xs
xsm
sm
md
lg

จีเอ็มยื่นขอล้มละลายภายใต้การดูแลของรบ.สหรัฐฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รอยเตอร์ - เจนเนอรัล มอเตอร์ส คอร์ป (จีเอ็ม) ยื่นขอเข้าสู่ภาวะล้มละลายอย่างเป็นทางการแล้วเมื่อวันจันทร์ (1) ขณะที่คณะรัฐบาลโอบามาก็เริ่มขั้นตอนแรกๆ ในความพยายามฟื้นชีพบริษัทรถยนต์ใหญ่อันดับหนึ่งของประเทศ และเคยเป็นสัญญลักษณ์แห่งอุตสาหกรรมอเมริกันแห่งนี้ ด้วยการให้ช่วยเหลือด้านการเงินและการกำกับดูแลอย่างที่ไม่เคยให้ใครมาก่อน
กรณีล้มละลายของจีเอ็มถือว่าใหญ่เป็นอันดับสามในประวัติศาสตร์องค์กรธุรกิจของสหรัฐฯ และหากไม่นับรวมภาคการเงิน ก็ถือเป็นการล้มละลายใหญ่ที่สุดในภาคอุตสาหกรรมการผลิตเลยทีเดียว
การตัดสินใจดันจีเอ็มเข้าสู่ภาวะล้มละลายเพื่อให้สามารถปรับโครงสร้างได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งอัดฉีดเงินกู้ให้อีก 30,000 ล้านดอลลาร์เพื่อปรับโครงสร้างนี้ เป็นการเสี่ยงวางเดิมพันอย่างมหาศาลของคณะรัฐบาลประธานาธิบดีบารัค โอบามา
แต่ในวันจันทร์นั้นเอง ศาลล้มละลายได้อนุมัติให้ไครสเลอร์ที่เข้าสู่ภาวะล้มละลายไปแล้วตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน สามารถขายทรัพย์สินส่วนดีๆ เข้าสู่บริษัทใหม่ที่จะบริหารโดยเฟียตแห่งอิตาลีได้ ทั้งนี้แผนการฟื้นชีพของจีเอ็มถูกมองว่าอยู่ในโมเดลเดียวกันกับไครสเลอร์ ดังนั้นการที่ไครสเลอร์มีความคืบหน้าทำท่าจะกลายเป็นบริษัทใหม่และก้าวออกจากภาวะล้มละลายได้อย่างรวดเร็วเช่นนี้ จึงเพิ่มความหวังให้แก่จีเอ็มเป็นอย่างมาก
หลังประกาศภาวะล้มละลาย หุ้นของจีเอ็ม ซึ่งเคยครั้งหนึ่งเคยเป็นหุ้นบลูชิปที่ถือว่ามีความแข็งแกร่งมากที่สุด ก็ถูกถอดออกจากการเป็นส่วนหนึ่งของดัชนีดาวโจนส์อุตสาหกรรมและถูกตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กปลดจากการเป็นบริษัทจดทะเบียนด้วย
“นี่เป็นข้อพิสูจน์ว่าจีเอ็มล้มเหลวครั้งมโหฬาร” บ๊อบ เอลตัน นักประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมรถยนต์กล่าว “ที่จริงพวกเขาล้มเหลวมาตั้งนานแล้วแต่ปิดบังเอาไว้ และตอนนี้ก็ถึงที่สุดของเส้นชีวิตแล้ว”
การเข้าสู่ภาวะล้มละลายของไครสเลอร์ ซึ่งได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากกระทรวงการคลังสหรัฐฯเช่นกัน เห็นกันว่าเป็นบททดสอบเพื่อปูทางสำหรับการล้มละลายของจีเอ็มที่มีขนาดใหญ่กว่าและมีรูปแบบองค์กรที่ซับซ้อนกว่ามาก
ประธานาธิบดีโอบามากล่าวเมื่อวันจันทร์ว่า เขาเชื่อว่าจีเอ็มจะสามารถฟื้นตัวจากภาวะล้มละลายได้อย่างรวดเร็ว แต่เขาก็กล่าวด้วยว่าการล้มละลายทำให้รัฐบาลต้องเข้าเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุด โดยที่ไม่มีความต้องการเช่นนั้นเลย
