xs
xsm
sm
md
lg

GMหลบหนีภาวะล้มละลายไม่พ้นแน่ ผู้เชี่ยวชาญชี้จะยุ่งกว่า“ไครสเลอร์”ด้วย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รอยเตอร์ - หลังจากดำเนินธุรกิจมาหนึ่งร้อยปี และดำเนินการปรับโครงสร้างอย่างดุเดือดแต่ล้มเหลวอยู่ 10 เดือน เจนเนอรัล มอเตอร์ส (จีเอ็ม) ก็เหลือเวลาอีกไม่กี่สัปดาห์ ก่อนที่จะต้องยื่นเรื่องต่อศาลขอเข้าสู่ภาวะล้มละลาย ซึ่งพวกผู้เชี่ยวชาญบอกว่า นั่นกลับเป็นสิ่งจำเป็นด้วยซ้ำ เพื่อให้บรรลุสิ่งที่คณะรัฐบาลประธานาธิบดีบารัค โอบามาตั้งข้อเรียกร้อง ในการดำเนินการยกเครื่องปรับโฉมบริษัทที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นแม่แบบของอุตสาหกรรมอเมริกันแห่งนี้
คณะรัฐบาลโอบามาขีดเส้นตายให้จีเอ็มต้องดำเนินการปรับโครงสร้างให้เสร็จก่อนวันที่ 1 มิถุนายน โดยสิ่งที่บริษัทรถยนต์ใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯแห่งนี้จะต้องกระเสือกระสนทำให้สำเร็จ มีทั้งการเจรจากับพวกเจ้าหนี้เพื่อลดมูลหนี้จากหุ้นกู้ที่มีอยู่ทั้งหมด 27,000 ล้านดอลลาร์ ,การเจรจาเกลี้ยกล่อมให้ทางสหภาพแรงงานยินยอมอ่อนข้อซึ่งจะเป็นการลดต้นทุนค่าแรงและสวัสดิการลงไป, รวมทั้งการลดตัวแทนจำหน่ายลง 1,600 แห่งทั่วสหรัฐฯ
แต่ด้วยเวลาที่เหลือน้อยลงทุกที พวกผู้เชี่ยวชาญจึงมองว่าในที่สุดแล้วจีเอ็มก็จะต้องเดินตามรอยของไครสเลอร์ ไปสู่ศาลล้มละลายอย่างแน่นอน
“ผมคิดว่ามันหลีกเลี่ยงไม่ได้” อีริค เมอร์เคิล นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมรถยนต์อิสระให้ความเห็น “ผมมองไม่เห็นทางเลยว่าจีเอ็มจะหลีกเลี่ยงได้ยังไง”
ปัญหาจำนวนมากที่ไหลบ่าทับถมเข้าใส่จีเอ็มจนอยู่ในอาการซวนเซในขณะนี้ มีทั้งเรื่องยอดขายที่ดิ่งลงต่อเนื่อง, ราคาหุ้นตกต่ำ, ไปจนถึงรถยนต์รุ่นต่าง ๆที่ออกมาในช่วง 10 ปีมานี้ ไม่ค่อยได้รับความนิยม, ตลอดจนการตกเป็นผู้ตามพวกผู้นำด้านวิศวกรรมอย่างเช่น โตโยต้า มอเตอร์ และฮอนดา มอเตอร์ ในเรื่องเทคโนโลยีรถไฮบริด
แต่สำหรับสิ่งที่ทำให้จีเอ็มต้องเผชิญกับวิกฤตในเฉพาะหน้านี้ก็คือ งบดุลที่เต็มไปด้วยหนี้มหาศาล และเป็นเหตุผลเดียวที่ทำให้บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านการปรับโครงสร้างองค์กร,นักวิเคราะห์, และผู้บริหารในอุตสาหกรรมรถยนต์คนอื่น ๆ มองไม่เห็นทางที่จีเอ็มจะหลีกเลี่ยงการล้มละลายที่ต้องเจ็บปวดยุ่งยากและซับซ้อนได้เลย
“หนทางเดียวที่เหลืออยู่ที่จะทำให้เลี่ยงการล้มละลายได้ก็คือ รัฐบาลจะต้องยอมรับจำนวนผู้ถือหุ้นกู้ของจีเอ็มที่ยอมแลกหุ้นกู้กับหุ้นสามัญของจีเอ็ม ซึ่งอาจจะเป็น 40, 50 หรือ 60%ก็ได้ทั้งนั้น” ปีเตอร์ คอฟแมน ประธานและหัวหน้าหน่วยงานด้านการปรับโครงสร้างและพัฒนาการควบรวมกิจการที่ประสบปัญหาของ กอร์เดียน กรุ๊ปในนิวยอร์กกล่าว
