xs
xsm
sm
md
lg

GM ใกล้ล้มละลาย “เจ้าหนี้” ไม่รับแผน เรื่องขาย “โอเปิล” ก็ยังเจอปัญหาใหญ่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ฟริตซ์ เฮนเดอร์สัน ซีอิโอของจีเอ็ม ที่กำลังใกล้เข้าสู่ภาวะล้มละลายแล้ว
เอเจนซี - เจนเนอรัล มอเตอร์ส (จีเอ็ม) ทำท่าเข้าใกล้ภาวะล้มละลายไปทุกขณะแล้ว เมื่อบรรดาผู้ถือหุ้นกู้ของบริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่อันดับหนึ่งของสหรัฐฯแห่งนี้ ปฏิเสธข้อเสนอแปลงสภาพตราสารหนี้เป็นหุ้นของบริษัท ในขณะเดียวกัน ชะตากรรมของโอเปิลซึ่งเป็นกิจการสำคัญที่สุดของจีเอ็มในยุโรป ก็ยังไม่มีความแน่นอน หลังจากการเจรจากับทางการเยอรมนีจบลงโดยไม่มีข้อสรุปอะไรออกมา

หากว่าจีเอ็มต้องยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอเข้าสู่ภาวะล้มละลายแล้ว ก็จะเป็นกรณีล้มละลายครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกาเลยทีเดียว

ส่วนทางด้านไครสเลอร์ บริษัทรถยนต์ใหญ่อันดับสามของอเมริกา ซึ่งเข้าสู่ภาวะล้มละลายไปแล้วเมื่อหนึ่งเดือนก่อน กำลังรอฟังคำสั่งของศาลว่าจะสามารถขายสินทรัพย์ที่ดีส่วนใหญ่ให้กับบริษัทใหม่ที่มีเฟียตมาร่วมถือหุ้นด้วยได้หรือไม่ เพื่อเดินหน้าการปรับโครงสร้างอย่างเร่งด่วนให้เป็นไปตามกำหนดของรัฐบาลประธานาธิบดี บารัค โอบามา

ไครสเลอร์กำลังขอให้ผู้พิพากษาอนุมัติการจัดตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมา ซึ่งเป็นที่หวังกันว่าจะมีความแข็งแกร่งกว่าเดิม โดยบริษัท ไครสเลอร์ ใหม่นี้ จะมีผู้ถือหุ้นสำคัญ คือ เฟียต, สหภาพแรงงาน, รัฐบาลสหรัฐฯ และรัฐบาลแคนาดา เพื่อแลกเปลี่ยนกับเม็ดเงิน 2,000 ล้านดอลลาร์ ที่จะนำไปจ่ายให้กับพวกเจ้าหนี้ที่ถือหุ้นกู้ทั้งหลาย

กรณีของไครสเลอร์นั้น กำลังใกล้จะได้ข้อสรุปแล้ว ดังนั้น ความสนใจจึงเปลี่ยนมาอยู่ที่ชะตากรรมของจีเอ็ม รวมทั้งเรื่องการซื้อขายโอเปิลด้วย โดยหลายฝ่ายคาดว่าอีกไม่กี่วันจีเอ็มจะต้องตัดสินใจเข้าสู่ภาวะล้มละลายอย่างแน่นอน

ในขณะที่ เฟียต ก็เร่งมือเพื่อให้ได้เข้าซื้อสินทรัพย์ของโอเปิล อันเป็นส่วนหนึ่งของแผนการสยายปีกทางธุรกิจของ แซร์จิโอ มาคิออนเน ซีอีโอของเฟียต เพื่อทำให้บริษัทรถยนต์แห่งอิตาลีกลายเป็นบริษัทรถยนต์อันดับสองของโลก รองจาก โตโยต้า มอเตอร์ ที่เป็นอันดับหนึ่งอยู่ในขณะนี้

