เมื่อหลายปีก่อนโครงการอีโคคาร์หรือรถประหยัดพลังงานหรือรถราคาประหยัด แล้วแต่ใครจะเข้าใจ ถูกจุดประกายขึ้นพร้อมกับความหวังของผู้บริโภคในการมีรถยนต์ใช้ในราคาถูก
แต่แล้วโครงการอีโคคาร์ก็ล้มลุกคลุกคลานตามกระแสของการเมืองที่เปลี่ยนไปดังข่าวที่สื่อมวลชนนำเสนอเป็นระยะๆ จนแล้วจนรอดเรายังต้องรอกันอีกอย่างน้อย 2 ปีโดยประมาณ ผู้บริโภคชาวไทยอาจจะเห็นรถยนต์อีโคคาร์คันแรกคลอดออกมา
โครงการนี้ส่งผลให้ตลาดรถเล็กราคาประหยัด กลายเป็นเค้กก้อนใหม่ที่ค่ายรถเริ่มหันมามอง และหลังจากจดๆ จ้องๆ จับตาดูมานาน สุดท้าย “โปรตอน” ค่ายรถจากเพื่อนบ้าน “มาเลเซีย” ก็จับมือกับกลุ่มพระนครยนตการ รุกตลาดเมืองไทยเต็มตัว โดยเปิดตัวรถยนต์โปรตอนพร้อมกัน 3 รุ่น ได้แก่ แซฟวี ,นีโอ และเจน 2
โดย โปรตอน แซฟวี เปิดตัวด้วยราคาต่ำกว่า 4 แสน สร้างกระแสความสนใจจากผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี ขณะรถอีกหนึ่งรุ่น ซึ่งเรา “ผู้จัดการมอเตอริ่ง” มองว่าน่าสนใจไม่แพ้กัน นั่นก็คือ “โปรตอน นีโอ” และทางโปรตอนนำสื่อมวลชนไทยกว่า 50 ชีวิต ไปร่วมทดสอบและเยี่ยมชมโรงงาน ณ ประเทศมาเลเซีย ดังที่เราเคยนำเสนอไปแล้ว
เพื่อไม่ให้แฟนๆ ต้องรอนานเราจึงจัดคิวด่วนพิเศษ ทดสอบเจ้าโปรตอน นีโอ ตัวท๊อป เกียร์ออโต้ เวอร์ชั่นเต็มบนถนนเมืองไทยแบบครบถ้วนกระบวนความ
ภายนอกสวยโดนใจ ภายในออพชั่นเพียบ
สัมผัสแรกของเรากับเจ้านีโอ ด้วยรูปโฉมภายนอกถือว่าโดนตา บาดใจ ไม่ว่าจะเป็นไฟหน้า หรือไฟท้ายที่โฉบเฉี่ยวเปรี้ยวทันสมัย เข้ากันเป็นอย่างดีกับการออกแบบตัวถัง อีกทั้งมีประตูแค่ 2 บานให้ความรู้สึกใกล้เคียงกับการเป็นรถสปอร์ต พร้อมอุปกรณ์มาตรฐานล้อแม็กขนาด 16 นิ้ว ดูเข้ากัน
จากนั้นเดินมาเปิดประตูที่ใหญ่และกว้าง ทำให้การเข้า-ออกรถเป็นไปด้วยความสะดวกสบาย สาวเท้าเข้าไปนั่งประจำการ สำรวจรอบตัวพบกับ รูปทรงของคันเกียร์มีลักษณะใกล้เคียงกับของค่ายมิตซูบิชิ ก้านปรับสัญญาณไฟเลี้ยว ไปอยู่ที่มือซ้าย เหมือนรถยุโรป ไม่ทราบเหตุผลว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น
ตำแหน่งที่นั่ง เหมาะกับการเป็นรถนั่ง 2 คน เนื่องจากเบาะนั่งหลังจะไม่เหลือที่สำหรับหย่อนวางขา คงมีเพียงเด็กเล็กอายุประมาณ 2-4 ขวบเท่านั้นที่สามารถนั่งสบายได้ ด้านออพชั่นมีเพียบ ถือว่าเป็นจุดเด่นเหนือรถระดับราคาเดียวกันในตลาด ไล่เลียงมาได้ทั้ง แอร์แบ็คคู่, ครุยซ์คอนโทรล และ เครื่องเสียงซีดี 1 แผ่น ของบลาวฟุ้งค์
สมรรถนะ เครื่องดัง ช่วงล่างหนึบ
เมื่อสำรวจเรียบร้อย เราบิดกุญแจติดเครื่องยนต์ เสียงสตาร์ทกระหึ่มมาพร้อมกับเสียงการทำงานของเครื่องยนต์ดังชัดเจน น้ำหนักคันเร่งของนีโอ ไม่หนักหรือเบาจนเกินไป ส่วนการตอบสนองจังหวะออกตัวนุ่มนวลดี
ขณะที่เวลากดเท้าเพื่อคิกค์ดาวน์ เสียงคำรามของเครื่องยนต์ดังทะลุเข้ามาในห้องโดยสาร สวนทางกับความแรงที่มาช้า ทำให้จังหวะเร่งแซงรู้สึกไม่ทันใจเท่าไหร่และเมื่อพิจารณาถึงสเปคเครื่องยนต์แคมโปขนาด 1.6 ลิตร กำลังสูงสุด 110 แรงม้า กลับให้การตอบสนองเวลาเร่งที่รู้สึกว่า ช้ากว่าทั้งโตโยต้า ยาริส และฮอนด้า แจ๊ส ซึ่งมีขนาดเครื่องยนต์ 1.5 ลิตร และกำลังสูงสุดใกล้เคียงกัน
นอกจากนั้นยังมีเรื่องของการควบคุมพวงมาลัยที่เรารู้สึกว่าหนักกว่ามากเมื่อเทียบกับรถของทั้งสองค่ายที่กล่าวมา ส่วนรัศมีวงเลี้ยวแคบดีเยี่ยม ทำให้เปลี่ยนเลนหรือขึ้นที่จอดรถสะดวก แม้จะต้องออกแรงมากเป็นพิเศษ
ช่วงล่างแข็งพอสมควร นั่งสบายน้อยกว่าเมื่อเทียบกับยาริสและแจ๊ส ความรู้สึกออกไปในแนวสปอร์ต ให้ความรู้สึกหนึบมากกว่านุ่มและสามารถสัมผัสลักษณะเด่นของการเซ็ตช่วงล่างเช่นนี้ได้เมื่อเราวิ่งด้วยความเร็วสูงกว่า 120 กม./ชม.
