xs
xsm
sm
md
lg

ม.รังสิตเร่งสร้างความรู้ แหล่งบ่มเพาะภูมิปัญญา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มหาวิทยาลัยรังสิตตระหนักเสมอมาว่ามหาวิทยาลัยมิใช่เป็นเพียงที่เรียน ที่สอนหนังสือ หรือที่สรรค์สร้างความรู้เท่านั้น หากเป็นที่บ่มเพาะภูมิปัญญา ปลูกฝังจิตสำนึก ค่านิยมที่ดีงาม ตลอดจนองค์ความรู้คู่การปฏิบัติเพื่อสร้างผลประโยชน์สูงสุดในวิชาชีพ ซึ่งเป็นที่ต้องการและมีความจำเป็นต่อประเทศชาติ
ระยะเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมา นอกเหนือจากความเจริญเติบโตทางวิชาการ ศาสตร์และศิลป์ ตลอดจนการพัฒนาทางเทคโนโลยีแล้ว เครื่องมือและกลไกสำคัญของมหาวิทยาลัยรังสิต คือ การวิจัยและพัฒนา นอกจากเพื่อต่อยอดภูมิปัญญาและสร้างนวัตกรรมแล้ว ยังเป็นไปเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ให้ประเทศก้าวสู่ประเทศพัฒนาแล้วพร้อมคุณภาพชีวิตของประชาชนที่ดีกว่าเดิม และเพื่อเป็นการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยรังสิตให้ก้าวสู่การเป็นมหาวิทยาลัยสมบูรณ์แบบที่การศึกษาคือนวัตกรรม ช่วยกระตุ้นให้เกิดวัฒนธรรมองค์กรแห่งการเรียนรู้และองค์กรแห่งความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เพื่อให้มีการเกิดนวัตกรรมและสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา รวมทั้งก่อให้เกิดการพัฒนากระบวนการทำงานที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นทั้งในคณะและหน่วยงานต่างๆ
ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยรังสิต ในฐานะประธานคณะกรรมการนวัตกรรมอัจฉริยะ กล่าวว่า โครงการนวัตกรรมอัจฉริยะเป็นความคิดริเริ่มของท่านอธิการบดี ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ เพื่อเป็นกิจกรรมหนึ่งในการขับเคลื่อนพันธะกิจของมหาวิทยาลัยให้บรรลุเป้าหมายให้ “มหาวิทยาลัยรังสิต” เป็นมหาวิทยาลัยสมบูรณ์แบบที่การศึกษาคือนวัตกรรม โดยโครงการดังกล่าวได้ดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ. 2557 โดยมีผลงานและโครงการของคณะและหน่วยงานต่างๆ มากมาย ซึ่งแบ่งออกเป็น 1) โครงการนวัตกรรมหลักสูตรและการเรียนการสอน 2) โครงการนวัตกรรมการบริหารจัดการ และ 3) โครงการนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์
“สำหรับนวัตกรรมในโครงการฯ จากคณะและหน่วยงานนอกจากมีความน่าสนใจแล้ว ยังมีประโยชน์ต่อสังคมอีกด้วยซึ่งเป็นการต่อยอดการเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุด อาทิ โครงการทางสายวิทยาศาสตร์ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากการนำงานวิจัยมาต่อยอด เช่น โครงการผลิตภัณฑ์ซูโดลาเท็กซ์ (Pseudo-latex) สำหรับการประยุกต์ใช้ทางผิวหนัง ของคณะเภสัชศาสตร์ โดยนวัตกรรมเรื่อง “ซูโดลาเท็กซ์ สำหรับน้ำมันรำข้าวจากการสกัดเย็นเพื่อใช้ทางเครื่องสำอาง และ “มาส์กพอกหน้าและซูโดลาเท็กซ์ที่มีส่วนผสมของสมุนไพรเพื่อบำรุงผิวหน้า” ได้ผ่านการดำเนินการยื่นจดสิทธิบัตรแล้ว โครงการระบบควบคุมการเคลื่อนที่รถเข็นไฟฟ้าด้วย Accelerometer Sensor เป็นนวัตกรรมที่พัฒนาเพื่อให้ผู้พิการที่เคลื่อนไหวได้เฉพาะศีรษะสามารถเดินไปไหนมาไหนได้ด้วยตนเอง