xs
xsm
sm
md
lg

ผลสำรวจตลาดที่อยู่อาศัย เปิดขายใหม่ช่วง 3ไตรมาสแรก ลดลงร้อยละ 9

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวิชัย วิรัตกพันธ์
ศขอ.เผยภาพรวมอสังหาฯอุปสงค์ตลาดตัวมากในช่วง 2 ไตรมาสแรก จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยการลดค่าธรรมเนียมโอนกรรมสิทธิ์และค่าจดจำนอง
ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (ศขอ.)ติดตามสถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยอย่างต่อเนื่องทุกไตรมาสผ่านการประมวลข้อมูลทางสถิติและผลการสำรวจข้อมูลตลาดที่อยู่อาศัย พบว่าในภาพรวมของสถานการณ์ มีการขยายตัวของอุปสงค์ในตลาดที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วง 2 ไตรมาสแรกของปี 2559 ที่เข้าดูดซับอุปทานในตลาดที่เกิดขึ้นและสะสมมาในช่วงก่อนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยการลดค่าธรรมเนียมโอนกรรมสิทธิ์และค่าจดจำนองส่งผลให้ยอดจำนวนหน่วยการโอนกรรมสิทธิ์ในไตรมาส 1 และ 2 ของปี 2559 สูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปี 2558 ประมาณร้อยละ 20.51 และ 21.92 ตามลำดับ
แม้ว่าจะทำให้จำนวนหน่วยการโอนกรรมสิทธิ์ในไตรมาส 3 ของปี 2559 ลดลง แต่พบว่ามาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ในภาพรวมจำนวนหน่วยการโอนกรรมสิทธิ์สะสม 3 ไตรมาสของปี 2559 ปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 1.16 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558 โดยเพิ่มจาก 132,773 หน่วย เป็น 134,319 หน่วย
หากพิจารณาจำนวนหน่วยที่อยู่อาศัยโอนกรรมสิทธิ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2559 ที่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์พบว่า มีจำนวนหน่วยที่อยู่อาศัยโอนกรรมสิทธิ์เพิ่มขึ้นร้อยละ 57 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอาคารชุดเป็นที่อยู่อาศัยที่มีจำนวนหน่วยโอนกรรมสิทธิ์เพิ่มขึ้นมากถึงร้อยละ 147 ขณะที่แนวราบมีการโอนกรรมสิทธิ์เพิ่มขึ้นเพียง ร้อยละ 8
นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้อำนวยการฝ่ายประเมินผลองค์กร รักษาการผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานกลยุทธ์ 2 ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (ศขอ.) รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า ในช่วง 3 ไตรมาสปี 2559 ตลาดที่อยู่อาศัยมีการปรับตัวของประมาณของอุปทานและอุปสงค์ที่มีความสอดคล้องกันมากยิ่งขึ้น โดยจะมีการปรับตัวเพิ่มปริมาณอุปทานในไตรมาสที่ 3 ของปี 2559 เพิ่มขึ้น เพื่อรองรับความต้องการที่อยู่อาศัยใหม่ๆ และกิจกรรมทางการตลาดในช่วงปลายปี 2559 อีกด้วย ทั้งนี้ ศขอ.ได้ประมวลข้อมูลด้านอุปทานและอุปสงค์ รวมถึงประมาณสินเชื่อที่อยู่อาศัย และได้แสดงข้อมูลในส่วนต่อไป

1.สถานการณ์ด้านอุปทาน
การติดตามการเปลี่ยนแปลงด้านอุปทานในตลาดที่อยู่อาศัย จากข้อมูลที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนใหม่ และ ข้อมูลโครงการที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่ในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑล 5 จังหวัด (นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม) ในช่วง 3 ไตรมาสแรก ปี 2559 ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ศขอ.) ได้พบการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ดังนี้

1.1 ที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนใหม่
ในช่วง 3 ไตรมาสแรก ปี 2559 ที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนใหม่ที่เกิดขึ้นในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑล 5 จังหวัด (นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม) มีจำนวนหน่วยสะสมของที่อยู่อาศัยทุกประเภทรวมกันประมาณ 93,412 หน่วย เพิ่มขึ้นร้อยละ 1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีจำนวนหน่วยสะสมประมาณ 92,542 หน่วยส่วนจำนวนหน่วยที่เกิดขึ้นเฉพาะในไตรมาสที่ 3 ของปี 2559 น้อยกว่าของไตรมาสที่ 3 ของปี 2558 ประมาณร้อยละ 13 แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ 2 ของปี 2559 พบว่ามีการขยายตัวเพิ่มขึ้นสูงถึง 76% ซึ่งสะท้อนให้เห็นทิศทางการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอุปทานในตลาดเพื่อรองรับการขยายตัวของอุปสงค์
สำหรับมิติของพื้นที่การพัฒนาของหน่วยที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนใหม่พบว่า มีการกระจายตัวอยู่ในเขตกรุงเทพฯ ประมาณ 45,803 หน่วย หรือคิดเป็นร้อยละ 49 และ อยู่ในเขต 5 จังหวัดปริมณฑล ประมาณ 47,609 หน่วย หรือคิดเป็นร้อยละ 51และยังพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นเพิ่มขึ้นในเขต 5 จังหวัดปริมณฑลที่สูงขึ้นร้อยละ 23 แต่กลับมีการหดตัวลงในเขตกรุงเทพฯ ที่หดตัวลงถึงร้อยละ 15 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
หากพิจารณาที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนใหม่ในมิติของประเภทที่อยู่อาศัย พบว่า ห้องชุดยังคงมีสัดส่วนสูงสุดถึงประมาณร้อยละ 58 ของหน่วยทั้งหมด(54,026 หน่วย) รองลงมาคือ บ้านเดี่ยวมีประมาณร้อยละ 26 (24,150 หน่วย) ทาวน์เฮาส์ประมาณร้อยละ 12 (11,418 หน่วย) อาคารพาณิชย์พักอาศัยประมาณร้อยละ 3 (2,475 หน่วย) และบ้านแฝดประมาณร้อยละ 1 (1,343 หน่วย) ซึ่งพบว่า ที่อยู่อาศัยประเภทอาคารชุดเป็นประเภทเดียวที่มีจำนวนหน่วยเพิ่มขึ้นในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2559 กล่าวคือเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 9 ขณะที่ที่อยู่อาศัยประเภทอื่นมีจำนวนหน่วยที่ลดลงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ พบว่าที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนใหม่ประเภทห้องชุด มีการกระจายตัวสูงที่สุดในพื้นที่ 5 ลำดับแรก ได้แก่ ลำดับที่หนึ่ง – อำเภอธัญบุรี จำนวน 7,800 หน่วย; ลำดับที่สอง –อำเภอเมืองนนทบุรี จำนวน 6,600 หน่วย; ลำดับที่สาม –อำเภอเมืองสมุทรปราการจำนวน 3,500 หน่วย ซึ่งจำนวนนี้เป็นหน่วยจากโครงการบ้านเอื้ออาทร 900 หน่วย; ลำดับที่สี่ –อำเภอเมืองสมุทรสาคร จำนวน 3,200 หน่วย ซึ่งจำนวนนี้เป็นหน่วยจากโครงการบ้านเอื้ออาทร จำนวน 3,100 หน่วย ที่เหลือเป็นโครงการเอกชน 100 หน่วยและลำดับที่ห้า –เขตจตุจักร กรุงเทพฯ จำนวน 2,900 หน่วย
สำหรับที่อยู่อาศัยประเภทแนวราบพื้นที่ที่มีการระจายตัวสูงที่สุด 5 ลำดับแรก ได้แก่ ลำดับที่หนึ่ง –อำเภอบางบัวทอง จำนวน 2,400 หน่วย; ลำดับที่สอง –อำเภอเมืองสมุทรสาคร จำนวน 2,000 หน่วย; ลำดับที่สาม –อำเภอเมืองสมุทรปราการ จำนวน 2,000 หน่วย; ลำดับที่สี่ –อำเภอเมืองปทุมธานี จำนวน 2,000 หน่วย และ ลำดับที่ห้า –อำเภอบางพลี สมุทรปราการ จำนวน 1,700 หน่วย

