“รังสรรค์” เผย “คลัง” มีเม็ดเงินเพียงพอกระตุ้น ศก. เชื่อจีดีพีในปีนี้ เติบโตได้ 1.7% ลั่นเดินหน้าแผนปรับโครงสร้างภาษี ยันชัดจะจัดเก็บภาษีมรดก เนื่องจากต้องการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม
นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวตอนหนึ่งในระหว่างปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ "ภาพรวมเศรษฐกิจและนโยบายภาครัฐ" ในงานสัมมนา GPF Seminar : Investment Now&Next โดยระบุว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2558 ยังจำเป็นต้องพึ่งพาการใช้จ่ายภาครัฐ เพื่อชดเชยภาคการส่งออก การนำเข้า และการลงทุนของภาคเอกชนที่ชะลอตัวต่อเนื่องจากปี 2557 ซึ่งจากการหารือร่วมกับกรมบัญชีกลาง ยืนยันว่า ยังมีเม็ดเงิน เหลือเพียงพอที่จะใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ บางส่วนอยู่ในแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล เช่น การเร่งเบิกจ่ายงบเหลื่อมปี 8 หมื่นล้านบาท และการใช้งบจากโครงการไทยเข้มแข็งอีก 1.5 หมื่นล้านบาท ในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2558
นอกจากนี้ ในส่วนของเงินคงคลังที่ยังเหลืออีกกว่า 4 แสนล้านบาท ก็จะหาแนวคิดว่าจะนำไปใช้บริหารอย่างไรให้มีรายได้เข้ารัฐเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันที่ฝากไว้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แบบไม่มีผลตอบแทน เหมือนกับต่างประเทศที่นำเงินส่วนนี้ไปบริหารให้เกิดรายได้ รวมถึงแนวคิดที่จะขอให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เข้าไปตรวจสอบ มูลนิธิ องค์กร นอกงบประมาณอีกกว่า 100 แห่งของส่วนราชการต่างๆ ที่มีการบริหารจนเกิดผลกำไร แต่ไม่ได้นำรายได้ส่วนนั้นส่งเข้าคลังเป็นรายได้แผ่นดิน ซึ่งต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงขั้นตอนที่จะนำเงินดังกล่าวเข้ามาในระบบ
นายรังสรรค์ กล่าวว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือจีดีพีทั้งปี 2557 คาดว่าจะอยู่ที่ 1.7% ต่ำกว่าที่คาดไว้ที่ 2% เนื่องจากภาคการส่งออกไม่ฟื้นตัว โดยเดือน ส.ค.ขยายตัวติดลบ 7% ขณะที่ภาคการนำเข้า ขยายตัวติดลบ 12% เช่นกัน ซึ่งรัฐบาลก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ และได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะ 3 เดือน เช่น การจ่ายเงินชาวนา 1,000 บาทต่อไร่ และการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณและโครงการขอรับการส่งเสริมการลงทุนกว่า 3 แสนล้านบาท จัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ 5 แห่ง ที่จะต้องมาพิจารณาว่าจะส่งผลต่อการขยายตัวในช่วงที่เหลือเพิ่มขึ้นอย่างไร
ขณะเดียวกัน ทางคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้อนุมัติโครงการลงทุนต่างๆ กว่า 18 โครงการ วงเงินรวมกว่า 300,000 ล้านบาท เน้นการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษใน 5 จังหวัดชายแดนจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จ เพื่อเพิ่มรายได้เข้ารัฐ โดยมีมาตรการลดภาษีให้กับผู้ประกอบการที่จะเข้าไปลงทุนในพื้นที่ดังกล่าว อาทิ การให้สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ รวมถึงการอำนวยความสะดวก ด้านโลจิสติกส์ให้กับผู้ประกอบการและส่งเสริมให้แรงงานต่างด้าวเข้าทำงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษแบบไปเช้า เย็นกลับ เพื่อลดปัญหาแรงงานต่างด้าวทะลักเข้าพื้นที่ส่วนกลาง
นอกจากนี้ ปลัดกระทรวงการคลังยังระบุถึงการปรับโครงสร้างภาษีว่า ยืนยันจะจัดเก็บภาษีมรดกแน่นอน เนื่องจากต้องการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และมองว่าการที่คนมีรายได้สูงโอนเงินออกนอกประเทศเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีมรดกนั้น อาจทำให้เกิดปัญหาเอง เพราะในต่างประเทศก็มีกฎหมายควบคุมเรื่องนี้เช่นเดียวกัน ส่วนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและเงินได้นิติบุคคล จะปรับให้เหมาะสมมากขึ้นให้คนมีรายได้น้อยเสียภาษีน้อย ขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่มจะปรับเพิ่มจากปัจจุบันที่ร้อยละ 7 แต่จะเพิ่มในอัตราเท่าใด ต้องดูถึงความจำเป็นว่ามีรายได้เพียงพอต่อการพัฒนาประเทศมากน้อยเพียงใด
ขณะเดียวกันยังจะเร่งรัดให้การทำงานของรัฐวิสาหกิจมีประสิทธิภาพ และสร้างรายได้มากขึ้น หลังจากปีงบประมาณ 2556 รัฐจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้า 300,000 ล้านบาท แต่รัฐวิสาหกิจยังจัดเก็บรายได้สูงกว่า 30,000-40,000 ล้านบาท จึงเห็นว่ารัฐวิสาหกิจยังมีศักยภาพอีกมาก
นอกจากนี้ ยังได้ให้กรมธนารักษ์จัดทำการประเมินราคาที่ดินทั่วประเทศรอบใหม่ เพื่อให้ภาครัฐจัดเก็บรายได้จากที่ดินรกร้างมากขึ้น และทำให้ราคาที่ดินมีความเป็นธรรม โดยขณะนี้กรมธนารักษ์ประเมินราคาที่ดินใหม่แล้ว 7 ล้านแปลง จาก 30 ล้านแปลง จึงจำเป็นต้องจ้างบริษัทเอกชนเข้ามาช่วยประเมินราคา
สำหรับสาเหตุที่กระทรวงการคลังให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการดูแลสถาบันการเงินเฉพาะกิจ เพราะมองว่าสามารถลงโทษสถานบันการเงินเฉพาะกิจได้ เพราะ ธปท.เข้ามาตรวจสอบเรื่องนี้และรายงานผลให้กระทรวงการคลังพิจารณาอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมากระทรวงการคลังไม่เคยลงโทษสถาบันการเงินเฉพาะกิจ หวั่นกระทบกับภาคการเมือง อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 หน่วยงานจะต้องแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป