xs
xsm
sm
md
lg

ประชันสุดยอดเครื่องยนต์โลก...ค่ายเยอรมนีผงาด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กลับมาอีกครั้งสำหรับงานดังที่เปรียบเสมือนเวทีออสการ์สำหรับคนทำเครื่องยนต์ โดย International Engine of the Year กลับมาพร้อมกับความยิ่งใหญ่ของเครื่องยนต์จากค่ายโฟล์คสวาเกน เมื่อขุมพลัง ‘เม็ดเล็ก แต่รสโต’ อย่างรหัส TSI ซึ่งเป็นเครื่องยนต์ 4 สูบ 1,400 ซีซีแต่สามารถรีดกำลังออกมาได้ตั้งแต่ 140-180 แรงม้า ด้วยระบบอัดกาศแบบ TWIN Charger กลายเป็นผู้ชนะเลิศคว้ารางวัลใหญ่ในปีนี้ไปครองไปอย่างพลิกความคาดหมาย ด้วยการเชือดเครื่องยนต์เบนซินเทอร์โบคู่ของค่ายบีเอ็มดับเบิลยูไปแบบฉิวเฉียด

นอกจากนั้น ในปีนี้ยังถือเป็นความสำเร็จของผู้ผลิตรถยนต์เยอรมนี เพราะนอกจากโฟล์คสวาเกนและเมอร์เซเดส-เบนซ์แล้ว บรรดาแบรนด์ดังๆ ของแดนไส้กรอกทั้งออดี้, บีเอ็มดับเบิลยู และพอร์ชต่างพาเหรดกันเข้ามายึดครองถ้วยรางวัล เรียกว่าครองรางวัล 10 จาก 11 สาขาหลักกันเลยทีเดียว

รู้จักงาน International Engine of the Year Awards

ถือเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องแนะนำงานแจกรางวัลรายการนี้กันก่อน แม้ว่าในทุกปีที่ ASTV ผู้จัดการ มอเตอร์ริ่ง นำเสนอความเคลื่อนไหวของงานนี้จะต้องมีส่วนที่พูดถึงเรื่องนี้ เพราะแม้ตัวงานจะมีการจัดมาเกือบๆ จะ 10 ปีแล้ว แต่ชื่อของ International Engine of the Year Awards ก็ยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายและเป็นวงกว้างเหมือนกับการแจกรางวัลให้กับรถยนต์ยอดเยี่ยมประจำปีในแต่ละภูมิภาค

รางวัลนี้จัดขึ้นโดยสำนักพิมพ์ Media & Events ในอังกฤษ ซึ่งที่นี่พิมพ์นิตยสารเกี่ยวกับวิศวกรรมยานยนต์ เช่น Automotive Testing Technology International, Tire Technology International, Electric & Hybrid Vehicle Technology International, Vehicle Dynamics International, Professional Motorsport World และ European Automotive Components News

คณะกรรมการที่เป็นสื่อมวลชนจากทั่วโลกมาให้คะแนนเพื่อเฟ้นหาเครื่องยนต์ยอดเยี่ยมแห่งปี และรูปแบบของการให้คะแนนก็ยังเหมือนกับหลายปีที่ผ่านมา คือ กรรมการแต่ละคนจะมีคะแนนคนละ 25 คะแนนเพื่อแบ่งมอบให้กับเครื่องยนต์ 5 บล็อกในแต่ละสาขาที่ตัวเองชอบ คะแนนที่กรรมการ 1 คนจะให้กับเครื่องยนต์สูงสุดไม่เกิน 15 คะแนน และต่ำสุด 1 คะแนน รวมถึงห้ามไม่ให้คะแนนเท่ากัน
ส่วนการคัดเลือกเครื่องยนต์ที่เข้ารอบนั้น จะพิจารณาจากการทำตลาดที่จะต้องมีมากกว่า 1 ประเทศ ส่วนเรื่องที่ว่าจะขายมานานแค่ไหนไม่อยู่ในข้อจำกัด ยกเว้นรางวัลเครื่องยนต์ใหม่แห่งปี หรือ New Engine of the Year ซึ่งจะต้องอยู่ในรถยนต์ที่ถูกเปิดตัวระหว่างวันที่ 7พฤษภาคม 2008-17 มิถุนายน 2009

