xs
xsm
sm
md
lg

ชง 2 แนวทางกองทุนบำนาญฯ คนชรา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นักวิชาการเสนอกองทุนบำนาญฯ ให้คนชรา 2 แนวทาง ให้ประชาชนออมเงินยามชรา เตรียมเสนออนุกรรมการ 28 เมษายนนี้ เสนอต่อ กก.ผู้สูงอายุแห่งชาติ ตัดสินใจ

นางวรวรณ ชาญด้วยวิทย์ นักวิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ขณะนี้มีวัยทำงานประมาณ 44 ล้านคน แต่ในจำนวนนี้ 30 ล้านคน ไม่มีหลักประกันในการใช้จ่ายยามชราและหากหวังรอเงินค่าเบี้ยยังชีพจากรัฐบาล 500 บาทต่อเดือน ซึ่งในอีก 20 ปีหน้ามูลค่าเบี้ยยังชีพจะเหลือเพียง 300 บาท ซึ่งเมื่อเทียบค่าที่จะเพียงพอเฉพาะค่าอาหารเท่านั้นในอีก 40 ปี ข้างหน้าจะใช้เงินประมาณ 650 บาทต่อคนต่อเดือน ดังนั้น ทางฝ่ายนักวิชาการได้ร่วมกับกระทรวงการคลังได้เตรียมนำเสนอแนวทางระบบกองทุนบำนาญแห่งชาติ 2 แนวทาง เสนอให้กับคณะอนุกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติในวันที่ 28 เม.ย.นี้ เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ที่มี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานตัดสินใจต่อไป

นางวรวรรณ กล่าวว่า สำหรับ 2 แนวทางที่ได้สรุป คือ 1.กระทรวงการคลัง เสนอคือ การให้ประชาชนออมเงินในกองทุนบำนาญแห่งชาติ โดยบังคับออมตั้งแต่อายุ 15-59 ปี เดือนละ 100 บาท โดยรัฐบาลจะช่วยออมเพิ่มอีกเดือนละ 50 บาท จะสะสมเป็นบัญชีของแต่ละบุคคล และจะปันผลบำนาญในยามเกษียณอายุเป็นเงิน 2 ส่วน เป็นเงินเบี้ยยังชีพที่รัฐบาลออกให้คนละ 500 บาท รวมกับเงินออม 150 บาท พร้อมกับดอกเบี้ย โดยให้ไปตลอดชีวิต ส่วนแนวทางที่ 2 ที่นักวิชาการเสนอประชาชนอายุ 20-59 ปี บังคับออม 50-500 บาทต่อเดือน โดยเมื่อชราจะได้เงินบำนาญ 738-2876 บาท ในจำนวนนี้รวมเงินเบี้ยยังชีพที่รัฐบาลให้จำนวน 500 บาทต่อคนต่อเดือนแล้ว แต่แนวทางที่ 2 มีข้อแตกต่างที่หากเสียชีวิตก่อนเกษียณจะได้รับเงินฌาปนกิจสงเคราะห์จำนวน 6,000 บาท พร้อมกับเงินที่สมทบเข้ากองทุนบำนาญฯที่เก็บสะสมมาจะคืนให้กับญาติที่ระบุไว้

“นอกจากนี้ สิทธิที่ประชาชนที่ออมไว้ตอนชราจะได้เป็นเงินบำนาญแล้ว ยังได้บำนาญชราภาพ เงินบำเหน็จตกทอดให้กับญาติหากเสียชิวิตก่อนเกษียณแล้ว กองทุนดังกล่าวยังสามารถนำเงินออมไปลงทุนโดยมีหลายรูปแบบให้ผู้ออมเลือกด้วย หากต้องการกำไรสูงก็มีความเสี่ยงสูงตาม หากกำไรต่ำก็มีความเสี่ยงต่ำตามไปด้วย โดยประชาชนสามารถขึ้นทะเบียนได้จากสำนักงานเขตทุกแห่งทั่วประเทศ จ่ายเงินเข้ากองทุนฯก็ง่ายด้วยการจ่ายผ่านเช่นเดียวกับเบี้ยประกันสังคม หักบัญชีธนาคาร หรือจ่ายตามเคาวเตอร์เซอร์วิสต่างๆ ไปรษณีย์ฯลฯ และเมื่ออายุ 60 ปีก็ไปขึ้นทะเบียนผู้สูงอายุรับเบี้ยบำนาญฯนี้”นางวรวรรณ กล่าว

