xs
xsm
sm
md
lg

รบ.โอบามาบีบGMให้เปลี่ยนซีอีโอ ดัน‘ไครสเลอร์’ยอมควบรวมกับ ‘เฟียต’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รอยเตอร์ – คณะรัฐบาลโอบามาเข้ากุมบังเหียนในอุตสาหกรรมยานยนต์สหรัฐฯที่กำลังประสบปัญหาหนักเมื่อวานนี้(30) โดยกดดันประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เจนเนอรัล มอเตอร์ส คอร์ป (จีเอ็ม) ให้ลาออกจากตำแหน่ง และให้ไครสเลอร์ แอลแอลซี หาทางควบรวมกิจการกับบริษัทเฟียต อีกทั้งขู่ว่าทั้งคู่ยังมีสิทธิที่จะถูกปล่อยให้ล้มละลาย
ก้าวเดินเหล่านี้ ซึ่งแถลงสรุปโดยคณะกรรมการแก้ไขปัญหาอุตสาหกรรมยานยนต์ของทำเนียบขาว ภายใต้การนำของ สตีฟ แร็ทเนอร์ อดีตผู้บริหารวาณิชธนกิจ นอกจากจะสร้างความตะลึงงันให้แก่คณะผู้บริหารของจีเอ็มและไครสเลอร์แล้ว ยังสร้างความปั่นป่วนให้แก่บรรดาเจ้าหนี้ของจีเอ็มที่เคยคาดหวังว่า บริษัทผู้ผลิตรถยนต์อันดับหนึ่งของสหรัฐฯ จะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลอีกด้วย
แทนที่จะอนุมัติสินเชื่อเพิ่มเติม 16,000 ล้านดอลลาร์ให้ตามคำขอของจีเอ็ม รัฐบาลโอบามากลับยื่นคำขาดจะให้ความช่วยเหลือแก่จีเอ็มในการประคองกิจการต่อไปอีกเพียง 60 วัน เพื่อให้โอกาสจัดทำแผนฟื้นฟูฉบับใหม่ภายใต้การนำของคณะผู้บริหารชุดใหม่
ริค แวกกอนเนอร์ ซึ่งเข้าดำรงตำแหน่งซีอีโอของจีเอ็มมาตั้งแต่ปี 2000 และเป็นผู้บริหารสูงสุดของบริษัทในช่วงที่กิจการทรุดดิ่งลงอย่างรวดเร็วตลอดเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ถูกแร็ทเนอร์เรียกร้องกดดันให้ลาออกจากตำแหน่ง และเขาก็กระทำตามโดยมีผลทันทีตั้งแต่วานนี้ นอกจากนั้นยังจะมีการปรับเปลี่ยนคณะกรรมการบริหารของบริษัทเป็นลำดับต่อไป
ฟริทซ์ เฮนเดอร์สัน ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ(ซีโอโอ) ได้รับการแต่งตั้งให้ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนใหม่แทน แวกกอนเนอร์
คำแถลงลาออกจากตำแหน่งของแวกกอนเนอร์ระบุตอนหนึ่งว่า เขาเข้าร่วมประชุมกับคณะเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวเมื่อวันศุกร์(27) “พวกเขาขอให้ผมลาออกจากตำแหน่งซีอีโอ.ฃของจีเอ็ม ซึ่งผมก็ตอบตกลงตามนั้น”
แวกกอนเนอร์นับเป็นผู้บริหารระดับสูงคนที่ 2 ของบริษัทธุรกิจเอกชนที่ขอความช่วยเหลือทางการเงินจากรัฐบาลและถูกกดดันให้ลาออกจากตำแหน่ง โดยก่อนหน้านี้ โรเบิร์ต วิลลัมสตัด ซีอีโอของ เอไอจี ได้ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งเป็นคนแรกเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา เพื่อแลกกับการได้รับความช่วยเหลือ 85,000 ล้านดอลลาร์จากรัฐบาลสหรัฐฯ
ก่อนหน้านี้นักวิเคราะห์คาดการณ์กันว่า รัฐบาลสหรัฐฯจะไม่ดำเนินมาตรการรุนแรงกับจีเอ็มและไครสเลอร์ เนื่องจากมีการส่งสัญญาณว่ารัฐบาลต้องการรักษาตำแหน่งงาน 160,000 อัตราในบริษัททั้งสองเอาไว้ต่อไป
นอกจากจีเอ็มแล้ว ไครสเลอร์ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของกองทุนไพรเวตอิควิตี้ฟันด์ ชื่อ เซอร์เบรัส แคปปิตอล แมนเนจเมนท์ ก็ถูกคณะรัฐบาลโอบามายื่นคำขาด ให้เร่งสรุปข้อตกลงควบรวมกิจการกับ เฟียต เอสพีเอ ของอิตาลีภายใน 30 วัน มิฉะนั้นรัฐบาลสหรัฐฯก็จะยุติการให้ความช่วยเหลือ ซึ่งอาจทำให้บริษัทตกอยู่ในสภาพล้มละลายทันที
คณะกรรมการฟื้นฟูอุตสาหกรรมยานยนต์ของทำเนียบขาว ไม่เห็นด้วยกับข้ออ้างของ เซอร์เบรัสที่ว่า ไครสเลอร์ มีโอกาสกลับมายืนอยู่บนลำแข้งตัวเองได้ โดยชี้ว่าไครสเลอร์มีขนาดเล็กกว่าจีเอ็ม มีศักยภาพการแข่งขันต่ำกว่าและส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐฯก็ลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง
คณะทำงานของโอบามากล่าวว่า ถ้าไครสเลอร์เจรจาควบรวมกิจการกับเฟียตได้สำเร็จ และสามารถเจรจาทำความตกลงกับเจ้าหนี้และสหภาพแรงงานเพื่อลดต้นทุนลงได้ กระทรวงการคลังก็จะพิจารณาให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมอีก 6,000 ล้านดอลลาร์
สำหรับการเจรจาควบรวมกิจการระหว่างไครสเลอร์กับเฟียตนั้น เบื้องต้นเฟียตรับปากจะเข้าถือหุ้นในบริษัทใหม่ต่ำกว่า 35 เปอร์เซ็นต์ตามข้อเสนอในการเจรจาครั้งแรก
เจ้าหน้าที่ระดับสูงของทำเนียบขาวเปิดเผยว่า รัฐบาลโอบามายังไม่ได้ปฏิเสธโดยสิ้นเชิงต่อการนำจีเอ็มและไครสเลอร์เข้าสู่กระบวนการล้มละลายตามกฎหมาย ทั้งนี้เพื่อตัดภาระหนี้สินของบริษัททั้งสองออกไป ซึ่งเป็นแนวทางที่แวกกอนเนอร์คัดค้านอย่างแข็งขันมาโดยตลอด โดยชี้ว่าจะทำให้บริษัทสูญเสียความเชื่อมั่นจากผู้บริโภค
กำลังโหลดความคิดเห็น