บนเวทีของเจนีวา มอเตอร์โชว์ 2008 ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ซึ่งเพิ่งรูดม่านปิดฉากไปเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สีสันและความเร้าใจของรถยนต์ต้นแบบยังมีให้สัมผัสกันมากมายเช่นเคย
แต่ที่เด่นและน่าสนใจ คือ ผลงานจากสำนักออกแบบอิตัลดีไซน์แห่งอิตาลี ในการนำเสนอจุดบรรจบของความเป็นไปได้ระหว่างความฝันกับความเป็นจริงผ่านทางต้นแบบในชื่อควอนทารา ที่มีรูปทรงสุดล้ำสมัยจนเหมือนหลุดมาจากภาพยนตร์ไซไฟ แต่กลับเลือกใช้ขุมพลังที่อิงกับความเป็นจริงในการใช้งานอย่างไฮบริดในการขับเคลื่อน
Italdesign-Giugiaro S.p.A หรือที่ถูกเรียกสั้นๆ ว่า อิตัลดีไซน์ คืออีกสำนักออกแบบที่มีชื่อเสียงเพราะได้รับการบริหารงานโดยนักออกแบบมือทองอย่างจิออร์เจ็ตโต้ จุยเจียโร ซึ่งฝากผลงานทั้งรถยนต์ต้นแบบและรถยนต์ในสายการผลิตมากมายหลายรุ่นผ่านสายตาของบรรดาผู้ที่รักรถยนต์มานานหลายสิบปี
ในยุคก่อตั้งซึ่งมีขึ้นในปี 1968 บริษัทแห่งนี้ใช้ชื่อว่า Studi Italiani Realizzazione Prototipi S.p.A และทำงานอย่างใกล้ชิดกับโฟล์คสวาเกนจนเหมือนกับเป็นฝ่ายออกแบบส่วนตัวของบริษัทรถยนต์แห่งนี้ ก่อนที่จะแยกตัวออกมาอย่างเป็นอิตัลดีไซน์และถูกรวมเข้ามาเป็นบริษัทในเครือของ Giugiaro Design ที่มีจุยเจียโรดูแลการทำงาน
ในงานนี้อิตัลดีไซน์เปิดตัวต้นแบบทรงล้ำสมัยอย่างควอนทาราออกมาเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 40 ปีที่จุยเจียโรคลุกคลีอยู่กับแวดวงการออกแบบรถยนต์ โดยต้นแบบรุ่นนี้ถือเป็นที่สุดของงานออกแบบ ที่ได้รับการผสมผสานเส้นสายซึ่งเน้นความปราดเปรียวและดูเรียบง่ายตามแบบฉบับรถสปอร์ตยุคอนาคต แต่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีไฮบริด และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
โปรเจ็กต์นี้ถือเป็นอีกครั้งที่ทางอิตัลดีไซน์ร่วมมือกับโตโยต้า หลังจากเคยทำงานกันมาแล้วกับการผลิตต้นแบบรุ่นโวลต้า (Volta) ที่เปิดตัวในปี 2004 ส่วนไอเดียในการพัฒนามาจากรุ่น Bizzarrini Manta ที่เปิดตัวในปี 1968 โดยตัวรถมีขนาด 4,450 มิลลิเมตร สูง 1,230 มิลลิเมตร และระยะฐานล้อ 2,620 มิลลิเมตร ส่วนคนขับนั่งอยู่ตรงกลางเหมือนกับรถแข่ง
ตัวรถขับเคลื่อน 4 ล้อด้วยการใช้มอเตอร์ไฟฟ้าแยกอิสระควบคุมแต่ละล้อ โดยใช้ระบบกันสะเทือนแบบก้านกระทุ้ง หรือ Push Rod เหมือนกับรถแข่ง F1 และเป็นอีกครั้งที่อิตัลดีไซน์ออกแบบระบบกันสะเทือนแบบนี้หลังจากเคยนำมาใช้แล้วกับต้นแบบรุ่นชิเกอราของอัลฟาในปี 1997 และโวลตาของโตโยต้าในปี 2004
สิ่งที่น่าสนใจคือ การนำแผงโซลาร์เซลล์มาใช้กับหลังคา ซึ่งสามารถผลิตกำลังไฟฟ้าได้ 250 วัตต์ มากพอสำหรับการส่งกระแสไฟฟ้าให้กับอุปกรณ์อำนวยความสะดวกในรถ ส่วนระบบขับเคลื่อนเป็นไฮบริดของโตโยต้ารุ่น HSD-Hybrid Synergy Drive ที่มีใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยยกระบบนี้มาจากของโตโยต้า คัมรี่ ไฮบริดที่ขายอยู่ในสหรัฐอเมริกา
ตัวเครื่องยนต์หลักเป็นเบนซินวี6 3,300 ซีซี ผลิตกำลังออกมาได้ 210 แรงม้า ที่ 5,600 รอบต่อนาที และเมื่อผสานกับมอเตอร์ไฟฟ้าในการส่งกำลัง ทำให้มีจำนวนแรงม้าเพิ่มขึ้นเป็น 272 แรงม้า และแรงบิดสูงสุด 29.34 กก.-ม. ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติอัตราทดแปรผันต่อเนื่องรุ่น E-CVT ของโตโยต้า
ด้วยน้ำหนักรถที่ไม่หนักมาก เพียง 1,400 กิโลกรัมบวกกับเครื่องยนต์ที่เรี่ยวแรงเยอะ ส่งผลต่อสมรรถนะในการขับเคลื่อนด้วยอัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมงใน 4.05 วินาที และความเร็วปลายถูกล็อกเอาไว้ที่ 250 กิโลเมตร/ชั่วโมง ส่วนความประหยัดน้ำมันอยู่ในระดับ 14.7 กิโลเมตร/ลิตร และปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาเพียง 180 กรัมต่อ 1 กิโลเมตร
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีหน้าตาและรูปลักษณ์สุดล้ำสมัยเพียงใด แต่ดูเหมือนว่าควอนทาราจะแจ้งเกิดบนเวทีเจนีวา มอเตอร์โชว์ปีนี้ไม่ได้ เพราะตำแหน่งรถยนต์ต้นแบบยอดเยี่ยมประจำงานของปีนี้ กลับตกไปอยู่ในมือของต้นแบบรุ่น 9-X BioHybrid จากค่ายซาบ