xs
xsm
sm
md
lg

แฉโครงสร้า้งราคาน้ำมันไทยแพง...รัฐฟันภาษี-กองทุนฯร่วมครึ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เปิดโครงสร้างราคาน้ำมันไทย ตอบปัญหาคาใจประชาชน ไม่ว่าน้ำมันตลาดโลกราคา 70 หรือ 140 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ทำไม? ราคาน้ำมันในไทยถึงแพงเท่ากัน! แฉชัดๆ มาจากรัฐกินนิ่มค่าภาษีและกองทุนน้ำมัน คิดเป็นสัดส่วนร่วม 50% ของราคาน้ำมันต่อลิตร เทียบกับปีที่แล้วที่น้ำมันดิบราคามากกว่า 110 เหรียญสหรัฐ ยังมีสัดส่วนแค่ 28% ทั้งที่สนพ.ระบุเงินจัดเก็บเข้ารัฐ อัตรามาตรฐานอยู่ที่ระดับ 30-35% เท่านั้น เผยเหตุรัฐบาลออกอาการถังแตก จนต้องปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตเป็น 7 บาทต่อลิตร แม้หลายฝ่ายจะออกมาค้าน เพราะปกติสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ รัฐบาลต้องช่วยลดภาระค่าครองชีพ แต่นี่กลับโยนภาระให้กับประชาชน แบกรับซะจนหน้าเขียว!


สร้างความกังขาไปทั่ว ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปัจจุบัน เคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 65-70 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล แต่ราคาน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศ กลับแทบจะไม่แตกต่างจากเมื่อช่วงกลางปีที่แล้ว ที่ราคาน้ำมันดิบพุ่งไปมากกว่า 120 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จนสูงสุดกว่า 140 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล…
มันเกิดอะไรขึ้น? ทั้งที่เฉพาะราคาเนื้อน้ำมันดิบบาร์เรลละ 65 เหรียญสหรัฐ ซึ่งจำนวน 1 บาร์เรล เท่ากับ 159 ลิตร ฉะนั้นเฉลี่ยราคาก็ตกลิตรละ 0.40 เหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นเงินไทยก็อยู่ที่ลิตรละ 13.90 บาท (อัตราแลกเปลี่ยนที่ 34 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ)

แล้วทำไม?...พอกลายเป็นน้ำมันเบนซิน 95 ถึงพุ่งเป็น 39 บาทไปได้!
หรือยกตัวอย่างรายงานสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงล่าสุด ของสำนักนโยบายแผนและพลังงาน(สนพ.) กระทรวงพลังงาน เมื่อวันที่ 13-19 ก.ค.ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ในตลาดจรสิงโปร์ 68.73 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ซึ่งหากคิดเป็นเงินไทยก็ประมาณ 14.70 บาทต่อลิตร แต่น้ำมันเบนซิน 95 ในไทยกลับพุ่งไป 38.64 บาท (20 ก.ค.2552)

จึงน่าสงสัยว่า... น้ำมันไทยมีค่าอะไรบ้าง? ที่บวกเข้าไปแล้ว จึงทำให้ราคาเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 2 เท่าตัว!!

ก่อนที่จะเจาะเข้าไปถึงสาเหตุที่ทำให้น้ำมันแพงมหาโหด มาทำความรู้จักโครงสร้างราคาน้ำมันของไทยก่อนดีกว่า...
จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(สพช.) โครงสร้างราคาน้ำมันของไทยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1.ราคาน้ำมันขายส่งหน้าโรงกลั่น และ 2.ราคาขายปลีก ซึ่งทั้งสองส่วนจะเกี่ยวข้อง และมีผลต่อราคาสุดท้าย ที่ผู้ใช้รถเติมจากปั๊มน้ำมันนั่นเอง

โดยราคาน้ำมันขายส่งหน้าโรงกลั่น จะประกอบไปด้วย ราคา ณ โรงกลั่น ที่หมายถึงต้นทุนในการซื้อน้ำมันดิบจากต่างประเทศ (เกือบทั้งหมดไทยนำเข้า) รวมค่าขนส่ง และค่ากระบวนการกลั่น บวกภาษีสรรพสามิต บวกภาษีเทศบาล บวกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง บวกกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และสุดท้ายภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) รวมกันออกมาเป็น… “ราคาขายส่ง ณ หน้าโรงกลั่น”
เมื่อโรงกลั่นขายต่อให้บริษัทน้ำมัน เป็นราคาขายส่ง ณ หน้าโรงกลั่น เพื่อจำหน่ายต่อให้กับประชาชนทั่วไป เรียกว่า... “ราคาขายปลีก”

