xs
xsm
sm
md
lg

ส.ว.คว่ำพ.ร.ก.ภาษีน้ำมันสอนมวยรัฐแก้ศก.ผิดทาง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - วุฒิสภาคว่ำ พ.ร.ก.ขึ้นภาษีน้ำมัน ด้วยคะแนน 58 ต่อ 33 เสียง ระบุทำประชาชนเดือดร้อน สวนทางนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ข้องใจราคาน้ำมันสูงกว่าความจริง 70-80% "อภิสิทธิ์" เตรียมนำเข้าถกใน ครม.วันนี้ ประธานวิปรัฐบาลยันไม่มีปัญหา สภาผู้แทนฯ ลงมติยืนยันด้วยเสียงข้างมากได้ "รสนา" ปูดรัฐบาลเตรียมแปรรูปตลาดหลักทรัพย์ฯ หวังควบคุมทิศทางการเงินได้ทั้งหมด ส่วน พ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้าน วุฒิฯรุมยำ "คำนูณ" ชี้ค้านเพราะรัก ไม่อยากให้รัฐบาลนำงบประมาณไปใช้ในลักษณะมิชอบ ที่สำคัญจะเป็นการตั้งโต๊ะบุฟเฟ่ต์ให้รัฐบาลชุดใหม่มากินต่อ "กรณ์" ออกตัวพร้อมทบทวนหากราคาน้ำมันยังสูงต่อเนื่อง

ที่รัฐสภา วานนี้ (22 มิ.ย.) มีการประชุมวุฒิสภา โดยมีนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.พิกัดอัตราภาษีสรรสามิต พ.ศ.2527 (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2552 (พ.ร.ก.เพิ่มภาษีน้ำมัน)
พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว.สรรหา อภิปรายว่า ไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลขึ้นภาษีน้ำมัน เพราะส่งผลกระทบต่อประชาชน ขณะนี้น้ำมันในประเทศราคา 30 บาทต่อลิตร ทั้งที่ราคาที่ควรจะเป็นประมาณครึ่งหนึ่ง และเมื่อเปรียบเทียบกับราคาน้ำมันตลาดโลกเมื่อปีที่แล้วพุ่งสูงถึง 150 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ราคาบ้านเราอยู่ที่ลิตรละ 40 บาท แต่ในปีนี้ราคาตลาดโลก 70 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล แต่ราคาบ้านเรากลับสูงถึงลิตรละ 30 บาท ซึ่งสูงกว่าความเป็นจริง 70-80 %
ผมรู้ดีว่ารัฐบาลไม่มีเงินจึงออก พ.ร.ก.และ พ.ร.บ.กู้เงิน 8 แสนล้านบาท เพื่อปิดหีบงบประมาณ จึงอยากถามว่ารัฐบาลมีทางเลือกที่ดีกว่าการขึ้นภาษีน้ำมันหรือไม่ที่รัฐบาลบอกว่า ไม่กระทบต่อผู้บริโภคนั้นไม่จริง เพราะเมื่อตลาดโลกขึ้นราคา รัฐบาลก็ประกาศขึ้นราคาน้ำมันครั้งละ 60-80 ส.ต.ต่อลิตร ขึ้นเดือนละ 2-3 ครั้ง ประชาชนก็เสียเงินเพิ่มประมาณ 300 บาทต่อเดือน
นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า การขึ้นภาษีน้ำมันส่งผลกระทบต่อ ต้นทุนสินค้า โดยเฉพาะราคาสินค้าเกษตร ซึ่งประชาชนจะต้องแบกรับต้นทุนค่าขนส่ง ที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ราคาสินค้าการเกษตรตกต่ำ ทำให้เกษตรกรต้องได้รับผลกระทบ 2 เด้ง   
นอกจากนี้ยังทำให้การกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลได้รับผลกระทบโดยตรง รัฐบาลบอกว่า ราคาน้ำมันคือ ราคาน้ำมันดิบบวกค่าการตลาดบวกค่าภาษีสรรพามิต ภาษีมูลค่าเพิ่ม จนเป็นราคาขายหน้าปั๊ม ซึ่งราคานี้ไม่รวมกับค่าขนส่ง รัฐบาลบอกได้หรือไม่ว่า ราคาน้ำมันที่รวมกับค่าภาษีนั้นเพิ่มมากน้อยเพียงใด หรือเพิ่มกี่บาท และเงินที่รัฐบาลได้นั้นรัฐบาลได้นำไปใช้ประโยชน์อะไร ชี้แจงได้หรือไม่
น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กรุงเทพฯ กล่าวว่า การขึ้นภาษีน้ำมันเป็นเรื่องที่ ยอมรับไม่ได้ เพราะเป็นการรีดเงินในกระเป๋าประชาชน ทั้งๆที่รัฐบาลควรแก้ปัญหาราคาน้ำมันเพื่อให้ประชาชนได้ใช้น้ำมันราคาถูก ปัจจุบันราคาน้ำมันภายในประเทศอิงกับราคาสิงคโปร์ โดยราคาสิงคโปร์บวกกับค่าอะไรอีกหลายอย่าง จนออกมา เป็นราคาน้ำมัน หากรัฐบาลมีความรับผิดชอบรัฐบาลควรทบทวนราคาน้ำมันเสียใหม่ แต่รัฐบาลก็ไม่ตัดสินใจ เพราะบริษัทน้ำมันมีอิทธิพลต่อรัฐบาล ซึ่งในอดีตเคยมี รมว.พลังงาน ที่มีความคิดลดค่าการกลั่นหน้าโรงงาน 1 บาทต่อลิตร ซึ่งเท่ากับ 4 หมื่นล้านบาทซึ่งจะช่วยให้ระบบเศรษฐกิจดีขึ้น แต่ก็ไม่สามรถทนแรงกดดันได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาชิกหลายคนได้อภิปรายแสดงความไม่เห็นด้วย การขึ้นภาษีน้ำมันของรัฐบาล โดยส่วนใหญ่เห็นว่า รัฐบาลอยู่ในภาวะถังแตก จนต้องออกกฎหมายกู้เงิน 8 แสนล้านบาท เพื่อปิดหีบงบประมาณ แต่การขึ้นภาษีน้ำมันส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยรวม และเป็นการผลักภาระให้กับประชาชน ที่สำคัญไม่เป็นผลดีต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะน้ำมันคือ ต้นทุนการผลิต   

