xs
xsm
sm
md
lg

ไปไม่รอด สุดท้ายไครสเลอร์ประกาศขอล้มละลาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ในที่สุด ไครสเลอร์ แอลแอลซี หนึ่งในบิ๊กทรีของอุตสาหกรรมรถยนต์อเมริกัน ก็ไม่สามารถประคองกิจการฝ่าฟันปัญหาเศรษฐกิจการที่รุมเร้าไปได้ หาทางออกให้กับตัวเองด้วยการยื่นขอล้มละลายตามมาตรฐานที่ 11 (Chapter 11) เพราะไม่สามารถตกลงกับเจ้าหนี้ได้ในเรื่องของการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ขณะที่โปรเจ็กต์จับมือกับพันธมิตรใหม่จากยุโรปอย่างเฟียตเดินหน้าต่อไปได้ และทำให้เฟียตสามารถใช้เครือข่ายของไครสเลอร์เพื่อเป็นฐานทัพในการบุกตลาดเมืองลุงแซมประมาณต้นปี 2010 ด้วยรุ่น 500 ก่อนที่จะบุกเต็มรูปแบบไม่เกินต้นปี 2011

การตัดสินใจในครั้งนี้ของไครสเลอร์ได้รับคำชื่นชมอย่างมากจากประธานาธิบดีบารัก โอบามาและเขากล่าวว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องแล้ว เพราะจะช่วยทำให้ไครสเลอร์สามารถรักษาตำแหน่งงานประมาณ 30,000 อัตราเอาไว้ได้ และการตัดสินใจครั้งนี้ถือแป็นครั้งแรกที่เกิดขึ้นกับบริษัทรถยนต์รายใหญ่ของสหรัฐ อเมริกาเลยที่เดียว

ไครสเลอร์ก่อตั้งบริษัทในปี 1925 และจากนั้นในปี 1998 ก็ได้ตกลงร่วมมือเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับทางเดมเลอร์ เอจีของเยอรมนีโดยใช้ชื่อบริษัทใหม่ว่าเดมเลอร์ไครสเลอร์ ก่อนที่ทางเดมเลอร์ เอจีจะขายหุ้นจำนวนกว่า 80% ที่ถืออยู่ในไครสเลอร์ออกไปให้กับทางเซอร์เบอรุส แคปิตอล แมนเนจเมนท์ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2007 และมีการเปลี่ยนชื่อเป็นไครสเลอร์ แอลแอลซีในเวลาต่อมา

ก่อนที่จะมีการตัดสินใจยื่นขอเข้าสู่สภาวะล้มละลายต่อศาลแมนฮัตตันตามมาตราที่ 11 นั้น ทางไครสเลอร์ได้พยายามเจรจาตกลงกับทางเจ้าหนี้อยู่หลายสัปดาห์เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ในการประคองบริษัทให้รอดพ้นจากวิกฤตที่เกิดขึ้น แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จจนนำไปสู่การตัดสินใจที่จะดำเนินงานตามขั้นตอนนี้ในที่สุด พร้อมกับประกาศจับมือกับพันธมิตรใหม่อย่างเฟียตอย่างเป็นทางการ


แม้จะเป็นข่าวใหญ่สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ แต่สำหรับอาเธอร์ กอนซาเลซ ผู้พิพากษาแห่งศาลคดีล้มละลายของ Southern District ของเมืองนิวยอร์กซึ่งรับหน้าที่ดูแลคดีนี้ เชื่อว่านี่ไม่ใช่คดีที่ใหญ่ที่สุดที่เคยมีมา เมื่อเปรียบเทียบกับประสบการณ์ที่เขาเคยมีส่วนร่วมมาก่อนหน้านี้เมื่อ 10 ปีที่แล้วกับการตัดสินเรื่องของ Enron และ Worldcom

สำหรับข้อตกลงกับทางพันธมิตรใหม่อย่างเฟียตนั้น จากการร่วมมือกันของทั้ง 2 บริษัทจะทำให้พวกเขากลายเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดอันดับ 6 ของโลก และทางรัฐบาลสหรัฐอเมริกาจะให้เงินกู้ช่วยเหลือกับการทำงานของคู่ใหม่ปลามันคู่นี้เป็นจำนวน 6,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 210,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามแผนการฟื้นฟูกิจการให้กับทางไครสเลอร์

ในขั้นต้นหุ้นของทางไครสเลอร์จะถูกแบ่งให้กับเฟียตโดยที่ไม่ต้องมีการเสียเงินเลยถึง 20% และจะเพิ่มเป็น 35% ในกรณีที่เฟียตเข้ามาทำการลงทุนในสหรัฐอเมริกา และส่งมอบเทคโนโลยีผลิตรถยนต์ขนาดเล็กให้กับทางไครสเลอร์ โดยตามสัญญานี้เฟียตสามารถถือหุ้นได้สูงสุดถึง 51% หลังจากที่ไครสเลอร์สามารถจ่านเงินกู้คืนให้กับกระทรวงการคลังของสหรัฐอเมริกาเรียบร้อยแล้ว

