ตลาดรถยนต์ประเภทเอ็มพีวีหรือรถเอนกประสงค์ในบ้านเราเติบโตมาถึงปัจจุบันได้ ต้องขอบคุณ “เชฟโรเลต ซาฟิรา” ผู้จุดประกายเซ็กเมนต์นี้ขึ้นเมื่อหลายปีก่อน แม้จะไม่มีโมเดลใหม่ออกจำหน่ายแล้วก็ตาม แต่ชื่อก็จะถูกจารึกไว้ในฐานะผู้นำตลาด
หลังการประสบความสำเร็จของซาฟิรา ค่ายรถน้อยใหญ่ ต่างส่งโมเดลรถประเภทเอนกประสงค์ลงสู่ตลาด ไม่ว่าจะเป็น โตโยต้า วิช และอินโนวา, ฮอนด้า สตรีมและโอดีสซีย์, มาสด้า เอ็มพีวี และมิตซูบิชิ สเปซวากอน ร่วมกันผลักดันยอดขายให้ทะลุถึง 1 หมื่นคันต่อปี ก่อนที่จะเริ่มหดตัวลงตามวัฏจักรของตลาดรถยนต์โดยปี 50 ที่ผ่านมาเหลืออยู่เพียง 4 พันกว่าคัน ส่งผลให้บางรุ่นต้องยุติการทำตลาด บางรุ่นยังจำหน่ายอยู่
ซึ่งหนึ่งในรถที่ยังทำตลาดอยู่ และเป็นพระเอกประจำการทดสอบของเราคือ “มิตซูบิชิ สเปซวากอน” ด้วยการไมเนอร์เชนจ์ หลังจากทำตลาดมานานถึงเกือบ 3 ปี การปรับโฉมครั้งนี้เจ้าสเปซวากอนมาพร้อมกับทีเด็ด “รองรับเชื้อเพลิง E20” ตามกระแสนิยม พร้อมกับปรับเปลี่ยนอีกหลายรายการ มีอะไรและเป็นอย่างไร “ผู้จัดการมอเตอริ่ง” จัดให้ ไปดูกัน
มิตซูบิชิ ปรับรุ่นย่อยของเจ้าสเปซวากอนเป็น 3 รุ่น คือ ตัว จีแอลเอส(GLS), จีแอลเอส ลิมิเต็ด(GLS-Ltd) และจีที(GT) ซึ่งจะต่างกันที่อุปกรณ์ภายในรถ ส่วนเครื่องยนต์ ระบบช่วงล่างเหมือนกันทุกรุ่น
สำหรับสิ่งที่เปลี่ยนแปลงจากรุ่นก่อน ภายนอกสำรับตัวจีทีจะเปลี่ยนกระจังหน้าใหม่เป็นแบบ 2 ช่อง บนลาง สีดำผสมโครเมียม พร้อมด้วยชุดตกแต่งรอบคันในสไตล์สปอร์ต ทั้งกาบข้าง, กาบหลัง, โป่งข้างบังโคลนล้อ และกันชนหลังใหม่พร้อมแผ่นสะท้อนแสง ส่วนตัวจีแอลเอสยังใช้กระจังหน้าทรงเดิมแต่เสริมขอบโครเมียม
ส่วนภายในไล่เรียงมาด้วยการเพิ่มฟังก์ชั่น ระบบเปิดปิดไฟหน้าอัตโนมัติ , ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ (เฉพาะรุ่น GLS-Ltd และ GT) โดยติดตั้งสวิซท์ไว้ที่ด้านหลังพวงมาลัย , เปลี่ยนเบรกมือมาเป็นแบบแป้นบังคับที่เท้า เฉกเช่นรถยุโรประดับหรู พร้อมเพิ่มปลั๊กไฟ 12 โวลต์ สำหรับผู้โดยสารด้านหลังอีกหนึ่งจุด
จุดเด่นที่พอจะเป็นไฮไลต์สำหรับอุปกรณ์ภายในก็คือ เบาะนั่งของผู้โดยสาร นอกจากจะเปิดทะลุให้วางขาได้เหมือนเดิม ยังได้รับการออกแบบใหม่ให้มีที่เก็บของ 2 ชั้นใต้เบาะ และเพิ่มถามวางของและแก้วน้ำระหว่างเบาะนั่งด้านหน้า ซึ่งสามารถพับได้อีกด้วย นับเป็นความเอนกประสงค์จริงๆ