สำหรับในปีนี้มีการแจกรางวัล 11 สาขาย่อย และอีก 1 รางวัลซึ่งเป็นการนำผู้ชนะในแต่ละสาขามาให้คณะกรรมการร่วมโหวตอีกครั้งเพื่อเลือกสุดยอดเครื่องยนต์แห่งปี หรือ International Engine of the Year

เบนซ์กับความสำเร็จครั้งใหม่ในปีนี้

หลังเฉียดไปเฉียดมาหลายครั้ง ในที่สุด เมอร์เซเดส-เบนซ์ก็ผงาดครองความยิ่งใหญ่ในการจัดงานปีนี้ ด้วยการกวาดรางวัลไปถึง 3 ตัวจาก 11 รางวัลหลักที่แจกในปีนี้ (ไม่รวมรางวัลใหญ่ International Engine of the Year) โดยเครื่องยนต์ตัวแรงวี8 6,200 ซีซีที่โมดิฟายโดย AMG สามารถคว้ามาได้ 2 รางวัล คือ สาขาเครื่องยนต์ทรงสมรรถนะ หรือ Best Performance Engine และสาขาเครื่องยนต์ที่มีความจุเกิน 4,000 ซีซี

เครื่องยนต์รหัส M156 รุ่นนี้ถูกเปิดตัวออกมาแทนที่วี8 5,500 ซีซี เพื่อทำตลาดในกลุ่มตัวแรง AMG ในรหัส 55AMG โดยค่ายดาว 3 แฉกนำออกทำตลาดครั้งแรกเมื่อปี 2006 กับการเปิดตัวของ ML63AMG โดยตัวเครื่องยนต์มีความจุในระดับ 6,203 ซีซี แต่สามารถรีดกำลังออกมาได้ 510 แรงม้า ซึ่งนั่นทำให้ ML63AMG กลายเป็นเอสยูวีจากโรงงานที่มีฝีเท้าจัดจ้านที่สุดในเวลานั้น

นอกจากเอ็ม-คลาสแล้ว เครื่องยนต์รุ่นนี้ยังถูกวางในรถยนต์หลายต่อหลายรุ่นของเมอร์เซเดส-เบนซ์ โดยเรี่ยวแรงที่ถูกรีดออกมาก็แปรผันไปตามความต้องการของตัวรถ โดยอยู่ในระดับ 451 ไปจนถึง 525 แรงม้า และตัวเครื่องยนต์ได้รับการผลิตภายใต้คอนเซ็ปต์ของ AMG คือ One Man One Engine ซึ่งหมายถึง เครื่องยนต์บล็อกนี้จะได้รับการผลิตด้วยมือ และในระหว่างการผลิตจะมีเจ้าหน้าที่ 1 คนรับผิดชอบเครื่องยนต์ 1 บล็อก จนกว่าจะประกอบเสร็จ ถึงค่อยทำบล็อกใหม่ อีกทั้งยังเป็นเครื่องยนต์วี8 บล็อกแรกของเมอร์เซเดส-เบนซ์ที่ถูกออกแบบและผลิตภายใต้การดูแลของ AMG ตลอดทุกชั้นตอน

จากความโดดเด่นและความพิเศษ จึงไม่น่าแปลกใจที่เครื่องยนต์วี8 รุ่นนี้จะได้รับเลือกด้วยคะแนนที่ทิ้งเครื่องยนต์ตัวแรงเจ้าของแชมป์สาขาเครื่องยนต์ที่มีความจุเกิน 4,000 ซีซีในปีที่แล้วอย่างวี10 5,000 ซีซีของค่ายบีเอ็มดับเบิลยูไปเกือบ 20 คะแนน

สำหรับอีก 1 รางวัลของเมอร์เซเดสเบนซ์มาจากสาขาเครื่องยนต์ที่มีความจุ 2,000-2,500 ซีซี ซึ่งขุมพลังดีเซลรุ่นใหม่แกะกล่องแบบเทอร์โบคู่ 4 สูบ 2,100 ซีซี BlueEfficiency ซึ่งเครื่องยนต์รุ่นนี้เปิดตัวกับซี-คลาส ก่อนจะมีการขยายแนวรุกด้วยการวางในรถยนต์รุ่นอื่นๆ พร้อมกับปรับสมรรถนะออกเป็น 3 ทางเลือก 134, 168 และ 201 แรงม้า

