การบริโภคในประเทศที่ยังคงชะลอตัวฉุดยอดขายสินค้าในประเทศลดต่ำ ผสมกับน้ำท่วม ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ฉุดดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน ส.ค.อยู่ที่ระดับ 88.7 ซึ่งเป็นการปรับลดครั้งแรกในรอบ 4 เดือน จี้รัฐเร่งรัดการลงทุนของภาครัฐ
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทยในเดือนสิงหาคม 2557 ว่า ดัชนีฯ อยู่ที่ระดับ 88.7 ปรับตัวลดลงจากระดับ 89.7 ในเดือนกรกฎาคมซึ่งถือเป็นการปรับลดลงครั้งแรกในรอบ 4 เดือน โดยค่าดัชนีฯ ที่ลดเกิดจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขาย การผลิตและผลประกอบการที่ลดลงเนื่องจากผู้ประกอบการกังวลต่อการชะลอตัวของการบริโภคภายในประเทศ
“ความกังวลต่อการชะลอตัวของการบริโภคภายในประเทศสะท้อนจากดัชนียอดคำสั่งซื้อและยอดขายในประเทศที่ลดลงจากเดือนก่อนหน้านั้น โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าคงทนประเภทรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศ เครื่องรับโทรทัศน์ เครื่องจักรกลการเกษตร เป็นต้น ประกอบกับหลายพื้นที่เกิดน้ำท่วมทำให้เกิดอุปสรรคต่อการขนส่งสินค้า และราคาสินค้าเกษตรยังไม่ดีนัก” นายสุพันธุ์กล่าว
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 102.4 ปรับตัวลดลงจาก 103.1 ในเดือนกรกฎาคมซึ่งปัจจัยยังคงกังวลต่อยอดขาย ปริมาณการผลิตที่การบริโภคภายในประเทศชะลอตัว รวมถึงผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทที่จะมีผลต่อการส่งออกในช่วงไตรมาสสุดท้ายนี้ ขณะที่การเมือง ผลกระทบเศรษฐกิจโลก ราคาน้ำมัน กังวลน้อยลง
ทั้งนี้ ข้อเสนอของเอกชนที่มีต่อภาครัฐคือต้องการให้รัฐเร่งรัดการลงทุนโครงการต่างๆ ของภาครัฐเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ต้องการให้มีการปรับหลักเกณฑ์การค้ำประกันสินเชื่อเพื่อแก้ไขปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ออกมาตรการปกป้องการนำเข้าสินค้าอุตสาหกรรมที่มีคุณภาพต่ำจากต่างประเทศเพื่อป้องกันผู้บริโภคและผู้ประกอบการในประเทศ
สำหรับนโยบายการปรับโครงสร้างภาษีต่างๆ ของรัฐบาลเช่นภาษีมรดกนั้นภาคเอกชนสนับสนุนให้ดำเนินการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของสังคม ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มหรือ VAT ที่วางไว้ในปี 2558 ที่จะต้องปรับไปอยู่ในระดับปกติคือ 10% จากปีนี้ที่คงไว้ระดับ 7% อยู่นั้นมองว่าการเติบโตของเศรษฐกิจในปี 2558 จะโตได้ในระดับ 4.5% เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวซึ่งจะทำให้โอกาสการส่งออกของไทยจะเพิ่มขึ้นไปสู่ระดับ 4-5% จากปีนี้ที่คาดว่าส่งออกคงจะโตได้ไม่เกิน 2% ดังนั้นการเก็บ VAT ระดับ 10% ก็คงจะเหมาะสมแต่ทั้งนี้หากภาวะเศรษฐกิจไทยไม่เติบโตไปตามเป้าหมายนี้ก็เชื่อว่ารัฐบาลจะพิจารณาทบทวน