อุปกรณ์อีกหนึ่งชิ้นที่ได้รับการเปลี่ยนแปลงคือสัญญาณกะระยะจอดหน้า-หลัง ซึ่งเปลี่ยนจากแบบ 4 จุด ติดตั้งชุดไฟแสดงการทำงานบนคอนโซล มาเป็นแบบ 5 จุด (หน้า 2 จุด หลัง 3 จุด) และผนวกไฟแสดงการทำงานเข้าไปไว้ในหน้าปัด พร้อมกับไฟโชว์ “Sonar Off” หากปิดการใช้งาน
อีกหนึ่งจุดใหญ่ของการเปลี่ยนแปลง ได้แก่ การเปลี่ยนเครื่องเสียงที่หันมาเลือกคบหากับ อัลไพน์(Alpine) ซึ่งใช้งานง่ายขึ้น และยังแก้ปัญหาเรื่องแสงสะท้อนเวลากลางวันทำให้มองภาพต่างๆ ในจอชัดเจนกว่ารุ่นเดิม โดยคงขนาดของจอภาพ 6.5 นิ้วพร้อมระบบทัชสกีน และพ่วงด้วยจอภาพขนาด 9 นิ้วที่กลางรถไว้เหมือนเดิม
พิเศษ สำหรับเครื่องเสียงอัลไพน์รุ่นนี้มีการเสริมชุดอุปกรณ์ต่อพ่วง ไอ-พอด โดยสามารถควบคุมการทำงานผ่านหน้าจอได้อีกด้วย พร้อมกับการเปลี่ยนเสาอากาศวิทยุให้เป็นแบบฝังในกระจกบานหลังด้านข้าง ช่วงเพิ่มพื้นที่รับสัญญาณและไม่มีเสาเกะกะภายนอกตัวรถ ทั้งยังเปลี่ยนกล้องสำหรับมองหลังใหม่ โดยมีขนาดเล็กลง
ด้านความปลอดภัยสำหรับผู้โดยสาร กระจกไฟฟ้าเป็นแบบอัตโนมัติ(เฉพาะด้านคนขับ) พร้อมระบบเซฟตี้ คือกระจกจะเลื่อนลงอัตโนมัติเมื่อมีสิ่งกีดขวาง ป้องกันอันตรายจากกรณีเด็กถูกกระจกไฟฟ้าหนีบมือได้อย่างแน่นอน
นอกจากนั้น สเปซวากอน ยังได้รับการติดตั้งระบบสัญญาณกันขโมยใหม่ หลังจากการล็อคประตูด้วยรีโมท ประมาณ 10 วินาที ระบบจะพร้อมทำงานโดยมีไฟกระพริบบริเวณคอนโซลหน้า และหากมีการเปิดประตู โดยไม่กดเปิดด้วยรีโมทประมาณ 10 วินาที สัญญาณกันขโมยจะดังขึ้น แต่หากมีการงัดฝากระโปรงหน้าสัญญาณจะดังทันที
สำหรับเครื่องยนต์ ยังคงใช้รหัส 4G69 ขนาด 2.4 ลิตร 4 สูบ ไมเวค(Mivec) SOHC 16 วาล์ว ให้กำลังสูงสุด 165 แรงม้า ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 217 นิวตันเมตร ที่ 4,000 รอบ/นาที ทั้งนี้ได้รับการปรับอุปกรณ์ใหม่หลายชิ้น เพื่อให้สามารถเติมเชื้อเพลิงแก๊สโซฮอล์ชนิด E20 ได้
ส่วนระบบช่วงล่างเหมือนเดิม โดยคบหากับระบบอิสระ แม็คเฟอร์สันสตรัท คอยล์สปริง พร้อมเหล็กกันโคลง สำหรับด้านหน้า และอิสระ เซมิ เทรลลิ่งอาร์ม คอยล์สปริง พร้อมเหล็กกันโคลงที่ด้านหลัง ระบบเบรกเป็นดิสก์เบรก 4 ล้อ แบบ 2 วงจรไชว้ พร้อม ระบบป้องกันล้อล็อก, ระบบกระจายแรงเบรกและเสริมแรงเบรก พร้อมกับใช้หม้อลมเบรกแบบ 2 ชั้น ให้การหยุดอย่างมั่นใจ
