xs
xsm
sm
md
lg

ไทยยูเนี่ยนกรุ๊ปเปิดตัวจรรยาบรรณธุรกิจและแนวปฏิบัติด้านแรงงานฉบับใหม่ ปลื้มได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิก DJSI Emerging Markets เป็นปีที่สอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ธีรพงศ์ จันศิริ ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน
ไทยยูเนี่ยนกรุ๊ปประกาศเปิดตัวจรรยาบรรณธุรกิจและแนวปฏิบัติด้านแรงงานฉบับใหม่ที่เข้มงวดต่อการมีความรับผิดชอบและการมีความโปร่งใสตลอดห่วงโซ่อุปทานอย่างเคร่งครัดมากขึ้น ชี้เป็นหนึ่งในมาตรการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือในองค์กร ปลื้มยกระดับผลงาน อีกครั้งด้วยการได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิก DJSI Emerging Markets เป็นปีที่สอง
 
จรรยาบรรณธุรกิจฉบับใหม่นี้จะเริ่มบังคับใช้กับบริษัทในเครือทุกบริษัทแทนที่จรรยาบรรณธุรกิจการปฏิบัติด้านแรงงานฉบับปี 2556 ซึ่งเป็นอีกตัวอย่างความมุ่งมั่นของบริษัทที่จะปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนสากลอย่างแท้จริง จรรยาบรรณธุรกิจฉบับใหม่นี้มีการจัดทำถึง 13 ภาษาเพื่อครอบคลุมกิจการของเราทั่วโลก
 
จรรยาบรรณธุรกิจของไทยยูเนี่ยน ตั้งอยู่บนหลัก 12 ประการที่เน้นการสร้างวัฒนธรรมบนรากฐานของความซื่อสัตย์สุจริต ซึ่งสอดคล้องกับหลักปฏิบัติระดับสากลของ United Nations Global Compact ที่ว่าด้วย ความรับผิดชอบและสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ทั้งนี้ จรรยาบรรณธุรกิจฉบับแก้ไขจะมุ่งเน้นไปที่หลักเกณฑ์การรับสมัครและดูแลแรงงาน ที่ต้องระบุถึงสวัสดิการพนักงาน ค่าแรง ค่าจ้าง เกณฑ์อายุ รวมถึงมีการแจ้งให้พนักงานทราบถึงสิทธิในการร่วมกันเจรจาต่อรอง และกรอบการทำงานด้านสุขภาพและความปลอดภัย จรรยาบรรณธุรกิจฉบับนี้ยังคงมีความเหมือนกับฉบับปี 2556 ตรงที่ไม่ยินยอมต่อการละเมิดนโยบายสิทธิมนุษยชนในห่วงโซ่อุปทานโดยเด็ดขาด
 
 
“จรรยาบรรณธุรกิจฉบับใหม่นี้ได้นิยามความคาดหวังที่เรามีต่อคู่ค้าของเรา และแสดงถึงความมุ่งมั่นของเราในการสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า ผู้บริโภค และประชากรทั่วทั้งโลกให้ทราบว่า องค์กรของเราดำเนินธุรกิจบนความซื่อสัตย์ และมีมาตรฐานทางจริยธรรมสูง เราต่อต้านการทำงานที่ทุจริตในทุกรูปแบบ แต่เราส่งเสริมการทำงานภายใต้การมีธรรมาภิบาลที่ดีและมีความโปร่งใส”
 
 
“ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เราได้เห็นสถานการณ์การค้ามนุษย์ และการละเมิดสิทธิแรงงานในหลายส่วนของโลกซึ่งเป็นสิ่งที่เรารับไม่ได้ เราหวังว่าจะมีผู้ประกอบการรายอื่นๆ ที่จะร่วมกับเราในการเรียกร้องให้ยุติการละเมิดสิทธิแรงงานอย่างเด็ดขาด”นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าว
 
นายธีรพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จรรยาบรรณฉบับใหม่นี้เป็นเพียงหนึ่งในหลายมาตรการที่ทางบริษัทจะดำเนินการเพื่อให้มั่นใจว่าห่วงโซ่อุปทานจะปราศจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยสิ้นเชิง สำหรับมาตรการอื่นๆ ของไทยยูเนี่ยน ประกอบด้วย
 
· ไทยยูเนี่ยน เป็นหนึ่งในสมาชิกคณะทำงานห่วงโซ่อุปทานกุ้งที่ยั่งยืน (Shrimp Sustainable Supply Chain Task Force) ซึ่งเป็นกลุ่มพันธมิตรอุตสาหกรรมระดับสากล ประกอบด้วย ผู้ค้าปลีกชั้นนำต่างๆ ผู้ผลิต หน่วยงานรัฐและเอ็นจีโอ ซึ่งมีเป้าหมายที่จะผลักดันให้ห่วงโซ่อุปทานของไทยปลอดแรงงานบังคับ (forced labor) ด้วยความรับผิดชอบ การตรวจสอบยืนยัน และความโปร่งใส
 