***อ้างน้ำมันแพงเพราะราคาตลาดโลก
น.พ.พฤฒิชัย ดำรงรัตน์ รมช.คลัง ชี้แจงว่า การขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชน และการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะ รัฐบาลใช้กองทุนน้ำมันเข้าไปแบกรับภาระในส่วนของภาษีที่เพิ่มขึ้น ทำให้ประชาชนไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่ม แต่ที่ประชาชนต้องจ่ายเงินเพิ่มมาจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้น ตามกลไก ตลาดที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น   
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจาก น.พ.พฤฒิชัย ชี้แจง พล.อ.เลิศรัตน์ ได้ลุกขึ้น อภิปรายอีกครั้งว่า ตนรับไม่ได้กับการชี้แจงของรัฐมนตรี หลายคนไม่รู้ว่า กองทุนน้ำมันคืออะไร มีหน้าที่อย่างไร ซึ่งกองทุนน้ำมันก็แบกภาระมากมากอยู่แล้วต้อง นำเงินใช้หนี้ ปตท. เป็นพันล้านบาท แม้ว่าราคาน้ำมันตลาดโลกจะลดลง แต่ราคาน้ำมันก็ไม่มีการปรับลดลง เพราะต้องเก็บเงินเข้ากองทุน
เมื่ออภิปราย ถึงตรงนี้ทำให้นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง ต้องขอชี้แจง โดยยืนยันว่า การปรับภาษี 2 บาทต่อลิตร ไม่มีผลกระทบต่อประชาชน เพราะเดิมนั้นกองทุนน้ำมันก็เก็บจากประชาชนอยู่แล้ว 2 บาท ซึ่งแทนที่จะเก็บเท่าเดิมกองทุน ก็ยกเลิกการเก็บ โดยขณะนี้กองทุนมีเงิน 2 หมื่นล้านบาท มีหนี้อยู่ 5 พันล้านบาท จึงมีเงินเหลืออยู่ 1.5 หมื่นล้านบาท สามารถที่จะแบกรับภาระภาษีน้ำมันแทนประชาชนได้เดือนละ 600 ล้านบาท ซึ่งจะสามารถรับภาระได้นานพอสมควร
อย่างไรก็ตาม ถือเป็นความโชคไม่ดีของรัฐบาลที่มีการปรับภาษีน้ำมัน ในขณะที่ราคาน้ำมันตลาดโลกก็ปรับตัวสูงขึ้นจาก 40 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล มาเป็น 70 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันภายในประเทศจึงได้ปรับตัวสูงขึ้นตามราคา ตลาดโลก ไม่ใช่เพราะสาเหตุการขึ้นภาษีน้ำมัน เพราะกองทุนได้แบกรับภาระไว้
นายกรณ์ กล่าวว่า หากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นมากกว่านี้ รัฐบาลอาจมีการทบทวนมาตราการช่วยเหลือประชาชน 6 มาตรการ  6 เดือน ฝ่าวิกฤตเพื่อคนไทยทุกคน ในเรื่องของการลดภาษีอัตราน้ำมันนำกลับมาใช้อีกครั้ง เพื่อช่วยเหลือประชาชน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  หลังจากที่ประชุมใช้เวลาเกือบ 2 ชั่วโมง ในที่สุดที่ประชุมวุฒิสภาได้มีมติไม่เห็นชอบ พ.ร.กแก้ไขเพิ่มเติมร่าง พ.ร.ก.พิกัดอัตราภาษี สรรพสามิต พ.ศ.2527 (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2552 ด้วยคะแนน 58 ต่อ 33 เสียง งดออกเสียง 10 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง

***นายกฯเตรียมนำถก ครม.วันนี้
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ที่สิงคโปร์หลังทราบข่าว วุฒิสภาไม่อนุมัติ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2552 ว่า วันนี้ (23 มิ.ย.) จะนำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณา ของ ครม. แต่จะขอรอดูผลการประชุมวุฒิสภาในให้ครบถ้วนทุกส่วนก่อน แล้วจะไปคุยกันใน ครม.
ผู้สื่อข่าวถามว่าวิตกหรือไม่ว่าอาจจะส่งผลกระทบไปยัง พ.ร.ก. และ ร่าง พ.ร.บ. กู้เงิน 8 แสนล้านบาท นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เป็นสิทธิ์ของวุฒิสภาในการตัดสินใจ แต่รัฐบาลต้องมาดูผลกระทบและทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์มากที่สุดที่จะทำให้การฟื้นฟูเศรษฐกิจเดินหน้าไปให้ได

***ปธ.วุฒิฯปัดตบหน้ารัฐบาล
นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ว่าเมื่อ ส.ว.โหวตไม่ผ่าน พ.ร.ก.เพิ่มภาษีสรรพสามิต ขั้นตอนต่อไป สภาผู้แทนฯ ก็ต้องไปยกมือพิจารณากันใหม่ หากได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งก็ใช้ได้เลย ไม่ต้องนำกลับมาผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภาอีก
อย่างไรก็ตามการที่วุฒิสภาไม่ผ่านพ.ร.ก.ดังกล่าวคงไม่ใช่การตบหน้ารัฐบาล แต่เป็นเรื่องของความคิดเห็นที่แตกต่าง ทางวุฒิฯเห็นว่าการขึ้นภาษีน้ำมันกระทบต่อเศรษฐกิจจึงไม่อนุมัติให้เท่านั้นเอง ส่วนจะลดความชอบธรรมในการเร่งรีบพลักดันเป็น พ.ร.ก.ของรัฐบาลหรือไม่นั้น ตนเห็นว่าไม่เชิงอย่างนั้น แต่ถือว่ามองต่างมุมกันรัฐบาลก็อยากช่วยเศรษฐกิจของชาติแต่เขาไปทางหนึ่งแต่เราเห็นว่ามันควรจะไปอีกทางหนึ่ง
ผู้สื่อข่าวถามว่ากฎหมายสำคัญของรัฐบาลไม่ผ่านจะส่งผลต่อการทำงานของรัฐบาลหรือไม่ นายประสพสุข กล่าวว่า ไม่หรอก ทางวุฒิสภาเป็นเพียงผู้ตรวจสอบเท่านั้น เราไม่เห็นด้วยกับแนวทางรัฐบาล เดี๋ยวต้องดู พ.ร.ก.เงินกู้ 4 แสนล้านบาท ที่จะพิจารณาว่าจะเป็นอย่างไร 

