จากต้นแบบที่เผยโฉมให้เห็นเมื่อต้นปี ดูเหมือนว่าจะขยับตัวทำอะไรเกี่ยวกับคอนเซ็ปต์คาร์รุ่นนี้กันบ้างแล้ว เมื่อมีการเปิดเผยว่า ฟอร์ดจัดการเซ็นสัญญากับกระทรวงพลังงานของสหรัฐอเมริกาในการผลิตเวอร์ชัน Plug-in ของเอสเคป ไฮบริดสำหรับให้เอาไว้ใช้งาน พร้อมกับเก็บข้อมูลเพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างโอกาสในการขึ้นไลน์ผลิตเชิงพาณิชย์ในอนาคต
รถยนต์พลังงานเผื่อเลือก (Alternative Fuel Vehicle) ที่ใช้รูปแบบของการทำงานในแบบ Plug-in ถือเป็นทางออกที่บรรดาผู้ผลิตรถยนต์ในสหรัฐอเมริกาให้ความสนใจ และทางจีเอ็มก็กำลังเดินหน้าผลิตรุ่นโวลต์ออกสู่ตลาดด้วยแนวคิดในลักษณะนี้ แต่มีความไฮเทคมากกว่า ขณะที่ของฟอร์ดยังอิงพื้นฐานในการทำงานของรถยนต์ไฮบริด แต่เสริมระบบที่สามารถชาร์จกระแสไฟฟ้าผ่านทางไฟบ้านเข้าไปด้วย
ตัวรถใช้พื้นฐานของเอสเคป ไฮบริดทุกอย่างซึ่งก็รวมถึงขุมพลังไฮบริดที่มีเครื่องยนต์เบนซิน 4 สูบ 2,300 ซีซี 133 แรงม้า ที่ 6,000 รอบต่อนาที และแรงบิดสูงสุด 17.1 กก.-ม. ที่ 4,250 รอบต่อนาที จับคู่กับมอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 94 แรงม้าพร้อมเกียร์อัตโนมัติอัตราทดแปรผันต่อเนื่อง
แต่ได้รับการพัฒนาให้มีการทำงานเพิ่มมากขึ้นด้วยการเปลี่ยนมาใช้แบตเตอรี่แบบลิเธียม-ไออนแทนที่แบบนิเกิล เมทัล ไฮดรายแบบที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งทำให้สามารถชาร์จกระไฟฟ้าผ่านทางระบบไฟฟ้าในบ้าน (110 โวลต์) ซึ่งใช้เวลาประมาณ 6-8 ขั่วโมงในกาชาร์จไฟฟ้าเต็มแบตเตอรี่
ในเรื่องของลักษณะการขับเคลื่อนเหนือกว่าระบบไฮบริดที่มีอยู่ในท้องตลาด เพราะในช่วงไม่เกิน 50 กิโลเมตรของการขับที่ใช้ความเร็วไม่เกิน 64 กิโลเมตร/ชั่วโมง (ซึ่งเป็นการขับบนเส้นทางในเมือง) การขับเคลื่อนทั้งหมดจะเป็นหน้าที่ของมอเตอร์ไฟฟ้าซึ่งอาศัยกระแสไฟฟ้ามาจากแบตเตอรี่ และแบตเตอรี่ที่ชาร์จไฟจนเต็ม จะสามารถแล่นทำระยะทางได้ 48 กิโลเมตร
ดังนั้น ถ้าภายในเงื่อนไขการขับไปทำงานในชีวิตประจำวันที่เดินทางไปถึงที่ทำงานไม่เกินระยะข้างต้น เครื่องยนต์ที่อยู่ในระบบไฮบริดก็แทบไม่ต้องทำงาน เพราะว่าหน้าที่ทั้งหมดเป็นของมอเตอร์ไฟฟ้า เมื่อถึงที่ทำงาน ก็แค่จัดการเสียบปลั๊กไฟเพื่อชาร์จแบตเตอรี่ให้เต็ม
แต่ในความเป็นจริง การใช้งานคงไม่ได้อยู่ภายใต้เงื่อนไขนี้ตลอด ดังนั้น ตัวรถเลยออกแบบให้ระบบไฮบริดเตรียมพร้อมสำหรับทำงาน ซึ่งเมื่อขับเกินความเร็ว 64 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือขับด้วยระยะทางที่เกินจาก 48 กิโลเมตร ระบบก็จะสั่งให้เครื่องยนต์เริ่มทำงานภายใต้รูปแบบของไฮบริดเพื่อรับหน้าที่ในการขับเคลื่อนต่อไป
อย่างไรก็ตาม รถยนต์ในรูปแบบ Plug-in ยังติดข้อจำกัดหลักอยู่ตรงที่ราคาของแบตเตอรี่แบบลิเธียม-ไอออน ซึ่งยังแพงอยู่ การผลิตออกขายในเชิงพาณิชย์ด้วยราคาที่คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้จึงเป็นเรื่องยาก และต้องรออีกสักระยะ แม้แต่โวลต์ที่เชฟโรเลตกำลังจะผลิตออกขายในปี 2010 ก็ยังเจอกับปัญหานี้ และต้องพึ่งการช่วยเหลือจากรัฐบาลในด้านภาษี