xs
xsm
sm
md
lg

มติวุฒิสภา 58 ต่อ 33 คว่ำ พ.ร.ก.ขึ้นภาษีสรรพาสามิตน้ำมัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประสพสุข พลเดช ประธานวุฒิสภา
ที่ประชุมวุฒิสภาถก พ.ร.บ.อัตราภาษีสรรพสามิต ส.ว.ติง พ.ร.บ.ภาษีน้ำมัน เพิ่มภาระให้กับประชาชน เคาะมติคว่ำร่าง 58 ต่อ 33 ขณะที่ “ประสพสุข” ปัดตอกหน้ารัฐบาล ชี้ วุฒิฯแค่ไม่เห็นด้วยกับแนวคิด ยันไม่ตั้งแง่ขู่ถึง พ.ร.ก.กู้เงิน ชี้เห็นแนวทางอื่นดีกว่า

วันนี้ (22 มิ.ย.) ที่รัฐสภา มีการประชุมวุฒิสภา มี นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธาน โดยที่ประชุมได้พิจารณาร่าง พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2552 โดย พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนาวานิช ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลขั้นภาษีน้ำมัน เพราะส่งผลกระทบต่อประชาชน ขณะนี้ราคาน้ำมันในประเทศประมาณ 30 บาทต่อลิตร ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงราคาที่ควรจะเป็นคือประมาณครึ่งหนึ่ง และเมื่อเปรียบเทียบราคาน้ำมันตลาดโลกเมื่อปีที่แล้วพุ่งสูงขึ้นถึง 150 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันในบ้านเราประมาณ 40 บาทต่อลิตร แต่ในปีนี้ราคาน้ำมันตลาดโลก 70 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล แต่ราคาน้ำมันบ้านเรากลับสูงถึงลิตรละ 30 บาท ซึ่งสูงกว่าความเป็นจริงถึง 70-80% ตนรู้ดีว่า รัฐบาลไม่เงิน รัฐบาลจึงออก พ.ร.ก.และ พ.ร.บ.กู้เงิน 8 แสนล้านบาท เพื่อปิดหีบงบประมาณ อยากถามว่า รัฐบาลมีทางเลือกที่ดีกว่าการขึ้นภาษีน้ำมันหรือไม่ และที่รัฐบาลบอกว่า ไม่กระทบต่อผู้บริโภคนั้นไม่จริง เพราะการขึ้นราคาตลาดโลกขึ้น รัฐบาลก็ประกาศขึ้นราคาน้ำมันครั้งละ 60-80 ส.ต.ต่อลิตร ขึ้นเดือนละ 2-3 ครั้ง ประชาชนก็เสียเงินเพิ่มประมาณ 300 บาทต่อเดือน

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า การขึ้นภาษีน้ำมันส่งผลกระทบต่อต้นทุนสินค้า โดยเฉพาะราคาสินค้าเกษตร ซึ่งประชาชนจะต้องแบกรับต้นทุนค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ราคาสินค้าการเกษตรตกต่ำ ทำให้เกษตรกรต้องได้รับผลกระทบ 2 เด้ง นอกจากนี้ ยังทำให้การกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลได้รับผลกระทบโดยตรง รัฐบาลบอกว่า ราคาน้ำมันคือ ราคาน้ำมันดิบบวกค่าการตลาดบวกค่าภาษีสรรพามิต ภาษีมูลค่าเพิ่ม จนเป็นราคาขายหน้าปั๊ม ซึ่งราคานี้ไม่รวมกับค่าขนส่ง รัฐบาลบอกได้หรือไม่ว่า ราคาน้ำมันที่รวมกับค่าภาษีนั้นเพิ่มมากน้อยเพียงใด หรือเพิ่มกี่บาท และเงินที่รัฐบาลได้นั้นรัฐบาลได้นำไปใช้ประโยชน์อะไร ชี้แจงได้หรือไม่