จากความยอดเยี่ยมทั้งสมรรถนะในระดับ 201 แรงม้าบวกกับความประหยัดถึง 18.8 กิโลเมตรต่อลิตร ทำให้คณะกรรมการเทคะแนนให้จนเอาชนะเครื่องยนต์ 5 สูบ 2,500 ซีซี เทอร์โบของออดี้ TT RS ไปแบบไม่เห็นฝุ่น

ชัยชนะของพริกขี้หนูเม็ดเล็ก

ในช่วงที่เครื่องยนต์แบบ TwinCharger หรือ TSI ของโฟล์คสวาเกนเปิดตัวออกมาเมื่อ 3 ปีที่แล้วกับกอล์ฟ GT รหัสตัวถัง Mk V ถือว่าสร้างความฮือฮาได้อย่างมาก เพราะจากแนวคิดในการใช้ระบบอัดอากาศเข้ามาเสริมการทำงานเพื่อเบ่งกล้ามให้กับเครื่องยนต์บล็อกเล็ก ทำให้สามารถสร้างบุคลิก 2 แบบ 2 สไตล์ให้กับตัวเครื่องยนต์ สอดคล้องกับยุคน้ำมันแพงได้อย่างลงตัว

เพราะถ้าอยากขับแบบสบายๆ ความจุ 1,400 ซีซีก็ให้ความประหยัดอย่างมาก แต่ถ้าอยากซิ่ง แค่กดคันเร่งหนักปลุกให้ระบบอัดอากาศตื่นขึ้นมาทำงาน ก็สามารถท้าประลองกับรถยนต์ที่วางเครื่องยนต์ซีซีเยอะกว่าได้อย่างไม่อายใคร โดยในสเปกที่ผลิตขายและวางอยู่ในรถยนต์หลายรุ่นของโฟล์คสวาเกน และบริษัทในเครือ เช่น เซียท, สโกดามีความแรงในระดับ 140-170 แรงม้า

ในปีนี้ ขุมพลัง TSI คว้ารางวัลหลักไปได้ 2 สาขา คือ ในกลุ่มเครื่องยนต์เพื่อสิ่งแวดล้อมแห่งปีหรือ Green Engine of The Year และน่าจะเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีเลยที่เครื่องยนต์เบนซินที่มาพร้อมกับระบบอัดอากาศสามารถเอาชนะเครื่องยนต์ไฮบริดและเทอร์โบดีเซลที่มักจะผูกขาดรางวัลนี้ และโฟล์คฯ เอาชนะความสดของเครื่องยนต์ไฮบริด IMA 1,300 ซีซีของฮอนด้า อินไซท์/ซีวิค ไฮบริดไปแบบเฉียดฉิว ด้วยแต้มห่างกันเพียง 2 คะแนนเท่านั้น

นอกจากความแรงแบบสั่งได้แล้ว ขุมพลัง TSI ยังมีมลพิษต่ำด้วยระดับการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนได ออกไซด์ออกมาเพียง 144 กรัมต่อการใช้งาน 1 กิโลเมตร และมีความประหยัดน้ำมันในระดับ 16.2 กิโลเมตร/ลิตร ขณะที่อีกรางวัลมาจากสาขาเครื่องยนต์ 1,000-1,400 ซีซี ซึ่งเป็นปีที่ 4 ติดต่อกันแล้วที่ขุมพลัง TSI คว้ารางวัลนี้ โดยทำได้นับตั้งแต่เปิดตัวออกสู่ตลาดในปี 2006

จากความโดดเด่นทั้งแรงและประหยัด ทำให้เครื่องยนต์ TSI ได้รับเลือกอีกครั้งให้คว้ารางวัลใหญ่อย่าง International Engine of the Year ในปีนี้ไปครอง โดยรางวัลนี้เป็นรางวัลพิเศษที่นำผู้ชนะทั้ง 11 สาขามาให้คณะกรรมการร่วมโหวตกันอีกครั้งหนึ่ง