ส่วนหุ้นที่เหลือของไครสเลอร์เชื่อว่าจะถูกแบ่งออกไปให้กับทางทรัสต์ฟันด์ดูแลสุขภาพ หรือ Voluntary Employee Beneficiary Association (VEBA) ที่ดำเนินงานโดยสหภาพแรงงานรถยนต์ (United Auto Workers) ก็จะเข้ามาถือหุ้น 55% ส่วนรัฐบาลสหรัฐฯและแคนาดาจะเข้าถือหุ้นรวมกัน 10% ด้วย


บ็อบ นาร์เดลลี่ ซีอีโอของไครสเลอร์ แอลแอลซีกล่าวว่า บริษัทใหม่ที่จะก่อตั้งขึ้นมานั้นจะรับหน้าที่ในการดำเนินงานด้านการผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนของรถยนต์ในแบรนด์จี๊ป, ดอดจ์ และไครสเลอร์ รวมถึงผลิตภัณฑ์และอุปกรณ์ตกแต่งในชื่อ Mopar และพนักงานของไครสเลอร์ แอลแอลซีก็จะถูกโอนย้ายไปเป็นพนักงานของบริษัทแห่งใหม่ โดยที่ดีลเลอร์ของไครสเลอร์ทั่วประเทศก็ยังเปิดดำเนินงานอยู่ รวมถึงการรับประกันทุกอย่างก็ยังเหมือนเดิมไม่มี่การหยุดชะงักตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานของบริษัทใหม่จะยังไม่สามารถทำได้ทันที เพราะต้องรอการพิจารณาและไต่สวนให้เสร็จเรียบร้อยก่อน รวมถึงจะต้องมีการโอนย้ายสินทรัพย์ต่างๆ ซึ่งคาดว่าขั้นตอนนี้จะใช้เวลาประมาณ 30-60 วัน ดังนั้น ในช่วงนี้โรงงานผลิตรถยนต์ส่วนใหญ่ของไครสเลอร์ก็จะหยุดการทำงานชั่วคราวโดยมีผลตั้งแต่วันที่ 4 พฤษภาคม จนกว่าการดำเนินงานโอนย้ายสินทรัพย์จะเสร็จสิ้นตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ข้างต้น โดยการยื่นเข้าสู่ขั้นตอนของการขอล้มละลายในครั้งนี้จะไม่มีผลต่อไลน์ผลิตของไครสเลอร์ที่อยู่ในแคนาดาและเม็กซิโกในแคนาดาที่ไครสเลอร์มีโรงงานผลิตรถยนต์อยู่ 3 แห่ง และสามารถบรรลุข้อตกลงกับสหภาพแรงงานและรัฐบาลแคนาดาได้แล้วในเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้

อีกทั้งยังมีการให้เงินกู้ช่วยเหลือจากรัฐบาลของเมืองออนตาริโอ จำนวน 1,250 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 43,750 ล้านบาท บวกกับอีก 2,517 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 88,000 ล้านบาทจากรัฐบาลกลางของแคนาดา ทำให้ไครสเลอร์ได้รับการสนับสนุนด้านเงินกู้จากแคนาดารวม 3,775 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 132,000 ล้านบาท

ทางด้านเฟียตนั้น ในระหว่างของการรอขั้นตอนการพิจารณาเพื่อโอนย้ายจากบริษัทเก่ามาเป็นบริษัทใหม่นั้นก็ยังมีข่าวต่อเนื่องออกมาอีกว่ายังสนใจในการเข้าซื้อหุ้นของโอเปิลจากจีเอ็ม หรือเจนเนอรัล มอเตอร์ส และสื่อในเยอรมนีต่างยื่นยันว่า ทางแซร์โจ้ มาร์ชิโอนเน่ ซีอีโอของเฟียตได้เดินทางเข้ามาเจรจากับทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและการต่างประเทศของเยอรมนีเมื่อวันจันทร์ที่ 27 เมษายนที่ผ่านมา หรือก่อนหน้าการประกาศขอล้มละลายของไครสเลอร์เพียง 2 วัน เพื่อนำเสนอรายละเอียดของการเทคโอเวอร์กิจการโอเปิล และทางรัฐมนตรีทั้ง 2 คนคอนเฟิร์มในเรื่องการเดินทางขอเข้าพบของมาร์ชิโอนเน่ แต่ปฏิเสธที่จะให้รายละเอียดของการพูดคุยในครั้งนี้



กำลังโหลดความคิดเห็น