xs
xsm
sm
md
lg

ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป สวนกระแสเผยผลประกอบการปี 2558 ทำสถิติยอดขายและกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธีรพงศ์ จันศิริ ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท
ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป ประกาศผลประกอบการปี 2558 สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ยอดขายรวม 125.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.1 เปอร์เซ็นต์ กำไรสุทธิ (ก่อนหักค่าใช้จ่ายแบบพิเศษจ่ายครั้งเดียว) 6.1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.1 เปอร์เซ็นต์ กำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษีเงินได้ และค่าเสื่อม 11.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.8 เปอร์เซ็นต์ กำไรสุทธิต่อหุ้น 1.11 บาท, เพิ่มขึ้น 1.1 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับปี 2557 เผยมีแผนจะจ่ายเงินปันผลในอัตราหุ้นละ 0.31 บาท

บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ทียู แถลงรายงานผลประกอบการไตรมาสที่ 4 ประจำปี 2558 และผลประกอบการประจำปี 2558 โดยผลประกอบการประจำปี 2558 มีกำไรสุทธิสูงสุดเป็นประวัติการณ์ (ก่อนหักค่าใช้จ่ายแบบพิเศษที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) คือ 6.1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.1 เปอร์เซนต์ จาก 5.1 พันล้านบาทเมื่อปี 2557 นอกจากนั้น ทียู ยังสามารถทำยอดขายรวมสูงสุดเป็นประวัติการณ์อย่างต่อเนื่องอีกปีหนึ่งด้วย ซึ่งมียอดขายรวมที่ 125.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.1 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับปีก่อน และเมื่อหักค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้มาจากผลการดำเนินงานแบบจ่ายครั้งเดียว ตัวเลขกำไรสุทธิก็ยังทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 5.3 พันล้านบาท ส่วนกำไรสุทธิก่อนหักดอกเบี้ย ภาษีเงินได้ และค่าเสื่อม (EBITDA) ก็สามารถทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ด้วยเช่นกันเพิ่มขึ้นสูงสุด เท่ากับ 11.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.8 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

สำหรับผลประกอบการที่เติบโตเช่นนี้เป็นผลมาจากผลประกอบการที่แข็งแกร่งของแบรนด์อาหารทะเลของไทยยูเนี่ยนในภูมิภาคยุโรป ความสำเร็จของการดำเนินงานของกิจการที่ทียูเข้าซื้อเมื่อเร็วๆ นี้ อย่าง เมอร์อไลลันซ์ (ผู้นำปลาแซลมอนรมควันแช่เย็นในยุโรป) คิงออสการ์ (แบรนด์ปลาซาร์ดีนพรีเมี่ยมระดับโลก) และโอไรออน ซีฟู้ด (ผู้จำหน่ายกุ้งล็อบสเตอร์รายใหญ่ที่สุดในอเมริกาเหนือ) รวมถึงการฟื้นตัวของกิจการแปรรูปกุ้งในประเทศไทย และความสำเร็จในการปรับโครงสร้างองค์กรของ USPN (ผู้ผลิตอาหารสัตว์ในสหรัฐฯ) นอกจากนี้ การแข็งค่าของสกุลเงินเหรียญสหรัฐต่อเงินบาทไทยยังส่งผลบวกอีกด้วย อย่างไรก็ตามยังเป็นปีที่มีความท้าทาย ยกอย่างเช่น ความผันผวนของสกุลเงินยูโร ราคาวัตถุดิบปลาทูน่าและกุ้งที่ตกต่ำลง ความวิตกกังวลจากประเทศผู้นำเข้าอาหารทะเลหลักของทียู ต่อกรณีประเด็นของความยั่งยืนทางทะเลในประเทศไทย รวมถึงการยกเลิกการเข้าซื้อกิจการ บับเบิลบี

