xs
xsm
sm
md
lg

‘โตโยต้า-ฮอนด้า’ประสานเสียงน้ำมันE85ต้องระยะยาวเท่านั้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ข่าวในประเทศ - แนวโน้มราคาน้ำมันพุ่งทะลุ 130 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาเรลในอนาคตอันใกล้ ทำให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ต้องเร่งปรับแผนนโยบายการใช้พลังงานทางเลือก ล่าสุดรัฐมนตรีอุตสาหกรรมประกาศเร่งผลักดันการพัฒนารถยนต์เชื้อเพลิง E85 วางกรอบแผนต้องชัดเจนภายในสิ้นปีนี้ ในขณะที่รถยนต์เชื้อเพลิง E20 เพิ่งเริ่มไปเมื่อต้นปี งานนี้ทำให้ขาใหญ่วงการรถยนต์ประสานเสียงให้ใจเย็นๆ โดย “ฮอนด้า” แนะจะต้องใช้เวลาศึกษาพอสมควร ที่สำคัญค่ายรถกำลังอยู่ในช่วงพัฒนารถยนต์อีโคคาร์ ที่จะผลิตออกสู่ตลาดในช่วง 2 ปีข้างหน้า จึงยังไม่พร้อมในขณะนี้ สอดคล้องกับยักษ์ “โตโยต้า” มองเป็นเรื่องใหญ่ที่จะต้องรอบคอบ และค่อยเป็นค่อยไป ยกตัวอย่างรถยนต์เชื้อเพลิง E20 ประกาศเร็วขึ้นจากเดิม 1 ปี ทำให้ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตมาก ดังนั้นการพัฒนาไปสู่ระดับ E85 จึงค่อนข้างยาก ต้องศึกษาให้รอบด้านและเป็นระบบ หากผิดพลาดอาจจะต้องใช้เวลาฟื้นโครงการนาน 5-10 ปี

เป็นที่ค่อนข้างแน่ชัดถึงโรดแมปการเลือกใช้พลังงานทางเลือก ที่กระทรวงพลังงานกำหนดให้กับอุตสาหกรรมรถยนต์ในไทย มีด้วยกัน 3 ชนิด คือ น้ำมันแก๊สโซฮอล์ ไบโอดีเซล และก๊าซธรรมชาติ(NGV) เพื่อแก้ปัญหาจากสถานการณ์ราคานั้นแพง ที่ถึงกับมีการคาดการณ์กันว่า อีกไม่นานราคาน้ำมันจะพุ่งทะลุ 130 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาเรลแน่ๆ

ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นกระทรวงพลังงาน และกระทรวงอุตสาหกรรม จึงต้องปรับนโยบายการใช้พลังงานทางเลือกอย่างเร่งด่วน โดยในส่วนของเอ็นจีวีไม่ค่อยเป็นปัญหาแต่อย่างใด เพราะมีความชัดเจนในการสนับสนุนอยู่แล้ว จะติดปัญหาก็เพียงจำนวนศูนย์บริการที่ยังไม่เพียงพอ ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ไม่สนใจมากนัก ขณะที่ประชาชนทั่วไปหากจะติดตั้งภายนอกโรงงาน ราคาค่าติดตั้งเอ็นจีวีก็แพงเกินไป ประกอบกับมีทางเลือกที่ไม่เป็นทางการ คือก๊าซธรรมชาติเหลว หรือแอลพีจี(LPG) ที่มีราคาค่าติดตั้งถูกกว่า และรัฐบาลไม่กล้าประกาศลอยตัวราคาแอลพีจี เพราะกลัวจะส่งผลต่อภาคครัวเรือน จึงทำให้ประชาชนหันมาเลือกใช้แอลพีจีแทน

ในส่วนของไบโอดีเซลได้มีการเริ่มใช้แล้ว กับน้ำมัน B2-B5 แต่การที่จะขยับไปใช้น้ำมันไบโอดีเซลที่มากกว่านั้น ยังคงต้องใช้เวลาพอสมควร เพราะมีผลกระทบต่อการพัฒนารถยนต์ และปริมาณวัตถุดิบพืชผลการเกษตร อย่างน้ำมันปาล์มที่จะนำมาทำน้ำมันไบโอดีเซลก็ยังไม่เพียงพอ หรือไม่ชัดเจนว่าจะสามารถใช้พืชชนิดใดทดแทนได้อีกบ้าง

ขณะที่น้ำมันแก๊สโซฮอล์ที่ได้มีการใช้ E10 อย่างแพร่หลายแล้ว ปัจจุบันได้มีการพัฒนารถยนต์ที่สามารถใช้น้ำมัน E20 สู่ตลาดแล้ว ภายหลังจากรัฐบาลได้เริ่มให้สิทธิประโยชน์ลดภาษีสรรพสามิตไปเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2551 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการเลื่อนจากกำหนดเดิมเร็วขึ้น 1 ปี