แต่ก่อนที่จะมาเป็นราคาน้ำมันขายปลีก ย่อมต้องมีการบวกต้นทุนและกำไรต่างๆ เข้าไปอีก ประกอบไปด้วยราคาขายส่ง ณ หน้าโรงกลั่น และบวกค่าการตลาด ที่หมายถึงต้นทุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ หรือบริษัทน้ำมันยี่ห้อนั้นๆ เช่น ค่าจ้างแรงงาน ค่าขนส่งจากคลังน้ำมันไปยังสถานีบริการน้ำมัน ค่าสารปรับปรุงคุณภาพ ค่าส่งเสริมการตลาด และค่าผลตอบแทนในการดำเนินธุรกิจ เป็นต้น

สุดท้ายก็มาบวกภาษีมูลค่าเพิ่มซ้ำอีกรอบ จึงออกมาเป็น… “ราคาขายปลีก” (ดูตารางประกอบ) ที่จำหน่ายให้กับประชาชนผู้ใช้รถทั่วไป

ทั้งนี้สนพ. ได้สรุปโครงสร้างราคาน้ำมันของไทย แบ่งเป็นค่าต้นทุนในการซื้อน้ำมันจากโรงกลั่น หรือนำเข้าจากต่างประเทศ มีสัดส่วน 50-60% ค่าภาษีและกองทุนต่างๆ มีสัดส่วน 30-35% และค่าการตลาดจะอยู่ประมาณ 10%
มาถึงตรงนี้คงมีคำถามแล้วว่า... ในเมื่อโครงสร้างราคาน้ำมันก็ชัดเจน การขึ้น-ลงของน้ำมันก็น่าจะขึ้นอยู่กับราคาน้ำมันโลกเป็นหลัก แล้วอะไร? เป็นเหตุให้ราคาน้ำมันไทยถึงแพงเท่ากัน ไม่ว่าราคาน้ำมันโลกจะ 70 หรือ 140 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ราคาน้ำมันตลาดโลก ค่าการตลาด ภาษีสรรพสามิต และกองทุนน้ำมัน เป็นปัจจัยหลักของคำตอบ!

แน่นอนเรื่องราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก เราไม่สามารถกำหนดเองได้อยู่แล้ว แต่สิ่งที่เรากำหนดเองอย่างภาษีทั้งหลาย และกองทุนน้ำมัน นั่นแหละที่ดูจะมีบทบาทที่ทำให้ราคาน้ำมันไทยแพงหูฉี่อยู่ขณะนี้

ทีนี้มาดูราคาน้ำมันวันที่ 3 สิงหาคมที่ผ่านมา ราคาน้ำมันเบนซิน 95 อยู่ที่ 39.74 บาทต่อลิตร แต่จะพบว่าเงินที่เก็บเข้ารัฐในรูปแบบต่างๆ มีสัดส่วนมากถึง 45% (ดูตาราง 1 ประกอบ)
เป็นเงินภาษีสรรพสามิต 7 บาท ภาษีเทศบาล 0.70 บาท กองทุนน้ำมัน 7 บาท กองทุนอนุรักษ์ฯ 0.75 บาท ภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือแวต คิดซ้อนกัน 2 ครั้ง เป็นเงิน 2.60 บาท รวมแล้วมากถึง 18.0499 บาท!!

ยิ่งน้ำมันเบนซิน 91 เงินเก็บเข้ารัฐพุ่งถึง 48% ส่วนน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 และ 91 เก็บน้อยลงมาหน่อย เพราะเป็นพลังงานทดแทนที่รัฐสนับสนุนผ่านกองทุนน้ำมัน(เก็บน้อยลง หรือชดเชยแทนภาษีสรรพสามิต ส่งผลตัวเลขเงินจัดเก็บกองทุนน้ำมันบางรายการเป็น-) ทำให้สัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 36-37%

แต่ยังนับว่ามากกว่าสัดส่วน 30-35% ที่สนพ.ได้เเปิดเผยสัดส่วนค่าภาษีและกองทุนต่างๆ ที่มีสัดส่วน 30-35% เท่านั้น!!

