xs
xsm
sm
md
lg

รำลึก “จีเอ็ม” สูงสุดคืนสู่สามัญ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เจนเนอรัล มอเตอร์ส หรือ “จีเอ็ม”(GM) ผู้ผลิตรถยนต์ที่มีประวัติยาวนานกว่าศตวรรษ โดยเมื่อปีที่แล้วเพิ่งจะฉลองครบ 100 ปี ไปหมาดๆ พร้อมกับการเป็นเจ้าของตำแหน่ง ผู้ผลิตที่มียอดขายทั่วโลกมากเป็นอันดับ 1 มาอย่างยาวนานถึง 76 ปี แต่ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน ณ วันนี้ จีเอ็ม ได้เข้าสู่กระบวนการขอล้มละลายและพิทักษ์ทรัพย์เรียบร้อยโรงเรียนมะกัน ก่อนจะมาถึงวันนี้เรามาย้อนดูกันสักนิดว่า จีเอ็มเริ่มต้นมาอย่างไรและต้องผ่านอะไรมาบ้าง
วิลเลียม คราโป ดูแรนท์ (William Crapo Durant)  ผู้ก่อตั้ง จีเอ็ม
จีเอ็ม เริ่มต้นขึ้น โดยการนำของ วิลเลียม คราโป ดูแรนท์ (William Crapo Durant) เจ้าของบริษัทผลิตรถม้า ดูแรนท์ ดอร์ท แคร์ริเอจ (Durant-Dort Carriage Company) ได้เข้ามาถือครองบริษัทรถยนต์บิวอิก (Buick) พร้อมก่อตั้งบริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส (General Motors Company) เมื่อวันที่ 16 กันยายน 1908 ซึ่ง บิวอิก ก็คือ แบรนด์แรกที่เข้ามาอยู่ในเครือจีเอ็ม ก่อนที่ดูแรนท์จะเริ่มรวบรวมบริษัทรถยนต์อื่นๆ เข้ามาอยู่ภายใต้ร่มของจีเอ็ม

ช่วงแรกเริ่มของการก่อตั้ง เจนเนอรัล มอเตอร์ส คอมปานี อยู่ในสภาพที่ต้องเร่งรีบในการขยายกิจการ มีการรวบรวมรถยนต์ยี่ห้อต่างๆ เข้ามาสู่ชายคาจีเอ็มอย่างต่อเนื่อง โดยใช้วิธีการกู้เงินธนาคารมาซื้อกิจการของคนอื่น ซึ่งหนทางดังกล่าวไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

แบรนด์ที่ 2 ที่ถูกควบรวมคือ โอลด์สโมบิล (Oldsmobile) โดยบริษัท โอลด์ส มอเตอร์ เวิร์ค (Olds Motor Works) ขายหุ้นทั้งหมดให้กับจีเอ็ม เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 1908

การควบรวมกิจการรถยนต์ของ เจนเนอรัล มอเตอร์ส ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ในกลางปี 1909 จีเอ็มขยายตัวอย่างมาก มีการเข้าซื้อหุ้นครึ่งหนึ่งของ บริษัท โอ๊คแลนด์ มอเตอร์ คาร์ (Oakland Motor Car) (แต่ต้องใช้เวลาถึง 23 ปี กว่าจะซื้อหุ้นของโอ๊คแลนด์ มอเตอร์ คาร์ ได้ทั้งหมด และเปลี่ยนชื่อเป็น “พอนติแอค” (Pontiac) หรือที่คนไทยเรียกกันว่า “ปอนเตี๊ยก”)

จากนั้น คาดิลแล็ค (Cadillac) เป็นสมาชิกรายที่สี่ของจีเอ็ม ในปี 1909 เช่นกัน เมื่อ เฮนรี เอ็ม เลแลนด์ (Henry M Leland) ขายกิจการ บริษัท คาดิลแล็ค ออโตโมบิล (Cadillac Automobile Company) แลกกับจำนวนเงิน 5.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งชื่อรถยนต์ Cadillac มาจากการตั้งเพื่อเป็นเกียรติให้กับ เลอซิเออร์ อองตัวน เดอ ลา มอธ คาดิลแล็ค (Le Sieur Antoine de la Mothe Cadillac) ผู้ก่อตั้งเมืองดีทรอยท์
ตึกของจีเอ็มในยุคก่อน
ต่อมา จีเอ็มเข้าซื้อกิจการของบริษัท แรพิด มอเตอร์ วีฮีเคิล (Rapid Motor Vehicle Company) จากเมืองพอนติแอค มลรัฐมิชิแกน ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของแบรนด์ GMC ในปัจจุบัน และบริษัทรถบรรทุก รีไลแอนซ์ มอเตอร์ (Reliance Motor Truck Co.) จากเมืองโอวอสโซ (Owosso) โดยแรพิดเป็นรถบรรทุกรายแรกที่สามารถพิชิตเข้า Pikes Peak ได้ในปี 1909 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่ วิลเลียม ดูแรนท์ ได้พบกับนักแข่งรถชื่อดังแห่งยุค เชื้อสายสวิส นาม หลุยส์ เชฟโรเลต (Louise Chevrolet) เพื่อร่วมกันสร้างรถยนต์ออกขายในราคาถูก

