xs
xsm
sm
md
lg

ศูนย์ข้อมูลฯเผยข้อมูลการโอนที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ - ปริมณฑล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สัมมา คีตสิน
ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เผยยอดโอนที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯปริมณฑล ช่วงครึ่งปีแรก โตร้อยละ 21 ห้องชุดครองแชมป์ โอนสูงสุด ตามด้วยทาวน์เฮาส์ และบ้านเดี่ยว
นายสัมมา คีตสิน ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ เปิดเผยข้อมูลโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑล 5 จังหวัด (นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม) พบว่าในครึ่งแรกของปี 2559 รวมกันประมาณ 101,200 หน่วย เพิ่มขึ้นร้อยละ 21 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2558 ซึ่งมีจำนวนประมาณ 83,400 หน่วย
จากปริมาณการโอนกรรมสิทธิ์เฉพาะที่อยู่อาศัย จำนวน 101,200 หน่วย แบ่งเป็นยอดโอนในแต่ละเดือน ดังนี้
มกราคม ประมาณ 11,400 หน่วย
กุมภาพันธ์ ประมาณ 14,700 หน่วย
มีนาคม ประมาณ 22,000 หน่วย
เมษายน ประมาณ 32,900 หน่วย
พฤษภาคม ประมาณ 7,800 หน่วย
มิถุนายน ประมาณ 12,400 หน่วย

สำหรับยอดโอนกรรมสิทธิ์ในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ในช่วงครึ่งแรกของปี 2559 แบ่งเป็นห้องชุดมากที่สุด จำนวน 54,600 หน่วย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 54 ของหน่วยการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทุกประเภทรวมกัน รองลงมาเป็นทาวน์เฮาส์ 27,200 หน่วย สัดส่วนร้อยละ 27 บ้านเดี่ยว 11,300 หน่วย สัดส่วนร้อยละ 11 อาคารพาณิชย์ 5,500 หน่วย สัดส่วนร้อยละ 5 ที่เหลือเป็นบ้านแฝดประมาณ 2,600 หน่วย
มูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัย ในช่วงครึ่งแรกของปี 2559 มีมูลค่ารวมกันประมาณ 240,400 ล้านบาท แบ่งเป็นห้องชุดมีมูลค่าการโอนประมาณ 100,500 ล้านบาท สัดส่วนร้อยละ 42 ของมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทุกประเภทรวมกัน บ้านเดี่ยวมีมูลค่าการโอนประมาณ 61,300 ล้านบาท สัดส่วนร้อยละ 26 ทาวน์เฮาส์มีมูลค่าการโอนประมาณ 48,300 ล้านบาท สัดส่วนร้อยละ 20 อาคารพาณิชย์มีมูลค่าการโอนประมาณ 22,400 ล้านบาท สัดส่วนร้อยละ 9 และบ้านแฝดมีมูลค่าการโอน 7,900 ล้านบาท สัดส่วนร้อยละ 3
จากจำนวนหน่วยห้องชุดที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ทั้งหมด พบว่าเป็นหน่วยห้องชุดใหม่ประมาณร้อยละ 86 และเป็นหน่วยห้องชุดมือสองประมาณร้อยละ 14
การโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยประเภทห้องชุด มีมากที่สุดในกรุงเทพฯ ประมาณ 32,800 หน่วย ในจังหวัดนนทบุรีประมาณ 5,700 หน่วย จังหวัดสมุทรปราการประมาณ 6,600 หน่วย จังหวัดปทุมธานีประมาณ 7,600 หน่วย จังหวัดนครปฐมประมาณ 1,100 หน่วย และจังหวัดสมุทรสาครประมาณ 800 หน่วย
พื้นที่ซึ่งมีจำนวนหน่วยการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดใหม่ (โอนจากนิติบุคคล) มากที่สุดในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ได้แก่ เขตลาดกระบัง อำเภอเมืองนนทบุรี อำเภอบางพลี อำเภอคลองหลวง และอำเภอธัญบุรี ส่วนพื้นที่ที่มีจำนวนหน่วยการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดมือสอง (โอนจากบุคคลธรรมดา) มากที่สุด ได้แก่ เขตจตุจักร เขตห้วยขวาง  เขตประเวศ เขตวัฒนา และเขตดอนเมือง ตามลำดับ
พื้นที่ซึ่งมีจำนวนหน่วยการโอนกรรมสิทธิ์บ้านเดี่ยวขายใหม่มากที่สุดในครึ่งแรกของปีนี้ ได้แก่ อำเภอลำลูกกา อำเภอบางพลี เขตสายไหม อำเภอเมืองปทุมธานี และอำเภอบางบัวทอง ส่วนพื้นที่ที่มีจำนวนหน่วยการโอนกรรมสิทธิ์บ้านเดี่ยวมือสองมากที่สุด ได้แก่ เขตบางกะปิ เขตบางเขน อำเภอเมืองสมุทรปราการ อำเภอลำลูกกา และเขตพระโขนง ตามลำดับ
พื้นที่ซึ่งมีจำนวนหน่วยการโอนกรรมสิทธิ์ทาวน์เฮาส์ขายใหม่มากที่สุดในครึ่งแรกของปีนี้ ได้แก่อำเภอเมืองสมุทรปราการ อำเภอบางพลี อำเภอพระสมุทรเจดีย์ เขตคลองสามวา และอำเภอเมืองสมุทรสาคร ส่วนพื้นที่ที่มีจำนวนหน่วยการโอนกรรมสิทธิ์ทาวน์เฮ้าส์มือสองมากที่สุด ได้แก่ อำเภอเมืองสมุทรปราการ อำเภอบางบัวทอง เขตบางเขน เขตบางกะปิ และอำเภอคลองหลวง

