xs
xsm
sm
md
lg

จีเอ็มออกแถลงการณ์โต้CNN(สรยุทธ์)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บริษัม เจเนอรัล มอเตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด หรือ จีเอ็มออกแถลงการณ์หลังมีรายงานข่าวจาก ซีเอ็นเอ็น (จากนั้นรายการเรื่องเล่าเช้านี้โดยสรยุทธ์ สุทัศนะจินดานำมารายงานต่อ) เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา เกี่ยวกับผลกระทบจากการปลดคนงาน และหยุดการผลิตที่โรงงานจังหวัดระยอง โดยอ้างถึงนายเอก ทองเอี่ยม อดีตพนักงานที่กำลังได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก

แจงเอกเป็นพาร์คินสันไม่เกี่ยวโรงงาน

จีเอ็ม ประเทศไทย ขอชี้แจงในประเด็นเกี่ยวกับอดีตพนักงานของจีเอ็ม คือคุณเอก ทองเอี่ยม ที่มีรายงานออกไปอย่างไม่ถูกต้องในบางประเด็น

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และคณะกรรมาธิการการประกันสังคม ได้ตรวจสอบความจริงและสรุปผลที่เกิดขึ้นว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับคุณเอก ไม่ได้เกิดจากความหละหลวม หรือข้อบกพร่องของจีเอ็ม รวมถึงไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคุณเอกด้วย อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับคุณเอกในโรงงานพ่นสีนั้นมีสาเหตุเกิดจากสุขภาพร่างกายของเขา ซึ่งในภายหลังได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคพาร์คินสัน

คุณเอก เริ่มทำงานเป็นพนักงานชั่วคราวกับจีเอ็ม (จากบริษัทจัดหางาน Manpower) ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2548 ในโรงงานพ่นสี ไลน์ ม้อยแซนด์ หน้าที่รับผิดชอบของเขาคือการขัดเปียกในสายการผลิต และจากนั้นในเดือนมิถุนายน พ.ศ.2549 คุณเอก ได้รับการบรรจุให้เป็นพนักงานประจำของจีเอ็ม ประเทศไทย

อย่างไรด็ตามในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2550 คุณเอก ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคพาร์คินสัน จีเอ็มจึงเปลี่ยนให้คุณเอกมาทำงานที่เบาลงกว่าเดิมในส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับสายการผลิตรถยนต์ โดยหน้าที่หลักของเขาคือการซักทำความสะอาด อบแห้ง และพับชุดที่ใช้ในโรงงานพ่นสี

ย้ำโรงงานปลอดภัยได้มาตรฐาน

จีเอ็ม ยึดมั่นในนโยบาย และกฎระเบียบเรื่องความปลอดภัยอย่างเคร่งครัดที่สุด ซึ่งไม่ใช่แค่ให้เป็นไปตามกฎหมายแรงงานของไทยเท่านั้น หากยังรวมถึงข้อบังคับตามกฎหมายแรงงานสากลด้วย จีเอ็มไม่เคยประนีประนอมหรืออะลุ้มอล่วยในประเด็นเรื่องความปลอดภัย

นอกจากนี้ เราเป็นบริษัทที่ได้รับการรองรับตามมาตรฐานคุณภาพสากล ISO และมีนโยบายที่เข้มงวดและชัดเจนที่จะต้องปฏิบัติตามความปลอดภัยในการดำเนินงาน การสวมผ้าปิดจมูกเพื่อป้องกันการสูดดมก๊าซ กลิ่น และสารเคมีที่เป็นอันตราย เป็นส่วนหนึ่งของข้อบังคับ ที่จีเอ็มไม่เคยโอนอ่อน หรืออะลุ้มอล่วยในข้อบังคับนี้

นอกจากการมุ่งเน้นด้านความปลอดภัย และการคำนึงถึงสวัสดิภาพของพนักงานแล้ว เรายังมีแผนกดูแลสุขภาพตลอดเวลาที่มีการทำงานของพนักงานประจำอยู่ที่โรงงาน โดยมีพยาบาล และแพทย์ (ในบางครั้ง) ประจำอยู่ตลอดเวลาที่พนักงานปฏิบัติงานอยู่ในโรงงาน