น้ำหนักของเบรกกำลังดี ไม่หัวทิ่ม สูสีกับรถญี่ปุ่น จังหวะเปลี่ยนเกียร์นุ่มเรียบต่อเนื่อง สำหรับความเร็วสูงสุดที่เราลองขับคือ 140 กม./ชม. เพียงพอแล้วสำหรับรถเล็กขนาดนี้ ส่วนเสียงรบกวนจากภายนอกเริ่มได้ยินชัด ณ ระดับความเร็ว 100 กม./ชม.เป็นต้นไป
ในวันที่เราทดสอบบังเอิญเป็นวันที่ฝนตกกระหน่ำกรุงเทพฯ เราจึงมีโอกาสพาเจ้านีโอตะลุยพายุฝน แล้วพบว่า เสียงฝนกระทบตัวถังและหน้ากระจกดังเข้ามาในห้องโดยสารประหนึ่งใครกำลังเขวี้ยงก้อนหินใส่หลังคา ทำให้เราหันไปคิดถึงคุณภาพการประกอบรถยนต์ของบ้านเราทันที ที่สามารถให้ความอุ่นใจได้มากกว่า
ไม่ใช่ว่าเรามีอคติต่อรถที่ประกอบจากเพื่อนบ้านหรือเรื่องสัญชาติของรถแต่อย่างใดนะครับ ความจริงจากการความรู้สึกในห้องโดยสาร ต้องยอมรับกันว่ามาตรฐานการประกอบรถยนต์ รวมถึงคุณภาพชิ้นส่วนของเราดีกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างเห็นได้ชัด
กลับมาที่การทดสอบ เราวิ่งไป-กลับ บางพลัด-สุวรรณภูมิ ความเร็วเฉลี่ยที่ใช้ส่วนใหญ่วิ่งอยู่ประมาณ 60-80 กม./ชม. โดยขาไปวิ่งอ้อมใช้ถนนวงแหวน ส่วนขากลับขับผ่านรถติดสาหัสบริเวณใจกลางเมืองย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิช่วงเวลา 4-5 โมงเย็น ทำให้จากสนามบินสุวรรณภูมิถึงแถวๆ บางพลัดใช้เวลาไปเกือบ 2 ชั่วโมง
ด้านอัตราการบริโภคน้ำมันตามตัวเลขแสดงผลหน้าจอคอมพิวเตอร์ของนีโออยู่ประมาณ 9 กม./ลิตร กับระยะทางกว่า 400 กิโลเมตร (รวมกับที่ผู้อื่นได้ขับไว้ประมาณ 300 กม.)
เดิมทีเราคิดจะเอามาเปรียบเทียบฮอนด้า แจ๊ส หรือโตโยต้า ยาริส แต่ทว่า เมื่อได้สัมผัสจริง รู้สึกอย่างชัดเจนครับว่าเป็นรถคนละประเภทกัน ถ้าจะหารถรุ่นที่พอเทียบเคียงกันน่าจะเป็นรถมินิ หรือไม่ก็เปอโยต์ 207 ซึ่งเป็นรถลักษณะแฮตช์แบ็คแบบเดียวกัน อย่างไรก็ตามด้วยเหตุจากการเป็นรถนำเข้าสำเร็จรูป ทำให้ราคาของทั้งสองคันที่เราเอ่ยมาพุ่งกระโดดไปอยู่ที่ประมาณ 2.8 และ 1.5 ล้านบาท ตามลำดับ จึงไม่อาจนำมาเทียบกันได้
สรุป ด้วยรูปทรงภายนอกขนาดเล็ก กะทัดรัด เหมาะกับการใช้งานในเมืองเป็นอย่างยิ่ง แต่กลับต้องผิดหวังจากน้ำหนักของการบังคับควบคุมพวงมาลัย ซึ่งถ้าผู้ขับเป็นหญิงสาวอาจจะมีสิทธิ์กล้ามขึ้นได้ หากต้องขับเจ้านีโอเข้าซอยที่มีโค้งเลี้ยวไป-มาบ่อยๆ
สำหรับความรู้สึกโดยรวม เจ้า นีโอ คันนี้ หากหลับตาไม่มองรูปลักษณ์ภายนอกทำให้ผู้เขียนรู้สึกเหมือนกำลังทดสอบรถในยุคปลายทศวรรษ 80 ต่อเนื่องถึงต้นทศวรรษ 90 เลยทีเดียว ส่วนจุดเด่นนอกจากรูปทรงภายนอกดูเข้ากับยุคสมัย ก็คงเป็นเรื่องความคุ้มค่าของราคาเมื่อเทียบกับออพชั่น อาทิ แอร์แบ็คคู่ จะหาได้จากรถป้ายแดงคันไหนในราคาค่าตัวเพียง 564,000 บาท