xs
xsm
sm
md
lg

เอสซีจี ขยายผลอนุรักษ์น้ำ ใช้งานวิจัยต่อยอดสู่ชุมชนเข้มแข็ง พร้อมเปิดตัว “สถานีปลูกคิดปันสุข บ้านแป้นใต้”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอาสา สารสิน
เอสซีจี รวมพลังชุมชน ขยายผลโครงการเอสซีจี รักษ์น้ำเพื่ออนาคต จากฝายชะลอน้ำที่สร้างความสมดุลทางธรรมชาติ สู่การปรับกระบวนการคิด ใช้งานวิจัยเป็นเครื่องมือในการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตและต่อยอดไปสู่ชุมชนที่เข้มแข็ง พร้อมเปิดตัว “สถานีปลูกคิดปันสุข บ้านแป้นใต้” จ.ลำปาง แบ่งปันความรู้ให้ชุมชนอื่นนำไปปรับใช้ ให้แก้ปัญหาและพึ่งพาตนเองได้เพื่อความสุขที่ยั่งยืน

นายอาสา สารสิน กรรมการ และประธานคณะกรรมการกิจการสังคมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เอสซีจี กล่าวในโอกาสเปิด “สถานีปลูกคิดปันสุข บ้านแป้นใต้” อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง เมื่อเดือนธันวาคม 2558 ว่า ชุมชนบ้านแป้นใต้ ได้น้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้านการอนุรักษ์น้ำมาปฏิบัติอย่างจริงจัง โดยเข้าร่วมโครงการ “เอสซีจี รักษ์น้ำเพื่ออนาคต”
ด้วยการสร้างฝายชะลอน้ำเพื่อสร้างความชุ่มชื้นให้ผืนป่า และคืนความสมดุลสู่ระบบนิเวศตามธรรมชาติอย่างยั่งยืน นำไปสู่การปรับกระบวนการคิด ใช้งานวิจัยเป็นเครื่องมือในการปรับเปลี่ยนวิถีชิวิตจนสามารถพัฒนาชุมชนให้กลับมายืนหยัดได้อย่างมั่นคง พึ่งพาตนเองบนวิถีแห่งความพอเพียง จากผลสำเร็จดังกล่าวจึงร่วมกับเอสซีจี จัดตั้งศูนย์เรียนรู้ “สถานีปลูกคิดปันสุข บ้านแป้นใต้” เพื่อถ่ายทอดแนวทางให้ชุมชนอื่นนำไปปรับใช้ ให้สามารถแก้ปัญหาและพึ่งพาตนเองได้เพื่อความสุขที่ยั่งยืน