***ปูดเตรียมแปรรูปตลาดหลักทรัพย์
น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม.ให้สัมภาษณ์ว่า การที่ ส.ว.ตีกลับจะเป็นการประจานรัฐบาลและส่งสัญญาณให้ทบทวนว่าแก้ไขปัญหาไม่ถูกจุด แม้จะทราบว่า หากร่างนี้กลับเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรอีกครั้งจะได้รับการโหวตให้ผ่าน เพราะเชื่อว่า เป็นสภาตรายางอยู่แล้ว แต่ก็อยากให้ส.ส.ทบทวนก่อนที่จะยกมือโหวตโยนภาระให้ประชาชน เพราะทราบมาว่าตอนนี้เริ่มมีกระบวนการเตรียมแปรรูปตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศที่จะส่งผลให้รัฐบาลควบคุมทิศทางการเงินได้ทั้งหมด ซึ่งรัฐบาล ก่อนหน้านี้ก็มีความพยายามแทรกแซงธนาคารแห่งประเทศ โดยนำคนของตัวเองไปนั่งเป็นประธานบอร์ด(ประธานคณะกรรมการ) แต่ก็ไม่ผ่าน ถ้าหากเรายอมครั้งนี้จะมีการยอมอีกหลายเรื่อง ถ้าเราเปิดให้มีการแทรกแซงโดยฝ่ายบริหาร ต่อไปถ้าภาคการเมืองล้มก็จะล้มทั้งระบบ

***ปธ.วิปรัฐบาลยันไม่กระเทือนรัฐบาล
นายชินวรณ์ บุญยเกียรติ ประธาน วิปรัฐบาล กล่าวว่าการที่วุฒิฯ คว่ำ พ.ร.ก.ขึ้นภาษีน้ำมันเป็นสิทธิของแต่ละสภา ซึ่งก็ต้องเคารพความเห็น แต่ ในมาตรา 184 ระบุว่าหากวุฒิสภาไม่อนุมัติสภาผู้แทนราษฎร์สามารถยืนยันอนุมัติด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสภาผู้แทนราษฎร แต่อย่างไรก็ตาม พ.ร.ก.ฉบับดังกล่าวก็มีผลบังคับใช้ไปแล้ว ตามอำนาจของรัฐบาล จึงไม่มีผลอะไร ดังนั้นครม.สามารถนำพ.ร.บ.ดังกล่าวมายืนยันในสมัยการประชุมสภานิติบัญญัติได้ แต่ถ้ารัฐบาลเห็นว่าเป็นเรื่องเร่งด่วน จำเป็นก็สามารถขอเปิดประชุมสมัยวิสามัญได้ โดยส่วนตัวเห็นว่าพ.ร.ก.ดังกล่าว เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย และมีผลโดยตรงต่อการขึ้นภาษีน้ำมัน ซึ่งจะทำให้ประชาชนลดน้ำมันและใช้จ่ายฟุ่มเฟือย
คงไม่ใช่เรื่องเสียหน้าของรัฐบาล และสภาฯก็สามารถใช้เสียงข้างมากยืนยันกฎหมายได้ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของฝ่ายบริหาร แต่เป็นภาระของสภา และหากสภาฯ ไม่ยืนยันพ.ร.ก.ดังกล่าวถือว่าไม่มีผล เพราะฝ่าบริหารได้ประกาศใช้เป็นพ.ร.ก.ไปแล้ว
ส่วนเรื่อง พ.ร.ก.และร่างพ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจนั้น นายชินวรณ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ครม. ต้องทำความเข้าใจกับวุฒิสภา และเชื่อว่าจะสามารถทำความเข้าใจกับวุฒิสภาได้ และร่างพ.ร.บ.ดังกล่าววุฒิสภาก็สามารถตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาได้ จึงเชื่อว่า ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร และคิดว่าวุฒิสภาจะให้ความร่วมมือผ่านทั้งสองฉบับ
ผู้สื่อข่าวถามว่ารัฐบาลได้ประเมินหรือไม่หากไม่รีบนำพ.ร.ก.สรรพสามิต นำเข้าสภาฯ อาจจะกระทบต่อเสถียรภาพ เพราะกกต.ได้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูวินิจฉัยการถือหุ้นสัปทานของรัฐของส.ส.และส.ว.นายชินวรณ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องแยก เป็นสองส่วน หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการถือหุ้นขัดรัฐธรรมนูญและเพิกถอนสิทธิ์ก็เป็นเรื่องของแต่ละพรรคที่ต้องเตรียมการเลือกตั้ง ส่วนการยืนยัน พ.ร.ก.ดังกล่าวก็ใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของเสียงส.ส.เท่าที่มีอยู่ ไม่ใช่เสียงของส..ส.ทั้งหมด จึงเชื่อว่าจะไม่มีผลกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาล

***คำนูณค้าน พ.ร.ก.กู้เงินเพราะรัก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังวุฒิสภา คว่ำ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.พิกัดอัตราภาษีสรรสามิต พ.ศ.2527 (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2552 (พ.ร.ก.เพิ่มภาษีน้ำมัน) แล้ว ที่ประชุมพิจารณา พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ (พ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้านบาท)
โดยนายคำนูณ สิทธิสนาม ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ตนคัดค้าน พ.ร.ก.และ ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน รวม 8 แสนล้านบาท เพราะความรักและความเป็นห่วงรัฐบาลไม่อยากให้ใช้เงินงบประมาณลักษณะนี้ไปโดยมิชอบ และเพื่อต้องการรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญเอาไว้
นายคำนูณกล่าวว่า ที่ตนไม่เห็นด้วยเพราะการที่รัฐบาลกำหนดตัวเลข การลงทุนไว้ในโครงการไทยเข้มแข็ง 1.5 ล้านลานบาทตลอด 3 ปี เฉลี่ยปีละ 2 แสนล้านบาทไม่มั่นใจว่าภาครัฐจะมีศักยภาพในการเบิกจ่ายได้จริง
ผมได้ไปตรวจสอบผ่านทางศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศกระทรวงการคลัง ณ วันที่ 15 มิ.ย.พบว่างบลงทุนที่อยู่ในงบประมาณประจำปี 2552 จำนวน 2.1 แสน ล้านบาทมีการเบิกจ่ายจริงเพียง 6.5 หมื่นล้านบาทเท่านั้น หรือ คิดเป็น 30.79% ทั้งๆ ที่ปีงบประมาณจะสิ้นสุดในเดือนก.ย.นี้ ถ้าเป็นแบบนี้หากมีการอนุมัติในโครงการ ไทยเข้มแข็งรัฐบาลจะกำชับให้มีการเบิกจ่ายอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดความโปร่งใส ได้อย่างไรเพราะโครงการไทยเข้มแข็งผูกพันประเทศไทยถึงปี2555

***ชี้รัฐบาลส่อพิรุธใช้เงินไม่โปร่งใส
นายคำนูณ กล่าวว่า ที่รัฐบาลบอกว่ามีความจำเป็เร่งด่วนต้องใช้เงินลงทุน 6 พันโครงการ จึงต้องหลีกเลี่ยงกระบวนการตามงบประมาณปกติ ซึ่งตนก็มองว่าไม่ผิด เพราะรัฐบาลต้องการรักษาวินัยการเงินการคลังไวแต่การที่รัฐบาลตัดลดงบลงทุน ในพ..ร.บ.งบประมาณประจำปี 2553 แต่มาใช้งบลงทุนนอกระบบงบประมาณจำนวน 8 แสนล้านบาทเวลา 3 ปี อาจจะเกิดการรั่วไหลได้
รัฐบาลอาศัยสถานการณ์พิเศษเพื่อขอกู้เงินโดยใช้ระบบนอกงบประมาณ ขณะที่เงินในระบบงบประมาณมีระบบการตรวจสอบมากพอสมควรทำให้เกิดการฉ้อฉลยาก ซึ่งตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมารัฐบาลเองได้แสดงพิรุธอีกหลายประการ เช่น เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. ก่อนการประชุมสภาฯ ครม.ได้มีการอนุมัติวงเงินเพิ่มเติมอีก 4.9 พันล้านบาท ให้กับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และ กระทรวงมหาดไทย แม้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี จะชี้แจงว่าไม่ได้เป็นให้งบประมาณเพื่อแลกกับการโหวตของ ส.ส.แต่สังคมก็ได้เชื่อไปอย่างนั้นแล้ว ตามมาด้วยข่าวลือ เกี่ยวกับ ส.ส.ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านได้มีการหารือกับนายกฯเกี่ยวกับการของบประมาณ ข่าวที่ออกมาลักษณะนี้รัฐบาลจะให้ความมั่นใจได้อย่างไรว่าจะใช้งบประมาณไม่ให้เกิดการรั่วไหล