ทั้งนี้ ผลประกอบการประจำปีควรจะต้องโดดเด่นมากกว่านี้ หากไม่รวมค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นครั้งเดียว ซึ่งไม่ได้มาจากการดำเนินงาน อย่างค่าใช้จ่ายจากการเพิ่มทุนและเพิ่มเงินกู้ (เป็นผลสืบเนื่องจากการยกเลิกการเข้าซื้อกิจการ บับเบิลบี เมื่อต้นเดือนธันวาคม 2558) ค่าใช้จ่ายสำหรับปรับโครงสร้างธุรกิจการประมง และค่าใช้จ่ายปลีกย่อยที่เกิดขึ้นในครั้งเดียว หากไม่มีค่าใช้แบบจ่ายครั้งเดียวเหล่านี้กำไรสุทธิปี 2558 ควรจะเป็น 6.1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.1 เปอร์เซ็นต์ จากปีก่อนหน้า

เนื่องด้วยค่าใช้จ่ายแบบจ่ายครั้งเดียวเหล่านี้เกิดขึ้นในไตรมาสที่สี่ ดังนั้นกำไรสุทธิจึงลดลงเป็น 757 ล้านบาท ถึงแม้ยอดขายไตรมาสที่สี่จะสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 33.3 พันล้านบาท บาท หรือ 930 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้กำไรสุทธิปกติ (ที่สะท้อนให้เห็นถึงผลประกอบการที่แท้จริง) ควรจะเป็น 1,534 ล้านบาท อย่างไรก็ตามผลประกอบการยังคงเป็นที่น่าพึงพอใจ เนื่องจากในไตรมาสที่สี่มักจะเป็นช่วงเวลาที่ไม่คึกคักนัก นอกจากนี้ทางบริษัทฯ ได้เคยประกาศผลประกอบการประจำไตรมาสที่ดีที่สุดในประวัติการณ์เมื่อไตรมาสที่สามของปี 2558 ในสกุลเงินเหรียญสหรัฐ (1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 32.8 พันล้านบาท) กอปรกับการอ่อนตัวของค่าเงินบาทในช่วงปลายปี 2558 ส่งผลให้ยอดขายรวมของไตรมาสที่สี่สูงที่ที่สุดเป็นประวัติการณ์เมื่อคิดเป็นสกุลเงินบาท

ทางด้าน นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ปีนี้นับเป็นปีที่เยี่ยมยอดที่สุดอีกปีหนึ่งของไทยยูเนี่ยน ด้วยยอดขายและกำไรสุทธิที่สูงเป็นประวัติการณ์ ผลประกอบการปี 2558 ได้สะท้อนให้เห็นถึงความแข็งแกร่งและความสามารถในการเติบโตได้ แม้อยู่ภายใต้ความท้าทายนานับประการที่ประเทศไทยและอุตสาหกรรมอาหารทั่วโลกจะเผชิญอยู่ อัตราการแลกเปลี่ยนเงินที่ผันผวน การปรับตัวลงของราคาปลาทูน่าและกุ้ง สภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกที่ไม่แน่นอน นอกจากนี้ประเด็นด้านความยั่งยืนที่ประเทศไทยประสบอยู่ก็ไม่ได้ส่งผลต่อการสร้างผลประกอบที่เหนือกว่าเกณฑ์อุตสาหกรรม ถึงแม้ว่ายอดขายรวมของเราจะต่ำกว่าเป้าเล็กน้อย แต่กำไรสุทธิของเราก็ชดเชยได้เป็นอย่างดีและช่วยให้เราสร้างสถิติใหม่ได้อีก"
"ผลการดำเนินงานที่เกิดขึ้นนี้ ต้องขอขอบคุณทีมงานของเราที่พยายามอย่างหนักในการเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนเพื่อเพิ่มส่วนต่าง อีกทั้ง การควบรวมกิจการคิงออสการ์ และเมอร์อไลลันซ์ เข้ามาในไทยยูเนี่ยน ดังนั้น หากไม่มีค่าใช้จ่ายแบบจ่ายครั้งเดียวที่เกี่ยวกับการเข้าควบซื้อกิจการ และการปรับโครงสร้างธุรกิจประมงของเราในไตรมาสที่ 4 ด้วยแล้วกำไรสุทธิของเราจะเติบโตอย่างโดดเด่นมากกว่านี้”

