หากนึกถึงความโดดเด่นของสกู๊ตเตอร์สไตล์คลาสสิก เชื่อว่าหลายคนคงคุ้นเคยกับแบรนด์ดังชื่อก้องโลกอย่างเวสป้าเป็นอย่างดี ด้วยบุคลิกของการขับขี่และรูปลักษณ์ตัวถังโค้งมนทำจากเหล็กทั้งคัน แม้ว่าปัจจุบันค่ายใหญ่จากญี่ปุ่นจะพยายามดึงเอาจุดเด่นนี้มาพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตัวเอง เพื่อหวังเจาะตลาดนักบิดที่หลงรักความคลาสสิกก็ตาม แต่ก็ไม่อาจสู้ต้นตำรับจากแดนมักกะโรนีได้
ส่วนหนึ่งอาจเพราะในบ้านเรายังไม่มีตัวเลือกหรือคู่แข่งที่เปรียบมวยได้ตรงรุ่น แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว...เมื่อเสี่ยตุ่ย-เถ้าแก่ใหญ่ไทยเจริญมอเตอร์ไบค์ ได้สิทธิ์เป็นตัวแทนจำหน่ายสองล้อจากแดนภารตะ “แอล เอ็ม แอล” เข้ามาลุยทำตลาดอย่างเป็นทางการในเมืองไทย
สำหรับ “แอล เอ็ม แอล” (LML หรือชื่อย่อของบริษัทเดิม Lohia Machines Limited) เป็นแบรนด์ผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ในประเทศอินเดีย ซึ่งเคยร่วมธุรกิจกับเวสป้า ในฐานะพันธมิตรผู้พัฒนาและผลิตสกู๊ตเตอร์รุ่น PX โดยหลังสัญญาการร่วมมือสิ้นสุดลง ทางฝั่งแอลเอ็มแอลนำแพลตฟอร์มของโมเดลนี้พร้อมเทคโนโลยีที่มีอยู่มาต่อยอด พัฒนาขึ้นมาเป็นผลิตภัณฑ์ของตัวเองและส่งขายไปที่อเมริกาและยุโรป ภายใต้ชื่อ Stella และ Star ตามลำดับ (รุ่นเดียวกันแต่ใช้ชื่อทำตลาดต่างกัน)
“ช่วงปี 2554 ที่เริ่มทำตลาด ผมนำรุ่น Stella 150 เข้ามาจำหน่าย แต่ตอนนี้ต้องเปลี่ยนเป็น Star 150 เนื่องจากเจ้าของแบรนด์ต้องการให้เกิดความชัดเจน เพราะชื่อแรกขายเฉพาะอเมริกา ส่วนชื่อหลังทำตลาดทั้งยุโรปและเอเชีย รวมถึงเพิ่มทางเลือกขนาดเครื่องยนต์ 200 ซีซี เป็นอีกหนึ่งรุ่นที่ขายอยู่ตอนนี้ด้วย” เถ้าแก่ไทยเจริญมอเตอร์ไบค์อธิบายความเป็นมาของชื่อรุ่น
หลังรับทราบเรื่องราวของตัวเลือกใหม่ในกลุ่มสกู๊ตเตอร์คลาสสิกกันพอสังเขปแล้ว มาเข้าสู่การทดลองขี่กันบ้าง เริ่มแรกว่ากันอย่างตรงไปตรงมา สำหรับรูปร่างหน้าตาไม่มีความแตกต่าง เมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์ของอดีตพันธมิตรทางธุรกิจในรุ่น PX เนื่องจากใช้พื้นฐานเฟรมหรือแชสซีเดียวกัน
โดยความโดดเด่นของStar 150 ราคา 91,000 บาท และ Star 200 ราคา 111,000 บาท (ทุกอย่างเหมือนกันยกเว้นขนาดเครื่องยนต์) ยังคงอยู่ที่เส้นสายโค้งมนและใช้เหล็กเป็นชิ้นส่วนหลักรอบคัน เสริมด้วยขอบคิ้วโครเมียมดูหรูหรา กลมกลืนกับดั้งจมูกโด่งเป็นสัน ส่วนไฟหน้าดวงกลมขนาดใหญ่เป็นเอกลักษณ์ของรถสไตล์คลาสสิกที่จะขาดไม่ได้อย่างเด็ดขาด