อย่างไรก็ตาม การรวบรวมแบรนด์ต่างๆ ของ วิลเลียม ดูแรนท์ ที่มาจากการกู้เงินและใช้สินเชื่อของธนาคาร เพื่อมาซื้อกิจการ โดยหวังจะบริหารให้เติบโตอย่างรวดเร็ว แต่สถานการณ์ไม่เป็นไปตามที่ดูแรนท์คิด ทำให้ธนาคารต้องก้าวเข้ามารวบอำนาจในการบริหารบริษัทเพื่อช่วยพยุงไม่ให้จีเอ็มล้มละลาย ส่งผลให้ วิลเลียม ดูแรนท์ ต้องวางมือจากการบริหารจีเอ็มทั้งหมด ในปี 1910 เท่านั้น หรือเพียง 2 ปีนับจากก่อตั้งบริษัทฯ

แต่ด้วยความมุ่งมั่นไม่ย่อท้อและความหลงใหลในกิจการรถยนต์ของ ดูแรนท์ จึงทำให้เขายังวนเวียนอยู่กับวงการรถยนต์ โดยหวังว่าวันหนึ่งเขาจะกลับไปนั่งแท่นบริหารงานในจีเอ็มอีก และหลังจากนั้น 6 ปี วิลเลียม ดูแรนท์ กลับขึ้นไปเป็นประธานบริษัทกุมบังเหียนจีเอ็มอีกครั้ง

ซึ่งการกลับมาครั้งนี้ของ ดูแรนท์ เขาต้องขอบคุณ รถยนต์เชฟโรเลต (แบรนด์ที่ตั้งให้เป็นเกียรติกับ หลุยส์ เชฟโรเลต) ที่ทำให้เขาสามารถคืนสู่ตำแหน่งเดิมในจีเอ็มได้อีกครั้ง ด้วยจุดเริ่มต้นในปลายปี 1911 วิลเลียม ดูแรนท์,หลุยส์ เชฟโรเลต, วิลเลียม ลิตเติล และเอ๊ดวิน แคมเบล ร่วมกันก่อตั้งบริษัทรถยนต์เชฟโรเลต ขึ้นในมิชิแกน โดยใช้ชื่อว่า Chevrolet Motor Company of Michigan

ดูแรนท์ที่ยังมุ่งมั่นในการกลับไปทวงอำนาจในจีเอ็ม เขาก่อตั้งบริษัทรถยนต์ เชฟโรเลต แห่ง เดลาแวร์ Chevrolet Motor Company of Delaware และนำไปรวมกิจการกับบริษัทหลัก เชฟโรเลตในมิชิแกนเข้าไว้ด้วยกันในปี 1915
ตึกสำนักงานใหญ่ของจีเอ็มในเมืองดีทรอยต์ที่เป็นสัญลักษณ์ความรุ่งเรืองของจีเอ็ม
หลังจากประสบความสำเร็จในการขายรถยนต์ภายใต้แบรนด์ เชฟโรเลต ทำให้ดูแรนท์มีเงินสดมากพอ เขาจึงตัดสินใจเดินหน้าซื้อหุ้นจีเอ็มเพิ่มเติมครั้งมโหฬาร (และได้รับเงินปันผลถึง 50 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อหุ้น) เพียงปีเดียวดูแรนท์ก็ทวงความยิ่งใหญ่ได้สำเร็จ พร้อมประกาศว่า เชฟโรเลตได้ถือหุ้นของจีเอ็มมากถึง 54.5 % นั่นทำให้เขาได้กลับเข้าสู่ตำแหน่งประธาน (President) ของจีเอ็มอีกครั้ง ด้วยแรงหนุนอย่างดีจาก บริษัท ดูปองด์ นับเป็นหนึ่งในสงครามการแย่งชิงกิจการที่ต้องจดจำของแวดวงธุรกิจสหรัฐอเมริกา

ทั้งนี้เพียงช่วงเวลาไม่นาน ดูแรนท์ ก็ต้องหลุดจากจีเอ็มอีกครั้ง หลังจากการออกรถรุ่นใหม่ประสบความล้มเหลว แต่คราวนี้ถือเป็นสิ่งที่ดี เมื่อจีเอ็มได้มือดีเข้ามากอบกู้กิจการจนสามารถก้าวขึ้นมาสู่ตำแหน่งยอดขายอันดับ 1 ของสหรัฐอเมริกา และก้าวขึ้นมาเป็นผู้ผลิตรถยนต์อันดับ 1 ของโลกในเวลาต่อมา โดยช่วงเวลาที่ดีที่สุดอยู่ในราวต้นทศวรรษที่ 80 ซึ่งจีเอ็มมีพนักงานถึง 3.5 แสนคน และมีโรงงานประกอบรถยนต์กว่า 150 แห่ง

จีอ็ม มีแบรนด์รถยนต์ในเครือทั้งหมด 13 แบรนด์ ได้แก่ Buick, Cadillac, Chevrolet, GMC, GM Daewoo, Opel, Vauxhall, Holden, Hummer, Pontiac, Saab, Saturn และ Wuling โดยมีพนักงานรวมกันทั้งสิ้นราว 2.52 แสนคนทั่วโลก

หลังจากผ่าน 1 ศตวรรษแห่งความยิ่งใหญ่ที่จีเอ็มรวบรวมแบรนด์ต่างๆ ไว้มากมาย จีเอ็มก็หวนกลับคืนสู่จุดเริ่มต้นอีกครั้ง หลังจากการขอล้มละลายและเข้าสู่กระบวบการพิทักษ์ทรัพย์ ซึ่งเมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการดังกล่าวแล้ว จีเอ็ม จะมีสภาพเป็นอย่างไร เหลือแบรนด์ อะไรอยู่ในครอบครองบ้าง และจะยังคงความยิ่งใหญ่อยู่หรือไม่ เราคงต้องติดตามดูต่อไป

กำลังโหลดความคิดเห็น