“สถานะทางการเงินของเราได้ปรับตัวดีขึ้น เนื่องด้วยกำไรก่อนดอกเบี้ยภาษีเงินได้และค่าเสื่อม (EBITDA) ที่แข็งแกร่ง และกระแสเงินสดที่โตขึ้นได้ด้วยต้นทุนวัตถุดิบที่ต่ำลงและการบริหารจัดการสินค้าคงคลังที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งหมดนี้ช่วยให้อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (D/E ratio) ลงลงเหลือ 0.75 เท่า จากเดิม 0.85 เท่า เมื่อปี 2557 นอกจากนี้ หนี้สุทธิของเรายังลดลงเหลือ 36 พันล้านบาท จากเดิม 40 พันล้านบาทเมื่อปีที่แล้ว”

เมื่อเปรียบเทียบกับยอดขายรวมในปี 2558 ธุรกิจปลาทูน่ายังคงมีส่วนแบ่งมากที่สุดโดยนับเป็น 37เปอร์เซ็นต์ของยอดขายทั้งหมด ตามด้วยธุรกิจกุ้ง 29 เปอร์เซ็นต์ ปลาแซลมอน 9 เปอร์เซ็นต์ อาหารสัตว์ 7 เปอร์เซ็นต์ ธุรกิจปลาซาร์ดีนและแมคเคอเรล 6 เปอร์เซ็นต์ และผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่าและอื่นๆ อีก 12 เปอร์เซนต์ และในปี 2559 จะมีการจัดหมวดหมู่ของผลิตภัณฑ์ใหม่ซึ่ง แบ่งออกเป็น 3 หมวด คือ อาหารทะเลสำเร็จรูปพร้อมปรุง 47 เปอร์เซนต์ ธุรกิจอาหารทะเลแช่เย็นแช่แข็งและอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง 40 เปอร์เซนต์ และธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง ผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่า และอื่นๆ 13 เปอร์เซนต์ ทั้งนี้การจัดหมวดหมู่ใหม่นี้จะอธิบายถึงการเติบโตและแนวโน้มอัตราการทำกำไรของธุรกิจ โดยเน้นที่การตอบสนองช่องทางการจัดจำหน่ายหลักที่ต่างแตกกันของหมวดผลิตภัณฑ์เหล่านี้

โดยในปัจจุบัน ยอดขายจากแบรนด์ผลิตภัณฑ์ของเราเองยังคงที่อยู่ที่ 41 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2558 ส่วนที่เหลือคือการผลิตขายแบบรับจ้างผลิต ในขณะเดียวกัน ตลาดสหรัฐฯ ยังคงเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดของเราที่ 42 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2558 ตามด้วยยุโรป 29 เปอร์เซ็นต์ ตลาดในประเทศ 8 เปอร์เซ็นต์ ญี่ปุ่น 6 เปอร์เซ็นต์ และประเทศอื่นๆ รวมกันอีก 14 เปอร์เซ็นต์

ในขณะที่มีความท้าทายต่อยอดขายรวมของเราในธุรกิจปลาทูน่า เนื่องด้วยการลดต่ำลงของราคาวัตถุดิบและการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้น เรายังสามารถบริหารจัดการเพื่อผลกำไรให้ได้มากกว่าเมื่อปีก่อน ทางด้านธุรกิจกุ้งก็ประสบผลดีเช่นเดียวกัน ทางด้านธุรกิจล็อบสเตอร์ใหม่ของแบรนด์ ชิคเก้นออฟเดอะซี ผ่านทางบริษัท โอไรออน ก็ได้สร้างฐานการเป็นผู้นำตลาดในทวีปอเมริกาเหนือ ส่วนธุรกิจที่โดดเด่นด้วยทั้งยอดขายรวมและกำไรสุทธิที่สูงขึ้นได้แก่ ธุรกิจปลาซาร์ดีน ปลาแมคเคอเรล และปลาแซลมอน โดยได้ผลดีจากการเข้าควบซื้อกิจการคิง ออสการ์ และเมอร์อไลลันซ์ ช่วงปลายปี 2557 ทางด้านธุรกิจผลิตภัณฑ์สัตว์เลี้ยงก็ได้ฟื้นฟูขึ้นจนทำกำไรขึ้นได้ภายหลังการปรับโครงสร้างบริษัท US Pet Nutrition ในประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี 2557

จากผลประกอบการที่เข้มแข็งในปี 2558 ทางบริษัทจึงมีทัศนคติที่เป็นบวกสำหรับปี 2559 นี้ แม้สภาพเศรษฐกิจโลกจะพันผวนและผลกระทบที่ตามมาทางด้านราคาของสินค้าอุปโภคบริโภค

