xs
xsm
sm
md
lg

“วีโก้ แชมป์ ซีเอ็นจี”วิ่งงานมั่นใจ-ทำเงินได้คุ้ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



หลังจดๆ จ้องๆ อยู่นาน ในที่สุดโตโยต้าก็คลอดปิกอัพ “ไฮลักซ์ วีโก้” ที่ติดก๊าซซีเอ็นจี(CNG) ออกมาจากโรงงานเสียที ทั้งลูกค้าและคู่ค้า(ดีลเลอร์)ได้ชื่นมื่นสมใจ

...จะว่าไปโปรเจกต์นี้โตโยต้าซุ่มทำมาไม่ต่ำกว่า 3-5 ปี ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมาก็มีข่าวออกมาตลอดว่า “จะเสร็จแล้ว” “จะเปิดตัวแล้ว” “ใกล้แล้ว” แต่สุดท้ายก็เงียบไป จนกระทั่งในงานบางกอกมอเตอร์โชว์ 2012 โตโยต้านำ “วีโก้ แชมป์ ซีเอ็นจี” มาเปิดตัวกับสาธารณะชนอย่างเป็นทางการ

โดยโตโยต้าที่ยึดคติ “ช้าแต่ชัวร์” เพราะนอกจากจะมั่นใจว่าการพัฒนาโปรดักต์ใหม่จะมีตลาดรองรับแล้ว ยังต้องคำนึงถึงคุณภาพ มาตรฐานความปลอดภัย ที่สำคัญต้องไม่ผิดกับข้อกำหนดหรือกฎหมายใดๆ...เอาเป็นว่า “วีโก้ ซีเอ็นจี” คันนี้ เมื่อขึ้นตาชั่งแล้ว น้ำหนักตัวผ่านเกณฑ์และได้ขึ้นชกบนเวทีแบบสบายๆ

เหนืออื่นใดโตโยต้าย้ำว่า “วีโก้ ซีเอ็นจี” เป็นรถที่ผลิตออกมาจากโรงงานโดยตรง(Manufacturing Design) ซึ่งต่างจากคู่แข่ง(น่าจะหมายถึง มิตซูบิชิ ไทรทัน ซีเอ็นจี) ที่เป็นรถแบบ Retro fit หรือรถสำเร็จออกมาจากโรงงานผลิตแล้ว ต้องส่งไปให้ซัพพลายเออร์ติดตั้งระบบซีเอ็นจีอีกต่อหนึ่ง

ดังนั้น โตโยต้าจึงเกทับคู่แข่งเต็มที่ โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยอย่าง ถังบรรจุซีเอ็นจีขนาด 140 ลิตรน้ำ (ใหญ่กว่าไทรทันที่ใช้ถัง 100 ลิตรสำหรับตัวถังเมก้าแค็บ และ 120 ลิตรสำหรับซิงเกิ้ลแค็บ) ผลิตจากเหล็กกล้าชนิดพิเศษที่วางอยู่บนพื้นกระบะ(โตโยต้าบอกว่าวางถังข้างบนปลอดภัยกว่า) มีไลน์เนอร์ปิดมิดชิด แถมรองและล็อกด้วยคานเหล็กพิเศษ (Sill Cross Reinforcement)ที่วางขวางอยู่ใต้กระบะอีกหนึ่งชั้น

ขณะที่หัวรับก๊าซที่ออกแบบฐานยึดเป็นพิเศษ มีลิ้นกันกลับเสริมความปลอดภัย 2 ชั้นรวมถึงท่อนำก๊าซแรงดันสูงที่ผลิตจากสแตนเลสเคลือบด้วยโพลีเอทิลีนหนา 2 ชั้น (ไทรทันเป็นเหล็ก) ด้านเครื่องยนต์ 2TR - FE ถูกปรับให้รองรับซีเอ็นจี โดยเคลือบสารพิเศษที่บ่าวาล์ว วาล์วไอเสีย และแหวนลูกสูบให้ทนความร้อนได้มากขึ้น ส่วนท่อร่วมไอดีไม่ได้นำมาเจาะรูก๊าซที่หลัง แต่เป็นการหล่อขึ้นรูป(ให้มีรู)เพื่อการนี้โดยเฉพาะ

ส่วนการคำนวน-สั่งงานการจ่ายก๊าซเป็นหน้าที่ของกล่อง ECU ที่แยกออกมาต่างหากจากกล่องควบคุมน้ำมัน ซึ่งสองกล่องนี้จะมีการสื่อสาร-คำนวนผลควบคู่กันไป เพื่อให้เครื่องยนต์เดินเรียบและใช้เชื้อเพลิงให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

ในส่วนของการทดสอบ เริ่มออกตัวจากโรงแรมหรูแถวเพลินจิต มุ่งหมายไปเขาใหญ่โดยใช้เส้นทางกบินทร์บุรี-วังน้ำเขียว-เขาแผงม้า ซึ่งพาหนะของผู้เขียนเป็น วีโก้ แชมป์ ซีเอ็นจี ตัวถังตอนเดียว

...ว่ากันที่สมรรถนะการใช้งานล้วนๆ นะครับสำหรับรุ่นนี้ ซึ่งในส่วนของกระบะที่มีถังซีเอ็นจีใบโตวางอยู่ ผู้เขียนยังสังเกตว่า มีพื้นที่บรรทุกเหลืออีกมากครับ หรือเหลือความยาวถึง 1.66 เมตร กว้าง 1.52 เมตร สูงมาตรฐาน 45 เซนติเมตร เรียกว่าถ้าไม่ติดซุ้มล้อ หรือทำเป็นแบบกระบะพื้นเรียบ วีโก้ ซีเอ็นจี ขนของกันมันกว่านี้แน่