สำหรับคันที่เรานำมาทดลองขับนั้น เป็นรุ่น จีที (ตัวท๊อป) สนนราคา 1.67 ล้านบาท เนื่องจากเป็นรุ่นเห็นความเปลี่ยนแปลงได้ชัดเจนจากกระจังหน้าโฉมใหม่นั่นเอง โดยเส้นทางวิ่งของเรามีทั้งแบบนอกเมืองและในเมือง ทั้งนี้จะขอเริ่มจากนอกเมืองก่อน
เราเลือกเส้นพหลโยธินมุ่งหน้าทิศเหนือเพื่อไปยังเขตจังหวัดลพบุรี เมื่อเข้าประจำการหลังพวงมาลัยปรับตำแหน่งเบาะนั่งเรียบร้อย เราแตะคันเร่งเพียงเบาๆ เจ้าสเปซวากอน ก็พุ่งทะยานออกตัวไปอย่างรวดเร็ว จะว่าไปแล้วคงดีสำหรับคนชอบความแรงหรือเวลาเร่งรีบ แต่คงไม่ปลื้มเท่าไหร่สำหรับคนชอบขับรถแบบเรื่อยๆ
ส่วนน้ำหนักของแป้นเบรกอยู่ในเกณฑ์พอดี เบรกแล้วหัวไม่ทิ่ม เราใช้ความเร็วส่วนใหญ่อยู่ประมาณ 120-140 กม/ชม. ขณะถนนโล่ง รถขับนิ่ง การทรงตัวดี แม้จะหนึบไม่เท่ารถยุโรปแต่ก็ไม่มีอาการเหินลมหรือสั่นให้รู้สึก การป้องกันเสียงรบกวนจากภายนอกจัดว่าประทับใจ เราเริ่มได้ยินเสียงลมประทะกระจกรบกวนเมื่อวิ่งด้วยความเร็วสูงกว่า 140 กม./ชม.
จังหวะเร่งแซง ทันใจทุกย่านความเร็ว พวงมาลัยหุ้มหนัง ควบคุมง่าย จับกระชับมือดี พร้อมปรับน้ำหนักตามความเร็วรถคือ เบามือเมื่อวิ่งด้วยความเร็วต่ำและหนักมือเมื่อวิ่งด้วยความเร็วสูง และไร้ปัญหาแม้คุณเป็นคนเหงื่อออกที่มือเยอะ
เราวิ่งไป-กลับ กรุงเทพฯ ลพบุรี รวมระยะทางประมาณ 300 กม. ระยะเวลาเกือบ 4 ชั่วโมง ให้ความรู้สึกสบายตลอดการขับขี่ ลงจากรถมาไม่มีอาการเมื่อยหรือล้าแต่อย่างใด อัตราการบริโภคน้ำมันไม่มีตัวเลขยืนยันรู้เพียงคร่าวๆ ว่าจากเข็มชี้เต็มถังหล่นมาอยู่ที่ครึ่งถังพอดี
สำหรับการใช้งานในเมือง แม้ตัวรถจะยาวถึง 4.775 เมตร แต่ไม่เป็นปัญหาทั้งการเปลี่ยนเลนหรือถอยเข้าจอด ด้วยพวงมาลัยแร็คแอนด์พิเนี่ยนน้ำหนักเบาที่มีรัศมีวงเลี้ยวแคบสุด 5.5 เมตร, กระจกมองข้างให้ทัศวิสัยชัดเจนครบทุกมุม และระบบเซ็นเซอร์รอบคันที่คอยอำนวยความสะดวกให้
สรุป เจ้าสเปซวากอน ตอบโจทย์ด้านความเอนกประสงค์อย่างตรงใจเรา พร้อมลบจุดอ่อนของรุ่นเก่าในเรื่องของหน้าจอที่มองไม่ชัด อีกทั้งยังสามารถใช้เชื้อเพลิง E20 ได้อีก ครบถ้วนขนาดนี้ใครที่กำลังมองหา เอ็มพีวี สำหรับครอบครัว อย่าลืมเก็บ “สเปซวากอน” เข้าเป็นหนึ่งในตัวเลือกนะครับ