บีเอ็มดับเบิลยูกวาดรางวัลไม่เยอะเหมือนปีที่แล้ว

ปีที่แล้ว ถือเป็นความสำเร็จอย่างสูงสุดของเครื่องยนต์จากบีเอ็มดับเบิลยู เพราะกวาดมาได้ถึง 5 รางวัล และอีก 1 รางวัลใหญ่อย่างเครื่องยนต์ยอดเยี่ยมแห่งปี แต่ในปีนี้ จำนวนลดลงเหลือเพียง 2 สาขาจากเครื่องยนต์ที่ตวเองพัฒนาขึ้นมาเองกับมือบวกกับอีก 1 สาขาที่มาจากเครื่องยนต์ร่วมผลิตกับกลุ่มพีเอสของฝรั่งเศส

รางวัลที่บีเอ็มดับเบิลยูได้รับก็ยังเหมือนเดิมเป็นสาขาเครื่องยนต์ที่มีความจุ 2,500-3,000 ซีซีกับขุมพลังเบนซิน 6 สูบ 3,000 ซีซี เทอร์โบคู่ และสาขาเครื่องยนต์ที่มีความจุ 3,000-4,000 ซีซีกับขุมพลังเบนซิน วี8 4,000 ซีซีของเอ็ม 3 ตัวใหม่
ขณะที่เครื่องยนต์ 4 สูบ 1,600 ซีซี เทอร์โบ 175 แรงม้า ซึ่งวางอยู่ในมินิ คูเปอร์ เอส และ 207 และ 308 GTi รถยนต์ตัวแรงของเปอโยต์ก็คว้ารางวัลในกลุ่มเครื่องยนต์ที่มีความจุ 1,400-1,800 ซีซีเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน และไม่น่าเชื่อว่า ของเก่าจะสามารถเอาชนะเครื่องยนต์ไฮบริดรุ่นใหม่ 1,800 ซีซีของโตโยต้า พริอุส เจนเนอเรชันที่ 3 ไปได้แบบขาดลอย ด้วยคะแนน 253:198

ฝั่งญี่ปุ่นหงอยไปถนัดใจ

ตามปกติแล้ว เครื่องยนต์จากผู้ผลิตญี่ปุ่นมักจะผงาดและได้รับเลือกอยู่เสมอสำหรับเวทีการแจกรางวัลรายการนี้ แต่ดูเหมือนว่าในปีนี้จะขาดตอน และไม่มีตัวแทนเข้ามาสืบทอดความสำเร็จเหมือนกับที่ผ่านมา โดยมีแค่โตโยต้าเท่านั้นที่ได้รับรางวัลกับสาขาเครื่องยนต์ที่มีความจุต่ำกว่า 1,000 ซีซี ซึ่งเครื่องยนต์เบนซิน 3 สูบ 1,000 ซีซี 67 แรงม้าของอายโก้ยังครองรางวัลนี้อย่างเหนียวแน่น

ขณะที่ฮอนด้าที่เคยเป็นขาประจำของงาน กลับหลุดโผไปอย่างไม่น่าเชื่อ และเครื่องยนต์ IMA ของอินไซท์ใหม่ก็ไม่สามารถเบียดเอาชนะความแรงของขุมพลัง TSI จากโฟล์คสวาเกนไปได้ในสาขาของเครื่องยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแห่งปี
ขณะที่ของเก่าอย่างเครื่องยนต์ F20A ของเอส2000 ที่เคยผูกขาดความสำเร็จในสาขา-เครื่องยนต์ที่มีความจุ 1,800-2,000 ซีซีก็ไม่สามารถล้มการผูกขาดของเครื่องยนต์เบนซินไดเร็กต์อินเจ็กชัน FSI 2,000 ซีซี เทอร์โบจากออดี้ลงได้ ซึ่งขุมพลังของค่าย 4 ห่วงรุ่นนี้ผูกขาดการคว้ารางวัลมาตั้งแต่ปี 2005 เลยทีเดียว