สำหรับสินเชื่อที่อยู่อาศัยบุคคลทั่วไปปล่อยใหม่ ทั่วประเทศ
สินเชื่อที่อยู่อาศัยบุคคลทั่วไปปล่อยใหม่ ประกอบด้วย สินเชื่อสถาบันการเงินทั้งระบบ คือ ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารของรัฐ และสถาบันการเงินประเภทอื่นๆ ได้แก่ บริษัทเงินทุน บริษัทประกันชีวิต และการเคหะแห่งชาติ
ไตรมาส 2 ปี 2559 สินเชื่อที่อยู่อาศัยบุคคลทั่วไปปล่อยใหม่ มีมูลค่า 154,171 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 13 จากไตรมาสก่อน แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 7 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
ส่วนแบ่งตลาด สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยบุคคลทั่วไปปล่อยใหม่ในไตรมาส 2 ปี 2559 ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งรวมกันร้อยละ 58.9 ธนาคารอาคารสงเคราะห์ร้อยละ 24.7ธนาคารออมสินร้อยละ 14.1 และสถาบันอื่นๆ มีเพียงร้อยละ 2.3
2 ไตรมาสแรก ปี 2559 สถาบันการเงินทั้งระบบ ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารของรัฐ สถาบันการเงินประเภทอื่นๆ และ การเคหะแห่งชาติ ให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยบุคคลทั่วไปปล่อยใหม่ ทั่วประเทศ มูลค่า 290,889 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยใน 2 ไตรมาสแรกของปี 2558 มีการให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยบุคคลทั่วไปปล่อยใหม่ มูลค่ามากถึง 275,462 ล้านบาท
ส่วนแบ่งตลาด สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่ 2 ไตรมาสแรกปี 2558 ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งรวมกันร้อยละ 58.2 ธนาคารอาคารสงเคราะห์ร้อยละ 26.1 ธนาคารออมสินร้อยละ 13.1 และสถาบันอื่นๆ มีเพียงร้อยละ 2.6

ส่วนสินเชื่อที่อยู่อาศัยบุคคลทั่วไปคงค้าง ทั่วประเทศ
สินเชื่อที่อยู่อาศัยบุคคลทั่วไปคงค้าง ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2559 มีมูลค่า 3,217,570 ล้านบาท เพิ่มขึ้น
ร้อยละ 2 จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 9 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
ส่วนแบ่งตลาด สินเชื่อที่อยู่อาศัยบุคคลทั่วไปคงค้าง ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2559 ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งรวมกันมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 59.7 ธนาคารอาคารสงเคราะห์มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 27.6 ธนาคารออมสินร้อยละ 10.0 และสถาบันอื่นๆ มีเพียงร้อยละ 2.6
กำลังโหลดความคิดเห็น