หน้าที่ในการสนับสนุน SC-Safety Car และ MC-Medical Car สำหรับการแข่งขัน F1 ยังเป็นของเมอร์เซเดส-เบนซ์ ซึ่งค่ายดาว 3 แฉกทำมานานร่วม 14 ปีแล้ว ส่วนในปีนี้หน้าที่ของ SC มีการเปลี่ยนแปลงใหม่ จากเดิมที่ SL63AMG รับงานนี้มาตั้งแต่ปี 2008 ก็จะโดนปลดระวาง เพื่อเปิดทางให้สปอร์ตใหม่จากไลน์ผลิตอย่างรุ่น SLS AMG เข้ามาประจำการแทนที่
นอกจากการเข้าร่วมการแข่งขัน F1 เป็นครั้งแรกในฐานะผู้สนับสนุนเครื่องยนต์ให้กับทีมแข่งอย่างแม็คลาเรนแล้ว เมอร์เซเดส-เบนซ์ยังทำหน้าที่ให้การสนับสนุนรถยนต์สำหรับใช้ในการใช้งานโดยเป็น SC เพื่อนำขบวนรถแข่ง F1 ในรอบอุ่นเครื่อง หรือ Formation Lap และในระหว่างที่ธงเหลืองถูกโบกขึ้นมาเพราะเกิดอุบัติเหตุ หรือฝนตกหนักจนทัศนวิสัยในการขับแย่มาก
แน่นอนว่าในเมื่อจะต้องแล่นนำหน้ารถแข่ง F1 ซึ่งแต่ละคันพกม้าในคอกมาไม่ต่ำกว่า 800 ตัว รถยนต์ที่จะประจำการได้จะต้องมีสมรรถนะสูงพอสมควร เพราะจะต้องนำแถวรถแข่งเหล่านี้ผ่านไปตามโค้งต่างๆ ในสนามด้วยความเร็วที่สูงในระดับหนึ่ง เพราะถ้าช้าเกินไปรถแข่ง F1 อาจเกิดปัญหาในเรื่องความร้อนสะสมกับตัวรถแข่ง อีกทั้งรถแข่งแต่ละคันจะต้องคงอุณหภูมิของยางให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานอยู่เสมอ เพื่อให้พร้อมแข่งและไม่เสียเปรียบคู่แข่ง ซึ่งถ้าสมรรถนะของเครื่องยนต์และช่วงล่างของรถยนต์นำขบวนไม่ดี ก็มีสิทธิ์ตีลังกาเอาง่ายๆ
ตามปกติแล้วเมอร์เซเดส-เบนซ์จะเลือกเอาเวอร์ชัน AMG ของรถยนต์ที่อยู่ในตลาดมารับหน้าที่ ซึ่งทั้ง C-Class, CLK-Class, CL-Class, SLK และ SL-Class ต่างเคยรับหน้าที่นี้กันมาแล้ว บางสายพันธุ์ก็รับหน้าที่กันมากกว่า 1 ครั้ง ส่วนในปีนี้เป็นงานของ SLS AMG ซึ่งถือว่าเป็นช่วงที่บังเอิญมาก เพราะเป็นรถยนต์ใหม่แกะกล่อง แถมยังเป็นปีที่เมอร์เซเดส-เบนซ์กลับมาร่วมลงแข่ง F1 เป็นครั้งแรกในรอบ 55 ปีหลังจากถอนทีมไปในปี 1955 โดยใช้ชื่อเมอร์เซเดส จีพีและมีมิชาเอล ชูมัคเกอร์ และนิโก้ รอสเบิร์กเป็น 2 นักแข่งของทีม
ตัวรถมีการดัดแปลงจากเวอร์ชันที่ขายอยู่ในตลาดแบบพอประมาณ มีการติดไฟสัญญาณบนหลังคาเพื่อแจ้งบอกให้กับทางนักแข่งรับทราบถึงช่วงเวลาที่ SC กำลังจะเข้าพิต เพื่อเปิดทางให้การแข่งขันเริ่มดำเนินกันต่อ ส่วนด้านท้ายมีการติดตั้งหลอด LED มากถึง 700 ดวงเพื่อประสิทธิภาพในการส่องสว่าง ส่วนข้างใน ติดตั้ง AMG DRIVE UNIT ซึ่งเป็นปุ่มควบคุมการเปิด-ปิดไฟสัญญาณสำหรับแสดงผลให้รถแข่งได้รับทราบ อีกทั้งยังมีมอนิเตอร์สำหรับแสดงผลการแข่งขัน 2 จอ โดยจอล่างจะมีปุ่มควบคุมการติดต่อสื่อสารกับเจ้าหน้าที่สนามเพื่อรับทราบข้อมูลและคำสั่งในการแล่นออกทำงาน พร้อมกับเปลี่ยนเบาะนั่งและเข็มขัดนิรภัยแบบ 6 จุดเพื่อความปลอดภัย
สำหรับรายละเอียดอื่นๆ ไม่แตกต่างจาก SLS AMG รุ่นที่ขายอยู่ในตลาด ทั้งเครื่องยนต์วี8 6,200 ซีซีที่มีกำลัง 571 แรงม้าส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติแบบ 7 จังหวะ แถมยังใช้ระบบน้ำมันเครื่องแบบ Dry Sump ไม่มีอ่างน้ำมันเครื่องห้อยอยู่ด้านท้ายของตัวเครื่องยนต์ด้วยอัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงที่มีตัวเลข 3.8 วินาที หรือล้อแม็กด้านหน้า 19 นิ้ว ด้านหลัง 20 นิ้ว โดยด้านหน้าจับคู่กับยาง 265/35R19 และด้านหลังใช้ยางขนาด 295/30R20 อีกทั้งยังมีดิสก์เบรกแบบคาร์บอนเซรามิกมาให้ด้วย ดิสก์หน้ามีขนาด 402X39 มิลลิเมตร และ 360X32 มิลลิเมตรที่ด้านหลัง
หลายคนคงจะได้เห็นการทำงานของ SLS AMG Safety Car กันไปแล้วในการแข่งขันนัดเปิดสนามที่บาห์เรน เมื่อวันที่ 14 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่ง SC คันนี้จะทำงานร่วมกับ C63AMG ในฐานะที่เป็น Medical Car หรือรถแพทย์ประจำสนามในการแข่งขันที่เหลือของปีนี้ โดยนักขับของ SLS AMG SC คือ แบรนด์ เมย์แลนเดอร์ อดีตนักซิ่งรายการ DTM วัย 38 ปี