1.2 โครงการที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่
ศขอ.ติดตามอุปทานที่อยู่อาศัยที่เปิดขายใหม่ ในพื้นที่กรุงเทพฯ- ปริมณฑล พบว่าในช่วง 3 ไตร-มาสแรก ปี 2559 มีโครงการเปิดขายใหม่จำนวน 313 โครงการ และจำนวนหน่วยประมาณ 70,131 หน่วย
หากพิจารณาข้อมูลโครงการที่เปิดตัวใหม่ในมิติด้านประเภทที่อยู่อาศัย พบว่า เป็นประเภทบ้านจัดสรร 209 โครงการ จำนวนประมาณ 32,972 หน่วย และห้องชุด 109 โครงการ จำนวนประมาณ 37,159 หน่วย โดยหน่วยบ้านจัดสรรเปิดขายใหม่เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2558 แต่หน่วยห้องชุดเปิดขายใหม่ลดลงร้อยละ 17
ในภาพรวมจำนวนหน่วยที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่ในช่วง 3 ไตรมาสแรกปี 2559 ลดลงร้อยละ 9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากการเปิดขายอาคารชุดใหม่ลดลงในช่วงไตรมาส -2 แต่มาเปิดโครงการใหม่เพิ่มขึ้นในไตรมาส 3 ทำให้ภาพรวม 3 ไตรมาสแรกของปี 2559 โครงการอาคารชุดเปิดขายใหม่ลดลงร้อยละ 17 แต่โครงการบ้านจัดสรรมีการเปิดขายใหม่เพิ่มขึ้นร้อยละ 3
พื้นที่ที่โครงการบ้านจัดสรรเปิดขายใหม่มีการกระจายตัวสูงที่สุด 5 ลำดับแรกได้แก่ ลำดับที่หนึ่ง–บางกรวย – บางใหญ่ – บางบัวทอง- ไทรน้อย จำนวน 6,560 หน่วย; ลำดับที่สอง – สมุทรปราการ จำนวน 6,490
หน่วย; ลำดับที่สาม –ลำลูกกา–คลองหลวง–ธัญบุรี–หนองเสือ จำนวน 3,890 หน่วย; ลำดับที่สี่ - เมืองปทุมธานี–ลาดหลุมแก้ว–สามโคก จำนวน 2,580 หน่วย; ลำดับที่ห้า–สมุทรสาคร จำนวน 2,110 หน่วย
สำหรับพื้นที่ที่โครงการอาคารชุดเปิดขายใหม่มีการกระจายตัวสูงที่สุด 5 ลำดับแรก ได้แก่ ลำดับที่หนึ่ง–ธนบุรี จำนวน 8,710 หน่วย; ลำดับที่สอง – นนทบุรี จำนวน 5,070 หน่วย; ลำดับที่สาม – สมุทรปราการ จำนวน 2,570 หน่วย; ลำดับที่สี่ – ห้วยขวาง–จตุจักร–ดินแดง จำนวน 2,290 หน่วย และลำดับที่ห้า – สุขุมวิทตอนต้น จำนวน 2,250 หน่วย
ทั้งนี้ หากพิจารณาเฉพาะในช่วงไตรมาส 3 ปี 2559 พบว่ามีโครงการเปิดขายใหม่เฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ - ปริมณฑล จำนวน 115 โครงการ ประมาณ 28,741 หน่วย เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 แบ่งเป็นบ้านจัดสรร 81 โครงการ ประมาณ 14,073 หน่วย เพิ่มขึ้นร้อยละ 18 และเป็นห้องชุด 34 โครงการ ประมาณ 14,668 หน่วย หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 22 ซึ่งเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2558 มีโครงการเปิดขายใหม่ จำนวน 101 โครงการ ประมาณ 23,989 หน่วย แบ่งเป็นบ้านจัดสรร 71 โครงการ ประมาณ 11,938 หน่วย และเป็นห้องชุด 30 โครงการ ประมาณ 12,051 หน่วย

