xs
xsm
sm
md
lg

ไทยยูเนี่ยนเข้าซื้อหุ้น 40% จากอะแวนติโฟรเซ่น ฟู้ดส์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ทียู เปิดเผยว่า บริษัทได้ทำสัญญาร่วมทุนด้วยการเข้าซื้อหุ้น 40% จากบริษัท อะแวนติโฟรเซ่น ฟู้ดส์ จำกัด (Avanti Frozen Foods Private Limited) ผู้ผลิตและแปรรูปกุ้ง ในประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท อะแวนติฟีดส์ จำกัด (Avanti Feeds Limited) โดยการเข้าลงทุนในครั้งนี้ คิดเป็นมูลค่า 1,254.1 ล้านรูปี หรือ ประมาณ 700 ล้านบาท

วัตถุประสงค์หลักของการลงทุนในครั้งนี้ เพื่อกระจายแหล่งจัดหาวัตถุดิบกุ้งและฐานการผลิตของกลุ่มบริษัทไทยยูเนี่ยน รวมถึงการเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อตอบสนองต่อความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยชดเชยการขาดแคลนวัตถุดิบสำหรับการผลิตในประเทศไทย โดย ณ ตอนนี้ การเลี้ยงกุ้งในประเทศอินเดีย ยังไม่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคร้ายแรง อย่างเช่น โรคกุ้งตายด่วน (Early Mortality Syndrome หรือ EMS) อย่างไรก็ตาม แม้ประเทศไทยจะมีการฟื้นตัวในปี 2558 ทว่า ผลผลิตกุ้งของไทยก็ยังคงต่ำกว่าครึ่งจากที่เคยผลิตได้ เมื่อก่อนปี 2556

บริษัท อะแวนติโฟรเซ่น ฟูดส์ จำกัด หรือ AFFPL ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2558 โดยมี บริษัท อะแวนติฟีดส์ จำกัด เป็นบริษัทแม่ เพื่อดำเนินการแปรรูปกุ้งในประเทศอินเดียสำหรับส่งออกตลาดต่างประเทศและตลาดในประเทศ ซึ่งในเดือนพฤศจิกายน 2558 ที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้เข้าซื้อกิจการแปรรูปกุ้งของบริษัทแม่ ซึ่งคือ บริษัท อะแวนติฟีดส์ จำกัด
ขณะเดียวกัน บริษัท อะแวนติโฟรเซ่น ฟูดส์ จำกัด กำลังสร้างโรงงานแห่งใหม่ที่เยอร์ราวาราม (Yerravaram) ในอำเภออีสต์โกดาวารี (East Godavari) ซึ่งอยู่ห่างจากโรงงานแปรรูปกุ้งในปัจจุบันที่เมืองโกปาลาปุรำ (Gopalapuram) ในรัฐอานธรประเทศ (Andra Pradesh) ราว 80 กิโลเมตร สำหรับโรงงานในปัจจุบัน มีกำลังการผลิตอยู่ที่ประมาณ 25 ตันต่อวัน และส่วนโรงงานแห่งใหม่จะมีกำลังการผลิตอีก 50 ตันต่อวัน ทำให้บริษัทมีกำลังการผลิตรวมทั้งหมดอยู่ที่ 75 ตันต่อวัน

จากผลกำไรในการดำเนินงานและฐานลูกค้าเดิมที่มีอยู่ ทำให้บริษัทจะสามารถทำกำไรได้ทันทีในปีแรก ปัจจุบัน โรงงานมีจำนวนพนักงาน 750 คน แต่เมื่อโรงงานแห่งใหม่สร้างแล้วเสร็จและเปิดดำเนินการ จะมีจำนวนพนักงานเพิ่มขึ้นเป็น 2,250 คน สำหรับตลาดธุรกิจการแปรรูปกุ้งของโรงงานในตอนนี้ ส่วนใหญ่จะเน้นที่ตลาดส่งออก อาทิ สหรัฐอเมริกา ตลาดใหญ่ๆ ในทวีปยุโรป และญี่ปุ่น

ส่วนลูกค้าหลักของบริษัทจะเป็นกลุ่มผู้นำเข้าอาหารทะเลรายใหญ่ของตลาด กล่าวคือ ธุรกิจส่วนใหญ่จะเป็นการรับจ้างผลิตตามสัญญาการผลิต (contract manufacturing) หรือรับจ้างผลิตจากเจ้าของสินค้าเอง (OEM) อย่างไรก็ดี ประเทศจีนกำลังจะกลายมาเป็นผู้นำเข้าอาหารทะเลมากกว่าเป็นผู้ส่งออกอาหารทะเลดังเช่นแต่ก่อน อีกทั้งจะเป็นตลาดที่มีศักยภาพแข็งแกร่งในอนาคตอันใกล้ นอกจากนี้ จากการที่เศรษฐกิจในอินเดียมีการเติบโตและมีจำนวนประชากรค่อนข้างมาก ทำให้การร่วมทุนในครั้งนี้พร้อมที่จะกระตุ้นให้เกิดการบริโภคกุ้งที่เพิ่มสูงขึ้นได้ในตลาดอินเดีย

