xs
xsm
sm
md
lg

เอือม พณ.อ่อนตาม บ.ยาข้ามชาติ จี้ “อลงกรณ์” เปิดแอกชันแพลน หวั่นตกหลุมพราง “ฟาร์มา”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ภาคประชาสังคม เอือมท่าที ก.พาณิชย์ สยบยอมอุตสาหกรรมยาข้ามชาติ รับปากใช้ซีแอลเป็นไม้ตายสุดท้าย หวั่นตกลงทำแผนปฏิบัติการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาตกหลุมพรางฟาร์มา ร้องเปิดแผนแอกชันแพลน

นายบริพัตร ดอนมอญ ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า หลังจาก นายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้เดินทางไปเยือนสหรัฐฯ โดยได้รับปากสมาคมอุตสาหกรรมยาสหรัฐฯ (PhRMA) และองค์กรอุตสาหกรรมไบโอเทค (BIO) ว่า จะใช้ซีแอลเป็นหนทางสุดท้ายเพื่อการเข้าถึงยาราคา และยังได้ตกลงทำแผนปฏิบัติการ หรือแอกชันแพลน (Action Plan) ร่วมกันเพื่อคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญามากขึ้น ซึ่งท่าทีดังกล่าวสร้างความสับสนและผิดหวังให้กับภาคประชาสังคมไทยเป็นอย่างมาก

“ไม่รู้ว่ารัฐมนตรีกลับคำหรือเปล่า เพราะตอนนั้นรัฐมนตรียืนยันกับประชาชนที่ไปพบอย่างชัดเจนว่า หากมีความจำเป็นต้องทำซีแอล ก็จะดำเนินการทันที เพราะถือเป็นนโยบายของทั้งกระทรวงพาณิชย์และรัฐบาล ไม่ได้บอกว่าจะใช้ซีแอลเป็นแค่หนทางสุดท้าย และที่น่าสงสัยที่สุด คือ แผนปฏิบัติการ ที่ทำร่วมกันกับฟาร์มา มีเนื้อหาเป็นอย่างไร ไปยอมอ่อนข้อให้ประเทศไทยต้องรับเงื่อนไขที่เกินไปกว่าข้อตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญา หรือ ทริปส์ หรือไม่ เพราะข้อกล่าวหาของฟาร์ม่าเกินไปกว่าข้อตกลงทริปส์ทั้งสิ้น ซึ่งจะจัดขวางการเข้าถึงยาราคาถูกของประชาชน"นายบริบัตร กล่าว

นายบริบัตร กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังมีความกังวลว่า รัฐบาลกำลังสมคบกับบริษัทยา มาบังคับให้ประชาชน “ร่วมจ่าย” (co-pay) โดยอ้างว่า เป็นวิธีการใหม่ๆเพื่อให้เข้าถึง “ยาราคาแพง”

ด้านน.ส.สุภัทรา นาคะผิว ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ และประธานคณะกรรมการองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ (กพอ.) กล่าวว่า ได้หารือกับนายอลงกรณ์ก่อนเดินทางไปสหรัฐฯ ซึ่งท่าทีของรัฐมนตรีเป็นการอ่อนข้อต่ออุตสาหกรรมยาจนเกินไป เจรจาอย่างไม่มีศักดิ์ศรีเสมอกัน ทั้งที่ขณะนี้ฟาร์มาและไบโอเทค มีสถานะทางสังคมที่ตกต่ำอย่างมากในสหรัฐฯ

