xs
xsm
sm
md
lg

จีเอ็มไทยไร้ท่อน้ำเลี้ยงลุ้นเงินกู้ต่อชีวิต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTV ผู้จัดการรายวัน – ยอมรับ “จีเอ็มใหม่” ไม่มีน้ำเลี้ยงให้กับ จีเอ็ม ประเทศไทย และอาเซียน แม้รัฐบาลสหรัฐฯ จะเข้ามาถือหุ้น ทำให้ต้องดิ้นหาเงินลงทุน 1.5 หมื่นล้านบาทเอง เพื่อเดินหน้าโครงการผลิตปิกอัพ และตั้งโรงงานเครื่องยนต์ดีเซลในไทย หวังผ่านแผนฟื้นฟู 60-90 วัน น่าจะมีคำตอบ เหน็บรัฐบาล “โอบามาร์ค” แรงสนับสนุนด้านจิตใจช่วยได้มาก แต่ยืนยันจะไม่ถอนลงทุน พร้อมเดินหน้าเปิดตัวรถใหม่-รุกการตลาด

นายสตีฟ คาร์ไลส์ ประธานกรรมการ บริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส เซาอิสต์ เอเชีย โอเปอเรชั่น และบริษัท เชฟโรเลต เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า เจนเนอรัล มอเตอร์ส หรือจีเอ็ม (GM)ได้พูดอยู่เสมอว่าจะยืนหยัดทำธุรกิจในระยะยาวอยู่บ่อยครั้ง และวันนี้ได้พิสูจน์แล้วไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น จีเอ็มยังยืนอยู่ ณ ที่นี่ เพื่อก้าวสู่ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ พร้อมยกระดับความแข็งแกร่ง และมีประสิทธิภาพในการแข่งขันต่อไป

หลังเจนเนอรัล มอเตอร์ส คอร์ปอเรชั่น ได้บรรลุข้อตกลงกับกระทรวงการคลังของสหรัฐอเมริกา รัฐบาลแคนาดา และออนตาริโอ ในการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการตามกฎหมาย Chapter 11 (เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.)ซึ่งไม่ใช่กระบวนการชำระบัญชี การล้มละลาย หรือบริษัทต้องปิดกิจการลง แต่เป็นการผนวกกิจการและจำหน่ายทรัพย์สินของจีเอ็ม คอร์ป ไปสู่บริษัทใหม่ที่ใช้ชื่อเรียกในช่วงนี้ว่า “จีเอ็มใหม่” แต่ไม่ใช่ชื่ออย่างเป็นทางการ จะใช้เรียกชั่วคราวเท่านั้น คาดว่าแผนงานต่างๆ จะได้รับการอนุมัติภายในระยะเวลา 60-90 วัน

ธุรกิจในไทย-อาเซียนแยกเป็นอิสระ
นายคาร์ไลส์กล่าวว่า ทั้งนี้การเข้าสู่กระบวนการศาลของจีเอ็มในสหรัฐฯ ไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ และจะไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของจีเอ็มนอกสหรัฐฯ ทำให้จีเอ็ม เอเชีย แปซิฟิก รวมถึงจีเอ็ม ประเทศไทย และอาเซียนยังดำเนินธุรกิจไปตามปกติ โดยพนักงานยังคงได้รับค่าจ้างเช่นเดิม ขณะที่ลูกค้าที่จะได้รับการบริการ และรับประกันเหมือนที่ผ่านมา ส่วนผู้แทนจำหน่ายก็จะได้รับส่งมอบรถ เพื่อตอบสนองความต้องการลูกค้า ตลอดจนการเรียกชำระเงิน และระบบการเงินของการขายส่งและขายปลีก ก็ยังดำเนินการต่อไปเช่นเดิม
“ผลจากการเข้าสู่กระบวนฟื้นฟูดังกล่าว ทำให้จีเอ็มในไทย และอาเซียน หรือภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก มีความเป็นอิสระ ที่จะดำเนินงานต่างๆ มากขึ้น ซึ่งนำไปสู่ความคล่องตัว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยจะเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญของจีเอ็มใหม่ให้กลับมาเติบโตอีกครั้ง ดังจะเห็นยอดการขายของจีเอ็มในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก มีการเติบโตถึง 5.6% และช่วงไตรมาสแรกปีนี้ก็ยังคงเติบโตต่อเนื่อง”
อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ ย่อมมีมีผลกระทบบ้าง โดยเฉพาะในเรื่องความเชื่อมั่นในแบรนด์ จะเห็นว่ายอดขายในช่วงต้นปีลดลงบ้าง แต่ปัจจุบันก็กลับมาเริ่มดีขึ้นแล้ว และเชื่อว่าจะปรับตัวมากขึ้นเรื่อยๆ และปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้นำสิ่งเหล่านั้นมาวิเคราะห์ นำไปสู่การหลุดพ้น และมีประสิทธิภาพ ด้วยการลดต้นทุน และบริหารจัดการเรื่องของสินค้าคงคลัง รวมถึงนโยบายการออมเงินสด ซึ่งการที่ไทยและอาเซียนมีความอิสระ จะทำให้การดำเนินงานมีความคล่องตัวมากขึ้น