2. สถานการณ์ด้านอุปสงค์
จากการที่ ศขอ. ได้ติดตามการเปลี่ยนแปลงด้านอุปสงค์ในตลาดที่อยู่อาศัย ผ่านข้อมูลการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัย และข้อมูลสินเชื่อที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑล 5 จังหวัด (นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม) ในช่วง 3 ไตรมาสแรก ปี 2559 พบการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ดังนี้
ในช่วง 3 ไตรมาสแรกปี 2559มีการโอนกรรมสิทธิ์สะสม 134,300 หน่วย ซึ่งมูลค่าการโอนฯประมาณ 327,421 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นทั้งจำนวนหน่วยและมูลค่าร้อยละ 1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีจำนวน 132,800 หน่วยและมีมูลค่าประมาณ 322,813 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการโอนกรรมสิทธิ์ประเภทอาคารชุดมากที่สุด โดยมีสัดส่วนร้อยละ 51 ของจำนวนหน่วย และร้อยละ 42 ของมูลค่าในการโอนกรรมสิทธิ์ทั้งหมด รองลงมาเป็นประเภททาวน์เฮ้าส์ ร้อยละ 29และร้อยละ 21และประเภทบ้านเดี่ยว ร้อยละ 12และร้อยละ 25ของจำนวนหน่วยและของมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ทั้งหมด ตามลำดับ แต่หากมีการแบ่งกลุ่มของทีอยู่อาศัยออกเป็นเพียงแนวราบและและอาคารชุด พบว่า ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2559 ที่อยู่อาศัยแนวราบเริ่มมีการลดลงของสัดส่วนทั้งจำนวนหน่วยการโอนกรรมสิทธิ์ โดยลดลงจากร้อยละ 64 เหลือเพียงร้อยละ 48 และ และมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์โดยลดลงจากร้อยละ 66 เหลือเพียงร้อยละ 58 ซึ่งเป็นการสอดคล้องกับทิศทางการเปลี่ยนแปลงของอุปทานในตลาดที่อยู่อาศัย
นอกจากนี้ ศขอ.ยังพบว่า สัดส่วนการโอนกรรมสิทธิ์ในภาพรวมเป็นการซื้อขายที่เป็น “หน่วยขายใหม่ ต่อ หน่วยขายมือสอง” เป็น ร้อยละ 65:35 โดยอาคารชุดและบ้านแฝด มีสัดส่วน “หน่วยขายใหม่ ต่อ หน่วยขายมือสอง” ในระดับสูง เป็นร้อยละ 85:15 และ 68:32 ตามลำดับ ขณะที่ประเภทบ้านเดี่ยว และ ทาวเฮ้าส์มีสัดส่วนใกล้เคียงกัน เป็นร้อยละ 44:56 และ 46:54ตามลำดับ และ อาคารพาณิชย์มีสัดส่วนต่ำสุด เป็นร้อยละ 28:72ซึ่งเป็นไปตามทิศทางของการเพิ่มขึ้นของอุปทานที่ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ทีมีการพัฒนาทีอยู่อาศัยใหม่ประเภทอาคารชุดเป็นสัดส่วนสูงที่สุด ขณะทีประเภทอื่นมีการพัฒนาขึ้นในสัดส่วนที่น้อยกว่า และอาคารพาณิชย์แทบจะไม่มีการพัฒนาขึ้นในปัจจุบัน

3. ตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย
เนื่องจากสินเชื่อเป็นกลไกที่สำคัญที่จะทำให้เกิดความสามารถซื้อที่อยู่อาศัย (Housing Affordability) ขึ้น ศขอ. จึงได้ติดตามและจัดเก็บข้อมูลสินเชื่อที่อยู่อาศัยซึ่งประกอบด้วย ข้อมูลสินเชื่อที่อยู่อาศัยบุคคลทั่วไปปล่อยใหม่ทั่วประเทศ และ สินเชื่อที่อยู่อาศัยบุคคลทั่วไปคงค้าง โดยได้ดำเนินการจัดในช่วงไตรมาส 3 ปี 2559

3.1 สินเชื่อที่อยู่อาศัยบุคคลทั่วไปปล่อยใหม่ทั่วประเทศ
สินเชื่อที่อยู่อาศัยบุคคลทั่วไปปล่อยใหม่ทั่วประเทศ ประกอบด้วยสินเชื่อสถาบันการเงินทั้งระบบ คือ ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารของรัฐ และสถาบันการเงินประเภทอื่นๆ ได้แก่ บริษัทเงินทุน บริษัทประกันชีวิต และการเคหะแห่งชาติ พบว่า3 ไตรมาส ปี 2559 สถาบันการเงินทั้งระบบ ให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยบุคคลทั่วไปปล่อยใหม่ ทั่วประเทศ มูลค่า 426,987 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยใน 3 ไตรมาสแรกของปี 2558 มีการให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยบุคคลทั่วไปปล่อยใหม่ มูลค่า 418,841 ล้านบาททั้งนี้เฉพาะในช่วงไตรมาส 3 ปี 2559สินเชื่อที่อยู่อาศัยบุคคลทั่วไปปล่อยใหม่ มีมูลค่า 136,098 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 12 จากไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 5 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

3.2 สินเชื่อที่อยู่อาศัยบุคคลทั่วไปคงค้างทั่วประเทศ
สินเชื่อที่อยู่อาศัยบุคคลทั่วไปคงค้าง ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2559 มีมูลค่า 3,257,782 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1 จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 8 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งจะเห็นได้ว่า มาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ ได้ช่วยให้ภาพรวมตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยก็มีการขยายตัวสูงกว่า 3 ไตรมาสแรกของปี 2558 และผลจากการกระตุ้นได้ส่งแรงผลักให้วินเชื่อเพื่อที่อย่าอศัยในไตรมาสที่ 3 มีการขยายตัวสูงกว่าปี 2558 ประมาณ 1%
กำลังโหลดความคิดเห็น