· ไทยยูเนี่ยน กำลังทำการตรวจสอบภายในในห่วงโซ่อุปทานอาหารกุ้งให้ครบ 100 เปอร์เซ็นต์ตามมาตรฐานแนวทางการปฏิบัติที่ดีโดยหน่วยงานผู้ตรวจสอบอิสระสากล UL โดยจะดำเนินการตรวจสอบภายใน 50 เปอร์เซนต์ในห่วงโซ่อุปทานอาหารกุ้งภายในเดือนตุลาคมนี้ และทาง UL จะตรวจสอบห่วงโซ่อุปทานอาหารกุ้งครบทั้งหมด 100 เปอร์เซนต์ภายในเดือนมกราคม 2559 และเมื่อการตรวจสอบแล้วเสร็จจะได้รับการยืนยันถึงการผ่านมาตรฐานแนวทางการปฏิบัติที่ดีจากหน่วยงานตรวจสอบอิสระ
 
· ไทยยูเนี่ยน จะดำเนินการตรวจสอบภายในห่วงโซ่อุปทานปลาซาร์ดีน ปลาแมคเคอเรล และปลากระพง จากน่านน้ำไทยได้ครบ 100 เปอร์เซ็นต์ภายในเดือนตุลาคมนี้ เมื่อการตรวจสอบภายในแล้วเสร็จจึงให้บุคคลที่สามทำการตรวจสอบคู่ค้า
 
· ไทยยูเนี่ยน ได้เริ่มโครงการอบรบอย่างเป็นทางการสำหรับเรือหาปลาไทย และบริษัทนายหน้าที่ขายวัตถุดิบของไทยทั้งหมด ซึ่งประมาณ 26 เปอร์เซนต์ของระบบห่วงโซ่อุปทานได้รับการอบรมไปแล้วเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งภายในเดือนพฤศจิกายน 2558 การอบรมจะเสร็จสมบูรณ์
 
· ไทยยูเนี่ยน ร่วมมือกับองค์การสิทธิแรงงานข้ามชาติ ในการดำเนินการอบรมพนักงานข้ามชาติของกลุ่มบริษัทไทยยูเนี่ยนให้ทราบและเข้าใจถึงสิทธิแรงงานที่พึงมีตามกฎหมายไทย
 
ทั้งนี้ จรรยาบรรณธุรกิจและแนวทางปฏิบัติด้านแรงงานฉบับนี้จะเริ่มบังคับใช้กับบริษัทในเครือไทยยูเนี่ยนทุกบริษัท โดยมีแผนเริ่มดำเนินการและตรวจสอบภายในสิ้นเดือนตุลาคมนี้ ถัดจากนั้นไปในเดือนพฤศจิกายน 2558 จะมีการอบรมการดำเนินงานตามจรรยาบรรณฉบับใหม่นี้ต่อพนักงานในสถานประกอบการของไทยยูเนี่ยนทุกแห่งในประเทศไทย
 

ไทยยูเนี่ยนกรุ๊ปถือเป็นผู้ผลิตทูน่าบรรจุกระป๋องที่ใหญ่ที่สุดของโลก และเป็นหนึ่งในผู้ผลิตอาหารทะเลรายใหญ่ของโลกเป็นเจ้าของแบรนด์ชั้นนำในต่างประเทศ เช่น Chicken of the Sea, John West, Petit Navire, Parmentier, Mareblu, Century และแบรนด์ที่จำหน่ายภายในประเทศไทย เช่น ซีเล็ค ฟิชโช และเบลลอตต้า เป็นต้น มียอดขายกว่าหนึ่งแสนล้านบาทต่อปีหรือ 3.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ และมีการจ้างงานกว่า 46,000 ตำแหน่งทั่วโลก
 