***หวั่นตั้งบุฟเฟต์ให้รัฐบาลชุดต่อไปกิน
นายคำนูณ กล่าวว่า ตนรักและเชื่อมั่นนายกฯ และ รมว.คลังคนนี้ แต่ไม่เชื่อว่า ในอนาคตท่านนายกฯจะได้กลับมาเป็นนายกฯอีกหรือไม่ หากมีการเปลี่ยนแปลง ทางการเมือง เพราะระเบียบเกี่ยวกับการใช้งบประมาณที่รัฐบาลบอกว่าจะใช้เพื่อควบคุมการใช้งบประมาณ เอาเข้าจริงเมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาลก็สามารถ แก้ไขได้เพียงแค่การใช้มติ ครม.เท่านั้น เพราะอย่าลืมระเบียบการใช้งบประมาณดังกล่าวไม่ได้ตราขึ้นเป็นพ.ร.บ.ที่ต้องผ่านสภา ถ้าเป็นแบบนี้จะให้เข้าใจใช่หรือไม่ว่ารัฐบาลชุดนี้กำลังตั้งโต๊ะบุฟเฟ่ต์ให้รัฐบาลชุดต่อไปมากินต่อ ตนไม่อยากให้เป็นอย่างนั้น
นายคำนูน กล่าวว่าเหตุผลสำคัญที่ทำให้ไม่สามารถลงมติเห็นด้วยกับ พ.ร.ก.กู้เงินครั้งนี้คือ มาตรา 4 ในพ.ร.ก.กู้เงิน ที่ระบุว่าเงินที่ได้จากการกู้ให้นำไป ใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์โดยไม่ต้องนำส่งคลังตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง เว้นแต่ ครม.จะมีมติสมทบเป็นเงินคงคลัง เพราะจะเป็นช่องทางให้การเกิดการทุจริตได้และรัฐบาลเห็นระบบสภาเป็นเพียง พิธีกรรมเท่านั้น ดังนั้น จึงขอใช้สิทธิไม่ให้ความเห็นชอบเพื่อรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญในการตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดิน

***ตรา กม.กู้เงินสัญญาณให้นักลงทุน
ด้านนายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง ชี้แจงว่า สาเหตุที่รัฐบาลต้องกำหนดตัวเลข 1.5 ล้านล้านบาท และ มีระยะเวลาผูกพันไปถึงปี2554 เพราะรัฐบาลต้องการส่งสัญญาณให้นักลงทุนเห็นว่ารัฐบาลเน้นการลงทุนเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ทั้งนี้ถ้ารัฐบาลจะไม่เลือกใช้วิธีการตรากฎหมายกู้เงินก็ทำได้โดยใช้การแก้ไขพ.ร.บ. วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2502 และ พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะพ.ศ.2548 เพื่อเปิดโอกาสให้รัฐบาลสามารถกู้เงินได้
แต่เราไม่ทำเพราะถ้าทำแบบนั้นจะเป็นการส่งสัญญาณในทางลบที่เป็นการสะท้อนถึงการไม่รักษาวินัยทางการเงินการคลังของรัฐบาล แต่การตรากฎหมายกู้เงินทั้ง 2 ฉบับเป็นการเพียงการเปิดโอกาสให้รัฐบาลมีกฎหมายที่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตามการอภิปรายของ ส.ว.ส่วนใหญ่ยังคงเน้นห่วงเรื่องการทุจริตในการใช้งบประมาณใน พ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้านบาท และไม่สามารถตรวจสอบได้.
กำลังโหลดความคิดเห็น