ลุ้นหาเงินลงทุนหลังจีเอ็มใหม่ตัดท่อ
นายคาร์ไลส์กล่าวว่า ในส่วนของแผนการลงทุนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการผลิตปิกอัพโมเดลใหม่ และตั้งโรงงานผลิตเครื่องยนต์ดีเซล จีเอ็มประเทศไทยยังยืนยันที่จะดำเนินงานต่อไปตามแผน ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินลงทุนทั้งหมดประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท
“เราไม่ได้คาดหวัง หรือจะมีเงินจากจีเอ็มใหม่มาสนับสนุนการลงทุนดังกล่าว ซึ่งจีเอ็มประเทศไทยจะต้องหาเงินกู้จากสถาบันการเงินภายในท้องถิ่น อาทิ เอ็กซิมแบงก์ หรือธนาคาพาณิชย์ในประเทศ และเมื่อได้มีการชี้แจงแผนงานต่างๆ ก็ได้การตอบรับที่ดี ดังนั้นเมื่อเวลาผ่านไป 60-90 วัน ในการปรับโครงสร้างของจีเอ็มใหม่ สถาบันการเงินน่าจะมีคำตอบให้กับเรา”
ส่วนการเข้าพบรัฐบาลไทย ไม่ได้มีการพูดเรื่องขอให้ช่วยทางการเงิน หรือเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำแต่อย่างใด แต่สิ่งที่จีเอ็มได้รับจากรัฐบาลไทย เป็นการสนับสนุนด้านจิตใจมากกว่า ซึ่งจีเอ็มต้องการและช่วยได้มาก โดยจีเอ็มทราบดีว่าในสภาวะเช่นนี้ ทั้งปัญหาการดำเนินงาน และสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ โอกาสเข้าถึงเครดิตนั้นมีน้อยมาก แต่หวังว่าเมื่อสถานการณ์ชัดเจน จีเอ็มจะได้รับเงินสนับสนุนการลงทุนภายในประเทศไทย

เดินหน้าเปิดรถใหม่-รุกการตลาด
นายคาร์ไลส์กล่าวต่อว่า แม้การเจรจาขอเงินกู้จากสถาบันการเงินครั้งนี้ ไม่ว่าผลจะออกมาเช่นไร จีเอ็มพร้อมสนับสนุนนโยบายรัฐบาล ในการผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยจะไม่ยุติการดำเนินงานในไทย หรือปลดพนักงานที่ปัจจุบันมีอยู่ 1,200 คน แม้ปัจจุบันกำลังการผลิตจะลดลงตามสภาวะเศรษฐกิจ เพราะการส่งออกลดลงเหลือเพียง 54% ของกำลังการผลิตกว่า 4 หมื่นคัน ซึ่งเดิมจะอยู่ที่ 80% ทำให้จำเป็นต้องปิดไลน์การผลิตชั่วคราว 2 สัปดาห์ แต่เป็นช่วงระยะสั้นๆ เท่านั้น และไม่เกี่ยวกับปัญหาจีเอ็มในสหรัฐฯ แต่อย่างใด
“จีเอ็มจะยังคงมุ่งมั่นต่อการผลิตรถยนต์ที่มีคุณภาพ และสวยล้ำสมัย ซึ่งในต้นปี 2553 จะเปิดตัวรถยนต์นั่งเชฟโรเลต ครูซ สู่ตลาดไทยแน่นอน เช่นเดียวกับมาเลเซียที่จะแนะนำรถรุ่นซาฟิรา และครูซเช่นกัน ส่วนปิกอัพใหม่ก็จะผลิตในไทยต่อไปตามแผน อาจจะช้าบ้างแต่ก็ไม่มากนัก รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยี หรือรถยนต์ใช้พลังงานทดแทนหลากหลายตามนโยบายของรัฐบาลไทย”
นายอันโตนิโอ ซาร่า รองประธานฝ่ายขาย การตลาด และบริการหลังการขาย บริษัท เชฟโรเลต เซลส์ ประเทศไทย เปิดเผยว่า ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ เชฟโรเลตจะเริ่มดำเนินแคมเปญ และโปรโมชั่นอย่างเข้มข้น เพื่อเสริมสร้างให้ลูกค้ามั่นใจ ในตัวผลิตภัณฑ์และแบรนด์ในเครือของจีเอ็ม โดยโครงการแต่ละอย่างอาจจะแตกต่างกันไปตามลักษณะของตลาด แต่สิ่งหนึ่งที่จะเกิดขึ้นแน่นอน คือจะทำการปรับภาพลักษณ์ของแบรนด์ การขยายเครือข่ายจำหน่ายตามแผนเดิม รวมถึงพนักงาน หุ้นส่วนธุรกิจ และสินค้า เพื่อให้ตอบสนองลูกค้าให้ดียิ่งขึ้น