ย้ำปิดโรงงานชั่วคราวรวมแค่ 8 สัปดาห์

การปลดพนักงานเป็นทางเลือกสุดท้ายสำหรับเราเสมอ การตัดสินใจใช้มาตรการปลด พนักงานต้องผ่านการพิจารณาด้วยความเป็นธรรมอย่างแท้จริง และอยู่บนพื้นฐานหลักเกณฑ์อันเข้มงวดของฝ่ายทรัพยากรบุคคลของจีเอ็ม จีเอ็มสร้างความเชื่อมั่นแก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเสมอว่า จะไม่มีการใช้มาตรการนี้ด้วยความลำเอียง หรือนำเรื่องส่วนตัวมาเกี่ยวข้องกับกระบวนการตัดสินใจนี้โดยเด็ดขาด

โครงการสมัครใจลาออก และการปลดพนักงาน เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ในภาวะที่ความต้องการซื้อรถยนต์ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้การผลิตรถยนต์ของเราต้องปรับตัวลดลงตามไปด้วย

แผนการปรับโครงสร้างการดำเนินงานของเรา ครอบคลุมถึงโครงการสมัครใจลาออก ที่เสนอค่าตอบแทนแก่พนักงานที่ร่วมโครงการสูงกว่าที่กฎหมายแรงงานไทยระบุไว้ อย่างไรก็ตาม ด้วยภาวะวิกฤตที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น บริษัทฯจำเป็นต้องใช้มาตรการอื่นๆ ซึ่งก็ยังคงเป็นไปตามที่กฎหมายแรงงานของไทยกำหนด เพื่อให้ตรงตามแผนการปรับโครงสร้างของเรา

โดยข้อเสนอผลตอบแทนของเรานั้น สูงกว่าที่กฎหมายระบุไว้ แสดงให้เห็นถึงความพยายามดูแลพนักงานของเราอย่างดีที่สุดเรายังไม่มีแผนการปลดพนักงานเพิ่มเติมแต่อย่างใด ซึ่งตรงกันข้ามกับรายงานข่าวบางชิ้นที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง

ด้วยวิกฤตที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น และความจำเป็นที่จะต้องจัดการการใช้จ่ายเงินอย่างระมัดระวัง เราได้ปิดโรงงานชั่วคราวมาแล้ว 2 ครั้ง ตั้งแต่เดือนธันวาคมที่ผ่านมา และจะปิดอีกครั้งหนึ่งในวันที่ 23-27 มีนาคม 2552 รวมทั้งสิ้น 8 สัปดาห์ ซึ่งมีบางรายงานแจ้งข้อมูลผิด ว่าปิดถึง 3 เดือน ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับการจัดการคลังสินค้า เนื่องจากความต้องการรถยนต์จากลูกค้าได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง และโรงงานจะเปิดเพื่อดำเนินการอีกครั้งในวันที่ 30 มีนาคม นี้

ปัดล้มละลายมุ่งเติบโตระยะยาว

บริษัทจีเอ็มในส่วนภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค รวมถึงประเทศไทย สามารถพึ่งพาตัวเองได้และมีความสามารถที่จะดำเนินงานได้โดยอิสระ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการดำเนินงานงานโดยอิสระจากบริษัทแม่ในสหรัฐอเมริกา ทั้งในด้านของผลิตภัณฑ์ เทคโนโลยี และเงินทุน ความคุ้มครองจากภาวะล้มละลายตามมาตรการ 11 หากมีก็เป็นเพียงนัยสำคัญต่อบริษัทแม่ในสหรัฐฯเท่านั้น ทั้งนี้จีเอ็ม อาเซียนจะยังคงมุ่งมั่นต่อพันธกิจหลักของเราที่มีให้กับลูกค้าในภูมิภาคนี้ ซึ่งก็คือการผลิตนำเสนอยานยนต์คุณภาพ บริการคุณภาพ รวมถึงเทคโนโลยีที่ดีที่สุด เพื่อการเติบโตในการดำเนินดำเนินธุรกิจของเราในระยะยาว