ทางจีเอ็มนั้นพูดเรื่อยมาว่า พวกผู้ถือหุ้นกู้ที่มีตัวเงินสูงถึง 27,000 ล้านดอลลาร์นั้น จะต้องมีสัดส่วน 90% ที่เข้าร่วมการแลกหุ้น บริษัทจึงจะอยู่รอดได้ ไม่เช่นนั้นก็จะต้องยื่นขอล้มละลาย
ทั้งนี้สิ่งที่จีเอ็มเสนอแลกเปลี่ยนกับผู้ถือหุ้นกู้ก็คือ จะให้หุ้นของบริษัทที่ผ่านการปรับโครงสร้างแล้วเป็นจำนวน 10% ตฯตัวแทนของผู้ถือหุ้นกู้รายใหญ่ของจีเอ็มเรียกข้อเสนอนี้ว่าไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับสิ่งที่จีเอ็มเสนอให้กับสหภาพแรงงาน
เรื่องที่ชี้ให้เห็นชัดว่าทั้งสองฝ่ายมีจุดยืนที่แตกต่างกันมากขนาดไหนก็คือ พวกผู้ถือหุ้นกู้ได้เสนอกลับว่าต้องการได้ถือหุ้นส่วนข้างมากในบริษัทจีเอ็มใหม่ โดยที่ฐานะการมีอำนาจควบคุมบริษัทใหม่ได้เช่นนี้ คือสิ่งที่จีเอ็มเสนอไปแล้วว่าจะยกให้แก่กระทรวงการคลังสหรัฐฯ
หลังจากที่กระทรวงการคลังได้ปล่อยเงินกู้อัดฉีดให้แก่จีเอ็มรวมเป็นเงิน 15,400 ล้านดอลลาร์นับตั้งแต่ต้นปีนี้มา ทางกระทรวงจึงจะเป็นเจ้าของจีเอ็มใหม่อย่างน้อยที่สุด 50% ทั้งนี้ตามเงื่อนไขที่บริษัทเสนอออกมา
ในส่วนสหภาพแรงงานยูเอดับเบิลยูนั้น จีเอ็มเสนอจะให้หุ้นร่วม 40% ของบริษัทใหม่แก่ทรัสต์ของสหภาพแรงงานนี้ แลกกับการที่ทางสหภาพแรงงานยินยอมให้จข่ายหนี้ที่จีเอ็มค้างอยู่ 10,000 ล้านดอลลาร์ ในรูปของหุ้นแทนที่จะเป็นเงินสด
“ความพยายามที่จะให้ผู้ถือหุ้นกู้, สหภาพแรงงาน, ดีลเลอร์ และเจ้าหนี้รายอื่น ๆให้เห็นด้วยกับแผนปรับโครงสร้างเป็นเรื่องยากมาก” บ๊อบ กอร์ดอน ผู้เชี่ยวชาญด้านการปรับโครงสร้างองค์กรธุรกิจแห่งคลาร์ค ฮิลล์ กล่าว
กรณีของไครสเลอร์ ซึ่งกลายเป็นการล้มละลายที่ใหญ่เป็นอันดับหกของสหรัฐฯไปแล้ว ถูกมองจากบรรดานักวิเคราะห์และเจ้าหน้าที่รัฐบาลว่าจะเป็นแนวทางตัวอย่างของจีเอ็ม
ไครสเลอร์ได้ยื่นต่อศาลขอเข้าสู่ภาวะล้มละลายเมื่อวันที่ 30 เมษายน และศาลก็อนุญาตให้บริษัทขายสินทรัพย์เกือบทั้งหมดออกมาให้แก่บริษัทที่ตั้งขึ้นใหม่ ซึ่งจะมีเฟียตแห่งอิตาลีเป็นผู้นำในการบริหารงาน อันเป็นการเปิดทางให้มีความเป็นไปได้ที่จะเดินหน้าเรื่องต่าง ๆ ให้เสร็จสิ้นภายในเวลาน้อยกว่า 60 วัน
จีเอ็มกล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่าอาจจะต้องเดินตามรอยของไครสเลอร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขายสินทรัพย์ที่ดีออกมาให้เร็วที่สุด แต่นักวิเคราะห์ก็มองกันว่าขั้นตอนของจีเอ็มน่าจะยากลำบากกว่าไครสเลอร์ เพราะขนาดของจีเอ็มใหญ่กว่าไครสเลอร์มาก รวมทั้งสถานการณ์ก็ซับซ้อนกว่ากันมากนัก
ล่าสุดเมื่อวันจันทร์ (18) ก็มีข่าวออกมาว่าจีเอ็ม, ผู้ถือหุ้น และสหภาพแรงงานก็ยังมีความเห็นไม่ลงรอยกันในเรื่องการปรับโครงสร้างบริษัทหลายอย่าง รวมทั้งการปิดโรงงาน 16 แห่งในสหรัฐฯด้วย ซึ่งยิ่งทำให้เห็นชัดเจนขึ้นว่าจีเอ็มอาจไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเข้าสู่ภาวะล้มละลายได้
กำลังโหลดความคิดเห็น