***จีเอ็มยื่นขอล้มละลายภายใต้การดูแลของรบ.สหรัฐฯ
เจนเนอรัล มอเตอร์ส คอร์ป (จีเอ็ม) ยื่นขอเข้าสู่ภาวะล้มละลายอย่างเป็นทางการแล้วเมื่อวันจันทร์ (1) ขณะที่คณะรัฐบาลโอบามาก็เริ่มขั้นตอนแรกๆ ในความพยายามฟื้นชีพบริษัทรถยนต์ใหญ่อันดับหนึ่งของประเทศ และเคยเป็นสัญญลักษณ์แห่งอุตสาหกรรมอเมริกันแห่งนี้ ด้วยการให้ช่วยเหลือด้านการเงินและการกำกับดูแลอย่างที่ไม่เคยให้ใครมาก่อน
กรณีล้มละลายของจีเอ็มถือว่าใหญ่เป็นอันดับสามในประวัติศาสตร์องค์กรธุรกิจของสหรัฐฯ และหากไม่นับรวมภาคการเงิน ก็ถือเป็นการล้มละลายใหญ่ที่สุดในภาคอุตสาหกรรมการผลิตเลยทีเดียว
การตัดสินใจดันจีเอ็มเข้าสู่ภาวะล้มละลายเพื่อให้สามารถปรับโครงสร้างได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งอัดฉีดเงินกู้ให้อีก 30,000 ล้านดอลลาร์เพื่อปรับโครงสร้างนี้ เป็นการเสี่ยงวางเดิมพันอย่างมหาศาลของคณะรัฐบาลประธานาธิบดีบารัค โอบามา
แต่ในวันจันทร์นั้นเอง ศาลล้มละลายได้อนุมัติให้ไครสเลอร์ที่เข้าสู่ภาวะล้มละลายไปแล้วตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน สามารถขายทรัพย์สินส่วนดีๆ เข้าสู่บริษัทใหม่ที่จะบริหารโดยเฟียตแห่งอิตาลีได้ ทั้งนี้แผนการฟื้นชีพของจีเอ็มถูกมองว่าอยู่ในโมเดลเดียวกันกับไครสเลอร์ ดังนั้นการที่ไครสเลอร์มีความคืบหน้าทำท่าจะกลายเป็นบริษัทใหม่และก้าวออกจากภาวะล้มละลายได้อย่างรวดเร็วเช่นนี้ จึงเพิ่มความหวังให้แก่จีเอ็มเป็นอย่างมาก
หลังประกาศภาวะล้มละลาย หุ้นของจีเอ็ม ซึ่งเคยครั้งหนึ่งเคยเป็นหุ้นบลูชิปที่ถือว่ามีความแข็งแกร่งมากที่สุด ก็ถูกถอดออกจากการเป็นส่วนหนึ่งของดัชนีดาวโจนส์อุตสาหกรรมและถูกตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กปลดจากการเป็นบริษัทจดทะเบียนด้วย
"นี่เป็นข้อพิสูจน์ว่าจีเอ็มล้มเหลวครั้งมโหฬาร" บ๊อบ เอลตัน นักประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมรถยนต์กล่าว "ที่จริงพวกเขาล้มเหลวมาตั้งนานแล้วแต่ปิดบังเอาไว้ และตอนนี้ก็ถึงที่สุดของเส้นชีวิตแล้ว"
การเข้าสู่ภาวะล้มละลายของไครสเลอร์ ซึ่งได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากกระทรวงการคลังสหรัฐฯเช่นกัน เห็นกันว่าเป็นบททดสอบเพื่อปูทางสำหรับการล้มละลายของจีเอ็มที่มีขนาดใหญ่กว่าและมีรูปแบบองค์กรที่ซับซ้อนกว่ามาก
ประธานาธิบดีโอบามากล่าวเมื่อวันจันทร์ว่า เขาเชื่อว่าจีเอ็มจะสามารถฟื้นตัวจากภาวะล้มละลายได้อย่างรวดเร็ว แต่เขาก็กล่าวด้วยว่าการล้มละลายทำให้รัฐบาลต้องเข้าเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุด โดยที่ไม่มีความต้องการเช่นนั้นเลย