อาจจะดูเป็นเรื่องไม่ผิดปกติ แต่เมื่อเทียบโครงสร้างราคาน้ำมันเบนซิน 95 ณ วันที่ 4 สิงหาคม 2551 อยู่ที่ 39.39 บาท (ดูตาราง 2 ประกอบ) ซึ่งเป็นช่วงที่ราคาน้ำมันดิบอยู่ที่กว่า 110 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล (ดูต้นทุนราคาหน้าโรงกลั่นจะเห็นความแตกต่างชัดเจน) กลับพบความแตกต่างชัดเจน เพราะมีสัดส่วนเงินเก็บเข้ารัฐเพียง 27.50%

และไม่ต้องไปดูน้ำมันแก๊สโซฮอล์ทั้งหลาย เงินเก็บเข้ารัฐเพียงแค่ 2-3 บาทต่อลิตรเท่านั้น เนื่องจากได้รับการลดหย่อนภาษีสรรพสามิต จากมาตรการช่วยเหลือประชาชน “6 มาตรการ 6 เดือน ช่วยเหลือประชาชน” ของรัฐบาลอดีตนายกฯ “สมัคร สุนทรเวช” นับตั้งแต่วันที่ 25 กรกฎาคม 2551 – 31 มกราคม 2552 ภายหลังราคาน้ำมันปรับตัวพุ่งสูงถึงกว่า 40 บาทต่อลิตร เมื่อกลางปีที่แล้ว

อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ให้เกิดความเสียเปรียบ ให้ดูสัดส่วนเงินเก็บเข้ารัฐจากน้ำมันเบนซิน 95 และ 91 เพราะไม่ได้อยู่ใน “6 มาตรการ 6 เดือน ช่วยเหลือประชาชน” และคงจะเห็นต้นตอราคาน้ำมันแพงได้อย่างชัดเจน

มาจากเงินที่รัฐจัดเก็บค่าภาษีและกองทุนน้ำมันจากผู้ค้าน้ำมันนั่นเอง!!
โดยจุดพลิกที่ทำให้น้ำมันในไทยปัจจุบันแพงผิดปกติ ย่อมมาจากการยกเลิกการลดหย่อนจัดเก็บภาษีสรรพสามิต จาก “6 มาตรการ 6 เดือน ช่วยเหลือประชาชน” ของรัฐบาลนายกฯ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2552 ที่ผ่านมา
และไม่เพียงเท่านั้น รัฐบาลโอบามาร์คยังลักไก่ปรับภาษีสรรพสามิต น้ำมันเบนซินทุกประเภทชนเพดานสูงสุด 5 บาทต่อลิตร จากเดิมเรียกเก็บอยู่ที่ 3.685/4.685 บาทต่อลิตร ส่วนน้ำมันดีเซลทุกประเภท เดิมจัดเก็บอยู่ที่ 2.1898/2.305 และ 2.405 บาทต่อลิตร ปรับขึ้นไปเป็น 2.190/3.305 และ4.00 บาทต่อลิตร ขณะที่ภาษีสรรพสามิตน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E10 ทุกประเภท และ E20 ปรับเพิ่มแบบปัดตัวเลขทศนิยม จาก 3.165 เป็น 3.317 บาทต่อลิตร

แต่นั่นยังไม่เท่าไหร่ หากเทียบกับการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมันระลอก 2 ภายหลังรัฐบาลออกอาการถังแตก!

ด้วยการออกพระราชกำหนดขยายเพดานจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมัน โดยเพิ่มจาก 5 บาทต่อลิตร เป็น 10 บาทต่อลิตร ซึ่งกระทรวงการคลังได้ออกประกาศกระทรวง เพื่อให้มีผลบังคับใช้เกี่ยวกับอัตราการจัดเก็บภาษีน้ำมันเพิ่มขึ้นจากเดิม 2 บาทต่อลิตร หรือเป็น 7 บาทต่อลิตร (ยังไม่เต็มเพดาน) และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เที่ยงคืนวันที่ 14 พฤษภาคม 2552 เป็นต้นไป...

ทั้งที่เรื่องนี้หลายฝ่ายต่างออกมาแย้งไม่เห็นด้วย เพราะในสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเช่นนี้ รัฐควรจะช่วยประชาชนลดภาระค่าครองชีพ และลดต้นทุนทางธุรกิจ เพื่อร่วมกันกระตุ้นเศรษฐกิจชาติให้ยืนอยู่ได้

แน่นอนว่าราคาน้ำมันปัจจุบัน จึงล้วนจัดเก็บตามอัตราภาษีสรรพสามิตใหม่ แม้แต่น้ำมันแก๊สโซฮอล์ก็ไม่แตกต่าง โดยได้รับการอุดหนุนจากกองทุนน้ำมันเพียงแค่ไม่กี่สตางค์เท่านั้น ยกเว้นน้ำมันแก๊สโซฮอล์ อี85

