xs
xsm
sm
md
lg

‘จีเอ็ม’อัดรัฐบาลส่อเอื้อภาษีค่ายรถบางราย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ข่าวในประเทศ - ยักษ์ใหญ่บริษัทรถอเมริกา “จีเอ็ม”เบรกแตก อัดรัฐจัดทำโครงสร้างภาษีรถเอื้อแค่บางเทคโนโลยี โดยเฉพาะรถไฮบริดที่มียี่ห้อเดียวในไทย ตั้งคำถามเกิดอะไรขึ้นกับภาครัฐไทย จึงผลักดันกันรวดเร็วนัดส่งท้ายประชุมครม. เรียกร้องขอความโปร่งใสเป็นธรรม เพราะอุตฯ รถยนต์ลงทุนเป็นหมื่นล้านบาท และมีมูลค่าธุรกิจมหาศาล เหน็บไม่ใช่ขายไข่ที่ง่ายจนชั่งกิโลขายได้ เผยหวั่นรัฐบาลรักษาการแอบออกกฎหมายใน 2-3 สัปดาห์นี้ ในช่วงที่ผู้คนกำลังชลมุนสนใจเลือกตั้งส.ส.
มาร์ติน แอพเฟล
มาร์ติน แอพเฟล ประธานกรรมการประจำประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท เชฟโรเลต เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า จากมติการประชุมคณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการ เกี่ยวกับการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคมที่ผ่านมา จีเอ็มเห็นด้วยในหลักการจัดทำโครงสร้างภาษีให้ง่าย และให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อม รวมถึงความปลอดภัย และการประหยัดพลังงาน

“แต่สิ่งที่จีเอ็มไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง เป็นเรื่องของระยะเวลาบังคับใช้ 3 ปี ควรจะต้องมีเวลาอย่างน้อย 5 ปีขึ้นไป และที่สำคัญรายละเอียดและกระบวนการของการจัดทำ โดยเฉพาะแนวโน้มโครงสร้างภาษีที่ดูเหมือนจะเอื้อประโยชน์ให้กับบางเทคโนโลยี หรือเฉพาะยี่ห้อเท่านั้น ทั้งที่หากต้องการให้เป็นไปตามเป้าหมายลดมลพิษจริง ควรจะดูที่ผลสุดท้ายของการปล่อยค่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ CO2 มากกว่าตัวเทคโนโลยี ซึ่งตรงนี้จะเป็นธรรมกับทุกฝ่ายมากกว่า”

ทั้งนี้ก่อนการประชุมครม.เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคมที่ผ่านมา จีเอ็มไม่เคยรับทราบหรือเห็นแผนการจัดทำโครงสร้างภาษีมาก่อน มีเพียงเรียกบริษัทรถเข้าไปแสดงความคิดเห็น แต่เมื่อการประชุมออกมาดูเหมือนจะให้สำคัญกับเรื่องของเทคโนโลยี อย่างรถไฮบริดที่ได้รับผลประโยชน์โดยตรง ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีผลิตเพียงรายเดียวในไทยเท่านั้น แทนที่ให้ประโยชน์เท่ากันกับเทคโนโลยีโดยรวม ด้วยการดูผลสุดท้ายของการปล่อย CO2 ตามเป้าหมายมากกว่า

นายแอพเฟลกล่าวว่า จีเอ็มไม่ได้มองรถไฮบริดไม่ดี และหลายประเทศก็สนับสนุนรถไฮบริดหรือรถไฟฟ้า แต่นั่นไม่ได้ทำให้โครงสร้างภาษีโดยรวมเสียมากมาย หรือทำให้โครงสร้างตลาดเสียสมดุล และแม้แต่อีโคคาร์ก็ไม่ต้องมีเงื่อนไขพิเศษให้ด้วย เพราะจริงๆ เป็นเซกเม้นท์ต่ำสุดอยู่แล้ว

“เรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญ เพราะมันเกี่ยวข้องกับการลงทุนเป็นพันเป็นหมื่นล้านบาท เป็นธุรกิจที่มีมูลค่ามหาศาล ดังนั้นทุกอย่างมันควรจะต้องมาอภิปราย หรือเปิดเผยทำให้โปร่งใส เพราะจะเป็นสิ่งทำให้เกิดการขับเคลื่อนการลงทุนต่างๆ ตามมา แต่กลับน่าสงสัยว่ามันเกิดอะไรขึ้น ในระบบการทำงานของหน่วยงานรัฐไทย มันต้องมีอะไรที่ผลักดันออกมา โดยเฉพาะพากันมาพิจารณานัดส่งท้ายของรัฐบาลนี้ และเมื่อผ่านการอนุมัติหลักการไปแล้ว นับว่าง่ายที่รัฐบาลรักษาการจะผลักดันให้เป็นกฎหมายออกมาใน 2-3 สัปดาห์นี้ เพราะช่วงนี้คนส่วนใหญ่จะมุ่งไปที่การเลือกตั้งหมด ซึ่งหากเป็นกฎหมายแล้วมันยากที่จะแก้ไขให้ถูกต้อง เหมือนกับเรื่องอัตราน้ำหนักบรรทุก ทุกฝ่ายอยากจะให้แก้เพิ่มเป็น 1.6 ตัน แต่จนป่านนี้ก็ยังทำไม่ได้ ดังนั้นจึงอยากจะฝากบอกรัฐบาลว่า อุตสาหกรรมรถยนต์ไม่ง่ายเหมือนขายไข่ หรือให้เปลี่ยนชั่งไข่เป็นกิโลกรัมขาย”

สำหรับจีเอ็มต้องการให้รัฐบาลกำหนดค่า หรือมาตรการวัดค่า CO2 ที่ชัดเจน และมองเทคโนโลยีโดยรวมเท่าเทียม ไม่ให้สิทธิกับเทคโนโลยีใดพิเศษ และต้องทำให้เป็นระบบไม่ใช่แค่รถใหม่เท่านั้น เพราะหากมองดูบนท้องถนนรถบรรทุกใหญ่ และรถเก่าที่มีอายุการใช้งานมานาน เป็นส่วนสำคัญที่ก่อให้เกิดมลพิษ ตรงนี้รัฐบาลจะควบคุมดูแลเช่นกัน แต่ปรากฏว่ารัฐบาลไทยกลับปล่อยเรื่องนี้ และโครงสร้างภาษียังสนับสนุนอีก ขณะที่หลายประเทศมีมาตรการให้คนทิ้งรถเก่า โดยให้แรงจูงใจประชาชนนำรถเก่าไปแลกซื้อรถใหม่ ซึ่งทำให้เกิดมูลค่าทางธุรกิจและยังช่วยลดมลพิษอีก ฉะนั้นรัฐบาลไทยควรจะมาพิจารณาเรื่องนี้อย่างจริงจัง

ทั้งนี้ในส่วนของจีเอ็มขอเสนอให้รัฐบาล จัดทำโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ ที่มุ่งสู่การทำให้บรรลุเป้าหมายจริง โดยเสนอให้โครงสร้างภาษีมีความง่ายไม่ซับซ้อน และวัดผลที่สุดท้ายของการปล่อยมลพิษจริง ต่อมาต้องดูแลรถบรรทุกใหญ่ในการปล่อยมลพิษอย่างจริงจัง และไม่ให้การสนับสนุนหรือส่งเสริมการใช้รถเก่า และสุดท้ายทำให้ทุกคนสามารถซื้อรถใหม่ได้ง่าย

“ส่วนหากโครงสร้างภาษีใหม่ ไม่ใช่ตามที่จีเอ็มเห็นว่าเป็นธรรม แล้วส่งผลกระทบต่อการลงทุนของจีเอ็มในไทยหรือไม่ เรื่องนี้คงยังตอบไม่ได้ แต่แน่นอนอยากให้เป็นโครงสร้างภาษีที่เราสามารถอยู่ต่อไปได้ และปราศจากการแทรกแซงใดๆ” นายแอพเฟลกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น