เอเจนซี - ไครสเลอร์ แอลแอลซี บริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับ 3 ของสหรัฐฯ ยื่นขอเข้าสู่ภาวะล้มละลายเมื่อวันพฤหัสบดี (29) นอกจากนั้นยังประกาศการทำข้อตกลงเป็นพันธมิตรกับ "เฟียต" โดยให้ยักษ์ใหญ่อิตาลีรายนี้เข้ามาถือหุ้น ทั้งนี้หลังจากยอดขายรถยนต์ไครสเลอร์ดิ่งลงรุนแรง ตลอดจนไม่สามารถบรรลุข้อตกลงปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ได้
แม้ว่าจะพยายามเจรจากับเจ้าหนี้เป็นเวลาหลายสัปดาห์ แต่ไครสเลอร์ก็ล้มเหลวในการเกลี้ยกล่อมให้เจ้าหนี้ทุกๆ รายยอมรับข้อเสนอเรื่องการลดหนี้ ดังนั้นไครสเลอร์จึงต้องยื่นขอเข้าสู่ภาวะล้มลาย ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของบริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่ในสหรัฐฯเลยทีเดียว
การตัดสินใจนี้ได้รับการชื่นชมจากประธานาธิบดีบารัค โอบามา โดยเขาระบุว่าเป็นขั้นตอนอันสำคัญยิ่งยวดในการรักษาตำแหน่งงานราว 30,000 ตำแหน่งในไครสเลอร์ไว้ได้ รวมทั้งอีกหลายแสนตำแหน่งในพวกบริษัทซัปพลายเออร์และดีลเลอร์ทั้งหลาย
ในขณะเดียวกัน ไครสเลอร์ก็ได้ลงนามทำข้อตกลงเป็นพันธมิตรกับบริษัทเฟียนต เอสพีเอแห่งอิตาลี โดยที่ในขั้นเริ่มต้น ไครสเลอร์จะให้หุ้นจำนวน 20% แบบฟรีๆ แก่ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติอิตาลีแห่งนี้
ข้อตกลงที่ลงนามกันคราวนี้ ยังเปิดทางให้เฟียตถือครองหุ้นไครสเลอร์เพิ่มขึ้นเป็น 35% โดยที่เฟียตจะต้องทำการลงทุนในการดำเนินงานในสหรัฐฯ และในเรื่องเทคโนโลยีรถยนต์ขนาดเล็กให้แก่ไครสเลอร์ เมื่อเวลาผ่านไป เฟียตก็อาจจะเพิ่มการถือหุ้นจนถึง 51% ในที่สุด ภายหลังไรคสเลอร์ได้จ่ายคืนเงินกู้ให้แก่กระทรวงการคลังสหรัฐฯแล้ว
ไครสเลอร์นั้นก่อตั้งเมื่อปี 1925 โดย วอลเตอร์ พี ไครสเลอร์ และหลังจากนั้นอีกสามปี บริษัทก็ได้ก่อสร้างตึกไครสเลอร์ ซึ่งเคยเป็นตึกสูงที่สุดในโลกอยู่พักหนึ่ง และตอนนี้ยังคงยืนตระหง่านอยู่เหนือตึกอื่น ๆในย่านแมนฮัตตัน ของนครนิวยอร์ก
ระยะไม่กี่ปีหลังมานี้ ไครสเลอร์ต้องดิ้นรนอย่างหนักในการแข่งขันกับค่ายรถยนต์อื่นๆ โดยที่บริษัทเสียหายไปมากจากการที่พึ่งพาตลาดสหรัฐฯแถบจะเพียงตลาดเดียว ขณะที่รถยนต์ที่ผลิตก็ถูกวิจารณ์ว่าคุณภาพแย่ นอกจากนั้นยังเน้นหนักที่การผลิตรถกระบะและรถเอสยูวี ซึ่งกินน้ำมันมาก เมื่อมาถึงยุคน้ำมันแพงแล้วตามมาด้วยเศรษฐกิจถดถอย ยอดขายจึงหล่นฮวบอย่างสาหัส
การยื่นขอเข้าสู่ภาวะล้มละลายตามหมวด 11 ต่อศาลล้มละลายสหรัฐฯเขตแมนฮัตตันของไครสเลอร์คราวนี้ มีผลกระทบต่อเนื่องเป็นอันมากต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ทั้งหมด รวมทั้งต่อบรรดาคู่แข่งและซัปพลายเออร์ของไครสเลอร์
