xs
xsm
sm
md
lg

“เชฟโรเลต ครูซ”ความเชื่อใหม่ของการตอบสนอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ต้องบอกว่าลืมความโบราณเดิมๆของ“เชฟโรเลต ออพตร้า”ไปเลย เมื่อเจอตัวจริงพร้อมได้ลองขับสัมผัสนั่ง “เชฟโรเลต ครูซ” (Chevrolet Cruze) ซึ่งการเปิดตัวมีขึ้นปลายปีที่แล้ว (23 พ.ย.) และค่ายจีเอ็ม จัดทริปให้ผู้สื่อข่าวได้ทดสอบตัวเป็นๆที่จังหวัดเชียงใหม่ไปเมื่อสัปดาห์ก่อน

...เห็น “จีเอ็ม” ซึมๆไปประมาณ 2 ปี ด้วยวิกฤตการเงิน แต่หลังจากตั้งหลักปรับตัวได้ จากนี้ไปเราจะได้เห็นความน่าตื่นตาตื่นใจจากยักษ์ใหญ่แดนมะกัน โดยเฉพาะโปรดักต์ใหม่ๆ ที่นอกจาก “ครูซ” แล้ว ปิกอัพ “โคโรลาโด โมเดลเชนจ์” รวมถึง “พีพีวี สายพันธุ์ใหม่” เก๋งเล็ก “อาวีโอ” รวมถึงเอสยูวี “แคปติวา” ก็เตรียมเรียงคิวเปิดตัวภายในระยะเวลาประมาณ 1 ปี นับจากนี้

โรงงานใหม่ “ฟิต” โปรดักต์ใหม่ “พร้อม” ต่อไปก็วัดฝีมือการทำตลาด การสร้างแบรนด์ให้เข้าไปอยู่ในใจคนไทย รวมถึงเพิ่มความมั่นใจในการบริการหลังการขาย และแน่นอนว่า “ครูซ” จะถูก“ท้าทาย” ความเชื่อเป็นรุ่นแรก

“การยอมรับของผู้บริโภคชาวไทย ที่มีต่อการบริการหลังการขายของเชฟโรเลต ถือเป็นประเด็นความรู้สึก ที่เราต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน ซึ่งที่ผ่านมาเราได้ติดตามปัญหาและพัฒนาประสิทธิภาพ เพื่อความพอใจของลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันเชฟโรเลต ครูซ ใหม่ ผมยืนยันว่าในระยะการใช้งาน 100,000 กิโลเมตร จะเสียค่าดูแลรักษาน้อยที่สุด เมื่อเทียบกับคู่แข่ง ส่วนเรื่องบริหารจัดการอะไหล่ไม่มีปัญหา ทุกชิ้นจะถูกส่งถึงมือดีลเลอร์ภายใน 24 ชั่วโมงแน่นอน”

นั่นเป็นคำมั่นของ “อันโตนิโอ ซาร่า” รองประธานฝ่ายขาย การตลาดและบริการหลังการขาย เชฟโรเลต เซลส์ ประเทศไทย ดังนั้นถ้าใครซื้อรถยี่ห้อ “โบว์ไท” แล้ว ไม่ได้รับการบริการตามนี้ ผู้เขียนอนุญาตให้ก๊อปปี้ย่อหน้าข้างบนไปเคลมกับบริษัทได้เลย!?

...เรื่องการดูแลและบริการหลังการขายคงต้องพิสูจน์กันต่อไป แต่ในส่วนของตัวโปรดักต์ หลังจากได้ทดสอบสมรรถนะแล้วเป็นอย่างไร ประเด็นนี้ผู้เขียนมีคำตอบให้ทันที

สำหรับ “เชฟโรเลต ครูซ” มาพร้อม 3 ทางเลือกเครื่องยนต์คือ เบนซิน 1.6 และ 1.8 ลิตร และเทอร์โบ ดีเซล 2.0 ลิตร ในส่วนของทริปทดสอบล่าสุด ทีมงานนำเครื่อง 2 บล็อกหลังมาให้ลองเท่านั้น เหตุผลก็ไม่มีอะไรมาก เนื่องจากตอนนี้ยังไม่เน้นขายเครื่องยนต์ 1.6 ลิตร
เครื่องยนต์ ดีเซล 2.0 ลิตร
เครื่องยนต์ เบนซิน 1.8 ลิตร
ผู้เขียนเริ่มทริปจากการนั่งเป็นผู้โดยสารด้านหลัง “ครูซ ดีเซล” รุ่น2.0 LTZ ราคา 1.165 ล้านบาท ซึ่งการเข้า-ออกประตูสะดวก เบาะนั่งไม่นิ่มยวบ แต่ก็รองนั่ง-พิงหลังสบาย พื้นที่ช่วงขา-ช่วงหัวเหลือพอสมควร รวมๆแล้วไม่อึดอัด