นายอนุรักษ์ นิยมเวช ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการขึ้นภาษีน้ำมัน เพราะการขึ้นภาษีเป็นปัจจัยพื้นฐานเพื่อการผลิตในอุตสาหกรรม ซึ่งผิดหลักการ ตนสงสัยว่า ทำไมรัฐบาลไม่มุ่งเน้นหารายได้ในลักษณะอื่นมากว่าการเก็บภาษีน้ำมัน ทั้งเรื่องการส่งออก การท่องเที่ยว หรือเป็นเพราะการเก็บภาษีน้ำมันเป็นวิธีการที่ง่ายกว่าการหาเงินแบบอื่น การเน้นเรื่องการเก็บภาษีไม่ได้ช่วยรัฐบาล แต่เป็นการกระตุกไม่ให้เศรษฐกิจของประเทศพื้นตัวเพราะเป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิต

น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กรุงเทพฯ กล่าวว่า การขึ้นภาษีน้ำมันเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ เพราะเป็นการรีดเงินในกระเป๋าประชาชน ทั้งๆ ที่รัฐบาลควรแก้ปัญหาราคาน้ำมันเพื่อให้ประชาชนได้ใช้น้ำมันราคาถูก ปัจจุบันราคาน้ำมันภายในประเทศอิงกับราคาสิงคโปร์ โดยราคาสิงคโปร์บวกกับค่าอะไรอีกหลายค่า จนออกมาเป็นราคาน้ำมัน หากรัฐบาลมีความรับผิดชอบรัฐบาลควรทบทวนราคาน้ำมันเสียใหม่ แต่รัฐบาลก็ไม่ตัดสินใจ เพราะบริษัทน้ำมันมีอิทธิพลต่อรัฐบาล ซึ่งในอดีตเคยมี รมว.พลังงาน ที่มีความคิดลดค่าการกลั่นหน้าโรงงาน 1 บาทต่อลิตร ซึ่งเท่ากับ 4 หมื่นล้านบาทซึ่งจะช่วยให้ระบบเศรษฐกิจดีขึ้น แต่ก็ไม่สามรถทนแรงกดดันได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาชิกหลายคนได้อภิปรายแสดงความไม่เห็นด้วยการขึ้นภาษีน้ำมันของรัฐบาล โดยส่วนใหญ่เห็นว่า รัฐบาลอยู่ในภาวะถังแตก จนต้องออกกฎหมายกู้เงิน 8 แสนล้านบาท เพื่อปิดหีบงบประมาณ แต่การขึ้นภาษีน้ำมันส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยรวม และเป็นการผลักภาระให้กับประชาชน ที่สำคัญไม่เป็นผลดีต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะน้ำมันคือ ต้นทุนการผลิต

นพ.พฤฒิชัย ดำรงรัตน์ รมช.คลัง ชี้แจงว่า การขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชน และการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะรัฐบาลใช้กองทุนน้ำมันเข้าไปแบกรับภาระในส่วนของภาษีที่เพิ่มขึ้น ทำให้ประชาชนไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่ม แต่ที่ประชาชนต้องจ่ายเงินเพิ่มมาจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้น ตามกลไกตลาดที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจาก นพ.พฤฒิชัย ชี้แจง พล.อ.เลิศรัตน์ ได้ลุกขึ้นอภิปรายอีกครั้ง ว่า ตนรับไม่ได้กับการชี้แจงของรัฐมนตรี เหลายคนไม่รู้ว่า กองทุนน้ำมันคืออะไร มีหน้าที่อย่างไร ซึ่งกองทุนน้ำมันก็แบกภาระมากมากอยู่ต้อง ไม่ว่าการนำเงินใช้หนี้ ปตท.เป็นพันล้านบาท แม้ว่าราคาน้ำมันตลาดโลกจะลดลง แต่ราคาน้ำมันก็ไม่มีการปรับลดลง เพราะต้องเก็บเงินเข้ากองทุน เมื่ออภิปรายถึงตรงนี้ทำให้ นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง ต้องขอชี้แจง โดยนายกรณ์ กล่าวว่า ยืนยันว่า การปรับภาษี 2 บาทต่อลิตร ไม่มีผลกระทบต่อประชาชน เพราะเดิมนั้นกองทุนน้ำมันก็เก็บจากประชาชนอยู่แล้ว 2 บาท ซึ่งแทนที่จะเก็บเท่าเดิมกองทุนก็ยกเลิกการเก็บ โดยขณะนี้กองทุนมีเงิน 2 หมื่นล้านบาท มีหนี้อยู่ 5 พันล้านบาท จึงมีเงินเหลืออยู่ 1.5 หมื่นล้านบาท จึงสามารถที่จะแบกรับภาระภาษีน้ำมันแทนประชาชนได้เดือนละ 600 ล้านบาท ซึ่งจะสามารถรับภาระได้นานพอสมควร อย่างไรก็ตาม ถือเป็นความโชคไม่ดีของรัฐบาลที่มีการปรับภาษีน้ำมัน ในขณะที่ราคาน้ำมันตลาดโลกก็ปรับตัวสูงขึ้นจาก 40 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล มาเป็น 70 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันภายในประเทศจึงได้ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาตลาดโลก ไม่ใช่เพราะสาเหตุการขึ้นภาษีน้ำมัน เพราะกองทุนได้แบกรับภาระไว้