นางวรวรรณ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้เคยได้หารือกับฝ่ายการเมือง แต่พรรคไทยรักไทยได้เห็นว่าการจูงใจให้ประชาชนมาออมเป็นเรื่องยากมากกว่าการแจกเงิน เช่นเดียวกันกับพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) แต่ในก่อนที่จะ ปชป.จะมาจัดตั้งรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ ได้เคยเสนอนโยบายผู้สูงอายุเกี่ยวกับเบี้ยยังชีพ แล้ววันนี้ก็เป็นความจริง ซึ่งการฝ่ายการเมืองมองว่า การขยายเบี้ยยังชีพเป็นเรื่องง่ายที่สุดที่ที่จะทำได้ จึงมีแนวทางประชานิยมเช่นนี้ แต่โครงการประชานิยมเป็นเรื่องที่ไม่ยั่งยืน ดังนั้นการเลิกนโยบายประชานิยมมาสู่การจัดการที่เป็นระบบเป็นเรื่องที่ดี แม้ว่าภายใน 1-2 ปี ฝ่ายการเมืองไม่สนใจซื้อนโยบายนี้หรือไม่ แต่เชื่อว่า ภายใน 2-3 ปี จะมีฝ่ายการเมืองรับลูก เพราะภาคประชาชนทั้งหลายเรียกร้อง

“เป็นเรื่องยากคือ การจูงใจให้ประชาชนเก็บออมในกองทุนบำนาญฯ แต่ถ้าไม่เริ่มวันนี้ดีกว่าไม่ทำ ดังนั้นฝ่ายวิชาการได้พยายามสร้างความเข้าใจในการให้ประชาชนวางแผนชีวิตของตนเองในอนาคต อยากมีเงินไว้ใช้จ่ายมากกว่าค่าอาหารที่รัฐให้ในนามของเบี้ยยังชีพหรือไม่ รวมถึงให้ประชาชนเห็นความสำคัญของปัญหาในอนาคต เมื่อโครงการนี้คลอดแล้วมีประชาชนเพียง 50% มาร่วมออกก็ถือว่าสำเร็จแล้ว และกองทุนดังกล่าวจะไม่ล้ม เพราะเป็นบัญชีของใครของมัน”นางวรวรรณ กล่าว

นางวรวรรณ กล่าวว่า กองทุนดังกล่าวจะมีงบประมาณ 4.3 หมื่น-1 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนงบประมาณกับเบี้ยยังชีพที่รัฐต้องจ่ายอยู่แล้ว อีกทั้งในกฎหมายจัดการไว้ให้การบริหารงานกองทุนโปร่งใส โดยกองทุนบำนาญฯเป็นนิติบุคคลที่ไม่ใช่หน่วยงานของรัฐ และรัฐวิสาหกิจ แต่ต้องรายงานผลให้ รมว.คลัง นำเข้าสู่สภาทุก 3 เดือน อีกทั้งคณะกรรมการจะโปร่งใส เนื่องจากมีการตั้งคณะกรรมการสรรหาจากทุกภาคส่วน ประกอบด้วย รมว.คลังตั้งประธานคณะกรรมการสรรหา และมีผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(กลต.) และภาคประชาชนจาก 4 ภาค 4 คน และกทม. 1 คน และเมื่อมีข้อสงสัยอยากตรวจสอบรมว.คลังแลภาคประชาชนสามารถตรวจสอบการทำงานได้

“เนื่องจากในระบบเป็นการออกแบบให้กับผู้ที่ไม่มีหลักประกันในชีวิตยามชรา แต่หากส่วนแรงงานที่มีกองทุนชราภาพต้องการที่จะโอนเงินในกองทุนชราภาพหรือจะจ่ายเบี้ยประกันสังคมเพิ่มเพื่อให้มาออมในกองทุนบำนาญฯ ในพ.ร.บ.กองทุนบำนาญฯก็ไม่ได้ห้ามไว้ ซึ่งหากเป็นความต้องการของประชาชนในท้ายสุดสำนักงานประกันสังคมก็จะต้องแก้ไขกฎหมายต่อไป”นางวรวรรณ กล่าว

นพ.ถาวร สกุลพาณิชย์ ผู้อำนวยการโครงการปฏิรูประบบสุขภาพ กล่าวว่า แนวความคิดของแหล่งเงินทุนในระบบบำนาญแห่งชาติที่นำเม็ดเงินจากการขึ้นภาษีกับเงินออมของแต่ละบุคคล ไม่ต่างกันมากนักในแนวคิด แต่ที่รัฐเก็บจากภาษีนั้นเป็นเรื่องยากลำบาก ไม่ว่าจะนำภาษีมาจากส่วนใด ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีมรดก รัฐบาลอาจแบกรับภาระไม่ไหว และประชาชนก็แบกรับภาระไว้อยู่ดี หรืออีกแนวทางคือการออมแบบของใครของมัน

“กองทุนดังกล่าวเกิดขึ้นสำหรับประชาชนที่ไม่มีนายจ้างครอบคลุม ส่วนกลุ่มที่มีนายจ้าง มีกองทุนชราภาพ แต่ไม่เหมือนกัน ซึ่งต้องมาในให้เข้ากันกับกองทุนบำนาญฯ ซึ่งหนีไม่พ้นในการเข้ามาบริหารด้วยกัน แม้การบริหารงานจะต่างกันแต่สิทธิพื้นฐานจะต้องมีมาตรฐานระดับเดียวกัน”นพ.ถาวร กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น