xs
xsm
sm
md
lg

สยาม เศรษฐบุตร...เสน่ห์รถโบราณจากรุ่นสู่รุ่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เหตุผลของการสะสมรถโบราณสำหรับผู้ชื่นชมความคลาสสิก อาจมีจุดกำเนิดหรือประวัติที่แตกต่างกันออกไป บ้างเพื่อตอบสนองความชอบส่วนตัว บ้างเล่นตามกระแสสังคม หรือบ้างอาจเป็นงานอดิเรกของคนรวย

แต่สำหรับ “สยาม เศรษฐบุตร” หนุ่มใหญ่ผู้สืบทอดสายเลือดอนุรักษ์นิยมมาตั้งแต่รุ่นคุณพ่อ (อักษร เศรษฐบุตร) แถมพ่วงท้ายด้วยตำแหน่ง “ประธานบริหาร เมอร์เซเดส-เบนซ์ คลับ ประเทศไทย” ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยตรงจากเจ้าของแบรนด์เมืองเบียร์ จะมีความเป็นมาและแรงแรงบันดาลใจสู่การเป็นเจ้าของรถคลาสสิกเกือบ 50 คันในปัจจุบันได้อย่างไร “ASTVผู้จัดการมอเตอร์ริ่ง” เชิญร่วมค้นหาคำตอบไปพร้อมกัน...
สยาม เศรษฐบุตร เคียงข้างรถคลาสสิกคู่ใจ
เริ่มต้นความคลาสสิก

จากเด็กที่วิ่งเล่นซุกซนอยู่ในโรงเก็บรถโบราณของคุณพ่อ ด้วยความคุ้นชินที่เห็นอยู่เป็นประจำทุกวันจนเกิดการซึมซับ และเมื่อวันหนึ่งรถคันโปรดถูกส่งต่อเป็นของขวัญจากพ่อสู่ลูก ทำให้เกิดแรงบันดาลใจอันแรงกล้า

“เมื่อผมไปเรียนที่อเมริกาได้เห็นรถคลาสสิกตามงานคาร์โชว์ เราจำได้ว่าคันนี้บ้านเราก็มี แต่ขณะนั้นยังไม่ได้สนใจจริงจัง เพราะยังไม่มีความรู้มากมาย แต่มีความตั้งใจว่าถ้ากลับมาบ้าน จะนำมาบูรณะให้เหมือนใหม่ทั้งหมดเลย”

บอกเล่าความประทับใจ

“หลังจากนั้นจึงเริ่มต้นปรับปรุงซ่อมแซมรถที่บ้านเรื่อยมา ให้คงสภาพเดิมและสมบูรณ์มากที่สุด และมีบ้างที่ซื้อเข้ามาเพิ่ม จนปัจจุบันมีรถคลาสสิกที่ครอบครองอยู่รวมทั้งหมดเกือบ 50 คัน ส่วนหากถามว่าชอบคันไหนเป็นพิเศษ มีทั้งหมด 3 คัน คันแรกที่ผมใช้บ่อยมาก เมอร์เซเดส-เบนซ์ 190 SL เป็นรถสปอร์ต 2 ประตู Grand touring convertible ที่มีหลังคาแข็งแบบถอดออกได้ ด้วยขนาดเครื่องยนต์ 1.9 ลิตร มีความคล่องตัว หากวันไหนรู้สึกอยากขับรถกินลมชมวิว คันนี้จะนึกถึงเป็นอันดับแรก
Chevrolet Corvette Sting Ray 1963 Split window ของขวัญจากคุณพ่อ
“คันต่อมา Chevrolet Corvette Sting Ray 1963 Split window รุ่นที่ทำพิเศษคือจอหลังแบ่งเป็นปีเดียวคือปี 1963 หลังจากนั้นปี 1964 ถึง 1967 จอหลังจะเป็นกระจกชิ้นเดียว ส่วนตัวถังรถเป็นไฟเบอร์กลาสน้ำหนักเบา เครื่องยนต์ 250 แรงม้า เกียร์ออโต้ ใช้ระบบดิสก์เบรก ซึ่งในสมัยนั้นรถคันนี้ถือว่าไฮเทคมาก และที่สำคัญเป็นมรดกของคุณพ่อด้วยครับ”

“ส่วนคันสุดท้าย Chevrolet Corvette Sting Ray 1964 เพราะกว่าที่จะเห็นเป็นรถเปิดประทุนสีแดงคันงามขนาดนี้ ต้องใช้เวลาร่วมปีในการชุบชีวิตจากซากรถที่ปล่อยทิ้งไว้ในจังหวัดพิษณุโลก เจ้าของเป็นทหารจีไอที่เกษียณแล้ว โดยสภาพตอนแรกทุกอย่างถูกถอดเป็นชิ้นๆ และขาดต่อทะเบียนมา 13 ปี แม้ว่าต้องจ่ายเงินหลายแสนให้กับค่าตัวรถรวมถึงค่าต่อทะเบียนอีกแสนกว่าบาท แต่ผมก็พอใจและเชื่อมั่นว่ารถคันนี้เมื่อทำเสร็จแล้วจะต้องเป็นรถที่เจ๋งที่สุด”