สำหรับหน้าปัดออกแบบให้ข้อมูลแสดงผลอยู่ในวงกลมเดียวกัน ทำให้ดูเรียบร้อยและอ่านค่ารายละเอียดได้ง่าย ความเร็วเข็มชี้แบบอะนาล็อกบอกตัวเลขหน่วยวัดเป็นไมล์และกิโลเมตร ด้านบนบอกระดับน้ำมันเชื้อเพลิง ความจุเต็มถัง 5.5 ลิตร โดยมีสิ่งที่แปลกตาเล็กน้อยคือ ไฟสัญญาณ STOP ซึ่งไม่ค่อยเห็นกันในสองทั่วไป และจะแสดงขึ้นเป็นสีแดงเมื่อกดเบรก รวมถึงเมื่อกดไฟเลี้ยวจะมีเสียงเตือนเหมือนรถยนต์ขณะเข้าเกียร์ถอยหลังด้วย
ในส่วนของปุ่มสวิตช์ควบคุมระบบการทำงานต่างๆ บนแฮนด์ฝั่งซ้าย ประกอบด้วยแตร ไฟสูง-ต่ำ และที่สำคัญใช้ควบคุมเปลี่ยนเกียร์ด้วยมือ ฝั่งขวามีไฟเลี้ยว ปุ่มสตาร์ทและสวิตช์หยุดการทำงานของเครื่องยนต์
ด้านการใช้งานเบาะตอนเดียวทรงขนมปัง นั่งนุ่มสบาย ตำแหน่งแฮนด์บังคับอยู่กลางลำตัวผู้ขี่ ส่วนความสูงตัวรถค่อนข้างมาก ทำให้การควบคุมทำได้ง่ายและคล่องตัว แต่ถ้าคนที่ไม่ชินอาจรู้สึกว่ารถพลิกเลี้ยวได้เร็วเกินไปหน่อยด้วยซ้ำ
ขณะที่ขุมพลังเครื่องยนต์สูบเดียว 4 จังหวะ 2 วาล์ว ความจุกระบอกสูบ 199 ซีซี ระบายความร้อนด้วยอากาศ ให้กำลังสูงสุด 8.7 กิโลวัตต์ (11แรงม้า) ที่ 6,250 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 14.3 นิวตัน-เมตรที่ 4,500 รอบ/นาที ขับเคลื่อนด้วยชุดเกียร์ 4 สปีด
ช่วงการออกตัวทำได้เร็วทันใจพอสมควร จังหวะเร่งแซงไม่ต้องลุ้นเหมือนสกู๊ตเตอร์ออโตเมติก ส่วนการใช้งานในเมืองช่วงความเร็ว 80-90 กม./ชม. ถือว่าเหมาะสมที่สุด เนื่องจากมันไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อให้ซิ่งเกินกว่านี้ เพราะความเร็วปลายตามสเปกบอกว่าทำได้ประมาณ 100 กม./ชม. เท่านั้น
เรียกว่าเน้นขี่สนุกนั่งสบาย แรงบิดติดมือ ควบคุมคล่องตัว สอดรับกับช่วงล่างที่แน่นหนึบ (แต่ถ้านั่งคนเดียวไม่มีคนซ้อนหรือสิ่งของบรรทุกจะรู้สึกกระด้างไปหน่อย) ส่วนระบบความปลอดภัยไว้ใจได้ด้วยหน้าดิสก์-หลังดรัมเบรก
ภาพรวมการได้สัมผัส LML Star 200 เหมือนเป็นการย้อนอดีตไปสู่ยุครุ่งเรืองของสกู๊ตเตอร์ที่ใช้การเปลี่ยนเกียร์ด้วยมือ หากเทียบกับเจ้าตลาดสัญชาติอิตาเลียนที่เน้นการพัฒนารูปโฉมให้มีความทันสมัยมากขึ้น พร้อมเพิ่มความสะดวกสบายในการควบคุม ด้วยชุดขับเคลื่อนแบบสายพาน ขณะที่ตัวเลือกจากแดนภารตะกลับเลือกคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของรูปทรงและลักษณะการขับขี่
ท้ายที่สุดสำหรับนักบิดที่หลงไหลความคลาสสิก ลองถามตัวเองก่อนว่า รักแบรนด์หรือชอบความเก๋าแบบเปลี่ยนเกียร์ด้วยมือ เมื่อรู้แล้วการตัดสินใจก็ทำได้ไม่ยาก...
ติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวในวงการยานยนต์ได้ที่หน้าแฟนเพจ ASTVผู้จัดการ Motoring