ภายในห้องโดยสารก็ไม่มีอะไรมาก เน้นขับไม่เน้นหรู ขณะที่ชุดสวิทซ์เลือกการใช้เชื้อเพลิงพร้อมจอแสดงผล วางหลบอยู่หลังรูเสียบกุญแจขวามือ หรือถ้าเป็นรุ่นสมาร์ทแค็บขึ้นไป ชุดควบคุมก็อยู่แถวๆ ที่ปรับกระจกมองข้างนั่นละครับ (แต่รุ่นตัวถังตอนเดียวของผู้เขียนเป็นแบบปรับมือ)

หลังบิดกุญแจสตาร์เครื่อง ตามมาตรฐานทั่วไปของรถติดก๊าซต้องใช้น้ำมันในการจุดระเบิดก่อน จากนั้นขับออกไปสักระยะ หรือ(เร่ง)รอบให้โดดไปแถว 2,500-3,000 จะปรับมาใช้ก๊าซอัตโนมัติ ทั้งนี้ผู้ขับสามารถเลือกปรับได้เองว่าอยากวิ่งก๊าซหรือน้ำมัน ซึ่งดูง่ายๆ ไฟเขียวก๊าซ-ไฟแดงน้ำมัน

การลองขับทริปนี้ ทางทีมงานโตโยต้าวางแผ่นเหล็กมาโหลดที่กระบะอีก 400 กิโลกรัม เห็นว่าเพื่อการทดสอบแบบใช้งานจริงบรรทุกจริง ซึ่งผู้เขียนก็เห็นดีด้วย แต่เข้าใจว่าข้อดีอีกประการคือ ช่วยเรื่องแรงกดให้การขับทางไกลๆ แบบนี้วิ่งนิ่งมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การขับความเร็ว 100-120 กม./ชม. ช่วงล่างยังมีอาการเต้นอยู่บ้าง แต่ไม่ถึงกับแกว่งจนขาดความมั่นใจ การทรงตัวรวมๆ อยู่ในเกณฑ์พอใช้ กำพวงมาลัยได้ไม่เครียด ส่วนการควบคุมมีระยะฟรีเหลืออยู่นิดๆ ด้านคันเกียร์ยาวเหมือนเกียร์รถเมล์ แต่ก็เข้าง่ายสับคล่องผสานกับแป้นคลัทซ์นิ่มๆ ส่งผลให้การเปลี่ยนเกียร์ทำได้สบายๆ และแม่นยำ

ด้านเครื่องยนต์เบนซินขนาด 2.7 ลิตรVVT-i ให้กำลังสูงสุด160 แรงม้าที่ 5,200 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 241 นิวตัน-เมตร ที่ 3,800 รอบต่อนาที ประกบเกียร์ธรรมดา 5 สปีด (ไม่มีรุ่นเกียร์อัตโนมัติ) ในขณะใช้ก๊าซซีเอ็นจีเป็นเชื้อเพลิงยังเดินเรียบและนุ่ม ไม่ต่างจากการใช้น้ำมัน ที่สำคัญเสียงนั้นเบากว่าพวกดีเซลแน่นอน ส่วนอัตราเร่งแม้ไม่ฉุดไม่ดึงเท่า แต่รวมๆ ไม่ถึงกับขี้เหร่ครับ เพราะขนาดมีโหลดน้ำหนักมาข้างหลัง รถยังออกตัวดีส่งกำลังได้ต่อเนื่องสบายๆ โดยที่เกียร์ 5 ความเร็ว 100 กม./ชม.รอบอยู่ 2,800 รอบต่อนาที ความเร็ว 120 กม./ชม. 3,200 รอบต่อนาที

...หลังขับกันไปเพลินๆ ทางตรงใช้ความเร็ว 120-130 กม./ชม.เป็นหลัก พร้อมช่วงขึ้นเขารถเยอะมีจังหวะเร่งแซงบ่อยครั้ง สรุปก๊าซมาหมดแถวๆ บ้านวังหมี อำเภอวังน้ำเขียว หรือได้ระยะทางประมาณ 254 กิโลเมตร

ดังนั้นถังขนาด140 ลิตรน้ำ เติมซีเอ็นจีได้ประมาณ 28 กิโลกรัม จึงได้อัตราบริโภคก๊าซ9.07 กิโลเมตรต่อกิโลกรัม หรือคิดเป็นค่าใช้จ่ายต่อหน่วยการวิ่งก็ 1.15 บาทต่อกิโลเมตร (ราคาซีเอ็นจี ณ วันทดสอบจนถึงวันนี้ 25 ก.ค.กิโลกรัมละ 10.50 บาท)

สำหรับ“ไฮลักซ์ วีโก้ แชมป์ ซีเอ็นจี” เพิ่งลงโชว์รูมพร้อมส่งมอบเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา สนนราคารุ่นตัวถังตอนเดียว 622,000 บาท และแค็บเปิดได้ 724,000 บาท

รวบรัดตัดความ...เครื่องยนต์ 2TR - FE ดูลงตัวดีกับระบบก๊าซซีเอ็นจี แถมได้ความมั่นใจในแบรนด์โตโยต้า ใช้วิ่งงานสร้างเงิน(ถ้าขับบนเส้นทางประจำมีปั๊มเติมแน่นอนจะดีมาก) เพราะขนาดทดสอบแบบโหดๆ ในทริปนี้ ยังวิ่งได้ว่า 250 กิโลเมตร ดังนั้น ถ้าขับทางเรียบเท้านิ่งๆ จะได้ระยะไกลกว่านี้แน่นอน อันจะส่งผลให้ค่าใช้จ่ายต่อหน่วยการวิ่ง ไม่ถึงหนึ่งบาทต่อกิโลเมตรได้สบายๆ

กำลังโหลดความคิดเห็น