โครงการเทคโนโลยีการตรวจจับและรับรู้ท่าทางการเคลื่อนไหวของมือ โดยตรวจจับคลื่นความเคลื่อนไหวของนิ้วมือทั้ง 5 นิ้วโดยใช้เฟล็กซ์เซ็นเซอร์” ซึ่งสามารถนำไปใช้ในการควบคุมมือกลให้ใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ แทนมนุษย์ นอกจากนี้ยังมีนวัตกรรมอีกหลายโครงการของคณะทางด้านสายวิทยาศาสตร์ที่น่าสนใจ” รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ กล่าว
ผศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวต่อว่า สำหรับนวัตกรรมทางด้านสายมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ก็มีที่น่าสนใจหลายโครงการเช่นกัน อาทิ โครงการสร้างหนังให้น่าน ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างวิทยาลัยนิเทศศาสตร์และเทศบาลเมืองน่าน เพื่อสร้างภาพยนตร์สั้นเมืองน่านจำนวน 3 เรื่อง สะท้อนแนวคิด วิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรมและแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดน่าน โดยการประยุกต์ผลงานปริญญานิพนธ์ให้เกิดประโยชน์แก่สังคม เป็นการถ่ายทอดประสบการณ์ระหว่างรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง และเป็นความร่วมมือเพื่อสร้างเครือข่ายกับองค์กรภายนอกและส่งต่อความรู้สู่ชุมชน โครงการห้องเรียนภูมิปัญญาผู้นำ (Social Lab) ของวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม โดยเปิดโอกาสและพื้นที่ให้นักศึกษาได้ไปเรียนรู้วิถีชีวิต ปัญหาในชุมชนนั้นๆ ด้วยตนเอง ในพื้นที่ที่สามารถสื่อประเด็นทางสังคม ทางรอดและโอกาสทางสังคมในวิกฤตการณ์ เช่น กรณีความขัดแย้งเขื่อนแม่วงก์ เหมืองทองคำ การจัดการน้ำ ฯลฯ ทำให้นักศึกษาได้เรียนรู้ร่วมกันกับบริบทต่างๆ สังคม
โครงการต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของโครงการนวัตกรรมอัจฉริยะ ซึ่งมาจากกลุ่มคณะต่างๆ ที่มหาวิทยาลัยรังสิตจัดการเรียนการสอน ได้แก่ กลุ่มแพทย์-สุขภาพ กลุ่มมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ กลุ่มศิลปะและการออกแบบ กลุ่มวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี และกลุ่มเศรษฐกิจและธุรกิจ รวมทั้งโครงการนวัตกรรมจากหน่วยงานสนับสนุน และโครงการจิตอาสาเพื่อชุมชนอีกหลายโครงการ
โครงการทั้งหมดที่เกิดขึ้นเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดวัฒนธรรมองค์กรแห่งการเรียนรู้และองค์กรแห่งความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เพื่อให้มีการเกิดนวัตกรรมและสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา รวมทั้งก่อให้เกิดการพัฒนากระบวนการทำงานที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นทั้งในคณะและหน่วยงานต่างๆ ซึ่งบางโครงการยังสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดให้เกิดสิ่งประดิษฐ์ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงและนำไปสู่การจดทะเบียนสิทธิบัตรและทรัพย์สินทางปัญญาได้อีกด้วย และนี่คืออีกหนึ่งความพร้อมที่มหาวิทยาลัยรังสิตเดินหน้าสู่การเป็นมหาวิทยาลัยสมบูรณ์แบบที่การศึกษาคือนวัตกรรม
กำลังโหลดความคิดเห็น