"เป้าหมายของรัฐบาลก็คือทำให้จีเอ็มยืนอยู่บนขาตัวเองได้เร็วที่สุดโดยไม่ต้องพึ่งมือคนอื่นมาพยุง และแข็งแกร่งอย่างรวดเร็ว" โอบามาบอก
แผนการของรัฐบาลก็คือการทำให้จีเอ็มตัดขายสินทรัพย์ที่เป็นส่วนเกินและปลดภาระหนี้สิน แล้วทำให้บริษัทจีเอ็มใหม่ที่เล็กกว่าเดิมมาก หลุดพ้นจากการคุ้มครองของศาลล้มละลายภายในเวลาเพียง 60-90 วัน
ในระหว่างอยู่ในภาวะล้มละลาย จีเอ็มจะถูกแบ่งเป็นสองบริษัท นั่นคือ "จีเอ็มใหม่" และ "จีเอ็มเก่า" จีเอ็มใหม่จะได้รับสินทรัพย์ต่างๆ ที่มีค่าแก่การอยู่รอดต่อไปในสภาพที่จะมีขนาดเล็กลงกว่าเดิมมาก ขณะที่จีเอ็มเก่าจะรับเอาสินทรัพย์ที่เป็นส่วนเกิน ซึ่งรวมถึงโรงงานและเครื่องจักรอุปกรณ์ส่วนเกิน โดยในที่สุดแล้วสินทรัพย์ของจีเอ็มเก่าก็จะถูกขายทอดตลาด ภายใต้การคุ้มครองของศาลล้มละลาย
จีเอ็มกล่าวในเอกสารยื่นขอความคุ้มครองในภาวะล้มละลายว่า จากธุรกรรมดังกล่าว จะทำให้เกิดบริษัทที่ปรับองค์กรบริหารใหม่ ซึ่งจะทำให้จีเอ็มมีโอกาสในการปรับโครงสร้างได้ราบรื่นมากขึ้น
นอกจากนั้นในวันแรกของการพิจารณาของศาลเกี่ยวกับการเข้าสู่ภาวะล้มละลายของจีเอ็ม ทนายความของบริษัทกล่าวว่าพวกเขาจะขอให้ผู้พิพากษาโรเบิร์ต เกอร์เบอร์ อนุม้ติให้สามารถขายสินทรัพย์ที่แข็งแกร่งที่สุดออกไปได้ภายใน 30 วัน
จีเอ็มกล่าวว่าผู้พิพากษาเกอร์เบอร์ได้อนุมัติให้บริษัทสามารถเข้าถึงเม็ดเงิน 33,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯที่กระทรวงการคลังสหรัฐ รัฐบาลแคนาดาและรัฐบาลของรัฐออนแทริโอ เป็นผู้จัดให้
ตั้งแต่เริ่มปีนี้มา จีเอ็มรอดชีวิตได้ก็ด้วยเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลสหรัฐฯ ขณะที่ทีมงานเฉพาะกิจที่ทำเนียบขาวเป็นผู้แต่งตั้ง ก็จัดทำแผนการในการปรับโครงสร้างจีเอ็มครั้งมโหฬาร ซึ่งรวมแล้วจะต้องใช้เงินช่วยเหลือจากรัฐบาลสหรัฐฯประมาณ 50,000 ล้านดอลลาร์
ตามแผนการนี้รัฐบาลอเมริกันจะเป็นเจ้าของหุ้น 60% ในจีเอ็มใหม่ ซึ่งก็เท่ากับคณะรัฐบาลโอบามากำลังวางเดิมพันว่า บริษัทรถยนต์แห่งนี้ จะสามารถแข่งขันกับบริษัทอื่นๆ อย่างเช่นโตโยต้า มอเตอร์ ภายหลังทำความตกลงกับเจ้าหนี้และสหภาพแรงงานเพื่อตัดลดหนี้ลงราวครึ่งหนึ่ง ตลอดจนลดต้นทุนด้านแรงงานลงไป
จีเอ็มวางแผนการที่จะปิดหรือหยุดใช้โรงงานและการดำเนินงานด้านคลังสินค้าในสหรัฐฯรวม 14 แห่ง โดยที่จะมีการปลดคนงานจีเอ็มในสหรัฐฯระหว่าง 18,000 -20,000 คน นอกจากนั้น ยังจะปลดตำแหน่งงานประจำออฟฟิศอีกเกือบ 8,000 คน
กำลังโหลดความคิดเห็น