จึงนับได้ว่าไทยประสบความสำเร็จ ในการนำพลังงานทางเลือกน้ำมันแก๊สโซฮอล์มาใช้พอสมควร และกระทรวงพลังงานก็ได้มีการวางโรดแมปของน้ำมันแก๊สโซฮอล์ค่อนข้างชัดเจน ด้วยการกำหนดให้น้ำมัน E20 เป็นพลังงานเชื้อเพลิงหลักในปี 2559 ซึ่งเป็นเวลาที่จะมีการยกเลิกการจำหน่ายเบนซิน 91 และ 95 ทั่วประเทศ จากนั้นในปี 2553 จะเริ่มมีการผลักดันแผนการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 (เชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมน้ำมันเบนซิน 15% และเอทานอล 85%) อย่างจริงจัง

อย่างไรก็ตาม ทันทีที่ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง จนล่าสุดราคาน้ำมันดิบแตะหลัก 120 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาเรล ทำให้มีเสียงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการผลิตอุตสาหกรรมรถยนต์ ออกมาเร่งการพัฒนารถยนต์ใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 เร็วขึ้นอีก

“เนื่องจากราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง กระทรวงอุตสาหกรรมจึงเตรียมแผนผลักดันการผลิตรถยนต์พลังงานทางเลือก ที่สามารถใช้เชื้อเพลิงน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 ซึ่งถือเป็นทิศทางยานยนต์พลังงานทางเลือกของโลก กระทรวงอุตฯ จึงเห็นว่าควรเป็นวาระแห่งชาติ ที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะภาครัฐและเอกชน จะต้องร่วมมือกันผลักดัน ซึ่งคาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะได้เห็นแผนผลักดันพลังงานทางเลือก E85 ชัดเจน”

นั่นคือการเปิดเผยของ “สุวิทย์ คุณกิตติ” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และกล่าวต่อว่า “ในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรมจะดูแลเรื่องการผลิตเอทานอล และผลักดันส่งเสริมให้ผู้ผลิตรถยนต์พัฒนาผลิตภัณฑ์ออกมารองรับ โดยช่วงแรกอาจะสนับสนุนให้บริษัทรถ นำรถยนต์ที่เป็นเชื้อเพลิงยืดหยุ่น (Flex Fuel) ซึ่งสามารใช้พลังงานทางเลือกได้หลากหลาย ตั้งแต่ E10 ไปจนถึง E80 เข้ามาในรูปแบบรถยนต์ประกอบสำเร็จ หรือซีบียู (CBU)ก่อน แต่จะคงไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีนำเข้า เพื่อให้นำมาทดสอบสมรรถนะและตลาดก่อน

หากเป็นไปตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมพูด นั่นย่อมหมายความว่าจะมีการผลักดันแผนการใช้รถยนต์เชื้อเพลิง E85 ภายในสิ้นปีนี้ หรือไม่เกินต้นปีหน้า ซึ่งเร็วกว่าที่กระทรวงพลังงานวางแผนเอาไว้ถึง 2 ปี นั่นย่อมหมายความบริษัทรถยนต์จะต้องเร่งปรับตัวกันอย่างเร่งด่วนเช่นกัน

เกี่ยวกับเรื่องนี้ลองมาฟังหางเสียงจากบริษัทรถยนต์กันบ้างว่า มีความพร้อมมากน้อยแค่ไหนที่จะพัฒนารถยนต์เชื้อเพลิง E85 สู่ตลาด…

“เรื่องรถยนต์เชื้อเพลิง E85 เป็นเทคโนโลยีพลังงานทดแทนที่ค่ายรถมีอยู่แล้วในตลาดโลกบางแห่ง โดยส่วนใหญ่จะอยู่ที่บราซิลและสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะนำมาใช้ในประเทศไทยเลยคงไม่ได้ เพราะสภาพภูมิอากาศและคุณภาพของเอทานอลแตกต่างกัน ฉะนั้นจึงต้องใช้ระยะเวลาการศึกษาและพัฒนาพอสมควร”

