“เมล ไพแอท” อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารวอลโว่ อีเว่นท์ ได้ให้เหตุผลที่บริษัทยานยนต์ยักษ์ใหญ่จากยุโรปให้ความสนับสนุนการแข่งขันรายการสุดท้ายของยูโรเปียนทัวร์และเอเชียนทัวร์ ภายใต้ชื่อวอลโว่ มาสเตอร์ส และ วอลโว่ มาสเตอร์ส ออฟ เอเชีย เอาไว้ว่า “นี่คือทัวร์นาเม้นท์ที่คัดเอาเฉพาะนักกอล์ฟชั้นนำของทั้งสองทัวร์ฯ และเป็นสนามที่พวกเขาจะได้พิสูจน์ฝีมือเป็นรายการสุดท้าย ความน่าสนใจของรายการไม่ได้ขึ้นอยู่ที่ว่ามีซูเปอร์สตาร์จากวงการกอล์ฟเข้าร่วมหรือไม่ มีจำนวนเงินรางวัลสูงอยู่ในระดับล้านเหรียญสหรัฐฯ หากความสำคัญของทัวร์นาเม้นท์นี้คือการได้เข้าร่วมเพราะนี่คือรายการที่ให้สิทธิเฉพาะนักกอล์ฟที่มีอันดับ 1-60 ของตารางทำเงินเท่านั้น”
ความหมายในคำพูดของ เมล ไพแอท นั้นนอกจากจะยกให้ วอลโว่ มาสเตอร์ส และ วอลโว่ มาสเตอร์ส ออฟ เอเชีย เป็นรายการแห่งเกียรติยศแล้ว การได้เข้าร่วมที่ให้สิทธิเฉพาะโปรที่มีอันดับตามกำหนดในตารางรายได้เท่ากับเป็นการคัดกรองโปรชั้นนำที่เมื่อถึงการแข่งขันวอลโว่ฯ พวกเขาก็คือ “ครีม” ของทัวร์ฯที่จะได้ลงดวลวงสวิงกัน
สำหรับ วอลโว่ มาสเตอร์ส ออฟ เอเชีย ที่จัดขึ้นบนสนามไทยคันทรี่ คลับเป็นปีที่ 4 ติดต่อกันเรียกได้ว่าประสบความสำเร็จมาโดยตลอดในแง่ของทัวร์นาเม้นต์ ยิ่งในปีนี้เมื่อ แพร์ อิริคสัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารวอลโว อีเว่นต์ คนใหม่เปิดโอกาสให้กับนักกอล์ฟในเอเชี่ยนทัวร์ ด้วยการให้สิทธิโปรที่มีอันดับอยู่ในตารางทำเงิน 1-65 เพิ่มจากเดิมอีก 5 อันดับเข้าร่วมการแข่งขัน ยิ่งทำให้ดีกรีความน่าสนใจของรายการปิดท้ายเอเชียนทัวร์ครั้งนี้น่าสนใจมากยิ่งขึ้น
แม้ว่าการแข่งขันวอลโว่ มาสเตอร์ส ในยุโรปจะปิดฉากของทัวร์นาเม้นต์ที่จัดติดต่อกันมา 21 ปีลงอย่างถาวรเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาหากวอลโว่ มาสเตอร์ส ออฟ เอเชีย ยังคงอยู่และมีแนวโน้มที่จะพัฒนาความน่าสนใจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะเหล่านักกอล์ฟที่เข้าร่วมรายการนั้น ไม่เพียงจะทำผลงานในเอเชี่ยนทัวร์ หากแต่ยังก้าวข้ามไปโชว์วงสวิงในยุโรปและ ญี่ปุ่น ซึ่งทำให้สีสันของการแข่งขันเพิ่มความเข้มข้นขึ้นทุกปี
จากจุดเริ่มต้นของวอลโว่ มาสเตอร์ส ออฟ เอเชียที่สนาม “โกตา เปอร์มาย กอล์ฟ แอนด์ คันทรี่ คลับ” ประเทศมาเลเซียในปี 2002 และเว้นวรรคมาจัดที่เมืองไทยที่สนามบางกอก กอล์ฟ คลับในปี 2003 จากนั้นกลับไปที่มาเลเซียอีกครั้งในปี 2004 แต่หลังจากนั้นในปี 2005 จนถึงปัจจุบันการแข่งขันปิดท้ายฤดูกาลของเอเชี่ยนทัวร์ ก็ถูกจัดขึ้นบนสนามไทยคันทรี่ คลับ ติดต่อกันมาเป็นปีที่ 4 และมีการคาดหมายว่าสนามชั้นนำของไทยแห่งนี้จะได้ทำหน้าที่เจ้าภาพอีกครั้งในปี 2009
การที่สนามกอล์ฟในเมืองไทยได้ทำหน้าที่ดังกล่าวนับว่าเป็นเรื่องน่าภาคภูมิใจอย่างยิ่ง เพราะถ้าเทียบไปแล้วไทยคันทรี่ คลับก็ไม่ต่างจากสนามดังอย่าง “วัลเดอร์ราม่า” ในแคว้นอันตาลูเชียประเทศสเปน เพราะตลอดทั้ง 4 ปีของการทำหน้าที่สนามแข่งสุดท้ายของฤดูกาลนั้น บรรดาโปรที่เข้าร่วมต่างยอมรับว่านี่คือทัวร์นาเม้นต์ปิดท้ายที่สมบูรณ์แบบมากที่สุดประการสำคัญคือการต้อนรับอย่างอบอุ่นของคนไทยทำให้ นักกอล์ฟหลายรายไม่ปฏิเสธที่จะกลับมาเยือนเมืองไทยอีกครั้ง
แม้ว่าจะได้รับการยอมรับจากเหล่านักกอล์ฟในเอเชี่ยนทัวร์ หากวอลโว่ มาสเตอร์ส ออฟ เอเชีย ก็ยังประสบปัญหาเรื่องความสนใจของผู้เข้าชมที่ไม่ได้มีจำนวนมากนักเมื่อเทียบกับทัวร์นาเม้นท์ลักษณะเดียวกันในยุโรป ขณะเดียวกันการให้ความสนใจจากภาครัฐในฐานะที่เป็นรายการระดับนานาชาติก็ยังมีอยู่น้อยมาก แต่ด้วยความตั้งใจของวอลโว ที่ต้องการให้นี่คือทัวร์นาเม้นต์ที่ดีที่สุดของเอเชีย การแข่งขันจึงถูกจัดขึ้นอย่างสมบูรณ์แบบทุกปี และเปิดให้แฟนกอล์ฟได้ชมการแข่งขันโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
สำหรับการแข่งขัน วอลโว มาสเตอร์ส ออฟ เอเชีย ประจำปี 2008 นั้นเริ่มต้นการแข่งขันวันแรกเมื่อพฤหัสที่ 18 ธันวาคม 51 โดยวันสุดท้ายจะมีขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 21 ธันวาคม 51 สำหรับแฟนกอล์ฟชาวไทยนี่คือโอกาสสำคัญที่จะได้สัมผัสกับทัวร์นาเม้นต์ระดับนานาชาติที่ทำให้นักกอล์ฟในเอเชีย ได้ไปโลดแล่นในระดับยูโรเปียนทัวร์ และ พีจีเอ ทัวร์มาแล้วซึ่งหนึ่งจำนวนนั้นมีชื่อของโปรชาวไทยอย่าง ธงชัย ใจดี หรือ ประหยัด มากแสงผู้เคยครองตำแหน่งในฐานะแชมป์วอลโว มาสเตอร์ส ออฟ เอเชีย มาแล้วทั้งสิ้น