โอเปิลเวลานี้ยังเป็นกิจการของจีเอ็ม และผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจเกี่ยวกับอนาคตของโอเปิล ย่อมต้องเป็นจีเอ็ม ทว่าเนื่องจากจีเอ็มต้องพึ่งพารัฐบาลสหรัฐฯ ทั้งในเรื่องเงินกู้เพื่อพยุงกิจการและในเรื่องการปรับโครงสร้างบริษัท ขณะเดียวกัน โอเปิลจะอยู่รอดต่อไปได้ก็ดูจะต้องพึ่งพาเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลเยอรมัน ด้วยเหตุนี้ แผนการเกี่ยวกับอนาคตของโอเปิล จึงต้องมีรัฐบาลสหรัฐฯ และรัฐบาลเยอรมันเข้าเกี่ยวข้องด้วย

การประมูลแข่งขันกันซื้อกิจการโอเปิลจากจีเอ็ม โดยที่จะได้รับความช่วยเหลือสนับสนุนด้านการเงินจากรัฐบาลเยอรมันด้วยนั้น ได้หดแคบลงจนเหลือคู่แข่งขันเพียง 2 รายแล้ว คือ เฟียต กับ แมกนา อินเตอร์เนชั่นแนล ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ของแคนาดา ทั้งนี้ จากการเปิดเผยของพวกรัฐมนตรีเยอรมันหลังการเจรจายาวนานถึง 12 ชั่วโมง ซึ่งจบลงในตอนเช้าวานนี้ (28)

แม้ว่า อาร์เอชเจ อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งจดทะเบียนอยู่ในเบลเยียม และปักกิ่ง ออโตโมทีฟ อินดัสเตรียล คอร์ป ของจีน ก็เข้าเสนอราคาด้วย แต่โอกาสดูจะน้อยกว่าสองบริษัทแรก

แต่พวกรัฐมนตรีของเยอรมนี ก็บอกด้วยว่า การเจรจาในเรื่องโอเปิลยังไม่สามารถตกลงกันได้ เนื่องจากติดปัญหาสำคัญเรื่องที่รัฐบาลเยอรมนีต้องให้ความช่วยเหลือเงินกู้แก่โอเปิล ขณะที่จีเอ็มกำลังจะยื่นขอเข้าสู่ภาวะล้มละลายในสหรัฐฯ

ทั้งนี้ กระบวนการคัดเลือกผู้ที่จะเข้ามาซื้อโอเปิลตลอดจนการทำข้อตกลงต่างๆ ให้เสร็จสิ้นเรียบร้อย คาดกันว่า จะต้องกินเวลาแรมเดือน ซึ่งทั้งรัฐบาลเยอรมันและจีเอ็มต่างไม่สามารถรอนานขนาดนั้นได้ ในเมื่อจีเอ็มน่าจะยื่นขอล้มละลายในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้แล้ว
เพื่อให้โอเปิลยังดำเนินงานต่อไปได้ เยอรมนีทั้งส่วนรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นได้รวบรวมเงิน 1,500 ล้านยูโร (2,100 ล้านดอลลาร์) ในการเข้าไปช่วยเหลือ แต่เยอรมนีตั้งเงื่อนไขว่า จะให้ความช่วยเหลือดังกล่าวต่อเมื่อรัฐบาลสหรัฐฯและจีเอ็มต้องยินยอมตามแผนของฝ่ายเยอรมัน ที่จะให้โอนทรัพย์สินของโอเปิลไปไว้ในกองทุนทรัสต์แห่งหนึ่ง ทั้งนี้ การโยกทรัพย์สินไปอยู่ในทรัสต์ต่างหากเช่นนี้ ก็จะเป็นการคุ้มครองสิทธิบัตรและเทคโนโลยีต่างๆ ของโอเปิล ไม่ให้พวกเจ้าหนี้ของจีเอ็มมาเรียกร้องได้