นายกรณ์ กล่าวว่า หากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นมากกว่านี้ รัฐบาลอาจมีการทบทวนมาตรา ช่วยเหลือประชาชน “6 มาตรการ 6 เดือน ฝ่าวิกฤตเพื่อคนไทยทุกคน” ในเรื่องของการลดภาษีอัตราน้ำมันนำกลับมาใช้อีกครั้ง เพื่อช่วยเหลือประชาชน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่ประชุมใช้เวลาเกือบ 2 ชั่วโมง ในที่สุดที่ประชุมวุฒิสภาได้มีมติไม่เห็นชอบ พ.ร.กแก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2552 ด้วยคะแนน 58 ต่อ 33 เสียง งดออกเสียง 10 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง

ด้าน นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ภายหลัง ส.ว.โหวตไม่อนุมัติผ่าน พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต ว่า ขั้นตอนต่อไปสภา ก็ต้องไปยกมือพิจารณากันใหม่ หากได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งก็ใช้ได้ ไม่ต้องผ่านความเห็นของวุฒิสภา

ผู้สื่อข่าวถามว่าถือว่า เป็นการตอบหน้ารัฐบาลหรือไม่ ประธานวุฒิสภา กล่าวว่า คงไม่ใช่เป็นความเห็นที่แตกต่าง ทางวุฒิฯเห็นว่าขึ้นภาษีน้ำมันก็ไม่กระทบกระเทือนต่อเศรษฐกิจ วุฒิสภาฯก็ไม่อนุมัติเท่านั้นเอง เมื่อถามว่า ลดความชอบธรรมในการรีบผลักดัน พ.ร.ก.ของรัฐบาลหรือไม่ นายประสพสุข กล่าวว่า ก็ไม่เชิงถือมองต่างมุมกันรัฐบาลก็อยากช่วยเศรษฐกิจของชาติแต่เขาไปทางหนึ่ง แต่เราเห็นว่ามันควรจะไปอีกทางหนึ่งไม่ใช่ เพราะต่างฝ่ายต่างมีเหตุผลซึ่งกันและกัน

ต่อข้อถามว่า กฎหมายสำคัญของรัฐบาลไม่ผ่านจะส่งผลต่อการทำงานของรัฐบาลหรือไม่ นายประสพสุข กล่าวว่า ไม่หรอก ทางวุฒิสภาเป็นเพียงผู้ตรวจสอบเท่านั้น เราไม่เห็นด้วยกับทางรัฐบาล เดี๋ยวต้องดู พ.ร.ก.เงินกู้ 4 แสนล้านบาท ที่จะพิจารณาในคืนนี้อีก ว่าจะเป็นอย่างไร

เมื่อถามว่า เป็นการแสดงบทบาทให้เห็นว่าต่อไปเป็นบทบาทของวุฒิสภาหรือไม่ ประธานวุฒิสภา กล่าวว่า ไม่เชิงก็มองให้เห็นว่าวุฒิสภาก็พินิจวิเคราะห์ทุกอย่าง มองเห็นประโยชน์ของประเทศชาติประชาชน มองเห็นคนละอย่างกันได้อย่าไปคิดอะไรมาก
กำลังโหลดความคิดเห็น