นายธีรพงศ์ กล่าวเสริมว่า “เราอยู่ในจุดที่พร้อมที่จะสร้างผลงานที่ดีในปี 2559 ซึ่งเป็นปีที่เราสามารถใช้เป็นฐานในการเริ่มต้นสร้างความเจริญโตขึ้น โดยในปีนี้เราจะมีการเปิดตัวโครงการใหม่ๆ หลายโครงการ อีกทั้งการผลักดันอย่างต่อเนื่องเพื่อนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ และนวัตกรรมการผลิตใหม่ๆ มุ่งเน้นการบริการลูกค้ากลุ่มเซอร์วิส เช่น ภัตตาคาร ร้านอาหาร แนวทางการบริการอาหารทะเลให้กับลูกค้าในตลาดเกิดใหม่ทั้งตะวันออกกลาง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และจีน ดังนั้น การเติบโตจะถูกขับเคลื่อนด้วยแนวทางธุรกิจใหม่ๆ นี้ กอปรกับการควบรวมกิจการ รูเก้นฟิช ผู้นำอาหารทะเลในประเทศเยอรมนี ที่เราพึ่งเข้าซื้อหุ้นมาได้ 51 เปอร์เซ็นต์มาเป็นสมาชิกล่าสุดของครอบครัวไทยยูเนี่ยน ”

นายธีรพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ”การจะได้มาซึ่งผลประกอบการตามที่เราคาดหวัง เราจะไม่สามารถทำได้โดยไม่คำนึงถึงความยั่งยืนทั้งในความคิดและการกระทำ แม้ประเทศไทยจะเผชิญความท้าทายอย่างที่เป็นอยู่ เราก็ยังมุ่งมั่นเพื่อให้ห่วงโซ่อุปทานของเราปลอดจากประเด็นทางด้านแรงงานและสิ่งแวดล้อมและตั้งเป้าที่จะเป็นผู้นำอุตสาหกรรมในด้านนี้ เราถือเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นเรื่องสำคัญมากในฐานะโอกาสทางกลยุทธ์ที่จะเติบโตแทนที่จะเป็นภาระ เราจะยังมุ่งมั่นเพื่อผลักดันการพัฒนาที่ยั่งยืนสู่ผู้ผลิตของเราและขยายออกไปถึงคู่ค้าของเราในวงกว้างอีกด้วย”

ถึงแม้จะมีการยกเลิกเข้าซื้อกิจการ บับเบิลบี ในปลายปี 2558 ทางบริษัทฯ ยังมุ่งมั่นที่จะดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายปี 2563 ด้วยยอดขาย 8 พันล้านเหรียญโดยได้มีการปรับปรุงแผนการดำเนินงานเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์

นายธีรพงศ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า “โครงการใหม่ๆ ที่กล่าวมา บวกกับการขยายกิจการอย่างต่อเนื่องของไลน์ธุรกิจที่เรามีอยู่เดิมจะยังไม่พอเพียงที่จะบรรลุเป้าหมายปี 2563 ดังนั้นเรายังจะคงแสวงหาลู่ทางในการเข้าควบซื้อกิจการใหม่ๆ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของกลุ่มเราและด้านยอดขายรวม เรากำลังมองหาโอกาสต่างๆ ที่จะสร้างยอดขายเพิ่มขึ้น 1 - 1.5 พันล้านในอีก 5 ปีข้างหน้า ด้วยทีมผู้บริหารที่มีอยู่เดิม และผู้บริหารใหม่ ด้วยความสามารถของเรา เชื่อว่าจะไปสู่เป้าหมายปี 2563 ได้อย่างแน่นอน”

ทางบริษัทฯ ขอประกาศด้วยว่าจะดำเนินการจ่ายเงินปันผลสำหรับครึ่งปีหลังของปี 2558 ที่ 0.31 บาทต่อหุ้น ซึ่งเป็นไปตามนโยบายเดิมด้วยการจ่ายปันผลไม่ต่ำกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของกำไรสุทธิ โดยจะจ่ายเงินปันผลปีละ 2 ครั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น