออกมา รวมถึงการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่ที่จะเริ่มในปี 2559 และการเปิดเผยข้อมูลรถให้กับประชาชน ที่กระทรวงอุตฯ จะเริ่มดำเนินการในไตรมาสแรกปีหน้า นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย”

ทั้งนี้ปิกอัพและอีโคคาร์เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล ที่ทำให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถทั้งสองประเภทในระดับโลก และโครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่ นับเป็นจุดทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นรถที่มีประสิทธภิพเรื่องสิ่งแวดล้อม การประหยัดเชื้อเพลิง และความปลอดภัย เช่นเดียวกับการมีโครงการอีโคคาร์ แม้จะทำให้บริษัทรถมีต้นทุนสูงขึ้น แต่ผู้บริโภคจะได้รับประโยชน์ และซื้อรถในราคาเหมาะสม จากการสนับสนุนภาษีสรรพสามิต และถึงอินโดนีเซียจะมีประชากรมากกว่าไทย การมีรถยนต์ที่โดดเด่นรองรับตลาดทั่วโลก ทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยยังเป็นผู้นำการผลิตและส่งออกในภูมิภาค

นายองอาจ พงศ์กิจวรสิน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การเปิดประชาคมอาเซียน หรือเออีซี ทำให้อาเซียนเป็นตลาดเดียว โดยปัจจุบันอยู่อันดับ 5 ของโลก และจะขยับเป็นอันดับ 4 ได้แน่นอน แต่การแข่งขันในภูมิภาคก็มีเช่นกัน อย่างอินโดนีเซียที่มีนโยบายเหมือนและพยายามตามไล่ไทย ถึงอย่างนั้นเขายังไม่สามารถทำได้ในส่วนของปิกอัพ

“อาเซียนจึงเป็นตลาดที่มีศักยภาพ ซึ่งจะมีทั้งการสนับสนุนและแข่งขันกัน แต่เชื่อว่าจะไม่มีการย้ายฐานผลิตแน่นอน เพียงแต่อาจจะปรับในส่วนของการผลิตให้เหมาะสม ไทยอาจเป็นฐานผลิตเทคโนโลยีสูงขึ้น ส่วนเรื่องของชิ้นส่วนที่ใช้แรงงานราคาถูกจะเปลี่ยนประเทศอื่นๆ รัฐบาลไทยจึงต้องมีนโยบายชัดเจนว่าจะไปทางไหน เรามีปิกอัพและอีโคคาร์เป็นโปรดักซ์แชมเปี้ยน และต่อไปจะเป็นอะไร เพื่อให้ผู้ประกอบวางแผนดำเนินงานได้ แต่ทั้งหมดอยู่ที่เรื่องของคุณภาพ ต้นทุน และส่งมอบ อย่างเรื่องของโครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่ ที่เป็นอีกสิ่งทำให้อุตสาหกรรมรถยนต์ไทยเปลี่ยนไป”

นายวิเชียร เอมประเสริฐสุข รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า จุดสำคัญของธุรกิจอุตสาหกรรมไทยและอาเซียน อยู่ที่การเปิดเออีซีในปี 2558 นี้ ซึ่งจะทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายและแลกเปลี่ยนเศรษฐกิจในภูมิภาค การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการลื่นไหลของประชากรอาเซียน ซึ่งไม่เพียงประเทศหลักๆ กลุ่มประเทศในลุ่มน้ำโขง ที่รวมกันไม่ด้อยกว่าประเทศอินโดนีเซีย จึงเป็นโอกาสของไทยที่เป็นศูนย์กลางขนส่งภูมิภาคและประตูสู่จีน และอินเดีย

นายประพัฒน์ เชยชม รองผู้จัดการใหญ่อาวุโสการตลาด และการขาย บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ทิศทางรถยนต์นั่งขนาดเล็กจะมีบทบาทสำคัญ ใกล้เคียงกับตลาดปิกอัพ โดยเฉพาะเมื่อมีรถยนต์ภายใต้โครงการอีโคคาร์ทั้งระยะ 1 และ 2 ออกมาครบทั้ง 10 ยี่ห้อ ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับประเทศระดับนำอย่างญี่ปุ่น ไม่แน่อนาคตต่อไปอาจจะมีการพัฒนาเป็นรถขนาดเล็กกว่าอีโคคาร์ หรือเค-คาร์ และไม่แน่อาจจะเป็นโปรดักซ์แชมเปี้ยนต่อไปของไทยก็ได้

“อีโคคาร์จึงเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมรถยนต์ไทย ซึ่งอีกจุดเปลี่ยนอยู่ที่การเปิดเออีซี และนิสสันมองไทยเป็นจุดศูนย์กลาง และจากการสำรวจลุ่มประเทศรอบๆ ไทย ยังคงต้องใช้ระยะเวลาอีกสักระยะ นิสสันจึงเลือกไทยเป็นฐานผลิตเปิดโรงงานแห่งที่ 2 จากความพร้อมเทคโนโลยีและฝีมือการผลิต ขณะที่เรื่องแรงงานสามารถดำเนินการได้เสรีภายใต้กรอบเออีซี”
นางสาวสุรีทิพย์ ละองทอง โฉมทองดี รองประธานบริหาร บริษัท มาสด้า เซลส์(ประเทศไทย) จำกัด เปิดผยว่า จุดเปลี่ยนสำคัญของอุตสาหกรรมรถยนต์ไทย อยู่ที่การเปิดเออีซีทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายประชากร รวมถึงภาษีสรรพสามิตใหม่ที่ทำให้โครงสร้างอุตสาหกรรมรถเปลี่ยนไป และการเตรียมรองรับทิศทางอุตสาหกรรมรถในอนาคต บางบริษัทจะมีนำการวิจัยและพัฒนามาไทย แต่มาสด้าได้นำองค์ความรู้ หรือโนวฮาวมาแทน

“ไทยจำเป็นต้องรู้ทิศทางความต้องการของตลาดโลก โดยเฉพาะในเรื่องของเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งปัจจุบันให้ความสำคัญกับเรื่องเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม มาสด้าจึงได้มีการตั้งโรงงานผลิตเกียร์อัตโนมัติและเครื่องยนต์สกายแอคทีฟในไทย และนำเทคโนโลยีคลีนดีเซลที่ถือเป็นระดับสุดยอดของเครื่องยนต์ในยุโรปมาใช้ และทิศทางต่อไปคงเป็นเรื่องของรถไฮบริด หรือรถไฟฟ้า แต่ยังมีเรื่องของปัญหาโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้รถไฟฟ้ายังพัฒนาช้าอยู่” นางสาวสุริทิพย์กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น