การร่วมทุนครั้งนี้จะสำเร็จลุล่วงได้ก็ต่อเมื่อมีการผ่านเกณฑ์ข้อกำหนดและเงื่อนไขการซื้อขายตามธรรมเนียมเป็นที่เรียบร้อ ย การประเมินมูลค่าการลงทุนในครั้งนี้จะอิงกับการประเมินราคาของหน่วยงานอิสระต่อธุรกิจแปรรูปกุ้งของบริษัท อะแวนติโฟรเซ่น ฟู้ดส์ ซึ่งได้แยกออกจากบริษัทอะแวนติฟีดส์ รวมกับค่าใช้จ่ายในการลงทุนของโรงงานใหม่ที่กำลังก่อสร้าง ซึ่งมีกำหนดเปิดดำเนินการในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2559

ในส่วนของสถานที่ตั้งโรงงาน ความรับผิดชอบในการบริหารจัดการจะอยู่ภายใต้การดูแลของ บริษัท อะแวนติฟีดส์ และทีมงานจาก อะแวนติโฟรเซ่น ฟู้ดส์ โดยได้รับการสนับสนุนจากทีมงานกลุ่มบริษัทไทยยูเนี่ยน

นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “อะแวนติฟีดส์ ถือเป็นคู่ค้าระยะยาวของไทยยูเนี่ยนในประเทศอินเดีย ซึ่งความสัมพันธ์ดังกล่าวเป็นไปด้วยดีมาโดยตลอดและมีสำคัญอย่างยิ่ง ด้วยทีมผู้บริหารที่แข็งแกร่งของอะแวนติทำให้ผลการดำเนินการทางธุรกิจของบริษัทอยู่ในเกณฑ์ดีมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

อีกทั้งการที่อินเดียกำลังจะกลายมาเป็นฐานการแปรรูปกุ้งสำหรับตลาดส่งออกและอาจกลายเป็นตลาดอาหารทะเลที่สำคัญในอนาคตนั้น ทำให้ไทยยูเนี่ยนมุ่งมั่นที่จะเข้ามาทำธุรกิจในประเทศอินเดีย โดยหวังว่าการลงุทนในครั้งนี้ จะเป็นฐานสำหรับการขยายการลงทุนต่อๆ ไป หากมีโอกาสการลงทุนอื่นๆ ที่น่าสนใจในอินเดีย”

นายฤทธิรงค์ บุญมีโชติ ประธานกรรมการบริหารกลุ่มธุรกิจกุ้ง บริษัทไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป กล่าวว่า “พวกเรามุ่งมั่นที่จะขยายเครือข่ายการแปรรูปกุ้งของเราไปยังประเทศอินเดีย เพื่อกระจายแหล่งจัดหาวัตถุดิบกุ้งและฐานการผลิตของกลุ่มบริษัทไทยยูเนี่ยน รวมถึงเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อช่วยรองรับความต้องการสินค้าแปรรูปกุ้งของบริษัทเราที่สูงขึ้นทั่วโลก ซึ่งกำลังการผลิตของอะแวนติโฟรเซ่น ฟูดส์ จะช่วยชดเชยการขาดแคลนวัตถุดิบในประเทศในปัจจุบันได้ เพราะภาคการเลี้ยงกุ้งของอินเดียยังไม่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคร้ายแรง เช่น โรคกุ้งตายด่วน (Early Mortality Syndrome หรือ EMS) อย่างเช่นในประเทศไทย จีน และเวียดนาม ซึ่งการเป็นหุ้นส่วนร่วมกับ อะแวนติฟีดส์ จะทำให้เราเป็นผู้เล่นที่แข็งแกร่งในธุรกิจอาหารทะเลในประเทศอินเดีย”

มร.เอ อินทรา คูมาร์ ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท อะแวนติฟีดส์ จำกัด กล่าวว่า “ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของอะแวนติฟีดส์ ที่ได้เป็นหุ้นส่วนกับไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งได้พิสูจน์ให้เห็นถึงรูปแบบธุรกิจที่ดีอันเป็นประโยชน์ร่วมกัน นอกจากธุรกิจอาหารสัตว์แล้ว การแปรรูปกุ้งก็ยังเป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่ช่วยให้เราเป็นที่รู้จักมากขึ้นในตลาด และด้วยความแข็งแกร่งของไทยยูเนี่ยนในอุตสาหกรรม ผมรู้สึกตื่นเต้นอย่างมากกับการร่วมทุนในครั้งนี้ ประเทศอินเดียจะกลายเป็นผู้เล่นที่สำคัญในห่วงโซ่อุปทานกุ้งของโลก ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการร่วมทุนกับไทยยูเนี่ยนจะช่วยให้เราสามารถก้าวเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมแปรรูปกุ้งได้”
กำลังโหลดความคิดเห็น