ด้วยความเชื่อมั่นในเทคโนโลยีดีเซล เราก็เลยไม่ค่อยได้เห็นแบรนด์รถยนต์ยุโรปเอาจริงเอาจังกับการพัฒนาเทคโนโลยีไฮบริดมากเท่ากับแบรนด์รถยนต์จากญี่ปุ่นและอเมริกา
อย่างไรก็ตาม กับราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน การพึ่งแต่ความประหยัดน้ำมันเชื้อ เพลิงของเครื่องยนต์ดีเซลเพียงอย่างเดียวคงยังไม่พอ และเมื่อประกอบกับการต้องการเข้าไปเจาะในตลาดใหญ่อย่างอเมริกาซึ่งคนที่นั่นไม่ค่อยคุ้นกับเครื่องยนต์ดีเซล แต่ชอบขุมพลังแบบไฮบริดมากกว่า จึงเป็นเรื่องที่หลีก เลี่ยงไม่ได้ที่แบรนด์ยุโรปซึ่งสนใจกับตลาดแห่งนี้จะต้องมีการพลิกตัวเองเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ออกมารองรับกับความต้องการที่แตกต่างออกไปของตลาด
เมอร์เซเดส-เบนซ์และบีเอ็มดับเบิลยูเดินหน้าโปรเจ็กต์ไฮบริดของตัวเองภายใต้กรอบความร่วมมือกับจีเอ็ม ขณะที่โฟล์คสวาเกนซึ่งไร้พันธมิตรจัดการเทงบในการพัฒนาระบบด้วยตัวเอง และมีการจับมือกับพันธมิตรใหม่อย่างซันโยในการร่วมพัฒนาแบตเตอรี่แบบลิเธียม-ไอออนเพื่อนำมาใช้ในรถยนต์ไฮบริดรุ่นใหม่ของตัวเอง
โฟล์คสวาเกนเผยผลผลิตแรกของระบบไฮบริดออกมาในเจนีวา มอเตอร์โชว์ 2008 เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และถือว่าได้รับความสนใจพอสมควรเพราะแม้ว่าตัวรถจะใช้พื้นฐานของคอมแพ็กต์คาร์ที่เห็นกันจนเจนตาแล้วอย่างรุ่นกอล์ฟ แต่ระบบที่ติดตั้งอยู่ข้างในถือว่าไฮเทคและประหยัดอย่างมาก ซึ่งแบรนด์ดังของเยอรมนีเลือกพัฒนาระบบไฮบริดด้วยการนำเครื่องยนต์เทอร์โบดีเซลมาจับคู่กับมอเตอร์ไฟฟ้า
เครื่องยนต์เทอร์โบดีเซลที่นำมาใช้เป็นแบบ 4 สูบ 1,200 ซีซี ซึ่งมีกำลังขับเคลื่อน 75 แรงม้าและแรงบิดสูงสุด 18.2 กก.-ม. โดยจะทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้าที่มีกำลังสูงสุด 27 แรงม้า และแรงบิด 14.2 กก.-ม.ซึ่งตัวมอเตอร์นอกจากจะทำหน้าที่ในการขับเคลื่อนหรือชาร์จกระแสไฟฟ้าแล้วยังทำงานในส่วนของการสตาร์ทเครื่องยนต์อีกด้วย ทำให้ช่วยลดน้ำหนักของระบบโดยรวม
หน้าที่ในการขับเคลื่อนจากการออกตัวเป็นงานของมอเตอร์ไฟฟ้าโดยที่เครื่องยนต์จะทำงานก็ต่อเมื่อต้องการอัตราเร่งหรือการขับในช่วงความเร็วสูง เรียกว่าจะทำงานก็เฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น เช่น ในการเร่งแซง จึงประหยัดน้ำมันอย่างมากถึงขนาดอยู่ในระดับ 33.6 กิโลเมตรต่อลิตรเลยทีเดียว เช่นเดียวกับระดับการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำมาก เพียง 89 กรัมต่อการใช้งาน 1 กิโลเมตรเท่านั้น แถมถ้าเป็นการขับในเมืองที่ไม่ใช่ความเร็วสูง ตัวรถก็แทบจะไม่ปล่อยก๊าซออกมาเลยเพราะว่าจะเป็นการขับด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าล้วนๆ
อย่างไรก็ตาม แบตเตอรี่ที่ใช้ในต้นแบบรุ่นนี้ยังเป็นแบบนิเกล เมทัล ไฮดรายเหมือนกับรถยนต์ไฮบริดทั่วไป ซึ่งตัวแบตเตอรี่มีน้ำหนัก 45 กิโลกรัม แต่จากความร่วมมือกับซันโยทำให้รถยนต์ไฮบริดที่เป็นเวอร์ชันจำหน่ายจริงจากค่ายนี้จะหันมาใช้แบตเตอรี่แบบลิเธียม-ไอออนแบบเดียวกับที่ใช้ในโทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊คที่มีประสิทธิภาพดีกว่าและทนทานกว่า
โฟล์คสวาเกนวางแผนเปิดตัวรถยนต์ไฮบริดรุ่นแรกของตัวเองออกสู่ตลาดในปี 2010 แต่น่าเสียดายที่ครั้งแรกของค่ายนี้จะไม่ได้เปิดตัวกับชื่อของโฟล์คสวาเกน เพราะระบบไฮบริดถูกวางคิวให้อยู่ในตัวถังของออดี้ คิว7 เอสยูวีระดับหรู ในเวอร์ชันที่ขายสำหรับตลาดสหรัฐอเมริกา ซึ่งคนที่นั่นนิยมรถยนต์ไฮบริดมากกว่าความประหยัดแบบเทอร์โบดีเซล