 
สำหรับประเด็นด้านความยั่งยืนขององค์กร ล่าสุด บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU ได้รับการคัดเลือกเข้าเป็นสมาชิกในกลุ่มดัชนีความยั่งยืนของดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices หรือ DJSI) ในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) ประจำปี 2558 อีกครั้ง ซึ่งนับเป็นปีที่สองติดต่อกัน โดยมีระดับคะแนนรวมเพิ่มขึ้นถึง 67 เปอร์เซนต์ จากการพัฒนาผลการดำเนินงานในมิติด้านสิ่งแวดล้อม ด้านเศรษฐกิจ และด้านสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของการกำกับดูแลกิจการที่ดี และการจัดการผลกระทบทางสังคม ระดับคะแนนที่เพิ่มขึ้นนี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของบริษัทในการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง
ดร. เดเรียน แมคเบรน ผู้อำนวยการกลุ่มการพัฒนาที่ยั่งยืน ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป
“เมื่อปีที่แล้วเราได้รับเกียรติอย่างมากที่ได้อยู่ในดัชนีของ DJSI ซึ่งปีนี้เรายังคงสามารถรักษามาตรฐานได้อีกครั้ง นั่นแสดงให้เห็นว่า เส้นทางด้านความยั่งยืนของเราเดินมาอย่างถูกต้องในการสร้างสมดุลระหว่างนโยบายด้านความยั่งยืนและการสร้างคุณค่าทางธุรกิจบนรากฐานของการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมของเราที่ต้องเผชิญกับความกดดันจากความท้าทายมากมาย การสร้างสมดุลของความรับผิดชอบต่อสังคมในวงกว้างถือเป็นความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจของเรา”
 
“การที่เราได้เป็นสมาชิก DJSI อีกครั้ง จึงเปรียบเสมือนการได้รับรองถึงความพยายามที่จะส่งเสริมและสนับสนุนธุรกิจที่มีการดำเนินงานอย่างโปร่งใส และความมุ่งมั่นในการสร้างคุณค่าให้เกิดขึ้นกับธุรกิจของเราอย่างแท้จริง ซึ่งทั้งหมดนี้จะสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้นในระยะยาว” นายธีรพงศ์กล่าว
 
ดร. เดเรียน แมคเบรน ผู้อำนวยการกลุ่มการพัฒนาที่ยั่งยืน กล่าวเสริมว่า “สำหรับไทยยูเนี่ยนการที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในดัชนีความยั่งยืนระดับสากลอย่าง DJSI นับเป็นเกียรติอย่างสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการได้รับรองจากองค์กรหรือหน่วยงานกลางที่มีความเป็นอิสระ ย่อมแสดงให้เห็นถึง ความสามารถของเราในการดำเนินธุรกิจ ความมุ่งมั่นของเราในเรื่องของธรรมาภิบาล การพัฒนาอย่างต่อเนื่องในการสร้างนวัตกรรมที่ทันสมัย การพัฒนาและการจัดการด้านบุคลากร การมีส่วนร่วมทางสังคมตลอดจนการสร้างคุณค่าร่วมระหว่างผู้มีส่วนได้เสียที่เป็นส่วนสำคัญของความสำเร็จสำหรับการดำเนินงานทั้งหมดของบริษัท”
 
“เส้นทางความยั่งยืนของไทยยูเนี่ยน เกิดจากฐานรากของธุรกิจตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง คือ ความเป็นตัวตนของเรา ไม่ใช่สิ่งที่เพิ่งถูกสร้างหรือกำหนดขึ้นมา ขณะเดียวกันวิสัยทัศน์จากผู้บริหารที่ได้ปลูกฝังกลายเป็นค่านิยมองค์กร ที่ยึดมั่นการดำเนินงานร่วมกับผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน เพื่อหาแนวทางการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนร่วมกัน และเรายังมีความตั้งใจที่จะปฏิบัติต่อทุกความคิดเห็นที่ได้จากผู้มีส่วนได้เสียอย่างจริงจัง และมีความโปร่งใส เพื่อกันหาหนทางและจัดการกระบวนการทำงาน ซึ่งเรามุ่งหวังที่ก้าวไปสู่ความยั่งยืนร่วมกันในอนาคต”
 
DJSI เป็นดัชนีประเมินความยั่งยืนระดับสากลที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก โดยแต่ละปีจะมีการคัดเลือกบริษัทขนาดใหญ่มาเข้าร่วมการประเมินด้านความยั่งยืนของธุรกิจ (Corporate Sustainability Assessment หรือ CSA) กว่า 3,000 บริษัท โดยรวม 800 บริษัท ในกลุ่มตลาดเกิดใหม่จากอุตสาหกรรมต่างๆ บริษัทที่ถูกเลือกเข้ามาจะต้องได้รับการประเมินตามหลักเกณฑ์โดยจะครอบคลุมทั้งมิติด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม รวมถึงมิติด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนในอุตสาหกรรมนั้นๆ
 
ไทยยูเนี่ยน ถือเป็นบริษัทไทยบริษัทแรกในกลุ่มอาหารที่ได้เข้าสู่กลุ่มดัชนี DJSI นี้ สองปีติดต่อกัน และยังเป็นหนึ่งใน 14บริษัทจดทะเบียนของไทยที่ได้เป็นสมาชิกในดัชนีของ DJSI ในปี 2558
กำลังโหลดความคิดเห็น