xs
xsm
sm
md
lg

Mercedes-Benz F-Cell Roadster Concept : จุดบรรจบของอดีตกับอนาคต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ถือว่าเรียกเสียงฮือฮาเอาเรื่องเหมือนกันสำหรับต้นแบบที่เป็นผลผลิตใหม่จากค่ายเมอร์เซเดส-เบนซ์ เมื่อมีการนำแนวคิดการออกแบบในสไตล์ย้อนยุคมาปรับประยุกต์ให้เข้ากับเทคโนโลยีเชื้อเพลิงแห่งอนาคตอย่างเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell) จนนำไปสู่ข้อสรุปด้วยต้นแบบในชื่อ F-Cell Roadster ที่มีรูปทรงเหมือนกับรถยนต์ยุคเริ่มแรกแต่ขับเคลื่อนด้วยความล้ำสมัย

งานนี้เป็นผลผลิตที่มาจากมันสมองของคนรุ่นใหม่ของค่ายเดมเลอร์ โดยทีมงานฝึกหัดจากหลากหลายแผนกของเมอร์เซเดส-เบนซ์ซึ่งประจำอยู่ที่โรงงานเมืองซินเดลฟิงเกนได้จัดการสานฝันแนวคิดนี้ให้เป็นความจริงด้วยการ โดยพนักงานฝึกหัดและนักเรียนที่ศึกษาในรูปแบบของการศึกษา 2 ระบบมากกว่า 150 คน และเจ้าหน้า ที่รุ่นใหม่ของเมอร์เซเดส-เบนซ์ใช้เวลาร่วม 1 ปีในการทำงานทั้งระบบของต้นแบบรุ่นนี้ทั้งในเรื่องการพัฒนา การประกอบ และการติดตั้งเทคโนโลยีต่างๆ เข้าไป

การทำงานของโปรเจ็กต์นี้เป็นการแสดงให้เห็นถึงผลผลิตที่เกิดขึ้นจากแนวคิดในการมองหาพลังแห่งการขับเคลื่อนที่มีความยั่งยืน และตรงนี้ได้กลายเป็นหัวข้อหนึ่งในการให้ความรู้แก่พนักงานฝึกงานและนักเรียนของเรา’ Günther Fleig ผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคลของเดมเลอร์ เอจีกล่าว ‘ผมดีใจอย่างมากที่ได้เห็นผลงานที่เกิดจากพลังสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่เหล่านี้

จุดเด่นของตัวรถเห็นจะเป็นเรื่องของการออกแบบซึ่งมีการหมุนเข็มนาฬิกากลับไปสู่ยุคแรกเริ่มของแวดวงรถยนต์โลกด้วยการนำผลผลิตของ Benz Patent Motor Car ซึ่งเริ่มผลิตรถยนต์ออกสู่ตลาดในปี 1886 มาเป็นแม่แบบในการสร้างสรรค์ร่วมกับรถแข่งฟอร์มูลา วันและมีการปรับแต่งเพื่อให้ต้นแบบรุ่นนี้มีความสวยล้ำสมัยแต่คงความคลาสสิคในทุกรายละเอียด โดยเฉพาะล้อวงโตแบบลายซี่เหมือนกับล้อของรถยนต์ในยุคเริ่มแรก

เห็นหน้าตาอาจจะดูย้อนยุค แต่สิ่งที่นำมาใช้ประกอบขึ้นเป็นคันไม่ธรรมดา ไม่ว่าจะเป็นการนำคาร์บอนไฟเบอร์มาใช้ในการผลิตเบาะนั่ง พร้อมกับหุ้มด้วยหนังแท้เพื่อความสวยงามและหรูหรา ขณะที่ชิ้นส่วนตัวถังเกือบทั้งหมดผลิตจากวัสดุแบบเดียวกับที่ใช้ในการผลิตรถแข่งฟอร์มูลา วัน แถมประตูยังล้ำสมัยด้วยการเปิดเฉียงขึ้นในลักษณะ Scissor Door เหมือนกับซูเปอร์คาร์รุ่นเอสแอลอาร์ แม็กลาเรน

ตลอดทั้งตัวรถใช้ระบบ By-Wire ในการควบคุมการทำงานฟังก์ชั่นต่างๆ เช่น ระบบบังคับเลี้ยว ระบบคันเร่ง หรือระบบเบรก ทำให้ช่วยลดน้ำหนัก เพราะไม่มีชิ้นส่วนมากมายเหมือนกับระบบกลไกที่ใช้อยู่ในรถยนต์ทั้งในอดีตและปัจจุบัน โดยการบังคับควบคุมทิศทางจะถูกกระทำผ่านทางจอยสติกแทนที่พวงมาลัยแบบเดิมๆ

ระบบขับเคลื่อนถูกวางเอาไว้ที่ด้านท้ายเป็นแผงเซลล์เชื้อเพลิงที่ถูกออกแบบให้มีความกะทัดรัด แต่มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยสามารถผลิตกำลังไฟฟ้าออกมาได้ในระดับ 1.2 กิโลวัตต์สำหรับส่งให้กับมอเตอร์ไฟฟ้าใช้ในการขับเคลื่อน และแล่นทำความเร็วสูงสุดได้ 25 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขณะที่ไฮโดรเจนที่ถูกใช้เป็นเชื้อเพลิงในระบบ แม้จะไม่มีการเปิดเผยตัวเลขความจุออกมา แต่จากการทดสอบของค่ายดาว 3 แฉกพบว่า ต้นแบบรุ่นนี้สามารถแล่นทำระยะทางได้มากถึง 350 กิโลเมตรต่อการเติม 1 ครั้ง

เห็นหน้าตาอย่างนี้แล้ว คงไม่ต้องมาถามเลยว่าจะมีการผลิตออกขายในอนาคตหรือไม่

กำลังโหลดความคิดเห็น