ประธานชมรมเมอร์เซเดส-เบนซ์ คลับ

“สำหรับคลับนี้ได้รับการแต่งตั้งโดยบริษัทแม่ที่เยอรมัน ซึ่งเขาพิจารณาว่าเรามีเบนซ์คลาสสิกครอบครองอยู่หลายคัน เห็นว่ารักรถจริงจังตั้งแต่สมัยคุณพ่อ และมีความความเชี่ยวชาญในเรื่องของประวัติรถ รวมถึงการชอบจัดกิจกรรมต่างๆ โดยบริษัทแม่จะช่วยสนับสนุนอะไหล่ที่หายาก หากสมาชิกคนไหนหาไม่ได้ เราก็ช่วยประสานงานให้ แต่จุดประสงค์หลักของคลับคือการ รวมกลุ่มทำกิจกรรมเพื่อสังคม และกระชับมิตรระหว่างคนรักรถ ซึ่งขณะนี้มีสมาชิกประมาณ 250 คน”
Chevrolet Corvette Sting Ray 1964 ได้รับการชุบชีวิตขึ้นมาใหม่
รูปแบบการช่วยเหลือสังคม

“ส่วนใหญ่ผ่านออกทริปต่างๆ และล่าสุดเราได้จำทำหนังสือ “THAILAND’S ULTIMATE CLASSIC CARS” เป็นหนังสือรวบรวมรถคลาสสิกที่หายากในประเทศไทย 25 คัน มีเนื้อหาแสดงให้เห็นในทุกแง่มุม โดยเฉพาะด้านรายละเอียดของรถและความพิเศษของรถแต่ละคัน และส่วนสำคัญที่สุดคือได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช บันทึกรูปรถยนต์แข่งยี่ห้อ ERA - ENGLISH RACING AUTOMOBILES ชื่อ “หนุมาน II” ซึ่งเคยเป็นรถยนต์แข่งของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช (พ.พีระ) โดยรายได้ส่วนหนึ่งจากการจัดจำหน่ายหนังสือจะนำไปซื้อรถเข็น ให้กับเด็กพิการ จำนวน 84 คัน เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล”

รถเก่าเน้นประวัติมากกว่ามูลค่า

“จริงๆ แล้วรถคลาสสิกไม่จำเป็นต้องแพงหรือมียี่ห้อ ลองดูรถรุ่นคุณพ่อที่เคยใช้งาน จอดทิ้งไว้อยู่บ้าน ลองเอามาปรับปรุงซ่อมแซม ดูแลให้ดี ผมว่ามันก็เป็นรถคลาสสิกของคนนั้นได้ แถมยังมีเรื่องราวประวัติที่เกี่ยวข้องกับตัวเองด้วย ส่วนสไตล์การสะสมของผมไม่หวือหวาแต่เน้นที่ประวัติมากกว่ามูลค่า และเน้นรถที่ใช้งานได้ ซึ่งส่วนนี้ผมโชคดีที่มีอู่ซ่อมบำรุงอยู่ในบริเวณบ้านเพราะทำมาตั้งแต่รุ่นพ่อ”
เมอร์เซเดส-เบนซ์ 190 SL รถสปอร์ตคูเป้คันโปรด
เสน่ห์คุณค่าทางจิตใจ

“ในหัวใจของนักสะสมรถโบราณนั้นเรียกได้ว่าไม่มีรถคันไหนที่เป็นสุดยอดของนักสะสม เพราะคุณค่ามันอยู่ที่คนชอบมากกว่า บางคนอาจจะคิดว่าถ้ารถเก่ามากจะมีคุณค่ามาก หรือราคาแพงมากต้องสวยมาก แต่ไม่อาจตัดสินได้ เนื่องจากรถเหล่านี้มีคุณค่าทางจิตใจมากกว่าราคา รวมถึงประวัติของรถแต่ละคัน ลองคิดดูว่ากว่าการที่เราจะทำให้เขากลับมามีชีวิตได้อีกครั้งหนึ่งมันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย”

จากความสนใจสืบทอดรุ่นสู่รุ่น กลายเป็นความรักและการอนุรักษ์รถโบราณกว่า 20 ปีในชีวิตนักสะสมของ สยาม เศรษฐบุตร พิสูจน์แล้วว่ารถคลาสสิกเหล่านี้มีคุณค่าเหนือการเวลาจริงๆ...
หนังสือรวบรวมรถคลาสสิก อีกหนึ่งรูปแบบการช่วยสังคม
กำลังโหลดความคิดเห็น