“ผลจากการสร้างฝายชะลอน้ำ พบความเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด คือป่าฟื้นคืนกลับมาสมบูรณ์ เกิดซูเปอร์มาร์เก็ตในป่า ทำให้ป่าของบ้านแป้นใต้กลับมาเป็นอู่ข้าวอู่น้ำให้กับชุมชนอีกครั้ง แต่ผลการวิจัยพบว่าชุมชนมีสารพิษตกค้างในร่างกาย เอสซีจีจึงส่งเสริมชุมชนบ้านแป้นใต้ ใช้เครื่องมือ “กระบวนการงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น” โดยร่วมเก็บข้อมูลและจัดทำ “งานวิจัยฟื้นฟูและอนุรักษ์วิถีการบริโภคอย่างยั่งยืน บ้านแป้นใต้” และสามารถนำแนวทางดังกล่าวไปเผยแพร่สู่ชุมชนที่ต้องการพัฒนาตนเองสู่ความยั่งยืนในอนาคต” นายอาสา กล่าว
นางวริษา จิตใหญ่
นางวริษา จิตใหญ่ ผู้ใหญ่บ้าน บ้านแป้นใต้ กล่าวว่า วิถีชีวิตดั้งเดิมของคนในชุมชนบ้านแป้นใต้ประกอบอาชีพทำไร่เลื่อนลอย ต้องพึ่งพิงธรรมชาติเพียงฝ่ายเดียวโดยไม่มีการดูแลรักษา แต่หลังจากชุมชนเข้าร่วมโครงการ “เอสซีจี รักษ์น้ำเพื่ออนาคต” มากว่า 5 ปี โดยเริ่มจากการสร้างฝายชะลอน้ำ จนป่าฟื้นกลับมาสมบูรณ์กว่าเดิม มีอาหารจากป่ากลับคืนมามากกว่า 100 ชนิด และช่วงนั้นชุมชนมีปัญหาสุขภาพจากสารพิษ จึงเกิดแรงบันดาลใจที่จะแก้ปัญหาให้ชุมชน และเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ เอสซีจี ลำปาง ได้แนะนำเครื่องมือการวิจัยเพื่อท้องถิ่นมาใช้แก้ปัญหา ก่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดำเนินชีวิตและอาชีพอย่างจริงจัง สามารถพึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืน
“จากการทำงานวิจัยท้องถิ่น ทำให้เกิดการเรียนรู้และหาคำตอบได้ว่าสร้างฝายชะลอน้ำแล้วได้อะไร เพราะนำไปสู่การบริหารจัดการดิน น้ำ และป่า ทำให้ป่าของบ้านแป้นใต้มีพืชผักและสมุนไพรเกิดขึ้นมากมาย ผลการเก็บข้อมูลพบว่า นอกจากจำนวนชนิดของสมุนไพรเพิ่มขึ้นแล้ว ชาวบ้านแป้นใต้ยังมีความรู้ในการใช้สมุนไพรมากมาย จึงเกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการผลิตและการบริโภค นำสมุนไพรพื้นบ้านมาล้างสารพิษ ทำให้ผลการตรวจสารพิษในเลือดลดลงอย่างรวดเร็ว และยังนำสมุนไพรไปใช้ทำลูกประคบ น้ำมันเหลือง การอบสมุนไพร และนวดแผนไทย ช่วยรักษาโรคและรับใช้ดูแลสุขภาพของคนในชุมชน” นางวริษา กล่าว

สถานีปลูกคิดปันสุขคือชุมชนที่เปิดต้อนรับผู้สนใจให้มาศึกษาเยี่ยมเยือน เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเรียนรู้การพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้ด้วยการปลูกคิด ให้มีกระบวนการคิดที่ทันสมัย เป็นเหตุเป็นผล คิดนอกกรอบ ใช้ปัญญาแก้ปัญหา เพื่อให้สามารถฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ รู้เท่าทันสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว พร้อมปันสุข เมื่อชุมชนพึ่งพาตนเองได้ ก็พร้อมที่จะแบ่งปันประสบการณ์ ทั้งที่เป็นอุปสรรคและผลสำเร็จให้กับทุกคนได้นำไปปรับใช้อย่างเหมาะสมกับแต่ละท้องถิ่นชุมชน เพื่อเป้าหมายคือความสุขอย่างยั่งยืน

เอสซีจีได้ร่วมกับชุมชนเปิด “สถานีปลูกคิดปันสุข บ้านเตย” เป็นแห่งแรก ที่ชุมชนบ้านเตย อ.พิมาย จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2557 เพื่อส่งเสริมชุมชนถอดบทเรียนจากโครงการนวัตกรรมเพื่อการฟื้นฟูดินเค็ม และเปิด “สถานีปลูกคิดปันสุข ฮอมผะหญา สาสบหก” เป็นแห่งที่ 2 ที่ชุมชนบ้านสาสบหก อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2557 เพื่อถอดบทเรียนการทำงานร่วมกับชุมชน และตัวอย่างผลสำเร็จที่เกิดขึ้นจริงจากการสร้างฝายชะลอน้ำ และล่าสุดได้เปิด “สถานีปลูกคิดปันสุข บ้านแป้นใต้” ที่ชุมชนบ้านแป้นใต้ อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง เพื่อรวบรวมองค์ความรู้ และกระบวนการดำเนินงานที่ทำให้ชุมชนปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตและต่อยอดไปสู่ชุมชนที่เข้มแข็ง
ทั้งนี้ เอสซีจีมุ่งหวังว่าสถานีปลูกคิดปันสุขจะขยายผลไปยังชุมชนอื่นๆ ในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อสร้างเครือข่ายชุมชนเข้มแข็งและช่วยขับเคลื่อนชุมชนให้สามารถพัฒนาความคิดและพึ่งพาตนเองเพื่อความสุขที่ยั่งยืนต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น