ในการยื่นขอเข้าสู่ภาวะล้มละลายคราวนี้ รัฐบาลสหรัฐฯให้สัญญาที่จะให้ความช่วยเหลือทางการเงินเป็นมูลค่า 3,500 ล้านดอลลาร์ ในช่วงที่ไครสเลอร์ยังอยู่ในกระบวนการล้มละลายอยู่ และจะให้อีกไม่เกิน 4,500 ล้านดอลลาร์ภายหลังออกจากกระบวนการนี้แล้ว โดยโอบามากล่าวว่า เขาหวังว่ากระบวนการทั้งหมดจะใช้เวลาเพียงแค่ 30 ถึง 60 วันเท่านั้น
จากการเข้าสู่ภาวะล้มละลายเช่นนี้ คาดหมายว่าดีลเลอร์ราว 3,600 รายของไครสเลอร์คงจะปิดกิจการไปเป็นบางส่วน ขณะที่ ไครสเลอร์ ไฟแนนซ์ ก็จะหยุดให้สินเชื่อก้อนใหม่สำหรับการซื้อรถและรถบรรทุก โดยที่ จีแมค ซึ่งเป็นบริษัทสินเชื่อรถยนต์ของเจนเนอรัล มอเตอร์ส (จีเอ็ม) จะเป็นผู้จัดหาเงินกู้ให้แก่ดีลเลอร์และลูกค้าของไครสเลอร์
ผู้พิพากษาที่เข้ามาดูแลกระบวนการด้านกฏหมายทั้งหมดในคดี คือ อาร์เธอร์ กอนซาเลซ ซึ่งเคยทำหน้าที่ดูแลเอ็นรอนและเวิร์ลดิ์คอม ที่ล้มละลายไปเมื่อเกือบสิบปีก่อน
นอกจากเฟียตจะเข้าถือหุ้นของไครสเลอร์แล้ว เจ้าหน้าที่ทางการสหรัฐฯก็คาดว่าทรัสต์ฟันด์ดูแลสุขภาพของสหภาพแรงงานรถยนต์ (United Auto Workers) ก็จะเข้ามาถือหุ้น 55% ส่วนรัฐบาลสหรัฐฯและแคนาดาจะเข้าถือหุ้นรวมกัน 10% ด้วย
ไครสเลอร์นั้นมีโรงงาน 3 แห่งในแคนาดา และสามารถบรรลุข้อตกลงกับสหภาพแรงงานและรัฐบาลแคนาดาได้แล้วในเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้ ทำให้ไครสเลอร์ไม่มีคุณสมบัติพอตามกฏหมายที่จะยื่นเรื่องเข้าสู่ภาวะล้มละลายในประเทศเพื่อนบ้านทางตอนเหนือของสหรัฐฯ อย่างไรก็ตา มรัฐบาลแคนาดารวมทั้งมณฑลออนตาริโอต่างก็ออกมาบอกว่าจะให้เงินกู้ 2,420 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเพื่อช่วยในการปรับโครงสร้าง
การเข้าสู่ภาวะล้มละลายครั้งนี้ส่งสัญญาณว่า รัฐบาลโอบามาจะใช้ไม้แข็งกับเจ้าหนี้ ซึ่งไม่ยอมทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้กับไครสเลอร์ ซึ่งจะส่งผลสะเทือนไปถึงกรณีของจีเอ็ม ที่ก็กำลังเจรจากับเจ้าหนี้ของตนเองอยู่ และต้องเสร็จสิ้นภายในเดือนพฤษภาคมนี้
โอบามาสนับสนุนการตัดสินใจของไครสเลอร์ ในขณะเดียวกันก็วิพากษ์วิจารณ์นักลงทุนไม่มียินยอมเสียผลประโยชน์ขอตนเองไปในการเจรจาปรับโครงสร้างกับไครสเลอร์ จนบริษัทต้องเข้าสู่ภาวะล้มละลาย
"ผมไม่ได้ยืนอยู่ข้างพวกเขา ผมยืนอยู่ข้างพนักงานไครสเลอร์ และครอบครัวรวมทั้งชุมชนของพวกเขา" โอบามากล่าว "ผมจะไม่ยืนอยู่ข้างคนที่เห็นแต่ประโยชน์ส่วนตัวแม้ว่าคนอื่น ๆจะยอมเสียสละก็ตาม นี่เป็นสาเหตุว่าทำไมผมจึงสนับสนุนไครสเลอร์ให้ใช้กฏหมายล้มละลายเพื่อล้างพันธะผูกพันในปัจจุบันให้หมดไป"