xs
xsm
sm
md
lg

มองทิศทางจีเอ็ม(ยุค)ใหม่ กับ"นิค ไรลี่ย์"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หลังหลุดพ้นจากกระบวนการล้มละลายอย่างเป็นทางการในวันที่ 10 กรกฎาคม ที่ผ่านมา “จีเอ็ม ใหม่” หรือ บริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส คอมปานี ที่มีกระทรวงการคลังสหรัฐถือหุ้นถึง 60% ดูจะผ่านช่วงเวลาอันเลวร้ายที่สุดมาแล้ว และจากนี้ไปอดีตผู้ผลิตรถยนต์อันดับหนึ่งของโลกจะทำตลาดผ่าน 4 แบรนด์หลักคือ เชฟโรเลต จีเอ็มซี คาดิลแลค และบูอิค

“จีเอ็ม ใหม่” เปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง รวมถึงการดำเนินธุรกิจในภูมิภาคอื่นๆ(นอกสหรัฐ)รวมถึงประเทศไทย จะมีทิศทางอย่างไร “ASTVผู้จัดการมอเตอริ่ง” ร่วมสัมภาษณ์ นิค ไรลี่ย์ รองประธานบริหารจีเอ็ม และประธานจีเอ็ม อินเตอร์เนชั่นแนล โอปอเรชั่น หรือจีเอ็มไอโอ(GMIO)

- การดำเนินธุรกิจของ“จีเอ็ม ใหม่”

เราหลุดพ้นจากกระบวนการพิทักษ์ทรัพย์ ตามมาตรา 11 (Chapter 11) ภายในระยะเวลาเพียง 40 วัน ซึ่งถือว่าเร็วกว่าที่คาดไว้มาก ทั้งนี้หลังจากการปรับโครงสร้างทางธุรกิจใหม่ จะทำให้เราสามารถเติบโตต่อไปได้อย่างมั่นคง ขณะเดียวกันจีเอ็มได้ลดส่วนการบริหารหลักจาก 4 ส่วน เหลือ เพียง 2 ส่วน นั่นคือ 1. จีเอ็ม นอร์ทอเมริกา ที่ดูแลตลาด สหรัฐอเมริกา แคนนาดา และเม็กซิโก สำนักงานใหญ่อยู่ดีทรอยต์ และ 2. จีเอ็มไอโอ ที่ดูตลาดทั่วโลกนอกเหนือจากอเมริกาเหนือ สำนักงานใหญ่อยู่ เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน

“การปรับโครงสร้างใหม่จะทำให้เราบริหารงานได้กระชับและรวดเร็วมากขึ้น โดยลดการตัดสินใจให้เหลือเพียงระดับเดียว ไม่ต้องรอบริษัทแม่ที่อเมริกาเหมือนเมื่อก่อน ยกตัวอย่างในอาเซียน สตีฟ คาร์ไลส์ (ประธานกรรมการ บริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส เซาท์อีสต์เอเชีย โอเปอเรชั่นส์ จำกัด และบริษัท เชฟโรเลต เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด) สามารถตัดสินใจได้อย่างเด็ดขาด ทั้งเรื่องการผลิต โปรดักต์ การตลาด แต่กระนั้นยังได้รับการสนับสนุนจากบริษัทแม่อย่างเต็มที่”

- บทบาทของ จีเอ็มไอโอ

เราแบ่งตลาดที่ จีเอ็มไอโอ ดูแล ออกเป็น 2 ระดับ คือ 1. ตลาดที่โตเต็มที่แล้ว เช่น ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ยุโรปตะวันตก 2. ตลาดที่กำลังขยายตัวและเราสามารถทำกำไรได้ต่อเนื่อง อาทิ จีนและอาเซียน ทั้งนี้เราคาดว่า ในส่วนของ จีเอ็มไอโอ จะมียอดขายกว่า 65% ของยอดขายจีเอ็มทั้งหมด

- สถานการณ์อุตฯยานยนต์โลก

อย่างที่รู้กันว่าตลาดสหรัฐอเมริกากำลังย่ำแย่ ยอดขายปีนี้น่าจะอยู่ระดับ 10 ล้านคัน ลดลงจากเดิมที่เคยทำได้ 17 ล้านคันต่อปี ซึ่งตรงกันข้ามกับจีน ที่ยังมีโอกาสขยายตัวได้อีกมาก และปีนี้จะทำยอดขายแซงหน้าสหรัฐอเมริกาแน่นอน ด้วยตัวเลขประมาณ 11 ล้านคัน