ระยะทางช่วงแรกเป็นถนนในเมือง จากนั้นเป็นทางตรงยาว การนั่งเบาะหลังนุ่มนวลพอใช้ ช่วงผ่านรอยต่อถนน มีอาการสะท้อนจากพื้นเข้ามาให้รับรู้พอสมควร ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะใช้ล้อ 17 นิ้ว ประกบยาง 225/50R17

ด้านการเก็บเสียงถือว่าเชฟโรเลต ทำการบ้านมาดี ทั้งเสียงเครื่อง เสียงลมปะทะ ไม่ดังรำคาญหู หรือถ้าจะมีบ้างก็คงเป็นเสียงยางบดถนนที่เล็ดลอดเข้ามานิดหน่อย

...หลังผ่านไปสักระยะก็ถึงคิวเป็นผู้ขับบ้าง เริ่มจากการปรับเบาะนั่งให้เข้าที่ด้วยการใช้มือโยก ซึ่งพบว่าสามารถกดระดับให้ต่ำได้สุดๆ หรือเตี้ยเรี่ยพื้นได้ดั่งใจ(ไม่เหมือนแลนเซอร์ อีเอ็กซ์) โครงเบาะโอบกระชับทั้งก้น และแผ่นหลัง การปลดก้านเพื่อปรับระดับพวงมาลัยทำได้สบายมือ ไม่แข็งเหมือนรถหลายรุ่น

พลันกดปุ่มสตาร์ท เสียงเครื่องยนต์ไม่ดังคำรามน่าเกลียด และทำงานเงียบกว่าที่คิดเอาไว้ โดยขุมพลังดีเซล คอมมอนเรล ขนาด2.0 ลิตร พร้อมเทอร์โบแปรผัน อินเตอร์คูลเลอร์ ให้กำลังสูงสุด 150 แรงม้าที่ 4,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 320 นิวตันเมตร ที่ 2,000 รอบ/นาที ช่วงกดคันเร่งออกตัวไม่มีอาการดึง หรือไร้ความกระชาก ซึ่งรถก็ค่อยๆไล่ความเร็วขึ้นไปแบบนิ่มๆ

การส่งกำลังสู่ล้อหน้าด้วยเกียร์อัตโนมัติ 6 สปีดชุดนี้ทำได้ไหลลื่นนุ่มนวล แต่การตอบสนองรวมๆยังไม่ทันใจ ซึ่งเครื่องยนต์ดีเซลมีอาการรอรอบย่านความเร็วต่ำและความเร็วกลาง40-80 กม./ชม. หรือช่วงรอบประมาณ 1,800-2,000 รถแทบไม่มีแรง ต้องคอยบดขยี้กันสักพัก

เรียกว่าเป็นรถเครื่องยนต์ดีเซลที่ไม่จัดจ้าน การขับไร้ความดุดัน แต่นั่นละครับคงต้องชั่งน้ำหนักกับอัตราบริโภคน้ำมันและกลุ่มลูกค้าที่ไม่ต้องการขับขี่แบบสปอร์ต หรือเร่งรีบใช้ชีวิตไปไหน

เหนืออื่นใดการขับบนความเร็ว 120 กม./ชม. ที่เกียร์สูงสุด รอบเครื่องยนต์ยังไม่ถึง2,000 ครับ ซึ่งตรงนี้การันตี การจิบน้ำมันได้ระดับหนึ่ง

ด้านพวงมาลัยไฮโดรลิก เซ็ทน้ำหนักเบามือไปนิด (ไม่ใช้ไฟฟ้าตามสมัยนิยม) ขับในเมืองหรือวนหาที่จอดรถให้ความสะดวกคล่องตัว แต่กลับกันก็จะโหวงเหวงถ้าใช้ความเร็วเกิน 80 กม./ชม. ที่สำคัญการบังคับควบคุมยังไม่เนียนเท่าที่ควร สั่งงานซ้าย-ขวา มีเผื่อเหลือเผื่อขาด

แต่จุดโดดเด่นที่สุด และกลายเป็นสัญลักษณ์ของเชฟโรเลตไปแล้ว คือระบบช่วงล่าง ซึ่ง ครูซ ก็ไม่ทำให้ผิดหวัง โดยด้านหน้าเป็นแมคเฟอร์สันสตรัท คอยล์สปริง โช้คอัพแก๊ส และเหล็กกันโคลง ด้านหลังคานแข็งทอร์ชั่นบีม ทั้งยังออกแบบแผ่นปิดใต้ห้องเครื่องยนต์ให้ จัดการการไหลเวียนของอากาศ เพื่อการทรงตัวที่เป็นเลิศ

การขับให้ความมั่นใจ ไม่ว่าจะทางตรงยาวใช้ความเร็วเกิน 120 กม./ชม. ตัวรถยังนิ่ง ส่วนการเข้า-ออกโค้งด้วยความเร็วระดับเดียวกันก็ไม่มีอาการส่าย ซึ่งส่วนหนึ่งต้องขอบคุณระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว (ESP) ที่เชฟโรเลต จัดมาเป็นมาตรฐานในรุ่นเครื่องยนต์เบนซิน 1.8 และ ดีเซล 2.0 ลิตร