“เป้าหมายของรัฐบาลก็คือทำให้จีเอ็มยืนอยู่บนขาตัวเองได้เร็วที่สุดโดยไม่ต้องพึ่งมือคนอื่นมาพยุง และแข็งแกร่งอย่างรวดเร็ว” โอบามาบอก
แผนการของรัฐบาลก็คือการทำให้จีเอ็มตัดขายสินทรัพย์ที่เป็นส่วนเกินและปลดภาระหนี้สิน แล้วทำให้บริษัทจีเอ็มใหม่ที่เล็กกว่าเดิมมาก หลุดพ้นจากการคุ้มครองของศาลล้มละลายภายในเวลาเพียง 60-90 วัน
ในระหว่างอยู่ในภาวะล้มละลาย จีเอ็มจะถูกแบ่งเป็นสองบริษัท นั่นคือ “จีเอ็มใหม่” และ “จีเอ็มเก่า” จีเอ็มใหม่จะได้รับสินทรัพย์ต่างๆ ที่มีค่าแก่การอยู่รอดต่อไปในสภาพที่จะมีขนาดเล็กลงกว่าเดิมมาก ขณะที่จีเอ็มเก่าจะรับเอาสินทรัพย์ที่เป็นส่วนเกิน ซึ่งรวมถึงโรงงานและเครื่องจักรอุปกรณ์ส่วนเกิน โดยในที่สุดแล้วสินทรัพย์ของจีเอ็มเก่าก็จะถูกขายทอดตลาด ภายใต้การคุ้มครองของศาลล้มละลาย
จีเอ็มกล่าวในเอกสารยื่นขอความคุ้มครองในภาวะล้มละลายว่า จากธุรกรรมดังกล่าว จะทำให้เกิดบริษัทที่ปรับองค์กรบริหารใหม่ ซึ่งจะทำให้จีเอ็มมีโอกาสในการปรับโครงสร้างได้ราบรื่นมากขึ้น
นอกจากนั้นในวันแรกของการพิจารณาของศาลเกี่ยวกับการเข้าสู่ภาวะล้มละลายของจีเอ็ม ทนายความของบริษัทกล่าวว่าพวกเขาจะขอให้ผู้พิพากษาโรเบิร์ต เกอร์เบอร์ อนุม้ติให้สามารถขายสินทรัพย์ที่แข็งแกร่งที่สุดออกไปได้ภายใน 30 วัน
จีเอ็มกล่าวว่าผู้พิพากษาเกอร์เบอร์ได้อนุมัติให้บริษัทสามารถเข้าถึงเม็ดเงิน 33,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯที่กระทรวงการคลังสหรัฐ รัฐบาลแคนาดาและรัฐบาลของรัฐออนแทริโอ เป็นผู้จัดให้
ตั้งแต่เริ่มปีนี้มา จีเอ็มรอดชีวิตได้ก็ด้วยเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลสหรัฐฯ ขณะที่ทีมงานเฉพาะกิจที่ทำเนียบขาวเป็นผู้แต่งตั้ง ก็จัดทำแผนการในการปรับโครงสร้างจีเอ็มครั้งมโหฬาร ซึ่งรวมแล้วจะต้องใช้เงินช่วยเหลือจากรัฐบาลสหรัฐฯประมาณ 50,000 ล้านดอลลาร์
ตามแผนการนี้รัฐบาลอเมริกันจะเป็นเจ้าของหุ้น 60% ในจีเอ็มใหม่ ซึ่งก็เท่ากับคณะรัฐบาลโอบามากำลังวางเดิมพันว่า บริษัทรถยนต์แห่งนี้ จะสามารถแข่งขันกับบริษัทอื่นๆ อย่างเช่นโตโยต้า มอเตอร์ ภายหลังทำความตกลงกับเจ้าหนี้และสหภาพแรงงานเพื่อตัดลดหนี้ลงราวครึ่งหนึ่ง ตลอดจนลดต้นทุนด้านแรงงานลงไป
จีเอ็มวางแผนการที่จะปิดหรือหยุดใช้โรงงานและการดำเนินงานด้านคลังสินค้าในสหรัฐฯรวม 14 แห่ง โดยที่จะมีการปลดคนงานจีเอ็มในสหรัฐฯระหว่าง 18,000 –20,000 คน นอกจากนั้น ยังจะปลดตำแหน่งงานประจำออฟฟิศอีกเกือบ 8,000 คน
กำลังโหลดความคิดเห็น