ด้านยุโรปตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมายอดขายตกไปกว่า 20% และเมื่อถึงสิ้นปีน่าจะปิดที่ตัวเลข 10 ล้านคัน ขณะที่รัสเซียถือว่าสาหัส เมื่อปริมาณขายลดลงไปกว่า 50% ส่วนเอเชียแปซิฟิกยังต้องจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิด คาดว่ายอดขายรวมสิ้นปี 2552 จะทำได้ 24 ล้านคัน

“จากวิกฤตการเงินโลก ส่งผลโดยตรงกับอุตสาหกรรมยานยนต์ และคาดปีนี้ยอดขายรวมทั่วโลกจะเหลือเพียง 52 ล้านคัน ลดจากปีก่อนที่ทำได้ 65 ล้านคัน”

- ในจำนวน 52 ล้านคันเป็นของจีเอ็มเท่าไหร่

ปีนี้เราเพิ่งปรับโครงสร้างในหลายๆส่วน และเป็นความท้าทายอย่างมากในการดำเนินธุรกิจ แต่จากยอดขายรวมทั่วโลกปีนี้ 52 ล้านคัน จีเอ็มน่าจะมีส่วนแบ่งตลาด 12% (ประมาณ 6.4 ล้านคัน)

- มองตลาดไทยและอาเซียน

ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมายอดขายของจีเอ็มในภูมิภาคอาเซียน ลดลงประมาณ 20% แต่เชื่อว่านับจากนี้ไปสถานการณ์จะเริ่มดีขึ้น สำหรับประเทศไทยเรามีความมุ่งมั่นรักษาส่วนแบ่งการตลาดให้ได้เทียบเท่าปี 2551 หรือประมาณ 3.5-4.0%

“เรามุ่งมั่นที่จะเติบโตในอาเซียน โดยมีประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง พร้อมกันนี้ตลาดอื่นๆอย่างอินโดนีเซีย มาเลเซีย ก็มีศักยภาพในการแข่งขัน เห็นได้จากส่วนแบ่งตลาดที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ โดยเรายังคงยืนยันที่จะสรรหาสินค้าคุณภาพ เทคโนโลยียานยนต์ใหม่ๆ โดยเฉพาะพลังงานทางเลือก มาตอบสนองความต้องการของลูกค้าในภูมิภาคนี้”

- แผนกู้เงิน 1.5 หมื่นล้านทำโปรเจกต์ผลิตเครื่องยนต์ดีเซลและปิกอัพรุ่นใหม่

หลังเราประกาศเลื่อนไป 1 ปี ถึงวันนี้ก็ยังเป็นไปตามนั้น และทุกอย่างยังดำเนินการตามแผน ส่วนรายละเอียดในการกู้เงินยังไม่สามารถเปิดเผยได้ แต่คาดว่าจะได้ข้อสรุปที่เป็นข่าวดีเร็วๆนี้

“เราพิจารณาสถาบันการเงินหลายแห่ง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งจะต้องได้ข้อสรุปไม่เกินสิ้นปีนี้ จากนั้นคาดว่าจะเริ่มการผลิตเครื่องยนต์ดีเซลและปิกอัพสายพันธุ์ใหม่ ภายในระยะเวลา 18 – 24 เดือนนับจากนี้”
โคโลราโด
- มีแผนเจรจากับรัฐบาลหรือขอความช่วยเหลือเพิ่มเติมไหม

คงไม่ใช่เร็วๆนี้ แต่อยากฝากให้รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงการสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นภาษีนำเข้า ภาษีสรรพสามิต หรือการสร้างเครือข่ายผู้ผลิตชิ้นส่วนให้เข้มแข็งเพื่อสร้างศักยภาพในการแข่งขัน ขณะเดียวกันควรจะมีความชัดเจนเรื่องนโยบายพลังงานมากกว่านี้

“รัฐบาลไทยสนับสนุนพลังงานทดแทนหลายตัว ทั้ง แก็สโซฮอล์ อี20 อี85 ก๊าซซีเอ็นจี แอลพีจี ซึ่งถือเป็นเรื่องดี แต่ก็ไม่ควรสับสน และควรมีนโยบายที่ชัดเจน เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้ประกอบการ วางแผนผลิตโปรดักต์ให้เหมาะสม”
เชฟโรเลต ครูซ ที่ขายแล้วในเมืองจีน
- จะเลื่อนแผนขาย เชฟโรเลต ครูซ (ตัวแทน ออพตร้า) ในไทยหรือไม่

เราไม่เคยบอกว่าจะทำตลาด ครูซ ในไทย แต่แน่นอนว่าเรากำลังศึกษาความเป็นไปได้เช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น