สรุปผลรางวัล

-เครื่องยนต์ใหม่ยอดเยี่ยม : พอร์ช 6 สูบนอน 3,800 ซีซี

-เครื่องยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแห่งปี : โฟล์คสวาเกน เบนซิน TSI TwinCharger 1,400 ซีซี

-เครื่องยนต์สมรรถนะเยี่ยมแห่งปี : เมอร์เซเดส-เบนซ์ AMG วี8 6,200 ซีซี

-เครื่องยนต์ที่มีความจุต่ำกว่า 1,000 ซีซี : โตโยต้า เบนซิน 3 สูบ 1,000 ซีซี

-เครื่องยนต์ที่มีความจุ 1,000-1,400 ซีซี : โฟล์คสวาเกน เบนซิน TSI TwinCharger 1,400 ซีซี

-เครื่องยนต์ที่มีความจุ 1,400-1,800 ซีซี : บีเอ็มดับเบิลยู/พีเอสเอ เบนซิน 4 สูบ 1,600 ซีซี เทอร์โบ

-เครื่องยนต์ที่มีความจุ 1,800-2,000 ซีซี : ออดี้ เบนซินไดเร็กต์อินเจ็กชัน FSI 2,000 ซีซี เทอร์โบ

-เครื่องยนต์ที่มีความจุ 2,000-2,500 ซีซี : เมอร์เซเดส-เบนซ์ เทอร์โบดีเซล 4 สูบ 2,100 ซีซี BlueEfficiency

-เครื่องยนต์ที่มีความจุ 2,500-3,000 ซีซี : บีเอ็มดับเบิลยู เบนซิน 6 สูบ 3,000 ซีซี เทอร์โบคู่

-เครื่องยนต์ที่มีความจุ 3,000-4,000 ซีซี : บีเอ็มดับเบิลยู เบนซิน วี8 4,000 ซีซี
-เครื่องยนต์ที่มีความจุเกิน 4,000 ซีซี : เมอร์เซเดส-เบนซ์ AMG วี8 6,200 ซีซี

***เครื่องยนต์ยอดเยี่ยมแห่งปี 2008 : โฟล์คสวาเกน เบนซิน TSI TwinCharger 1,400 ซีซี***
เครื่องยนต์ TSI ของโฟล์คสวาเกนคว้ารางวัลในปีนี้มาได้ 2 สาขาหลัก กับอีก 1 รางวัลใหญ่ คือ เครื่องยนต์ยอดเยี่ยมแห่งปี 2009
เมอร์เซเดส-เบนซ์คว้ามาได้ 3 รางวัลกับเครื่องยนต์ตัวแรงจาก AMG และความประหยัดของเครื่องยนต์เทอร์โบดีเซล 4 สูบ 2,100 ซีซี

เครื่องยนต์วี8 ของบีเอ็มดับเบิลยู เอ็ม3 ใหม่ยังร้อนแรงเหมือนเคย เพราะสามารถสยบเครื่องยนต์ใหม่จากพอร์ชได้อย่างอยู่หมัดด้วยคะแนน 319:156 ในสาขาเครื่องยนต์ที่มีความจุ 3,000-4,000 ซีซี
พอร์ช 6 สูบนอน 3,800 ซีซีได้รับเลือกให้คว้ารางวัลเครื่องยนต์หน้าใหม่แห่งปีไปครอง
โตโยต้า อายโก้กับเครื่องยนต์ 3 สูบ 1,000 ซีซียังครองตำแหน่งแชมป์ในสาขาเครื่องยนต์ต่ำกว่า 1,000 ซีซีเช่นเดิม
นับจากปี 2005 เป็นต้นมา เครื่องยนต์ 4 สูบ 2,000 ซีซี เทอร์โบ FSI ของออดี้ครองความสำเร็จในกลุ่มเครื่องยนต์ที่มีความจุ 1,800-2,000 ซีซีมาโดยตลอด
ในสาขาเครื่องยนต์ที่มีความจุ 1,400-1,800 ซีซี เครื่องยนต์เทอร์โบที่ร่วมกันพัฒนาระหว่างบีเอ็มดับเบิลยูกับกลุ่มพีเอสเอยังได้รับความไว้วางใจจากคณะกรรมการเหมือนเดิม
กำลังโหลดความคิดเห็น