อย่างไรก็ตามช่วงสุดท้ายระยะทางประมาณ 40 กิโลเมตร ผู้เขียนมีโอกาสได้ลองรุ่นเครื่องยนต์เบนซิน1.8 ลิตร 141แรงม้า ซึ่งเป็นตัวท็อป LTZ ราคา 9.98 แสนบาท โดยช่วงออกตัวคล้ายๆเครื่องยนต์ดีเซลคือไม่ได้ปรู๊ดปร๊าดอะไร แต่กระนั้นรถจะดูกระตือรือร้นตั้งแต่ความเร็ว 60 กม./ชม.ขึ้นไป ขณะที่การเปลี่ยนเกียร์ 6 สปีด เลือกเล่นแบบใช้มือโยกสนุกสนานตามสั่ง

น้ำหนักพวงมาลัยก็เบาพอๆกับรุ่นเครื่องยนต์ดีเซล แต่การควบคุมให้ความรู้สึกกระชับกว่าเล็กน้อย แป้นเบรกออกแนวเบาลึก ที่สำคัญอยากให้เบรกจับเร็วกว่านี้อีกนิด

ด้านช่วงล่างยอดเยี่ยม เซ็ทมารองรับทุกสภาวะการขับขี่ การใช้ความเร็วสูงๆ 120-140 กม./ชม. อาการโยนตัวจะน้อยกว่า “ฮอนด้า ซีวิค”

สำหรับอัตราบริโภคน้ำมันในทริปนี้ ที่ส่วนใหญ่ใช้ความเร็วสูง รวมถึงการขับขึ้น-ลงเขา ในรุ่นเครื่องยนต์เบนซิน 1.8 LTZ หน้าจอแสดง 9-10 กม./ลิตร ส่วนรุ่นดีเซล 2.0LTZ ผู้เขียนไม่ทันสังเกต แต่เพื่อนฝูงแจ้งให้ทราบตัวเลขเฉลี่ยทำได้ประมาณ 13 กม./ลิตร

นอกจากสมรรถนะการขับขี่แล้ว เรื่องออปชันความสะดวก เชฟโรเลตจัดมาให้เพียบ โดยทุกรุ่นมาพร้อมเครื่องเล่นวิทยุ ซีดี 1 แผ่น พร้อมช่องต่ออุปกรณ์เสริม AUX หน้าจอแสดงข้อมูลรถอัจฉริยะที่สามารถเลือกปรับการทำงานได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งเลือกภาษา ปรับระบบส่องสว่างภายในและภายนอกห้องโดยสาร ปรับระบบล็อกประตู ปรับระบบปรับอากาศอัตโนมัติ ปรับตั้งค่าเครื่องเสียงวิทยุ รวมถึงความปลอดภัยระดับดิสก์เบรก 4 ล้อ เบรก ABS ระบบกระจายแรงเบรก EBD

ในรุ่นท๊อป LTZ จัดออปชันมาหนักสุด ทั้งถุงลมคู่หน้าและด้านข้าง ระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว ESP ระบบป้องกันล้อหมุนฟรี Traction Control ระบบกุญแจนิรภัย Immobilizer ระบบ Keyless Entry เข้า-ออกปุ่มสตาร์ทเครื่องยนต์ โดยไม่ง้อกุญแจ

นอกจากนี้ยังมีระบบไฟหน้าเปิด-ปิดอัตโนมัติ / ระบบปัดน้ำฝนอัตโนมัติ และระบบ Follow Me Home ที่จะสั่งไฟหน้าติดค้างไว้ประมาณ 2 นาที เพื่อให้ความสว่างนำทางเดิน หลังจากดับเครื่องยนต์-ล็อกรถ

รวบรัดตัดความ... “เชฟโรเลต ครูซ” มากับรูปลักษณ์สดใหม่ การตกแต่งภายในโดดเด่นที่สุดในบรรดาเก๋งคอมแพกต์ที่ทำตลาดปัจจุบัน ออปชันความปลอดภัยจัดเป็นมาตรฐานสูงสุดทุกรุ่น ส่วนตัวท๊อปมีลูกเล่นใหม่ๆรองรับความสะดวก ช่วงล่างหนึบหนับจับถนน แต่เครื่องยนต์ (ดีเซล-เบนซิน) เกียร์ 6 สปีด พวงมาลัย เน้นความนุ่มนวลในการขับขี่ หรือไม่สปอร์ตดุดันนัก

…ยุคใหม่ของจีเอ็มที่พยายามสร้างการรับรู้ใหม่ๆให้ลูกค้ากำลังเริ่มต้นกับ “เชฟโรเลต ครูซ”...ดังนั้นขึ้นอยู่กับคุณว่าอยากจะควักเงินเพื่อพิสูจน์ความเชื่อสักคันไหม?
 
รูปภาพเพิ่มเติม



ช่องเสียบ USB บริเวณช่องเก็บของตรงกลาง


กำลังโหลดความคิดเห็น