“ทั้งสององค์กรเสนอให้ไทยเป็นประเทศที่ถูกจับตามองสูงสุด (PFC) มาแล้วไม่ต่ำกว่า 3 ปี แต่ไม่เคยได้รับการตอบสนองจากรัฐบาลสหรัฐฯ และทั้งสององค์กรล็อบบี้ยิสต์นี้ ก็ไม่ได้กล่าวหาเฉพาะไทยประเทศเดียว แต่ยังกล่าวหาอีกหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็น แคนาดา ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส อินเดีย บราซิล ฯลฯ ไม่เพียงเท่านั้น จากการประเมินของผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ก็เชื่อว่า อุตสาหกรรมยากำลังเผชิญวิกฤต เพราะขณะนี้รัฐบาลโอบาม่า กำลังจะปฏิรูประบบสุขภาพให้ประชาชนเข้าถึงยาและการรักษามากขึ้น ซึ่งนั่นจะต้องทำให้ยามีราคาถูกลง อุตสาหกรรมยาจึงหมดโอกาสที่จะทำกำไรสูงสุดอย่างในยุคของรัฐบาลบุชแล้ว”น.ส.สุภัทรา กล่าว

ประธาน กพอ.กล่าวต่อว่า ขอเรียกร้องให้กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยสาระของแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ที่ไปทำร่วมกับกลุ่มธุรกิจในสหรัฐฯ รวมทั้งอุตสาหกรรมยา เพราะจากแผนปฏิบัติการที่สหรัฐฯเคยเสนอมาก่อนหน้านี้ เกินไปกว่าข้อตกลงทริปส์ทั้งสิ้น เช่น บังคับให้ไทยแก้ไขกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อยืดอายุสิทธิบัตรและลิขสิทธิ์บังคับให้ไทยผูกขาดข้อมูลทางยา อนุญาตให้บังคับใช้สิทธิเฉพาะสถานการณ์ฉุกเฉินระดับชาติเท่านั้น และบังคับให้ สำนักงาน อย.ทำหน้าที่ตรวจสอบทรัพย์สินทางปัญญา แทนที่จะใส่ใจเรื่องคุณภาพยาเท่านั้น ซึ่งนายอลงกรณ์ได้รับปากว่า จะไม่ยอมอะไรที่เกินไปกว่าทริปส์ และไม่ขายตัว ขายชาติ ขอให้รับผิดชอบคำพูดตัวเองด้วย

น.ส.สุภัทรา กล่าวว่า ส่วนในประเด็นการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา (R&D) ที่รัฐมนตรีช่วยพาณิชย์อ้างว่า จะได้รับความร่วมมือจากอุตสาหกรรมยาข้ามชาติมากขึ้นนั้น ถือว่าไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมยาข้ามชาติไม่เคยยอมถ่ายทอดเทคโนโลยีเลย แต่ยังพยายามที่จะขัดขวางการผลิตยาชื่อสามัญด้วยวิธีการต่างๆ ดังนั้นการส่งนักวิจัยให้ไปเข้าการอบรมโดยองค์กรอุตสาหกรรมไบโอเทคที่เมืองแอตแลนต้า คงจะไม่ได้ประโยชน์อะไร นอกจากไปถูกล้างสมองให้เชื่อว่า ต้องคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาสูงสุด เช่นที่ ข้าราชการหลายคนในกรมทรัพย์สินทางปัญญาเป็นอยู่ในขณะนี้

ดังนั้น หากอุตสาหกรรมยามีความจริงใจควรร่วมมือและสนับสนุนการทำสิทธิบัตรร่วม (Patent Pool)ที่เป็นมติของสมัชชาอนามัยโลก โดยนำสิทธิบัตรที่แต่ละบริษัทมีอยู่มารวมกองแล้วเปิดโอกาสให้บริษัทยาชื่อสามัญของประเทศกำลังพัฒนานำไปพัฒนาต่อยอดผลิตเป็นยารวมเม็ด (Fix dose combination) หรือสูตรยาที่เหมาะกับสภาพแวดล้อมในประเทศกำลังพัฒนา ทั้งนี้บริษัทเจ้าของสิทธิจะได้รับค่าตอบแทนที่สมเหตุสมผล จึงจะเป็นหนทางหนึ่งในการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาที่แท้จริง
กำลังโหลดความคิดเห็น