บล.เอเชีย เวลท์ มองตลาดหุ้นสัปดาห์นี้ผันผวนต่อ ในการประชุมล่าสุด Federal Reserve ลดจำนวนครั้งของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยขึ้นลงเหลือ 2 ครั้งในปีนี้ แต่หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ Fed หลายรายกลับมาแสดงความเห็นเข้มเรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยระบุว่าอาจมีการเริ่มปรับในเดือนเมษายนนี้
นายวรุตม์ ศิวะศริยานนท์ กรรมการผู้จัดการสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเชีย เวลท์ จำกัด กล่าวว่า สัปดาห์นี้ตลาดยังคงจะผันผวนอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากตลาดกลับมาให้น้ำหนักต่อ Federal Reserve เรื่องแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ โดยอาจเริ่มปรับในการประชุมครั้งต่อไปในเดือนเมษายน หลังจากที่ประธาน Fed แต่ละสาขาออกมาพูดในเชิงที่จะปรับดอกเบี้ย แต่อย่างไรก็ตาม ยังต้องรอคำกล่าวของ นางเจนเนต เยเลน ประธาน Fed ที่จะออกมาแถลงในวันอังคารนี้ (29 มี.ค.) ว่า จะมีทีท่าต่อการปรับดอกเบี้ยอย่างไร ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เรื่องการปรับดอกเบี้ยส่งผลให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวลง และกดดันราคาสินค้าโภคภัณฑ์ สำหรับในสัปดาห์นี้ยังต้องติดตามตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ทั้งตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร และตัวเลขบ้าน ซึ่งตัวเลขเหล่านี้ต้องออกมาดีพอสมควรที่จะยืนยันว่าสหรัฐฯ จะไม่กลับไปเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยอีก แต่ก็ต้องไม่ดีมากเกินไปจนทำให้ทำให้กลับมากลัว Fed ขึ้นดอกเบี้ย ถ้าเป็นเช่นนี้หุ้นสหรัฐฯ ก็จะนำหุ้นโลกเดินหน้าต่อได้
ด้านราคาน้ำมัน ถูกกดดันจากตัวเลขปริมาณสำรองน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่พุ่งขึ้นทำ New high อย่างต่อเนื่อง แต่มองว่ากรอบการเคลื่อนไหวน้ำมันที่ 35-40 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ถือว่าราคาน้ำมันผ่านจุดต่ำสุดที่ระดับ 27.1 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรลแล้ว
ส่วนตลาดหุ้นไทยสัปดาห์นี้ หุ้นกลุ่มพลังงานอาจถูกกดดันจากราคาน้ำมันอย่างต่อเนื่องได้ และหุ้นกลุ่มโทรคมนาคมถูกกดดันจากเรื่อง 4G ส่งผลให้คาดว่า ตลาดหุ้นสัปดาห์นี้ยังคงผันผวน และ SET Index น่าจะเคลื่อนไหวในกรอบ 1,380-1,420 จุด กลยุทธ์การลงทุนยังคงเน้นหุ้นพื้นฐานแข็งแกร่ง เงินปันผลดี และหุ้นที่ได้ประโยชน์จากโครงการก่อสร้างภาครัฐขนาดใหญ่ เช่น รับเหมา และวัสดุก่อสร้าง และหุ้นที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว และโรงพยาบาล
นายวรุตม์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับ Trading Idea ประจำสัปดาห์นี้ แนะนำหุ้น CPF ของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ดำเนินธุรกิจอาหารสัตว์ ธุรกิจการเลี้ยงสัตว์ ธุรกิจอาหาร และธุรกิจค้าปลีก และร้านอาหาร โดยคาดว่าปีนี้จะมีการเติบโตของกำไรแบบฟื้นตัวแรงที่ 176% หลังจากปี 2558 ติดลบ 58% และปี 60 คาดว่าจะเติบโต 13% ธุรกิจหลักๆ ของ CPF มีแนวโน้มดีขึ้นชัดเจนทั้งกุ้ง และไก่
โดยด้านธุรกิจกุ้ง ลูกกุ้งที่ขายให้เกษตรกรมียอดขายเพิ่มขึ้น 20% YoY มาตั้งแต่ต้นปี สะท้อนความเชื่อมั่นของเกษตรกรว่า โรค EMS ที่ทำให้ลูกกุ้งตายได้คลี่คลายลง
ส่วนธุรกิจอาหารสัตว์ ราคาต้นทุนการผลิตอยู่ในระดับต่ำ เพราะพืชเกษตร เช่น ข้าวโพด และถั่วเหลือง ที่เป็นวัตถุดิบที่นำมาผลิตราคาถูก
ด้านธุรกิจเนื้อหมู ราคาดีขึ้น หลังจากเกิดความขาดแคลนในประเทศจีน ส่วนธุรกิจเนื้อไก่ อุปทาน และอุปสงค์ดีขี้น หลังจากปีที่แล้วอุปทานล้นตลาด แต่ปีนี้ตลาดสมดุลมากขึ้น ล่าสุด จำนวนแม่พันธุ์ไก่ในสหรัฐฯ ขาดแคลน เพราะเกิดไข้หวัดนกระบาด และยอดขายไก่ในญี่ปุ่นของ CPF หลังจากจับมือกับ อิโต ชู พุ่งสูงขึ้นมาก นอกจากนี้ ปีที่แล้วมีการเข้าซื้อกิจการฟาร์มไก่ในกัมพูชา และฟาร์มไก่ในรัสเซีย ซึ่งจะทำให้มียอดขายเพิ่มขึ้นอีก
ด้านอัตราเงินปันผลตอบแทน (Dividend Yield) อยู่ที่ราวเกือบ 4% และอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิ (P/E ratio) ที่ 17 เท่า สำหรับราคาเป้าหมายปีนี้ตามปัจจัยพื้นฐานที่ 26 บาท ด้าน Technical เกิดสัญญาณซื้อรายวัน และรายสัปดาห์ และคาดว่าจะเกิดสัญญาณรายเดือน ทำให้หุ้นอยู่ในแนวโน้มขาขึ้นชัดเจน