อดิศักดิ์ โรหิตะศุน รองประธานกรรมการบริหารอาวุโส บริษัท เอเชี่ยนฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด สำนักงานใหญ่ฮอนด้าประจำภูมิภาคอาเซียน กล่าวและว่า “ปัจจุบันบริษัทรถยนต์ในไทยส่วนใหญ่เพิ่งพัฒนารถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิง E20 สู่ตลาด และที่สำคัญค่ายรถรายใหญ่ต่างมุ่งไปที่การพัฒนารถยนต์อีโคคาร์ ที่รัฐบาลให้การส่งเสริมและมีแผนที่จะผลิตออกมาในอีก 2 ปีข้างหน้า จึงยังไม่ได้เตรียมตัวในการพัฒนารถยนต์เชื้อเพลิง E85 ในขณะนี้”
รถยนต์วอลโว่ รุ่นซี30 ที่สามารถใช้เชื้อเพลิง E85 ซึ่งค่ายวอลโว่ นำมาแสดงให้คนไทยได้ชมในงานมอเตอร์โชว์เมื่อช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา
ส่วนยักษ์ใหญ่ “โตโยต้า” ได้มีการกล่าวถึงนโยบายเกี่ยวกับพัฒนารถยนต์พลังงานทางเลือกในไทย ที่ได้มุ่งเน้นไปที่การพัฒนารถเล็กประหยัดพลังงาน หรืออีโคคาร์ รถที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง E20 และไบโอดีเซล รวมถึงการศึกษาพัฒนารถยนต์พลังงานไฮบริดในอนาคต พร้อมกันนี้ได้กล่าวถึงรถยนต์ใช้เชื้อเพลิง E85 ว่า…

“รถยนต์เชื้อเพลิง E85 แน่นอนคงจะต้องถูกน้ำมาใช้ในอนาคตไม่วันใดก็วันหนึ่ง แต่ก็ต้องมีการศึกษาผลกระทบต่างๆ เสียก่อน รวมถึงปริมาณวัตถุดิบพืชผลทางการเกษตรที่จะนำมาผลิตต้องเพียงพอ ดังนั้นรัฐบาลจะต้องวางนโยบายให้ดีและเป็นระบบ การพัฒนารถยนต์เชื้อเพลิงจาก E20 ไปเป็น E85 จึงค่อนข้างยาก เพราะจะต้องคำนึงหลายๆ อย่างไปพร้อมๆ กัน รวมถึงเรื่องมลภาวะที่จะเกิดตามมาด้วย แต่ถ้าหากทำได้ก็จะทำให้กลายเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศได้”

นั่นคือคำให้สัมภาษณ์ของ “มิตซึฮิโระ โซโนดะ” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด และได้ให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับการผลักดันแผนพลังงานทางเลือกของรัฐบาลว่า “การประกาศใช้รถยนต์เชื้อเพลิง E20 ของรัฐบาลเร็วกว่ากำหนดเดิม 1 ปี ส่งผลกระทบต่อแผนงานของผู้ผลิตอย่างมาก ดังนั้นการพัฒนาด้านพลังงานทางเลือกจำเป็นต้องค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป เพราะต้องศึกษาให้เป็นระบบ หากผิดพลาดก็จะต้องใช้เวลา 5-10 ปี กว่าจะฟื้นโครงการได้อีกครั้ง”

โดยในส่วนของการพัฒนารถยนต์พลังงานทางเลือก โซโนดะบอกว่าจำเป็นจะต้องศึกษาในรายละเอียดและผลกระทบของเชื้อเพลิงต่อเครื่องยนต์ ซึ่งน้ำมันเชื้อเพลิง E85 จะต้องมาดูเรื่องของวาล์วและกระบอกสูบ รวมถึงมาตรฐานไอเสียที่ปล่อยออกมา แน่นอนหากโตโยต้าผลิตรถยนต์ออกมา จะต้องมั่นใจได้ในเรื่องของคุณภาพ

นั่นคือเสียงสะท้อนของสองค่ายยักษ์ใหญ่ แต่เรื่องรถยนต์เชื้อเพลิง E85 ได้มีบางค่ายที่พร้อมจะผลิตทันที นั่นคือ “วอลโว่” ที่ได้มีการผลักดันให้รัฐบาลเริ่มดเนินการโดยเร็ว และประกาศพร้อมที่จะผลิตรถยนต์เชื้อเพลิง E85 ทันทีที่รัฐบาลเริ่มกำหนดออกมาชัดเจน เช่นเดียวกับเจนเนอรัล มอเตอร์ส หรือจีเอ็ม ที่พร้อมสนับสนุนและถือเป็นแผนนโยบายการพัฒนารถยนต์อยู่แล้ว โดยคาดว่าจะเห็นแนวโน้มรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน E85 ของจีเอ็มได้ในปี 2552

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีเสียงสนับสนุนและพร้อมเดินหน้าลุยรถยนต์เชื้อเพลิง E85 แต่เสียงที่มีบทบาทต่อการกำหนดทิศทางการพัฒนารถยนต์พลังงานทางเลือก ย่อมต้องขึ้นอยู่กับขาใหญ่อย่าง “โตโยต้า-ฮอนด้า” ซึ่ง ต่างประสานเสียง… รถยนต์เชื้อเพลิง E85 ควรอยู่ในแผนระยะยาว ไม่ใช่แผนพัฒนา ณ วันนี้ หรืออนาคตอันใกล้!!
กำลังโหลดความคิดเห็น