“เราได้สอบถามไปยังกระทรวงการคลังสหรัฐฯแล้ว และคาดว่า จะได้รับคำตอบในวันศุกร์(29)นี้ เราต้องการคำตอบที่ชัดเจนเพื่อที่จะได้ตัดสินใจเลือกผู้ซื้อได้” คาร์ล ธีโอดอร์ ซู กุทเทนเบิร์ก รัฐมนตรีเศรษฐกิจของเยอรมนี กล่าว “ตอนนี้ยังไม่สามารถจะให้คำมั่นในเรื่องการเงินใดๆ ได้ เพราะสถานการณ์ยังไม่มั่นคง”

นอกจากนั้น รัฐมนตรีคลัง เพียร์ สไตน์บรัค ก็พูดถึง “ความน่าผิดหวังและประหลาดใจ” ของผู้เจรจาจากสหรัฐฯ เพราะจีเอ็มนั้นเรียกร้องเงินเพิ่มขึ้น 300 ล้านยูโร ในรูปของเงินสดระยะสั้น
การขายโอเปิล ซึ่งเป็นแบรนด์รถยนต์แบรนด์หนึ่งของจีเอ็มออกไป เป็นสิ่งสำคัญที่จีเอ็มจะต้องทำให้ได้ในขณะที่เส้นตายใกล้เข้ามาแล้ว

นอกจากนั้น เรื่องสำคัญมากอีกเรื่องหนึ่งของจีเอ็ม ก็คือ การทำให้พวกเจ้าหนี้ที่ถือหุ้นก็ของบริษัท ยินยอมแปลงสภาพหุ้นกู้ให้เป็นหุ้น

แต่ จีเอ็ม แถลงว่า หลังจากครบกำหนดในคืนวันพุธ ปรากฏว่า ข้อเสนอของบริษัทที่ให้แปลงสภาพหุ้นกู้มูลค่า 27,000 ล้านดอลลาร์ให้มาเป็นหุ้น 10% ของบริษัทใหม่ของจีเอ็ม ไม่ได้รับการตอบสนองจากผู้ถือหุ้นกู้ถึงจำนวน 90% ที่ต้องการ ข้อเสนอนี้จึงเป็นอันยกเลิกไป
การแปลงสภาพดังกล่าวถือเป็นความหวังสุดท้ายของจีเอ็มที่จะลดหนี้ลงโดยไม่ต้องใช้หนทางการเข้าสู่ภาวะล้มละลาย คณะกรรมการบริหารของบริษัทน่าจะประชุมกันในสัปดาห์นี้ เพื่อพิจารณาทางเลือกอื่นๆ ที่เริ่มตีบตันลงทุกที

“กระทั่งว่าถ้าผู้ถือหุ้นกู้จะตอบสนองในทางที่ดีต่อข้อเสนอของจีเอ็ม แต่บริษัทก็มีโอกาสสูงที่จะต้องเข้าสู่ภาวะล้มละลายอยู่ดี” จอร์จ แมกเลียโน นักวิเคราะห์สถานการณ์อุตสาหกรรมรถยนต์ของไอเอชเอส โกลบัล อินไซท์ กล่าว

“แต่ความจริงที่ว่าผู้ถือหุ้นกู้ไม่ยอมรับข้อเสนอ ก็ยิ่งทำให้จีเอ็มหลีกเลียงภาวะล้มละลายได้ยากลำบากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งเมื่อถึงตอนนี้ผู้พิพากษาจะเข้ามาตัดสินใจแทนว่าใครควรได้อะไรไปบ้าง”

จีเอ็มได้เงินกู้จากรัฐบาลสหรัฐฯมาแล้วถึง 19,400 ล้าน เพื่อประคองสถานการณ์เอาไว้ หลังจากที่ยอดขายตกลงอย่างรุนแรง ทำให้แผนการปรับโครงสร้างเพื่อลดต้นทุนของบริษัทที่ทำมาในช่วงสี่ปีหลัง ต้องล้มหลวในแง่ที่ไม่สามารถทำให้บริษัทหลุดพ้นจากภาวะขาดทุนมหาศาลได้
กำลังโหลดความคิดเห็น