เหตุนี้จึงไม่แปลกที่สัดส่วนเงินเก็บเข้ารัฐ จะสูงถึง 36-48% ทั้งที่สนพ. เคยระบุว่าเงินค่าภาษีและกองทุนต่างๆ ที่รัฐเก็บจากผู้ค้าน้ำมันเพียงแค่ 30-35% ปัจจุบันมันจะพุ่งไปกว่า 36-48%

ฉะนั้นคำถามที่ว่า… ทำไม? ราคาน้ำมันไทยแพง ทั้งที่ราคาน้ำมันตลาดโลกต่ำกว่าเมื่อปีที่แล้ว คงจะได้คำตอบชัดเจนแล้ว… สาเหตุมาจากอะไร?! นอกจากการโยนให้บริษัทปตท., โรงกลั่น และราคาน้ำมันในตลาดโลก!!

ตาราง 1 : โครงสร้างราคาน้ำมัน ณ วันที่ 3 สิงหาคม 2552
ชนิดน้ำมันราคาหน้าโรงกลั่นภาษีสรรพสามิตภาษีเทศบาลกองทุนน้ำมันกองทุนอนุรักษ์ฯราคาขายส่งหน้าโรงกลั่นภาษีมูลค่าเพิ่มราคาขายส่งและภาษีฯค่าการตลาดภาษีมูลค่าเพิ่มราคาขายปลีก
เบนซิน 9517.112370.770.7532.56232.279434.84174.57790.320539.74
แก๊สโซฮอล์ 95 E1017.72366.30.632.270.2527.17361.902229.07581.36840.095830.54
แก๊สโซฮอล์ 95 E2018.24035.60.56-0.460.2524.19031.693325.88362.20220.154228.24
แก๊สโซฮอล์ 95 E8520.66331.050.105-7.130.2514.93831.045715.9845.54760.388321.92
เบนซิน 9116.691470.75.70.7530.84142.158933.0031.06510.074634.14
แก๊สโซฮอล์ 91 E1017.53846.30.631.670.2526.38841.847228.23561.4060.098429.74
ดีเซล16.6225.310.5311.70.7524.9131.743926.65691.33930.093828.09
ดีเซล B516.92015.040.504-0.230.2522.48411.573924.0581.15140.080625.29

หมายเหตุ : ที่มา - สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน
หน่วย = บาท/ลิตร
อัตราแลกเปลี่ยน = 34.1916 บาท/เหรียญสหรัฐ
ราคาเอทานอล = 21.29 บาท/ลิตร
ราคไบโอดีเซล (B100) = 26.36 บาท/ลิตร
อ้างอิงราคาขายปลีกน้ำมันของบริษัท ปตท.
อ้างอิงราคาขายปลีกน้ำมันเบนซิน 95ของปิโตรนาส

ตาราง 2 : โครงสร้างราคาน้ำมัน ณ วันที่ 4 สิงหาคม 2551
ชนิดน้ำมันราคาหน้าโรงกลั่นภาษีสรรพสามิตภาษีเทศบาลกองทุนน้ำมันฯกองทุนอนุรักษ์ราคาขายส่งหน้่าโรงงานภาษีมูลค่าเพิ่มราคาขายส่งและภาษีฯค่าการตลาดภาษีมูลค่้าเพิ่มราคาขายปลีก
เบนซิน 9526.16533.6850.36853.450.7534.41882.409336.82812.39430.167639.39
แก๊สโซฮอล์ 95 E1025.54030.01650.00170.250.2526.05851.824127.88262.43630.170630.49
แก๊สโซฮอล์ 95 E2024.82220.01650.0017-0.30.2524.79031.735326.52562.49010.174329.19
เบนซิน 9125.7463.6850.368530.7533.54952.348535.8981.95520.136937.99
แก๊สโซออล์ 91 E1025.35350.01650.0017-0.250.2525.37161.77627.14772.3760.166329.69
ดีเซล31.93540.0050.00050.10.2532.29092.260434.55122.69980.18937.44
ดีเซล B532.15990.08980.009-1.30.2531.20872.184633.39333.12780.218936.74

หมายเหตุ : ที่มา - สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน
หน่วย = บาท/ลิตร
อัตราแลกเปลี่ยน = 33.6592 บาท/เหรียญสหรัฐ
ราคาเอทานอล = 18.01 บาท/ลิตร
ราคไบโอดีเซล (B100) = 39.27 บาท/ลิตร
อ้างอิงราคาขายปลีกน้ำมันของบริษัท ปตท.
อ้างอิงราคาขายปลีกน้ำมันเบนซิน95 ของเชลล์
กำลังโหลดความคิดเห็น