อย่างที่เราได้กล่าวไปแล้ว วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นได้ส่งผลต่อสภาวะเศรษฐกิจทั่วโลก เราไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า ทุกอุตสาหกรรมรวมถึงอุตสาหกรรมรถยนต์ต่างได้รับผลกระทบในระยะสั้น จีเอ็ม อาเซียนได้เฝ้าจับตาดู และวิเคราะห์สถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด เพื่อพัฒนาแผนการดำเนินงานที่ใช้ในการรองรับสถานการณ์อยู่เป็นระยะ ซึ่งบริษัทยานยนต์อื่นๆต่างก็เผชิญกับอุปสรรคเช่นกัน อย่างไรก็ตาม แต่ละบริษัทต่างก็มีวิธีการจัดการกับปัญหาที่แตกต่างกันเพื่อบรรลุเป้าหมายที่เหมือนกัน นั่นก็คือการผ่านพ้นวิกฤตกาณ์นี้ไปให้ได้ และพัฒนาวงการอุตสาหกรรมรถยนต์ในส่วนภาคพื้นอาเซียน

จีเอ็มอาเซียน เชื่อว่า เมื่อสถานการณ์ปรับตัวดีขึ้นบริษัทยานยนต์ทุกบริษัทจะกลับมาฟื้นตัวและมีความสามารถในการแข่งขันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก และด้วยคุณภาพของสินค้า รวมถึงความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยียานยนต์ และเทคโนโลยีการประหยัดพลังงานของเรา ท้ายที่สุดแล้วประโยชน์ก็จะตกอยู่กับผู้บริโภค

แท้จริงแล้ว บริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท เชฟโรเลต เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ไม่ได้อยู่ในภาวะที่เสี่ยงต่อการล้มละลาย และเราไม่มีความตั้งใจที่จะยื่นเข้าภาวะล้มละลายแต่อย่างใดทั้งสิ้น ซึ่งตรงกันข้ามกับความเข้าใจของสาธารณชนที่ได้รับฟังข่าว และข้อมูลที่บิดเบือนและไม่เป็นความจริงทั้งหมด
ล่าสุด มีนิตยสารฉบับหนึ่งรายงานข่าวว่าบริษัท เชฟโรเลต เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นหนึ่งในบริษัทที่มีแนวโน้มสูงที่จะล้มละลายนั้น เราขอชี้แจงว่าข้อมูลที่ระบุในข่าวฉบับนั้นไม่ถูกต้อง เนื่องจากตัวเลขที่ระบุในรายงานดังกล่าวมิได้พิจารณาจากตัวเลขรายได้รวมของบริษัทฯ เมื่อเปรียบเทียบกับบริษัทอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดอันดับ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

บริษัท เชฟโรเลต เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นเพียงหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการตลาด และจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของบริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัดดังนั้น จึงเป็นการสรุปเรื่องในบทความอย่างไม่ถูกต้อง โดยการที่พิจารณาสถานะทางการเงินของบริษัทฯจากหน่วยงานดังกล่าวแต่เพียงอย่างเดียว โดยมิได้คำนึงถึงหน่วยงานอื่นๆที่อยู่ภายใต้บริษัทเดียวกัน ยิ่งไปกว่านั้น ข้อสรุปดังกล่าว เป็นตัวเลขที่มาจากการพิจาณาในปี 2551 เพียงปีเดียว ในขณะที่บริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท เชฟโรเลต เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2543

โดยรวมแล้ว บริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท เชฟโรเลต เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ตั้งแต่มาดำเนินธุรกิจในประเทศไทยและในภูมิภาคในช่วงสามปีหลังมานี้ สร้างผลกำไรที่สมเหตุสมผล

เราได้มีโอกาสในการลงทุนเพิ่มเติมกับธุรกิจของเราในประเทศไทย ขณะที่ธุรกิจของเราสร้างผลกำไร ซึ่งการลงทุนดังกล่าว ได้รวมถึงการลงทุนในโครงการโรงงานผลิตเครื่องยนต์ดีเซล และ โครงการผลิตรถปิกอัพสายพันธุ์ใหม่ ก่อนเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่ส่งผลกระทบในทุกอุตสาหกรรม
กำลังโหลดความคิดเห็น